เซียน
อ่าน: 2983“คนเฉือนวัว” มนุษย์ที่แท้ มรรรควิถีของจางจื้อ ส.ศิวรักษ์ แปลและเรียบเรียง
พ่อครัวของเจ้าเวนหุย
กำลังเฉือนงัวเป็นชิ้นๆ
ตัดตีนหน้าออกก่อน
แล้วดึงกระดูกออกจากกัน
ดึงขาออกมาข้างหนึ่ง
เอาหัวเข่าออกมา
งัวแยกออกเป็นชิ้น
มีดปังตอส่งเสียง
ดังเสียงกระซิบ
ดุจลมพัดเบาๆ
เป็นจังหวะ เหมาะกะเวลา
ดุจดังการร่ายรำอันศักดิ์สิทธิ์
ดุจดังป่าต้นหม่อน
ดุจดังอดีตอันผสมผสานกันเป็นอันดี
เจ้าเวนหุยรับสั่งว่า ดีมาก
วิธีของแกหาที่ติมิได้
พ่อครัวทูลถามว่าวิธีอะไรกัน
ว่าพลาง วางมีดปังตอลง แล้วทูลว่า
สิ่งซึ่งข้าพเจ้าทำนั้น คือเดินตามเต๋า
ไปพ้นวิธีการต่างๆหมดๆ
เมื่อแรกเริ่ม
ที่จะเฉือนวัว
ข้าพเจ้าย่อมแลเห็นอยู่หน้าข้าพเจ้า
งัวทั้งตัว
ทั้งหมดเป็นกองใหญ่กองหนึ่ง
หลังจากนั้นสามปี
ข้าพเจ้าไม่เห็นกองอะไรอีกแล้ว
ข้าพเจ้าแลเห็นข้อแตกต่างต่างๆ
มาบัดนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นอะไร
ด้วยตา
หากรับรู้ด้วยอายตนะทั้งหมด
อินทรีย์ของข้าพเจ้าก่อให้เกิดปัญหา
แต่จิตเป็นอิสระ ทำการโดยปราศจากแผน
หากขึ้นอยู่กับสัญชาตญาณ
ทำโดยแนวทางแห่งธรรมชาติ
เริ่มด้วยการแหวกช่องว่างอันแฝงเร้น ที่เป็นความลับ
มีดปังตอของข้าพเจ้า ย่อมหาทางไปได้เอง
โดยไม่ต้องฟันหรือกระทบกระดูก
พ่อครัวที่ดี เปลี่ยนมีดปังตอทุกปี
เพื่อใช้เฉือน
พ่อครัวที่เลว เปลี่ยนมีดปังตอทุกเดือน
เพื่อใช้สับ
มีช่องว่างระหว่างกระดูก
คมมีดบางๆที่สามารถ
อาจใช้ความบางนี้
แหวกช่องว่างนั้นไปได้
ช่องว่างเพียงนี้ก็เพียงพอแล้ว
ที่มีดจะแหวกผ่านไปด้งสายลม
ด้วยเหตุฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงใช้มีดนี้มา ๑๙ ปี
แต่ก็ยังคมกริบดังมีดใหมที่เพิ่งลับเสร็จ
จริงอยู่ บางครั้ง
กระดูกต่อกันอย่างเหนียวแน่น
พอข้าพเจ้ารู้สึกได้ ก็เฉือนให้ช้าลง
ข้าพเจ้าเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิด
ยั้งมือไว้ แทบไม่เขยื้อนคมมีด
และแล้ว กระดูกทั้งสองท่อนนั้นก็แยกออกจากกัน
ดุจดังดินสองก้อน
แล้วข้าพเจ้าก็ถอนคมมีดออก
ยืนอยู่นิ่ง
ปล่อยให้ความพอใจในผลงาน
คืบคลานเข้ามา
ข้าพเจ้าล้างใบมีด
แล้วเก็บไว้
เจ้าเวนหุยรับสั่ง
นี่เอง พ่อครัวของเราสอนเรา
ว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างไร
…………บทความดังกล่าวเป็นบทความที่วิทยากร (ทีมงานของ อ. วิศิษฐ์ วังวิญญู)อ่านให้ฟังในการอบรมทีมงานของเทศบาลนครพิษณุโลก
นั่งฟังอยู่ด้วยเลยเอามาฝากเพื่อนๆชาวลานปัญญา
ในการอบรมครั้งนี้อาจารย์ได้พูดถึงเรื่องสุนทรียสนทนาว่ามี 4 ระดับ
ระดับแรกเหมือนวัยเด็ก แล้วขยับมาเป็น วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยเซียน ระดับนี้จะก่อเกิดการปิ๊งแว๊บ ญาณทัสนะ
พอมานั่งทบทวน นั่งย่อยสิ่งที่ได้เรียนรู้มา นึกถึงตอนที่ชวนทีมลำพูน เชียงใหม่ไปเยี่ยมคารวะอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญูที่ห้องนั่งเล่น เชียงราย
ในการพูดคุยกัน อาจารย์เปรียบเทียบว่าคนเราก็เหมือนแบ่งเป็น 4 ระดับ
ระดับแรกเป็นนักศึกษาฝึกงาน
ต่อมาก็เป็นคนทำงานที่เริ่มมีทักษะ
พัฒนามาเป็นคนทำงานที่มีทักษะ
และสุดท้ายก็เป็นเซียน
สมัยเรียนหนังสือครูที่สอนวิชาต่อสู้ป้องกันตัว (ยูโด คาราเต้ มวยไทย ยิงปืน ฟันดาบ กระบี่กระบอง…. เรียนเยอะเลยไม่ได้ดีสักอย่าง ) สอนว่าหมั่นฝึกหัดกระบวนท่าต่างๆจนมีความชำนาญ แต่สุดท้ายถ้าจะนำไปใช้ได้ จะต้องใช้ออกมาโดยไม่ต้องคิด เพราะไม่มีเวลาจะคิด ไม่มีเวลาจะทบทวน มันต้องออกมาเองโดยสัญชาตญาณ
เร็วๆนี้ดูรายการโทรทัศน์ มีการสัมภาษณ์นักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของโลก เล่นได้หลากหลายแนวมาก มีคำถามว่า เล่นดนตรีระดับนี้ต้องเรียน ต้องใช้ทฤษฎีไหม ? คำตอบคือ ทฤษฎีต่างๆต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งทั้งหมด แต่ต้องฝึกฝน ปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ เวลาเล่นจริงๆต้องลืมทฤษฎีต่างๆให้หมด ให้เล่นออกมาโดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีเวลาคิดถึงทฤษฎีอะไรแล้ว
เราจะเป็นนักเรียน นักศึกษาฝึกหัดในการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการทำงานไปตลอดชีวิตเราหรือ?
เราจะค่อยๆพัฒนาตัวเราขึ้นมาเป็นคนที่มีความชำนาญ มีทักษะ ไม่ต้องถึงขั้นเซียนหรอก แต่ขอให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็พอแล้ว (หรือยังไม่รู้ตัวว่ายังเป็นนักศึกษาฝึกหัดอยู่ทั้งๆที่อายุปูนนี้แล้ว ทำงานมานานขนาดนี้แล้ว )
Next : สุขภาพ » »
4 ความคิดเห็น
อ่านแล้วอยากเป็นเซียน อิอิ
อ่านบทเเฉือนวัวแล้วสัมผัสได้ถึงความลึกล้ำของเซียนเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ได้เป็นวัว แต่ปัจจุบันก็ถูกเฉือนอยู่แล้ว อิอิ
อืม จำได้แต่มนุษย์ที่แท้ในสมัยโบราณ (ของจางจื้อนี่แหละค่ะ)
1.นอนโดยไม่ฝัน
2.ตื่นโดยไม่วิตก
3.กินอาหารง่ายๆ
4.หายใจลึก ๆ
หึหึหึ…ปัจจุบันเราเป็นจั๋งไดน้อ