ฉันคือ…ความแตกต่าง

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 15 ธันวาคม 2010 เวลา 1:01 (เย็น) ในหมวดหมู่ สังคม ความคิด #
อ่าน: 3032

บันทึกนี้ เขียนไว้เมื่อวันที่่ 2 ธันวาคม 2553…

อ่านพบอีกครั้ง ก็ให้เกิดความรู้สึกเพิ่มขึ้นอีก…

นี่ละกระมังที่ “ครู” ในโลกของการเขียนหนังสือของฉันมักสอนว่า “ให้บันทึกความคิด ความรู้สึกไว้เสมอไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตามที”

…………………………

ฉันคือ ใบไม้เล็ก ๆ ในป่ากว้าง

ฉันเฝ้ามองความเบิกบานสดใสของป่าอันชอุ่มงาม

ฉันรื่นเริง ระบัดใบไปกับพร้อม ๆ ใบไม้หลากพันธุ์

ฉันเป็นส่วนเสี้ยวของป่าใหญ่อันชุ่มชื่น

………………..

แต่แล้ว…วันหนึ่งฉันกลับรู้สึก แตกต่าง

ฉันกลัวจับใจ ฉันแตกต่าง แปลกแยก…

ฉันเป็น ความแปลกแยกอย่างนั้นหรือ?

ฉันพรั่นพรึง ครั่นคร้าม กลัวที่ต่างจากคนอื่น ๆ

……………….

ฉันเป็นใบไม้เล็ก ๆ ในป่ากว้าง

ฉันคือ ความแตกต่าง…

ฉันออกจากป่าใหญ่นั้น

ด้วยความหวังจะเจอป่าที่แตกต่าง..สำหรับฉัน

แล้ว…ก็พบว่า ป่าทุกป่าแตกต่างไม่เหมือนกันเลย

………………

ฉันก็ยังเป็นใบไม้เล็ก ๆ ในป่ากว้าง

หากวันนี้…ฉันกระจ่างใจแล้ว

ไม่ว่าป่าไหน ๆ ก็คือ ความแตกต่าง

และ ฉันคือ “ใบไม้เล็ก ๆ” ที่แตกต่างอยู่เสมอ ไม่เคยเปลี่ยนเลย…

……………….

วันนี้กลับมาอ่านและเห็นความคิด/ความรู้สึกในวันที่บันทึก…ชัดขึ้นอีกนิดหนึ่งว่า

ความรู้สึก แตกต่าง/แปลกแยก ทำให้เราทุกข์ หวาดกลัว และปิดขังตัวเอง

ใบไม้/ต้นไม้ก็เปรียบได้กับปัจเจกบุคคล แต่ละคนที่ไม่มีใครเหมือนใครได้ทั้งหมด

ทุกคนล้วนแตกต่างกัน…

ป่าเปรียบได้กับ “สังคม” ซึ่งเป็นที่รวมกันของ พืชพรรณ สัตว์ป่า สายน้ำ ลำธาร…ที่หลากหลาย

ป่าที่อุดมสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ฉันใด…สังคมที่อุดมปัญญา/สงบสุข ต้องประกอบด้วย “บุคคล” ที่แตกต่าง หลากหลาย ทั้งความรู้/ความคิด…ฉันนั้น

การยอมรับเคารพกันและกันใน “ความแตกต่าง” ของสมาชิกในสังคมอย่างแท้จริง… จึงช่วยให้สังคมงดงามและไพบูลย์

;)

หมายเหตุ : บันทึกนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ บุคคล ไม่ได้พาดพิงถึงผู้ใด…นอกจาก “ตัวเอง”


คลิก…เลย

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 10 ตุลาคม 2010 เวลา 2:05 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 2293

@@@ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีงานที่ต้องไปช่วยเพื่อนซึ่งเป็นนักฝึกอบรมจัดคอร์สต่าง ๆ โดยเฉพาะคอร์ส “การเตรียมตัวเกษียณอย่างมีคุณภาพ” รายละเอียดเนื้อหาไม่มีอะไรต่างจากที่เคยทำมาแล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือในคอร์สหนึ่งก่อนไปจัดอบรมได้รับทราบข้อมูลว่า ผู้เข้าอบรมนี้มีส่วนหนึ่งที่เป็นอาจารย์ของตัวเองตั้งแต่สมัยเรียน ป.ตรี… เอาล่ะสิ งานเข้าแล้วเรา… สอนใครก็ไม่กลัวหรอก แต่นี่ครูเราเองน่ะสิ แถมชื่อที่ได้ทราบก็เป็นชื่อของอาจารย์ที่เราแสนจะเกรงอกเกรงใจ…ขึ้นชื่อว่า ดุ หาตัวจับยากนั่นไง คิดไปคิดมา ร่ำ ๆ จะไปถอนตัวไม่ไปช่วยเพื่อนในคอร์สนี้แล้ว ไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวเพื่อนเสียเครดิตไปเปล่า ๆ (ความจริงเราปอดต่างหาก…ฮา ๆ)

@@@ตอนเช้าตรู่ของวันที่จะไปบอกเพื่อน แง้มประตูห้องออกไปเพื่อจะชมสวนหน้าห้องเหมือนทุกวัน ตาก็เหลือบไปเห็นร่างกลม ๆ ป้อม ๆ นั่งแอ้งแม้งที่เก้าอี้ตัวโปรด กำลังยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับอะไรตรงหน้าก็ไม่รู้ ดูเจ้าหลานสาวตัวน้อยจะเพลิดเพลินกับบรรยากาศตรงหน้าอย่างยิ่ง เลยค่อย ๆ ถอยออกมาอย่างเงียบ ๆ ไม่อยากทำลายความสุขเล็ก ๆ ของสาวตัวน้อยวัย 5 ขวบกว่านั้น ยิ้มอะไรนะ ดูมีความสุขจริง ๆ เลย… ได้คิดต่อไปว่า เด็ก ๆ นี่ช่างมีความสุขง่ายดาย ผ่อนคลายเสียจริง เห็นใบไม้ไหว มดเดินผ่าน หมาเห่า ได้กินขนมที่ไม่เคยลิ้มรส ก็ยิ้มอย่างมีความสุขแล้ว

ส่วนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ นี่สิ… ช่าง ทุกข์ง่าย สุขยาก กันเสียจริง พอมีความสุข พอใจ สนุกกับอะไรสักพัก ก็เบื่อก็ทุกข์ ต้องเพียรหาสิ่งมาสร้าง ความพึงพอใจใหม่อีกแล้ว…

@@@ คิดต่ออีกหลายประเด็น….แต่ คลิก แล้วว่า ตอนเริ่มเปิดคอร์ส ซึ่งต้องมี Session ของการละลายพฤติกรรม/ทำความคุ้นเคย/กิจกรรมละลายน้ำแข็ง (ice breaking) จะขอให้ทุกคน สร้างจินตนาการว่าตัวเองเป็นเด็กอายุไม่เกิน 8 ปี (วัยนี้ยังมีจินตนาการสมบูรณ์ อายุเกินกว่านี้ว่ากันว่า…จินตนาการจะถูกทำลายด้วยระบบโรงเรียน….ฮา ๆ) ขอให้เรียนรู้ คิด พูด ทำ เปิดใจเหมือนเด็ก ๆ ไม่ต้องกลัวผิดถูก และผลพลอยได้ก็คือ เราก็ไม่ต้องเกร็ง กลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจาก ครูที่เราเคยแสนที่จะเกรงใจ…

@@@ ครั้งนั้นการอบรมผ่านไปด้วยดี หลังการอบรมเข้าไปยกมือสวัสดีคุณครู ท่านกล่าวด้วยความเมตตาว่า … แหม ลูกศิษย์ครูนี่เก่งจริง ๆ ครูภูมิใจในตัวหนูนะ… อูย ไม่ต้องบอกเลยว่าความรู้สึกของคนถูกชมจะเป็นอย่างไร…ปลื้มซะ!!!

กลับมาถึงบ้าน ก็เลยต้องขอบใจเจ้าตัวน้อยด้วยการพาไปเลี้ยงไอศกรีมอร่อย ๆ กินกันจนพุงกางกลับบ้านเกือบไม่ไหว…

หากเรายังคงนิสัยของเด็ก ๆ ในบางส่วนเสี้ยว

มีความสุขกับสิ่งเรียบง่ายรอบตัว..

ความสุขที่เราใฝ่หาคงอยู่แค่เอื้อมนี่เอง

ดอกมะเขือนี้มอบน้อมนบเคารพ “ครู”


เวลาจะรักษาใจ

8 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 3 ตุลาคม 2010 เวลา 12:01 (เช้า) ในหมวดหมู่ เพลง นันทนาการ #
อ่าน: 2709

////

เพลง: เวลากับคนสองคน
อัลบั้ม: มายา : ม่าช่า วัฒนพานิช

วันเวลาได้นำพาทุกอย่าง ได้นำทางเราสู่ความรัก
ได้สร้างความสัมพันธ์ สองเราให้ต้องการ จะเดินร่วมทางตลอดไป

เวลาเดินไป…จิตใจเรานั้นเปลี่ยน ต่างคนมีทางที่ต่างกัน
ถึงแม้จะตั้งใจ ควบคุมมันเท่าไร แต่มันไม่ดีขึ้นมาเลย

* ได้มองเธอทุกครั้ง ในหัวใจฉันยังเจ็บ ยังคงคิดถึงวันเรารักกัน
แต่มันถึงวันนี้ ถึงเวลาต้องจากกัน ไม่มีวันเวลานั้นแล้ว
เวลาเดินไปไม่เคยจะหวนกลับ ฝากเพียงรอยทางกับความหลัง
ฉันหวังว่าวันหนึ่ง แม้ใจเราร้าวราน เวลาจะรักษาใจเราเอง *


* ซ้ำ*

@@@วันนี้ได้ฟังเพลง “เวลากับคนสองคน” เพลงเก่าที่เคยฟังหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้รู้สึกเพราะมากกว่าครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา…

@@@หากฟังโดยไม่รู้จักชื่อเพลง จะเดาว่าเพลงนี้ชื่อ “เวลาจะรักษาใจ” นอกจากจะชื่นชอบท่วงทำนองเพลง ดนตรี และเสียงของมาช่าแล้ว ยังติดใจและชอบเป็นพิเศษกับ “เนื้อหา” ในเพลง

@@@คงน้อยเท่าน้อยที่มนุษย์จะอยู่รอดได้ด้วยเพียงลำพังตัวเอง เราต่างต้องพึ่งพากันและกัน มาก-น้อยต่างกรรมต่างวาระกันไป ทั้งด้านกายภาพ จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ นั่นเพราะ…มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

@@@
@@@เมื่อเป็นสัตว์สังคม “ความสัมพันธ์” จึงเป็นพันธะหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ แน่ล่ะ…บ้างก็สุข สมหวัง บ้างทุกข์ เศร้า ผิดหวังกับพันธะที่เราได้สัมผัสสัมพันธ์นั้น และไม่ว่าเราจะสุข สมหวัง ทุกข์ เศร้า ผิดหวัง… กับใคร อย่างไร เมื่อวันเวลาผ่านไป… มันก็จะ…ผ่านไป เหมือนที่ว่า
“This too shall pass”

@@@คิดต่อไปเรื่อยเปื่อยว่า…ในทุกพันธะแห่ง “ความสัมพันธ์” หากไม่อยากเจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจ คงต้องเรียนรู้ที่จะดำรงบทบาทของการเป็น “ผู้รับ-ผู้ให้” อย่างสมดุล เพราะพันธะของความสัมพันธ์แห่งมนุษย์นั้น แม้จะงดงามเพียงใด หากกลับ…เปราะบางยิ่ง…


@@@
ใช่แล้ว…เวลาจะรักษาเยียวยาทุกสิ่ง...
ทะนุถนอมกาย-ใจ-จิตวิญญาณของเราให้ดีนะคะ
อยากให้ทุกคนมีความสุขค่ะ

;-)


ชีวิตเฉกเช่น…การเดินทาง

3 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 1:56 (เย็น) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต #
อ่าน: 2708

ทุกวันนี้เราต่างมี ชีวิต ที่เปรียบได้กับ การเดินทาง

@@@ เมื่อเดือนที่แล้วเปิดชม ยูบีซี ช่องหนังดีเอเชีย เจอภาพยนตร์จีน ซึ่งคงฉายไปได้สักพักหนึ่งแล้ว เสียดายว่าเปิดช้าไปหน่อยและยิ่งเสียดายหนักเข้าไปอีกที่ไม่รู้แม้ชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้…

@@@ฉากที่เปิดไปเจอคือ โจรที่ปล้นผู้โดยสารบนรถประจำทาง (ระหว่างมณฑล) คืนเงินที่ปล้นไปทั้งหมดให้ผู้โดยสาร เนื่องจากโดนใจกับคำตอบอะไรสักคำหนึ่งของคุณลุงซึ่งจะพาเพื่อน (ที่เป็นศพและนั่งอยู่ข้าง ๆ) กลับบ้าน (ของเพื่อน) ตามสัญญาที่ให้กันไว้

@@@ ชมต่อมาโดยไม่กระพริบตา ไม่ลุกอีกเลยจนจบ จึงประติดประต่อได้ว่า คุณลุงเป็นกรรมกรในโรงงานแห่งหนึ่ง ไม่มีลูกเมีย มีเพื่อนสนิทซึ่งสัญญากันว่าหากใครเป็นอะไรไปก่อน อีกคนจะต้องพาอีกคนกลับบ้าน (สะท้อนถึงความลำเค็ญของกรรมกรจีนในยุคหลังปฏิวัติประเทศ) เมื่อเพื่อนจากไปก่อน คุณลุงจึงทำตามสัญญาที่ให้ไว้ โดยส่งเพื่อนไปยัง บ้านเกิด ซึ่งคงไกลโข ประกอบกับการคมนาคมไม่สะดวกนักในยุคนั้น คุณลุงซึ่งเป็นกรรมการจน ๆ หาเช้ากินค่ำ ไม่มีความรู้ ไม่มีเงินทองและพวกพ้องเส้นสาย จึงตัดสินใจพาศพเพื่อนขึ้นรถประจำทางไปด้วยกัน ต้องรอนแรมและต่อรถอีกหลายต่อ (ด้วยการแบกศพเพื่อนไป ใครถามก็บอกว่าเพื่อนป่วยเดินไม่ไหว จะพาไปส่งบ้านเพื่อน)

@@@ เนื้อเรื่องต่อจากนั้น เป็นการผจญภัยของคุณลุง ซึ่งได้พบคนต่าง ๆ ทั้งคนดีมีน้ำใจและคนฉ้อฉล  คนที่ตามหาความฝันของตัวเองอย่างไม่ยอมแพ้  พบทั้งเศรษฐีมีเงินที่ต้องจ้างคนมาร้องไห้ในงานศพที่จัดให้ตนเองก่อนตายจริง เจอคนยากจนเก็บขยะคนจรจัดต้องขายเลือดแลกเงินซื้อหาอาหารแต่น้ำใจงดงามยิ่งใหญ่ การเดินทางไปในเส้นทางที่กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือบ้านเกิดของเพื่อนนั้น ก็ทำให้คนดูต้องยิ้มและหัวเราะ และบางครั้งอดจะน้ำตาคลอไปกับชะตากรรมของตัวละครด้วยไม่ได้

@@@ภาพยนตร์จบ แต่ความคิดกลับไม่จบ หากรอนแรมเรื่อยเปื่อยต่อไป… ในฐานะของคนเสพอรรถรสของภาพยนตร์และไม่ใช่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ก็คงคิดเพียงว่า วิวทิวทัศน์ในภาพยนตร์นี้แปลกตางดงาม เนื้อหาสะท้อนถึงความคิด วัฒนธรรม ประเพณีของคนจีนในยุคนั้นได้ดี แม้เรื่องราวจะไม่ค่อยสมจริงสมจังนัก ใครกันจะคิดง่าย ๆ ตื้น ๆ ว่าแบกศพเพื่อนไปส่งบ้านเกิด ตั้งหลายวันศพก็ยังไม่เน่าส่งกลิ่นเหม็น (แต่ในภาพยนตร์ก็พยายามสร้างความเป็นไปได้ด้วยการให้คุณลุงพบเศรษฐีซึ่งมียาทำให้ศพเน่าช้า-ยืดเวลาออกไป)

คิดต่อไปว่า สมมุติว่าเราเป็น คุณลุง ที่เป็นเพียงกรรมกร หาเช้ากินค่ำ ไม่มีความรู้ ไม่มีเงินทอง ไม่รู้จักใคร … เราจะยังคงรักษาสัญญากับเพื่อนในวงเหล้าที่ก็จากไปแล้ว มาทวงสัญญาไม่ได้แล้วนั้นหรือไม่? เราคงเลือกที่จะทำอย่างอื่นมากกว่า (สำหรับตัวเองนะ)

…แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเสน่ห์ก็ตรงที่ คุณลุง คนนี้ได้เลือกและใช้วิธีการที่ซื่อสัตย์ต่อ “คำสัญญา” ที่ให้ไว้กับเพื่อน…มิใช่หรือ?

@@@ ดูหนังดูละครแล้วให้ย้อนดูตัว…ชีวิตก็เฉกเช่นเดียวกับการเดินทาง …บางคนเดินทางด้วยการเดินเท้าด้วยเกวียน บ้างไปด้วยจักรยานด้วยรถ ด้วยเครื่องบิน บางคนเดินทางอย่างสะดวกสบาย หรูหรา บางคนต้ิิองเหน็ดเหนื่อยเลือดตาแทบกระเด็น และไม่เว้นเลยที่…ล้วนแต่ประสบพบเห็นสิ่งต่าง ๆ แตกต่างหลากหลายกันไปตามเหตุและปัจจัย…

@@@ อมยิ้มคนเดียวคิดต่อไปว่า…บางวันของการเดินทางก็น่าสนุกตื่นเต้นเร้าใจ บางวันกลับเหนื่อยเหน็ดระอาใจกับผู้คนและสิ่งที่ไม่พึงใจ บางคนมีเป้าหมายที่แน่ชัด บ้างกำลังคลำหาเป้าหมาย บ้างก็ไปเรื่อยเปื่อย บางคน……

ชีวิตเฉกเช่น…การเดินทาง คือเช่นนี้เอง

;-)


ครูของฉัน… “ถวัลย์ มาศจรัส”

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 20 กันยายน 2010 เวลา 12:19 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 3302

อ.ถวัลย์ มาศจรัส

เช้าวันนี้ อดีตหัวหน้างานที่เคารพรักมากที่สุดท่านหนึ่ง โทรมาให้เขียนถึง การสอนเขียนหนังสือ ของท่าน ซึ่งจะนำไปเพิ่มเติมไว้ในหนังสือที่ท่านตั้งใจเขียนเป็น “ของขวัญ” ให้แก่เพื่อนร่วมงานก่อนที่จะ Early retire ในเดือนกันยายนนี้

อาจารย์ถวัลย์ มาศจรัส หรือที่บรรดาเพื่อนร่วมงานต่างเรียกขานกันว่า ปู่ด้วยความรักและเคารพนี้ โดยส่วนตัวแล้วฉันถือว่าท่านเป็น ครูเพราะนอกจากสอนเรื่องงาน ยังสอนการใช้ชีวิต สอนให้รู้จักมองแง่มุมต่าง ๆ ในสังคม และที่สำคัญท่านสอนให้รู้จักการ เขียนหนังสือ

@@@ปู่ เป็นนักเขียนที่ได้รางวัลมากมาย จากหลายองค์กรและสถาบัน โดยเฉพาะรางวัลจากสถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับรางวัลถึง 26 รางวัล จนประกาศวางมือไม่ส่งผลงานประกวดอีก (เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนคนอื่น ๆ) แน่ล่ะ ท่านเป็นนักเขียนที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ วิธีการสอนเขียนหนังสือ ของปู่ ซึ่งมักจะเป็นไปในทำนอง สอนแบบไม่สอน และ เน้นที่ ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

@@@ แรก ๆ ที่เขียนงานแล้วส่งให้อ่านและปรับแก้ ปู่ยิ้ม ๆ ที่มุมปากแล้วบอกว่า เออ…มีมุมมองแปลก เก็บรายละเอียดดี เขียนต่อไปนะ… ตอนนั้นจำได้ว่าปลื้มใจสุดจะประมาณได้ มีนักเขียนใหญ่ชมนี่นา จนภายหลังได้มาอ่านงานของตัวเอง จึงตระหนักรู้ว่า ปู่พยายามที่จะค้นหาจุดเด่นข้อดีของฉัน (เท่าที่มี) มาชมและให้กำลังใจ และนั่นคือ การเน้นและให้ความสำคัญกับ ตัวผู้เรียน อย่างแท้จริง

@@@ วันหนึ่ง ปู่บอกว่า … เดี๋ยวนี้เขียนหนังสือลงล็อค เข้าที่เข้าทางแล้วนะ… เป็นคำชมอีกครั้งที่ทำให้ตระหนักรู้ในทันทีว่า ครั้งแรกนั้นหาใช่คำชมไม่ แต่เป็นการให้กำลังใจด้วยจิตเมตตาอันเอกอุที่มีต่อลูกน้องที่ริอยากเขียนหนังสือ

@@@ ปู่มักจะแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้เล่มนั้นและเล่าด้วยท่าทางสบาย ๆ ว่า คนจะเขียนหนังสือให้ได้ดี ต้องอ่านมาก เพื่ออ่านความคิดของคนอื่นและทบทวนความคิดของตัวเองเมื่อความคิดคมชัดแล้ว ภาษาที่เขียนจะสื่อถึงใจคนอ่านได้ง่ายขึ้น

@@@ อีกครั้งหนึ่งที่ฉันมีหน้าที่ต้องเขียนถึงบางสิ่งที่ตัวเองมีโอกาสไปทราบถึงเบื้องหลัง ทำให้การเขียนครั้งนั้นฝืดฝืน จึงเดินไปบ่น ๆ ให้ปู่ฟังว่า เขียนไม่ออกเพราะรู้สึกขัดกับความรู้สึก… ปู่เงยหน้าขึ้นจากเอกสารที่กำลังเขียนมากมายตรงหน้า พูดสั้น ๆ ว่า คนเราก็มีทั้งมุมที่ดีและไม่ดี เลือกมองส่วนที่ดีแล้วเก็บมาเขียน…นั่นน่ะหน้าที่เรา…ส่วนที่ไม่ดีของใคร ก็เป็นของเขาไม่เกี่ยวกับเรา…

@@@ นั่นคือการสอนให้เข้าใจโลก ให้รู้จักแยกแยะ อารมณ์ความรู้สึก ออกจาก ความจริงซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของเรา ด้วยหัวใจที่เปิดกว้างและในแง่มุมที่เป็นบวก

@@@ อีกข้อหนึ่งที่ปู่ไม่เคยสอน…แต่ฉันสังเกตเห็น ก็คือ การหลีกเลี่ยงการใช้คำที่นำไปสู่ความรู้สึกใน “ทางลบ” ไม่ว่าจะเป็นคำที่ตีความได้หลายความหมาย คำหยาบทั้งโดยตัวหนังสือหรือสาระในการตีความ คำกระทบกระเทียบเปรียบเปรย นี่คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังสือของปู่เป็นที่ขึ้นชื่อว่า “อ่านง่ายสบายใจ ไม่เป็นพิษเป็นภัย” กับใคร

@@@ ทุกวันนี้ฉันรักการเขียน ทุกครั้งที่เขียนก็อดที่จะระลึกถึง คำสอน ของปู่ไม่ได้ รางวัลเล็ก ๆ ที่ฉันได้รับมาบ้าง ก็เป็นผลโดยตรงมาจาก การสอนเขียนหนังสือ ของท่านนี่เอง

ดีใจและภูมิใจที่ตัวเองเป็น ศิษย์มีครู

ขอบพระคุณและคารวะอาจารย์ถวัลย์ มาศจรัสด้วยหัวใจ

:-D


หลุมพราง

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 17 กันยายน 2010 เวลา 10:31 (เย็น) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต #
อ่าน: 2226

วันหนึ่งพระเบิ้มเข้าไปปฏิบัตินวดเท้าถวายหลวงปู่ดุลย์ อตุโล แล้วก็ถามปัญหาโลกแตกกับท่านว่า

ไก่กับไข่อย่างไหนเกิดก่อนกัน? อย่างไม่คาดคิดว่าหลวงปู่จะตอบ และแล้วท่านก็ตอบว่า…

เกิดพร้อมกันนั่นแหละ คำถามหนึ่งจึงมีหลายคำตอบ ถ้าเราไปยึดติดกับคำตอบใดคำตอบหนึ่ง หรือแม้แต่ยึดติดในคำถาม เราก็จะตกหลุมพรางในโลกสมมติทันที

เรื่องเล่าจาก สโมสรวันพระ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

อ่านแล้วอมยิ้ม คนช่างตั้ง “คำถาม ชะงักกึก เพราะโดนใจอย่างจัง ชอบถามนัก…เจ้าปัญหา แถมยังติดยึดกับ คำตอบได้คำตอบถูกใจก็ยิ้มหน้าบาน มีความสุข คำตอบไม่ถูกใจก็หน้าหุบ หดหู่ทุกข์ใจ

ต้องมีเหตุให้มีอาการหน้าบาน ๆ หุบ ๆ สุข ๆ ทุกข์ ๆ กับคำถาม-คำตอบอยู่นั่นแล้ว…ตกหลุมตกร่องพรางมาตลอดชีวิตเลย

รีบบอกตัวเองว่า…รู้แล้วยังจะนั่งเล่นนอนเล่นใน

หลุมพราง ก็ตามใจ…นะ

;-)


ใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 16 กันยายน 2010 เวลา 9:54 (เช้า) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต #
อ่าน: 2691

ได้รับเมลดี ๆ จากกัลยาณมิตร ชอบใจมาก เป็นเรื่องของ เวลาในชีวิต เนื้อหากล่าวถึง ช่วงชีวิตตามปกติของคนทั่ว ๆ ไปคือ

ช่วงแรก : การเรียนรู้ การศึกษาเล่าเรียน เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์เพื่อใช้ในการทำงาน

ช่วงที่สอง : การทำงาน สร้างสมประสบการณ์ ทำมาหากิน เก็บเงินทองทรัพย์สิน ตั้งเป้าหมายในชีวิตและไปให้ถึงจุดนั้น

ช่วงที่สาม : ไม่ต้องทำงานประจำ หาความสุขสงบหลังเกษียณอายุ พักผ่อน ท่องเที่ยว ทำสิ่งที่ชื่นชอบ

@@@สำหรับคนที่อยู่ในช่วงชีวิตที่สอง คือ ชีวิตการทำงานนั้น หลายคนมักจะรอ วันเกษียณอายุ เพื่อที่จะได้พักผ่อน ทำสิ่งที่ตัวเองรัก เช่น การไปท่องเที่ยวอย่างมีความสุข ไม่ต้องคร่ำเคร่ง วิ่งวนกับงานที่ทำเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่หมดเสียที

…แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนส่วนหนึ่งหลังเกษียณจากงานประจำแล้ว กลับไม่มีความสุขดังที่วาดหวังไว้ บางคนหดหู่ห่อเหี่ยว อยู่ไปวัน ๆ ไม่รู้จะทำอะไร บางคนสุขภาพพาลย่ำแย่ ป่วยออด ๆ แอด ๆ ไปเลยก็มี

@@@ เนื้อหาในเมลนี้เสนอแนวคิดว่า ให้ ใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน เพื่อให้การใช้เวลาในชีวิตมีประสิทธิภาพที่สุด (เท่าที่ศักยภาพอันพึงมีของเรา) โดย

ใช้เวลาในการเรียนรู้ทุกวัน เพื่อรักษาพลังที่จะวิวัฒน์และพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณภายใน

ใช้เวลาในการทำงานทุกวัน เพื่อจะช่วยกระตุ้นและรักษาเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่

ใช้เวลาในการมีความสุขทุกวัน แม้กับเรื่องราวหรือสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ความเรียบง่ายของธรรมชาติ เพื่อสร้างความสุขสงบในใจ

@@@ โดยรวมก็คือให้ใช้เวลาทั้งสามช่วงในชีวิตอย่างสมดุล มีความสุขกับย่างก้าวของชีวิต ไม่ต้องรอจนเกษียณอายุจึงคิดจะหาความสุขสงบ หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แปลก ๆ และควรทำงานเพื่อสร้างคุณค่า เสริมสร้างศักยภาพส่วนตัวในทุกวันทุกช่วงวัย

@@@ คิดตามแล้วต้องอมยิ้ม…ดูเหมือน คำว่า ใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน นี้ ไม่น่ารังเกียจอะไร หากในแต่ละวัน/วัยของชีวิตเราได้ใช้ชีวิตอย่างเต็ม “ความหมาย” ของทั้งสามช่วงชีวิตไปพร้อม ๆ กัน

:lol:

ขอบคุณกัลยาณมิตรเจ้าของเรื่องดี ๆ

ผู้ชื่นชอบ “ดอกอัญชันขาว”


พอหรือยัง?

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 9 กันยายน 2010 เวลา 9:19 (เย็น) ในหมวดหมู่ ภาษา ร้อยกรอง ความคิด #
อ่าน: 2377

May you have

Enough happiness to make you sweet,

Enough trials to make you strong,

Enough sorrow to keep you human,

And enough hope to make you happy.

Anonymous

อ่านที่เพื่อนส่งมาให้แล้วยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่นาน…

ความสุข ทำให้เรา อ่อนโยน

ความ ทุกข์ทรมาน ทำให้เรา เข้มแข็ง

ความ โศกรันทด ทำให้เราคงไว้ซึ่ง ความเป็นมนุษย์

และ ความหวัง ทำให้เรามี ความสุข

กระหยิ่มยิ้มย่องในใจ งั้นที่เคยคิดและเชื่อเสมอมาว่า ทุกสิ่งทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเราย่อมส่งผลดีและเหมาะสมกับเรานี่ ก็คงใกล้เคียงความจริงน่ะสินะ

๑๑๑๑สรุป (เองว่า) เราควรพยายามถามตัวเองบ่อย ๆ ว่าเรามีความสุขพอไหม เราได้สร้างความหวังพอหรือยัง เราต้องไม่ยอมอยู่อย่างท้อแท้ท้อถอย จะได้อ่อนโยนยิ่งขึ้นกับตนเองและผู้คนรอบข้าง อย่ารังเกียจความทุกข์ทรมานและความโศกสลดรันทดใจที่จำต้องรับและเรียนรู้ เพราะมันช่วยให้เรามีความเข้มแข็งและเปี่ยมล้นด้วยความเป็นมนุษย์ (ที่สมบูรณ์)

@@@

อยากให้ทุกคนมีความสุขค่ะ

:-D


WATCH

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 9 กันยายน 2010 เวลา 9:23 (เช้า) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต #
อ่าน: 1618

“…WATCH…”

W…watch your words จงระมัดระวังคำพูดของเรา จงพูดแต่สิ่งที่ดี คำพูดของเราต้องเต็มไปด้วยความรักและความเมตตา

A…watch your Action จงระมัดระวังการกระทำของเรา จงทำแต่สิ่งที่ดี รับใช้ช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ

T…watch your Thought จงระมัดระวังความคิดของเรา เราคิดอะไร เราก็เป็นอย่างนั้น จงคิดแต่สิ่งที่ดีเสมอ

C…watch your Character จงระมัดระวังอุปนิสัยของเรา จะต้องเป็นอุปนิสัยที่ดีงามเสมอ

H…watch your Heart จงดูแลรักษาจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์

ท่านศรีสัตยา ไสบาบา

ขอบคุณภาพจากhttp://www.thaipoem.com/forever/ipage/poem85823.html

@@@ระลึกถึงครั้งหนึ่งที่เคยได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้ออกมาต้อนรับและเมตตาบรรยายพร้อมพาชมโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ไปในฐานะที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำเลย ตอนท้ายท่านกล่าวข้อความซึ่งจำได้จนปัจจุบันพร้อมมอบหนังสือ “อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว” พร้อมลายเซ็นของท่านไว้ที่ปกใน ท่านกล่าวว่า…

เมื่อมองนาฬิกาทุกครั้ง อย่ามองเห็นแต่ตัวเลขและสมมุติของเวลา ให้ระลึกถึงความหมายของ นาฬิกา ด้วยนะครับ…

@@@ ระหว่างทางกลับบ้านบนรถ ก็รีบพลิกอ่านด้วยความสนใจอย่างรวดเร็ว และได้พบข้อความที่ท่านได้กล่าวฝากไว้ ซึ่งเป็นข้อความคำสอนอันทรงคุณค่า จากท่านศรีสัตยา ไสบาบา นี้

@@@@ทำให้อดจะระลึกถึงคำสอนของ”แม่” ไม่ได้ แม่พร่ำสอนลูกหลานเสมอว่า ก่อนพูด ก่อนทำสิ่งใดให้ทบทวนก่อน “ด้วยการถามตัวเองอย่างน้อย 3 ครั้้งเสมอว่า ที่พูดที่ทำนี้ทำให้ตัวเองเดือดร้อนไหม ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไหม แล้วจึงพูดจึงทำก็ยังไม่ช้าเกินไป” (แม่คงเห็นลูก ๆ ปากไวใจกล้าบ้าบิ่น…ฮา ๆ)

มองนาฬิกาครั้งใดก็ขอให้เราได้ เห็น คำสอนนี้ด้วย

จะได้ยิ้ม ๆ และมองเห็นคุณค่าที่แท้ของมนุษย์

อย่างเบิกบานและมีความสุข

:-D


สองคำถาม

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 8 กันยายน 2010 เวลา 9:50 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 2587

8-O

@@@ในการเรียนรู้ เราก็ต้องสอนเด็กให้มีวิจารณญาณ พอเด็กรับข้อมูลต่าง ๆ เข้ามา เด็กจะต้องรู้จักตั้งคำถาม 2 คำถามในทันทีว่า ดีสำหรับเราหรือไม่ และดีสำหรับทุกคนหรือไม่ ถ้าดีทั้งสองอย่างก็เอาไปใช้ได้เลย แต่ถ้าไม่ดีต้องปฏิเสธมัน อย่าไปสนใจข้อมูล รู้จักปล่อยวาง นี่คือการที่เราใช้วิจารณญาณ สมมติเราคิดว่าสิ่งนี้ไม่ดีสำหรับเรา เราก็จะส่งแรงเสริมเข้าไป ครั้งต่อไปมันจะตีความได้เองว่าใช้ไม่ได้ เพราะเราได้ใส่ข้อมูลเข้าไปใหม่แล้ว…

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส

@@@ พบข้อความนี้ในหนังสือ อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว ที่ครอบครองไว้นานแล้ว หยิบมาปัดฝุ่นพลิก ๆ เปิด ๆ เป็นอาหารสมองยามเช้าพร้อมกาแฟ

@@@ โดนใจกับข้อความนี้… มนุษย์เราหากขาด วิจารณญาณคงทำให้อยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลนี้ได้ยาก และการเรียนรู้ที่มีวิจารณญาณนี้ มีส่วนช่วยกำหนดให้มนุษย์รู้จักกำกับความคิด/ความเห็น/คัดสรรสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ได้

@@@ บางทีนะ…ถ้าเราหลาย ๆ คน (คงเป็นไปไม่ได้ที่จะ ทุกคน) เรียนรู้พร้อมทั้งใช้วิจารณญาณว่าสิ่งที่กำลังเรียนรู้นี้ ดีสำหรับเราหรือไม่ และดีสำหรับทุกคนหรือไม่ โลกนี้จะสงบสุขขึ้นอีกอักโขเลย

ไม่แปลกใจกับตัวเองแล้ว เพราะแม้จะเคยอ่านหนังสือบางเล่มแล้ว พออ่านอีกครั้ง (หรือหลายครั้ง) ก็ต้องพบประเด็นที่โดนใจ ด้วยกำลังครุ่นคิดอยู่ในเรื่องนั้น

@@@ อาจอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ว่า เมื่อเราตั้งใจ มุ่งมั่นครุ่นคิดต่อสิ่งนั้น สิ่งนั้นย่อมปรากฏขึ้นต่อ ผัสสะ ของเรา และหากกล่าวในแง่ของจิตวิทยาสมัยใหม่ที่กำลังฮิตติดตลาด เช่นเรื่อง พลังดึงดูด (Law of Attraction) ที่มีหลักการว่าสิ่งที่เราครุ่นคิดอย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง คิด พูด ทำซ้ำ ๆ จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแก่เรานั่นแหละ

ส่วนตัวแล้วคิดว่ามีข้อควรระวังด้วยว่า บางคนก็เข้าใจผิดเพราะเอาแต่คิด ๆ พูด ๆ แล้วก็หวังว่าจะเกิดผลตามที่ตัวเองคิดและพูดซ้ำ ๆ (โดยไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจัง) แล้วจะได้ผลนั้น (เป็นไปได้ไง) เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

……ว่าแล้วก็ได้แต่ยิ้ม (อย่างปลง ๆ ตัวเอง) พุทธศาสนาได้กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรสักหน่อยเลย แต่เราไม่ได้ศึกษาค้นคว้า เลยต้องไปเที่ยวอ้างจิตวิทยาสมัยใหม่ของฝรั่ง เสียเงินเสียเวลาต้องไปเข้าคอร์สอบรมกันแพง ๆ ถึงสิงคโปร์บ้าง อเมริกาบ้าง นั่นเพราะเราติดนิสัยที่จะ คว้า มากกว่าการ ค้น นั่นเอง

@@@ ขึ้นต้นเป็นเรื่องการเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ แต่ลงท้ายบ่นอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็พอจะดึงให้เกี่ยวกันได้บ้างว่า…หากเรามีวิจารณญาณที่ถูกตรงแล้ว เราก็จะรู้ว่าควร ค้นคว้า มากกว่าแค่ คว้า นั่นไง

จบได้เหมือนกันแฮะเรา…

;-)

ปล. ภาพประกอบบันทึกนี้เป็นภาพ “ซากของตลาดสามย่านเก่า” ความจริงก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องในบันทึกแต่ดึงมาเกี่ยวกันได้เพราะคิดว่า “สังคมทุนนิยม” นั้น สนใจแต่ว่าอะไรดีสำหรับเรา และละเลยคำถามที่ว่าอะไรดีสำหรับทุกคน



Main: 1.3529160022736 sec
Sidebar: 0.059448003768921 sec