ครูของฉัน… “ถวัลย์ มาศจรัส”

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 20 กันยายน 2010 เวลา 12:19 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 3308

อ.ถวัลย์ มาศจรัส

เช้าวันนี้ อดีตหัวหน้างานที่เคารพรักมากที่สุดท่านหนึ่ง โทรมาให้เขียนถึง การสอนเขียนหนังสือ ของท่าน ซึ่งจะนำไปเพิ่มเติมไว้ในหนังสือที่ท่านตั้งใจเขียนเป็น “ของขวัญ” ให้แก่เพื่อนร่วมงานก่อนที่จะ Early retire ในเดือนกันยายนนี้

อาจารย์ถวัลย์ มาศจรัส หรือที่บรรดาเพื่อนร่วมงานต่างเรียกขานกันว่า ปู่ด้วยความรักและเคารพนี้ โดยส่วนตัวแล้วฉันถือว่าท่านเป็น ครูเพราะนอกจากสอนเรื่องงาน ยังสอนการใช้ชีวิต สอนให้รู้จักมองแง่มุมต่าง ๆ ในสังคม และที่สำคัญท่านสอนให้รู้จักการ เขียนหนังสือ

@@@ปู่ เป็นนักเขียนที่ได้รางวัลมากมาย จากหลายองค์กรและสถาบัน โดยเฉพาะรางวัลจากสถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับรางวัลถึง 26 รางวัล จนประกาศวางมือไม่ส่งผลงานประกวดอีก (เพื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนคนอื่น ๆ) แน่ล่ะ ท่านเป็นนักเขียนที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ วิธีการสอนเขียนหนังสือ ของปู่ ซึ่งมักจะเป็นไปในทำนอง สอนแบบไม่สอน และ เน้นที่ ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ

@@@ แรก ๆ ที่เขียนงานแล้วส่งให้อ่านและปรับแก้ ปู่ยิ้ม ๆ ที่มุมปากแล้วบอกว่า เออ…มีมุมมองแปลก เก็บรายละเอียดดี เขียนต่อไปนะ… ตอนนั้นจำได้ว่าปลื้มใจสุดจะประมาณได้ มีนักเขียนใหญ่ชมนี่นา จนภายหลังได้มาอ่านงานของตัวเอง จึงตระหนักรู้ว่า ปู่พยายามที่จะค้นหาจุดเด่นข้อดีของฉัน (เท่าที่มี) มาชมและให้กำลังใจ และนั่นคือ การเน้นและให้ความสำคัญกับ ตัวผู้เรียน อย่างแท้จริง

@@@ วันหนึ่ง ปู่บอกว่า … เดี๋ยวนี้เขียนหนังสือลงล็อค เข้าที่เข้าทางแล้วนะ… เป็นคำชมอีกครั้งที่ทำให้ตระหนักรู้ในทันทีว่า ครั้งแรกนั้นหาใช่คำชมไม่ แต่เป็นการให้กำลังใจด้วยจิตเมตตาอันเอกอุที่มีต่อลูกน้องที่ริอยากเขียนหนังสือ

@@@ ปู่มักจะแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้เล่มนั้นและเล่าด้วยท่าทางสบาย ๆ ว่า คนจะเขียนหนังสือให้ได้ดี ต้องอ่านมาก เพื่ออ่านความคิดของคนอื่นและทบทวนความคิดของตัวเองเมื่อความคิดคมชัดแล้ว ภาษาที่เขียนจะสื่อถึงใจคนอ่านได้ง่ายขึ้น

@@@ อีกครั้งหนึ่งที่ฉันมีหน้าที่ต้องเขียนถึงบางสิ่งที่ตัวเองมีโอกาสไปทราบถึงเบื้องหลัง ทำให้การเขียนครั้งนั้นฝืดฝืน จึงเดินไปบ่น ๆ ให้ปู่ฟังว่า เขียนไม่ออกเพราะรู้สึกขัดกับความรู้สึก… ปู่เงยหน้าขึ้นจากเอกสารที่กำลังเขียนมากมายตรงหน้า พูดสั้น ๆ ว่า คนเราก็มีทั้งมุมที่ดีและไม่ดี เลือกมองส่วนที่ดีแล้วเก็บมาเขียน…นั่นน่ะหน้าที่เรา…ส่วนที่ไม่ดีของใคร ก็เป็นของเขาไม่เกี่ยวกับเรา…

@@@ นั่นคือการสอนให้เข้าใจโลก ให้รู้จักแยกแยะ อารมณ์ความรู้สึก ออกจาก ความจริงซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของเรา ด้วยหัวใจที่เปิดกว้างและในแง่มุมที่เป็นบวก

@@@ อีกข้อหนึ่งที่ปู่ไม่เคยสอน…แต่ฉันสังเกตเห็น ก็คือ การหลีกเลี่ยงการใช้คำที่นำไปสู่ความรู้สึกใน “ทางลบ” ไม่ว่าจะเป็นคำที่ตีความได้หลายความหมาย คำหยาบทั้งโดยตัวหนังสือหรือสาระในการตีความ คำกระทบกระเทียบเปรียบเปรย นี่คงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังสือของปู่เป็นที่ขึ้นชื่อว่า “อ่านง่ายสบายใจ ไม่เป็นพิษเป็นภัย” กับใคร

@@@ ทุกวันนี้ฉันรักการเขียน ทุกครั้งที่เขียนก็อดที่จะระลึกถึง คำสอน ของปู่ไม่ได้ รางวัลเล็ก ๆ ที่ฉันได้รับมาบ้าง ก็เป็นผลโดยตรงมาจาก การสอนเขียนหนังสือ ของท่านนี่เอง

ดีใจและภูมิใจที่ตัวเองเป็น ศิษย์มีครู

ขอบพระคุณและคารวะอาจารย์ถวัลย์ มาศจรัสด้วยหัวใจ

:-D


สองคำถาม

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 8 กันยายน 2010 เวลา 9:50 (เช้า) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 2593

8-O

@@@ในการเรียนรู้ เราก็ต้องสอนเด็กให้มีวิจารณญาณ พอเด็กรับข้อมูลต่าง ๆ เข้ามา เด็กจะต้องรู้จักตั้งคำถาม 2 คำถามในทันทีว่า ดีสำหรับเราหรือไม่ และดีสำหรับทุกคนหรือไม่ ถ้าดีทั้งสองอย่างก็เอาไปใช้ได้เลย แต่ถ้าไม่ดีต้องปฏิเสธมัน อย่าไปสนใจข้อมูล รู้จักปล่อยวาง นี่คือการที่เราใช้วิจารณญาณ สมมติเราคิดว่าสิ่งนี้ไม่ดีสำหรับเรา เราก็จะส่งแรงเสริมเข้าไป ครั้งต่อไปมันจะตีความได้เองว่าใช้ไม่ได้ เพราะเราได้ใส่ข้อมูลเข้าไปใหม่แล้ว…

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสัตยาไส

@@@ พบข้อความนี้ในหนังสือ อัจฉริยะบนเส้นทางสีขาว ที่ครอบครองไว้นานแล้ว หยิบมาปัดฝุ่นพลิก ๆ เปิด ๆ เป็นอาหารสมองยามเช้าพร้อมกาแฟ

@@@ โดนใจกับข้อความนี้… มนุษย์เราหากขาด วิจารณญาณคงทำให้อยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลนี้ได้ยาก และการเรียนรู้ที่มีวิจารณญาณนี้ มีส่วนช่วยกำหนดให้มนุษย์รู้จักกำกับความคิด/ความเห็น/คัดสรรสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ได้

@@@ บางทีนะ…ถ้าเราหลาย ๆ คน (คงเป็นไปไม่ได้ที่จะ ทุกคน) เรียนรู้พร้อมทั้งใช้วิจารณญาณว่าสิ่งที่กำลังเรียนรู้นี้ ดีสำหรับเราหรือไม่ และดีสำหรับทุกคนหรือไม่ โลกนี้จะสงบสุขขึ้นอีกอักโขเลย

ไม่แปลกใจกับตัวเองแล้ว เพราะแม้จะเคยอ่านหนังสือบางเล่มแล้ว พออ่านอีกครั้ง (หรือหลายครั้ง) ก็ต้องพบประเด็นที่โดนใจ ด้วยกำลังครุ่นคิดอยู่ในเรื่องนั้น

@@@ อาจอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ว่า เมื่อเราตั้งใจ มุ่งมั่นครุ่นคิดต่อสิ่งนั้น สิ่งนั้นย่อมปรากฏขึ้นต่อ ผัสสะ ของเรา และหากกล่าวในแง่ของจิตวิทยาสมัยใหม่ที่กำลังฮิตติดตลาด เช่นเรื่อง พลังดึงดูด (Law of Attraction) ที่มีหลักการว่าสิ่งที่เราครุ่นคิดอย่างมุ่งมั่นต่อเนื่อง คิด พูด ทำซ้ำ ๆ จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแก่เรานั่นแหละ

ส่วนตัวแล้วคิดว่ามีข้อควรระวังด้วยว่า บางคนก็เข้าใจผิดเพราะเอาแต่คิด ๆ พูด ๆ แล้วก็หวังว่าจะเกิดผลตามที่ตัวเองคิดและพูดซ้ำ ๆ (โดยไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจัง) แล้วจะได้ผลนั้น (เป็นไปได้ไง) เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

……ว่าแล้วก็ได้แต่ยิ้ม (อย่างปลง ๆ ตัวเอง) พุทธศาสนาได้กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรสักหน่อยเลย แต่เราไม่ได้ศึกษาค้นคว้า เลยต้องไปเที่ยวอ้างจิตวิทยาสมัยใหม่ของฝรั่ง เสียเงินเสียเวลาต้องไปเข้าคอร์สอบรมกันแพง ๆ ถึงสิงคโปร์บ้าง อเมริกาบ้าง นั่นเพราะเราติดนิสัยที่จะ คว้า มากกว่าการ ค้น นั่นเอง

@@@ ขึ้นต้นเป็นเรื่องการเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ แต่ลงท้ายบ่นอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็พอจะดึงให้เกี่ยวกันได้บ้างว่า…หากเรามีวิจารณญาณที่ถูกตรงแล้ว เราก็จะรู้ว่าควร ค้นคว้า มากกว่าแค่ คว้า นั่นไง

จบได้เหมือนกันแฮะเรา…

;-)

ปล. ภาพประกอบบันทึกนี้เป็นภาพ “ซากของตลาดสามย่านเก่า” ความจริงก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องในบันทึกแต่ดึงมาเกี่ยวกันได้เพราะคิดว่า “สังคมทุนนิยม” นั้น สนใจแต่ว่าอะไรดีสำหรับเรา และละเลยคำถามที่ว่าอะไรดีสำหรับทุกคน


บ่มเพาะ-ความรัก

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 9 สิงหาคม 2010 เวลา 9:19 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, การศึกษา #
อ่าน: 1961

222

เมื่อถึงที่สุดแล้ว….

เราจะเก็บแต่สิ่งที่เรารัก

เราจะรักแต่สิ่งที่เราเข้าใจ

เราจะเข้าใจแต่สิ่งที่เราได้รับการบ่มเพาะและรัก

บานา ดิอุม

นักอนุรักษ์ชาวเซเนกัล

โค้ดข้อความมาจากหนังสือ จากใจสู่ใจ

1234

2222ข้อความนี้สะดุดใจตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่านเจอ เพราะตรงกับความครุ่นคิดของตัวเองที่ว่า หากเราอยากปลูกฝังสิ่งดี ๆ ให้กับเด็กรุ่นหลัง เราต้องทำอย่างไร นอกเหนือจากความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ และข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่เราเรียนรู้สั่งสมมาแล้ว มีอะไรอีกบ้างที่จำเป็นและต้องมี

2222บอกตัวเองว่า…ที่เราคิด เราเชื่อ และทำอย่างเป็นบ้าเป็นหลังนี่ อาจผิดก็ได้… แต่จำเป็นต้อง กล้า ๆ หน่อย มัวแต่กลัวการเสียหน้า เสียความมั่นใจ กลัวผิด แล้ว…จะได้ประเด็นใหม่ ๆ ที่นำไปสู่ การพัฒนาได้อย่างไร

222ได้ข้อสรุปตอนนี้ว่าหากอยากส่งต่อสิ่งดี ๆ ที่ได้รับมาให้กับเด็กรุ่นหลัง นอกจากต้องสั่งสมความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ที่ผ่านการกลั่นกรองพินิจพิเคราะห์แล้วอย่างรอบคอบ ยังต้องสร้างสรรค์ความรัก ความเข้าใจ และต้องหัดบ่มเพาะสิ่งดี ๆ ไว้ในใจของกันและกันให้มาก ๆ ด้วย

//// เพราะหากอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกไม่ไว้วางใจ ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ขาดความรักและความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน ต่อให้ความรู้ ประสบการณ์เลอเลิศขนาดไหน … ก็คงมีน้อยเท่านัอยคนที่จะเปิดใจรับ…

คลิกเลย…แฮะ

;-)


คิดต่าง

8 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 22 กรกฏาคม 2010 เวลา 12:16 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 2302

1234

เดินผ่านไปมาแถวสีลมช่วงเย็นเป็นประจำ ภาพที่สะดุดตาคือ มีนักศึกษา กลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างที่ถือแผ่นกระดาษติดภาพกิจกรรมในค่ายพัฒนาชนบท ค่ายอาสาสร้างห้องน้ำ ค่ายสร้างโรงเรียน ฯลฯ และมีการถือกล่องรับเงินบริจาค เพื่อสมทบทุนในการไปค่ายต่าง ๆ น้อง ๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชายจะช่วยกันตะโกนเชิญชวนให้ช่วยบริจาค บางกลุ่มจะมีโทรโข่ง เครื่องขยายเสียงด้วย บ้างก็มีกลองเล็ก ๆ ตีให้จังหวะเป็นที่ครึกครื้น…สังเกตดูก็เป็นนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบัน ทั้งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมหาวิทยาลัยราชภัฎต่าง ๆ

คิดไปถึงสมัยที่เป็นนักศึกษา บ้าการไปค่ายมาก จนขึ้นชื่อว่าเป็น เจ้าแม่ค่าย วันศุกร์บ่ายต้องไปสำรวจ(Survey)ค่าย ต้องโดดเรียนวิชาบ่ายวันศุกร์ ใช้วิธีเข้าไปนั่งหลังห้อง พอเช็คชื่อเสร็จก็หายแวบไป กลับจากค่ายเช้าวันจันทร์ ง่วงมากขอไปนอนพักนิ๊ดเดียว หลับยาว…จนเที่ยง วิชาเช้าวันจันทร์ไม่ได้เรียนตามเคย ตื่นมากินข้าวเที่ยงด้วยความหิวโหย อิ่มมากหลับต่ออย่างไม่ตั้งใจ สรุปรวมแล้ววันจันทร์ก็ไม่ได้เรียนไปอีก 2 วิชา โชคดีที่ตอนสอบ ได้เพื่อนดีช่วยติว เลยพอรอดตัวมาได้ …ฮา ๆ (มีเพื่อนดีเป็นศรีแก่ตัว)

การไป ค่าย ก็คือการลงปฏิบัติจริง เห็นของจริง ได้มีประสบการณ์ในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ได้เห็นสภาพความเป็นจริงของชีวิต ได้ตระหนักรู้ว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าเราอีกมาก มีคนที่เสียสละทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่เคยได้รับการยกย่องหรือรางวัลใด ๆ มีคนเล็กคนน้อยที่ก้มหน้าก้มตาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้สังคมโดยไม่เคยป่าวประกาศให้ใครรู้อีกมหาศาล

นิสิตนักศึกษาในวัยเรียน เป็นวัยที่มีพลังด้านกายภาพล้นเหลือ มีพลังความคิดแปลกใหม่ มองโลกในแง่บวก โลกสดใส ชีวิตยังไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่มีภาระใด ๆ จึงสมควรที่จะได้ไปค่ายเพื่อได้รับประสบการณ์ตรงอันทรงคุณค่า (ซึ่งหาไม่ได้ในห้องเรียนหรอก)

หลายคนไปค่ายกลับมาแล้ว…พฤติกรรมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะมุมมองและความคิดเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลมาจากการได้มองได้เห็นสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยมองเคยเห็นแบบเดิม ๆ

สรุปโดยรวม ๆ การไปค่ายทำให้ เห็นต่างคิดต่างพฤติกรรมจึงต่างไปจากเดิม

หันมามองการมาระดมทุน ขอรับบริจาคของเด็กรุ่นใหม่ อดจะเปรียบเทียบกับสมัยที่ตัวเองยังทำค่ายไม่ได้… ครั้งแรกที่ทำค่ายจะมีเงินสำรองการทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่พอกับค่ายใช้จ่ายทั้งหมด ต้องมีการระดมทุนเพิ่ม โดยวิธีการต่าง ๆ จำได้ว่าที่ทำก็เช่น

- เขียนโครงการ แล้วขอเข้าพบผู้บริหารของบริษัท เพื่อชี้แจงและขอสปอนเซอร์สนับสนุน บางที่ได้เงิน บางที่ได้ของกินของใช้ และที่คิดว่ามีคุณค่าอย่างประมาณค่าไม่ได้ก็คือ ได้การฝึกความกล้า ฝึกการนำเสนอแนวคิด และสร้างความมั่นใจในตัวเองในการที่จะไปบอกเล่าและขอการสนับสนุนจากผู้ใหญ่

- การทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขายบัตรการกุศลฟังดนตรี เล่นละครหาเงินสมทบทุนค่าย การทำกระเป๋าถัก พวงกุญแจ ทำการ์ดอวยพร ฯลฯ สุดแต่ใครมีฝีมือและความชำนาญทางใด ก็ช่วยกันทำและนำไปขายกับเพื่อน ๆ ได้เงินมาอีกทางหนึ่ง กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกลุ่ม การทำบัญชี คำนวณต้นทุน กำไร และการวางแผนงานและการลงทุน

- การขอเงินสนับสนุนจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะทำ ฟังดูน่าจะง่าย แต่สำหรับตัวเองและบางคนแล้วเป็นวิธีที่ยากมาก เพราะที่บ้านไม่สนับสนุนและไม่เชื่อใจในการให้ลูกหลานของตนไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร (เด็กกรุงเทพฯนี่นะ)

1234นึกขัดข้องหมองใจตงิด ๆ เมื่อมองสิ่งที่เด็ก ๆ ทำกันอยู่  ทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือน้องเอ๋ย มายืนตะโกนปาว ๆ ขอเงิน ๆ คิดอย่างอื่นไม่ได้หรือไงนะ…

หงุดหงิดหน่อย ๆ แล้ว ลองเข้าไปคุยดูดีกว่า ถามว่ามาจากไหน น้องก็บอกชื่อสถาบัน ถามกิจกรรมที่ตั้งใจจะไปทำ คิดว่าจะได้ประโยชน์อะไร ฯลฯ แล้วคิดอย่างไรจึงมาระดมทุนเช่นนี้ คำตอบก็คือ เงินไปค่ายไม่พอ พวกหนู(ผม) เลยต้องหาเงินเพิ่ม ถามต่อว่าคิดว่านอกจากมายืนรับบริจาคอย่างนี้ จะทำอะไรได้บ้าง (ที่มันน่าจะสร้างสรรค์กว่านี้น่ะ…คิดในใจ) ทั้งกลุ่มอึ้งไปนิดหนึ่ง มองหน้ากันเลิ่กลั่ก มาท่าไหนนี่ อีกคนตอบว่า ก็เห็นรุ่นพี่เขาทำแบบนี้กันมาตลอดนี่คะ พวกหนูก็ทำตามน่ะค่ะ…. (แป๋ว!!!)

1234

เดินจากเด็กกลุ่มนั้นมาอย่างหงอย ๆ…

1234...รู้สึกหดหู่ขึ้นมาจับใจ สงสารเยาวชนคนรุ่นใหม่ เมื่อคิดได้แบบเดิม ๆ ที่รุ่นพี่ทำต่อ ๆ ตาม ๆ กันมา สิ่งที่จะทำต่อไปเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ก็คงไม่วายเป็นเช่นที่ว่า … คิดต่อไปอีกว่า ไปค่ายน่ะ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ เห็นต่างคิดต่างจะได้ เห็นถูกคิดถูกไม่ใช่หรือ? แล้วนี่มาเริ่มนับหนึ่งผิดเสียแล้ว จะนับต่อไปถูกได้อย่างไรกันเล่า มันก็คงผิดไปทั้งกระบวนการอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

1234

อย่าไปเลยค่าย…น่ะ

ถ้าไม่ปรับความคิดที่จะพึ่งตนเองก่อนไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

ไปค่ายก็คงไม่ได้อะไรหรอก…


หมาหางด้วน

5 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 1 กรกฏาคม 2010 เวลา 11:54 (เย็น) ในหมวดหมู่ การศึกษา #
อ่าน: 2773

12344

หลายวันมาแล้วที่คุยกับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน

1234 กลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกันส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว ทั้งทำงานเอกชนและรับราชการ ก็มีทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน

1234 ระยะนี้เป็นช่วงของการทำดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation) ที่เราชอบเรียกง่าย ๆ ด้วยความเคยชินว่า วิทยานิพนธ์ (Thesis) อาจารย์ต้องทั้งดุและขอร้องให้เราเรียกให้ถูกต้อง แม้ว่าเราจะรู้สึกว่า ไม่ต่างกันหรอก เรียกง่าย ๆ ก็คือ รายงาน ชิ้นใหญ่ ที่ต้องทำส่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการจบหลักสูตรนั่นเอง จะเรียกอะไรก็ตามที

1234 ในยุคที่สถานศึกษาต้องแข่งขันด้านคุณภาพ ชื่อเสียง และการหารายได้เพื่อเลี้ยงตนเอง การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนก็ยิ่งเข้มข้น มีทั้งภาคปกติ (ค่าเรียนถูกหน่อย) ภาคพิเศษ (เรียนนอกเวลาราชการ ค่าเรียนแพงกว่า) และทั้งภาคปกติและภาคพิเศษรุ่นนี้มีนิสิตรวม 18 คน

1234 ทุกวันศุกร์จะมีการรวมกลุ่มเพื่อนเพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยกันกระตุ้น ติดตามกัน ใครมีปัญหาเร่งด่วนก็นำมาคุยในวงสนทนา เพื่อรับคำแนะนำปรึกษาจากเพื่อน ๆ ซึ่งมีความรู้ชำนาญ และมีเครือข่ายที่หลากหลายกันไป

1234

1234 วันอังคารที่ผ่านมาเป็นการรวมตัวกันนอกรอบ เนื่องจากมีเรื่องเร่งด่วน เราพบว่าในจำนวนพวกเรา 18 คนนั้น มี

- 1 คน สอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่ผ่าน (แม้จะได้สอบแก้ตัวถึง 3 ครั้ง)

- 2 คน ขอลาออกเนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ เจ็บป่วยทางกาย (ซึ่งก็ส่งผลมาจากความวิตกกังวล-ทางจิต)

- 1 คนกำลังจะต้องลาพักหรือลาออกอีก เนื่องจากป่วยด้วยอาการทางจิตเวช (หวาดระแวง) และ

- อีก 2 คน กำลังคิดจะลาออกไม่เรียนต่อ เนื่องจากมีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว

รวมความแล้วมีเพื่อน ๆ ที่มีปัญหาและออกจากการเรียนไป 4 คน และกำลังจะออกไปอีก 2 คนในไม่ช้านี้

นั่นหมายถึงว่าจำนวน 1 ใน 3 ของผู้ที่เรียน ต้องออกจากการเรียนกลางคัน ไม่สามารถเรียนต่อจนจบหลักสูตรได้  การเรียนในระดับบัณฑิตศึกษานี้ นอกจากค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ต้องจ่ายจะสูงพอสมควรแล้ว ยังมีส่วนของการลงทุนจากภาครัฐที่สนับสนุนอีกส่วนหนึ่งด้วย … และนี่ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ความสูญเสียทางการศึกษา

1234

เกิดอะไรขึ้น?

เป็นคำถามที่กลุ่มเราพูดคุยกัน หลังจากมีการส่งตัวแทนไปคุยกับเพื่อน ๆ ที่ไม่เรียนต่อด้วยเหตุต่าง ๆ

- สำหรับคนที่สอบหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ไม่ผ่านนั้น ทุกคนได้พยายามช่วยเหลือทางด้านวิชาการเต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถช่วยได้ ต้องปล่อยไป

- คนที่มีปัญหาสุขภาพทางกายและทางจิตนั้น ได้พยายามช่วยแล้ว แต่เกินวิสัยที่จะทำได้ และเป็นการตัดสินใจของเจ้าตัวและครอบครัว ซึ่งเห็นว่าหากการเรียนจนจบเป็นดุษฎีบัณฑิตแล้ว มีโรคติดตัวแถมไปตลอดชีวิต หรือเรียนแล้วต้องเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ เกิดปัญหาทางจิต คงไม่คุ้มกัน

- ส่วนอีก 2 คนที่มีปัญหาครอบครัวนั้น เราเสนอกันว่าควรไปคุยกับครอบครัวของเพื่อน ช่วยอธิบายและผ่อนคลายให้คนในครอบครัว (ภรรยา/สามี) ได้เข้าใจลักษณะการใช้เวลาของผู้ที่เรียนว่าเป็นอย่างไร ฯลฯ ในวันศุกร์นี้

ไม่หนักใจนักที่ได้รับการมอบหมายจากกลุ่มให้เป็นตัวแทนร่วมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นคนไปพูดคุยในครั้งนี้ เตรียมข้อมูลไว้แล้ว ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่คงต้องปล่อย-วาง-ใจสำหรับผลที่จะเกิดขึ้น

1345

1234 แต่ที่คิดต่อมาอีกก็คือ ทำไม การศึกษา ในระบบจึงได้ทำร้าย ผู้เรียนได้ถึงขนาดนี้นะ เกิดอะไรขึ้น และควรจะแก้ปัญหานี้หรือเปล่า จะแก้อย่างไร ใครควรรับผิดชอบ

หรือ… จะตอบง่าย ๆ พอพ้น ๆ ตัวไปเหมือนที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า เรียนถึงระดับนี้แล้ว ต้องแกร่ง เข้มแข็ง อดทนได้ทุกสภาวะ ไม่งั้นไม่สมศักดิ์ศรี (ศักดิ์ศรีอะไรก็ยังไม่แน่ใจ)  ระบบการเรียนการสอนต้องไม่ยอมให้ผ่านไปได้ง่าย ๆ ต้องเคี่ยวกรำ บีบคั้น ให้คิดให้แก้ปัญหา ให้ทำได้ ทนได้ทุกอย่าง จบง่าย ๆ ก็ไม่มีคุณค่าน่ะสิ

งั้นการศึกษาก็เป็นเพียงกระบวนการที่จะทดสอบความแข็งแกร่ง เข้มแข็ง อดทน ทนอด ต้องปรับตัวได้ทุกสภาวะแบบ ศรีทนได้อย่างนั้นหรือ?

1234

การศึกษาจึงกลายเป็น “กองทุกข์” ก้อนโต  คนที่เรียกว่า เก่ง แกร่ง เข้มแข็งที่ผ่านไปได้เท่านั้นจึงจะได้ชื่อว่าเป็น “บัณฑิต มหาบันฑิต ดุษฎีบัณฑิต” แล้วคนที่มีปัญหาในบางด้าน (ใครจะไม่มีปัญหาเลยล่ะ) ถือว่าอ่อนแอ ก็ถูกผลักออกจากระบบการเรียนการสอนไปเลยอย่างนั้นหรือ…(เพื่อนบางคนบอกว่า…โลกนี้ไม่มีที่สำหรับคนอ่อนแอ)

1234

การศึกษา น่าจะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาศักยภาพสูงสุดของตน ส่งผลมีความเจริญงอกงามทางสติปัญญา และสามารถนำความรู้และสติปัญญานั้นไปสร้างสรรค์ ทำให้ตนเองและผู้ือื่นได้เข้าสู่การตระหนักในคุณค่าของตน และแผ่กว้างไปจนถึงการทำประโยชน์และสร้างสรรค์สังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตัวในที่สุด… มิใช่หรือ?

1234

ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านกล่าวว่าการศึกษาปัจจุบันเป็นการศึกษาของพวก หมาหางด้วน เพราะระบบการศึกษาเน้นแต่ให้ ความรู้ (ทางโลกและโลกย์) แต่ขาดการให้ความรู้ในมิติของ คุณธรรมจริยธรรม(หมาที่หางด้วนนี่เสียความเป็น “หมา” ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะไม่มีหาง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการสื่อสารสำคัญไปแล้ว)

1234

ว่าที่ หมาหางด้วนเลยบ่น ๆ กันเองว่า ก็ในเมื่อระบบการศึกษาสร้างเรา (Treat) เช่นนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่เราจะกลายเป็นเช่นนั้น ไม่งั้นมันไม่จบนี่ มาเรียนแล้วขืนไม่จบก็อายเขาตาย แถมยังรู้สึกต้อยต่ำ ขาดความภาคภูมิใจในตัวเองไปตลอดชีวิต ดังนั้นในทุกวิถีทางไม่ว่าระบบและใครว่าอะไร ฉันก็ต้องทำ ต้องทน ต้องยอมรับให้ได้ … จบเมื่อไหร่ค่อยว่ากันอีกที…

ตกลงก็เลยกลายเป็น… หมาหางด้วน ไปเต็มตัว และมีหมาหางด้วน ซึ่งเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาเดินเพ่นพ่านเต็มสังคมไปหมด

1234

ยิ่งคิดยิ่งหดหู่ใจ…บ่นและบันทึกไว้ ยังไม่รู้จะแก้อย่างไร แต่อย่างหนึ่งที่คิดขึ้นมาได้ในขณะนี้ก็คือ…

1234

เราไม่อยากเป็นหมาหางด้วน จะไม่เป็น ไม่ยอมเป็น…เด็ดขาด!!!

13424



Main: 2.1580541133881 sec
Sidebar: 0.11832690238953 sec