2 พฤศจิกาฯไปช่วยจุฬาฯโย้นๆที่น่าน
คนป่าก็มีการบ้านนะเธอ มีมากเสียด้วย ยังค้างเรื่องที่หน่วยงานต่างๆขอมาให้ความเห็น บางหน่วยงานขอข้อมูล บ้างหน่วยงานท้าให้ตอบ แต่วันนี้เป็นเรื่องเฉพาะที่เคยเกริ่นไว้บ้างแล้วที่จะไปช่วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการวิพุทธิยาจารย์อาสา ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตรเชิญไปช่วยเล่าประสบการณ์ความรู้ความคิด ที่มีอยู่แค่หางอึ่งให้นักศึกษาฟังที่จังหวัดน่าน จุฬาฯเขาเชิญชวนมาตั้งแต่ให้ช่วยยกร่างหลักสูตรฯแล้วละเธอ ต่อมาเขาก็ตั้งให้เป็นพุทธิยาจารย์ ซึ่งมีหน้าที่ๆจะไปช่วย-ปั้น-ปะ-ผุ-โครงการที่จุฬาฯตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการสนองคุณแผ่นดินในวาระที่มีอายุครบรอบ100ปี
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และยาก
ถ้าไม่อยากเห็นจุฬาฯเป็นจุลา..ก็ต้องไปร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน
ถึงผมจะไม่ได้มีวาสนาได้เป็นเชื้อเผ่าเหล่ากอของจุฬาลงกรณ์กับใครเขา แต่ก็เคยไปเดินเล่นในสนาม ไปเห็นเสาธงสูงๆ เห็นอาคารที่มีรูปร่างคล้ายกับวัด ก็ได้แต่ทึ่งตาโตตามอาการของเด็กบ้านนอกเข้ากรุง ในชั้นหลังๆผมได้เข้าไปประชุมที่หอประชุมใหญ่ ไปพูดไปบรรยายไปสอนพิเศษให้แก่นักศึกษาของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ และได้รู้จักมักคุ้นกับชาวจุฬาฯบางท่าน ก็ตระหนักถึงบุญคุณของจุฬาฯตามประสาของคนวาสนาน้อยๆ ที่ได้รับความเมตตาจากสถาบันอันทรงเกียรติของชาติแห่งนี้
ตอนเป็นเด็กรุ่นกระเต๊าะ..ผมนะขาโจ๋จุฬาฯซอย11เชียวนะเธอ ผมอยู่ตอนที่เขากำลังสร้างโรงแรมสยามที่มีหลังคาแปลกข้างวังสระปทุมนั่นแหละ..อยู่หอพักใกล้ๆกับค่ายมวยศรีโสธร สมัยนั้น อดุล ศรีโสธร, เด่น ศรีโสธร เป็นนักมายดังระดับแม่เหล็ก รุ่นใกล้เคียงกับพุฒ ล้อเหล็ก อภิเดช ศิษย์หิรัญ ว่างๆผมไปเยี่ยมๆมองๆที่ค่ายมวยแห่งนี้ ก็สงสัยว่า..ทำไมนักมวยลงจากเวทีถึงมีรอยไหม้รอบตัวที่เกิดจากพิษแข้งคู่ต่อสู้ จะนั่งจะขี้ต้องค่อยๆบรรจงเพราะมันปวดไปทั้งสรรพรางกาย ..บางคนถึงกับโอดโอย กินยาแก้ฟกช้ำเป็นถังๆนับเดือน
วันหนึ่งเห็นน้าอดุลย์นั่งอยู่ว่างๆ จึงเดินไปหา
แล้วถามเรื่อง..ทำ ไ ม ถึ ง ท น ค ว า ม เ จ็ บ ป ว ด ไ ด้
นักมวยเอก..บอกว่า..”ไอ้เปี๊ยก..ลองต่อยท้องน้าสิ เอาให้เต็มแรงเลยนะ”
ผมก็กำหมัดซัดเข้าไปที่หน้าท้องของน้าอดุลย์เต็มกำลัง..
ผลลัพธ์..ผมนั่นแหละเจ็บนิ้วสะท้านไปทั้งแขน
จึงทราบว่า..นักมวยเขาเกรงกล้ามเนื้อรับหมัดรับเข่า
จากวันนั้น..ผมก็เก็บมาคุยโม้ให้เพื่อนๆฟัง
อดุลย์นะเรอะ ข้าต่อยเต็มผลั๊วะมาแล้วนะเว๊ย!
จะเขียนเรื่องไปจังหวัดน่าน ตีโค้งไปเสียไกล เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ที่ผมสนใจหลักการศึกษาที่จุฬาฯกำลังสร้างขึ้นมา นั่นก็คือให้นักศึกษาเรียนภาคทฤษฏีควบคู่ไปกับภาคปฏิบัติในอัตราที่เข้มข้นใกล้เคียงกัน จุฬาฯจึงย้ายนักศึกษาปีที่ 2-4 ไปไว้ที่ศูนย์จุฬาฯจังหวัดน่าน ตามที่ตกลงกัน ผมควรจะต้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาตั้งแต่2ปีที่แล้ว พอจะไปๆก็มีเกิดวาสนาอักเสบทุกที มาปีนี้หนังสือเชิญมาอีกแล้ว จึงตั้งใจเต็มร้อยที่จะไปให้ได้ โดยปรึกษาญาติแซ่เฮสายเหนือไว้ ว่าเราจะยกพหลพลโยธาไปบุกจังหวัดน่าน
ได้มงคลฤกษ์วันที่ 2-3-4 พฤศจิกายน 2555 ครับพี่น้อง คณะที่จะไปช่วยผมทำหน้าที่วิพุทธิยาจารย์อาสา มี (อุ้ยจั่นตา) ผศ.ดร.จันทรัตน์ เจริญสันติ, (ครูอึ่ง) อาจารย์ดวงพร เลาหะกุล, (หมอเจ๊) แพทย์หญิง (น้าอึ่ง) คุณสมพร พวงประทุม, (หมอเจ๊), พญ.ศริรัตน์ สุวันทโรจน์, (หมอจอมป่วน) นพ.สุธี ฮั่นตระกูล (อาว์เปลี่ยน) เปลี่ยน มณียะ (ครูอาราม) อาราม อู่ทอง (ครูแมว)อักษรา ศิลป์สุข ไม่แน่ไอ่ตาหวานกับครูสุทราบข่าวคงจะวิ่งตามไปสมทบอีกก็ได้ สรุปว่าวิทยากรอิงระบบคณะนี้มีไม่น้อยกว่า 10 ชีวิต ซึ่งแปลกกว่าวิพุทธิยาจารย์ท่านอื่นที่มักจะไปคนเดียว
เพิ่งจะมีคณะเรานี้แหละไปกันแบบยกทีม
ในการเตรียมการเตรียมตัว นอกจากจะตอบรับเลือกวันที่จะไปเดินทางแล้ว จุฬาฯขอทราบประวัติ และขอทราบประเด็นที่เราจะไปพูดกับนักศึกษา รวมทั้งขอข้อเสนอแนะเรื่องการศึกษาดูงานและการจัดกิจกรรม ผมพิจาณาแล้ว..จะพูดเรื่องวิธีเรียนและการเรียน เพราะเล็งเห็นว่านักศึกษากลุ่มนี้จะเป็นต้นแบบของการเรียนรู้เชิงลุก ไม่ได้เรียนอยู่เฉพาะในห้องแคบๆกับครูใจแคบ วิชาความรู้จึงอาจจะคับแคบไปด้วย
ทำให้จบการศึกษาแล้วไม่มีความเชื่อมั่น หรือมีความสามารถพอที่จะไปบุกเบิกการงานอาชีพอิสระด้วยลำแข้งของตนเอง นักศึกษาส่วนใหญ่จึงมีลู่ทางจำกัด มุ่งหน้าไปสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือน ซึ่งตำแหน่งค่อนข้างจำกัดและต้องชิงดีชิงได้กันทุกรูปแบบ ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ ได้งานทำไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา ทำให้อนาคตสับสนและสุ่มเสี่ยง เรียนแต่วิชาทิ้งถิ่น ไม่ได้เรียนวิชากลับบ้านเฮา
ถ้าระบบการศึกษา สอนทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไปอย่างหลักสูตรใหม่นี้แล้ว เราเชื่อกันว่าเส้นทางดำเนินชีวิตของนักศึกษาจะมีทางเลือกมากขึ้น อย่างน้อยๆวิชาความรู้ที่ได้ฝึกฝนมาระยะเวลา3ปี คงจะสร้างความเชื่อหมั้นในระดับ..
“ ถ อ ด เ สื้ อ ค รุ ย แ ล้ ว ล ง ลุ ย โ ค ล น ไ ด้ ”
- เป็นตัวคูณของสังคม
- หันหน้ากลับไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างทระนง
- หวนกลับไปต่อยอดอาชีพพ่อแม่
- มีวิชาความรู้ที่จะกลับไปสร้างบ้านแปลงเมือง
- มีความรู้ที่จะอยู่ในท้องถิ่น
- ตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของการศึกษาที่ต้องมารับใช้ท้องถิ่น
ด้วยเหตุนี้แหละพ่อแม่พี่น้องเอ๋ย ทำไมผมถึงต้องชวนวงศาคณาญาติไปช่วยจุฬาฯอย่างอึกกะทึกครึกโครม เรื่องราวที่จะไปเล่าขานให้ลูกหลานนิสิตนักศึกษาฟังในครั้งนี้ จะเริ่มที่แนะนำตัวและทีมงาน (ก่อนหน้านี้ก็จะแนะนำให้นักศึกษาเข้ามาอ่านในบล็อก ลานสวนป่า ลานปัญญา บล็อกหมู่บ้านโลกล่วงหน้า) เพื่อเปิดประเด็นการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ แล้วจะไปเติมให้ภายหลังเรื่องการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ผมจะเอาหนังสือเจ้าเป็นไผ หนังสือโมเด็ลบุรีรัมย์ ไปแจกอาจารย์และนักศึกษาทุกคน (ฝากน้าอึ่งติดรถไปด้วยอย่างละ 100 เล่มนะน้านะ)
ขมวดประเด็นที่จะไปโม้ 2 วันไว้ดังนี้
- การเรียนและวิธีเรียนของนักศึกษาสายพันธุ์ใหม่
- การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้
- การเรียนแบบอิงระบบ
- จิตวิญาณของเกษตรกรไทย
- ข้อฉุกคิด ของการเป็นเกษตรกรไทย
- การทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ
- อาชีพปลูกสร้างสวนป่า
- หน่อเนื้อเชื่อไขเกษตรกรไทยที่บรรพบุรุษอยากได้/อยากเห็น
- งานวิจัยไทบ้านของมหาชีวาลัยอีสาน
- การเรียนวิธีสร้างงาน แทนการเรียนวิธีหางานทำ
- การศึกษาดูงาน และการสร้างกิจกรรมพื้นฐานระหว่างเรียน
- การสนทนากับผู้รู้ การตั้งคำถาม และคุณภาพของคำถาม
- ตีแตกประเด็นเกษตรกรไทยทำไมถึงยักแย่ยักยัน
- ตีแตกประเด็นวิกฤติระบบการเกษตรไทย
- ทีหนีทีไล่ของการเกษตรไทยในยุคที่อาเซียนกำลังจะมาเยือน
ผมคิดเร็วๆคร่าวๆได้เพียงแค่นี้แหละอุ้ย
เราควรเดินทางไปถึงบ่ายวันที่ 2 ช่วงเย็นจะได้เริ่มลุยขั้นตอน”เจ้าเป็นไผ”
บอกเครือญาติให้เตรียมคริบหรือถ้ามีสื่อประกอบการโม้ก็ขนใส่รถไปด้วย
ผมจะประสานเรื่องที่พัก 6 ห้อง คืนวันที่ 2-3 และอาหารทุกมื้อ
ส่วนค่าเดินทางเราคงต้องควักกระเป๋ากันเอง
รายการข้ามไปลาว..ขออาว์เปลี่ยนสรุปแนวทางและแนะนำให้ด้วย
:: ควรบริหารเวลาให้ชื่นมื่น
ช่วงนั้นอากาศอาจจะหนาวแล้ว
ดูแลสุขภาพกายและสุขภาวะใจไว้ให้พร้อม
ไปฟังเพลงน่านนะสิ อิ อิ..
Key Word :จุฬาฯต้องเดินหน้า ถ้าถอยหลังอาจจะเป็นจุลา