ระบบนิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
อ่าน: 2526
สาขานิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นชื่อกลุ่มสาขาที่สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มอบรางวัลให้ในครั้งนี้ เขาคงจะเห็นว่าผมเป็นคนป่า อยู่ป่า กินนอนในป่า ปลูกป่า พูดและเขียนถึงเกี่ยวกับป่าๆมาบ้างกระมัง ก็นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งละครับที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ให้กำลังใจ การที่มีคนนอกมองทะลุป่ามาเห็นบริบทของคนตัวเล็กๆ ที่ล้มลุกคลุกคลานทำการสอดส่องมองหาวิธีฟื้นฟูป่า นับเป็นกุศลร่วมกันที่จะก่อการดีต่อไป..
(หลังจากทำลายป่าบุ่งป่าทามแล้วก็ไม่มีปัญญาหากินให้เจริญได้)
FAO.เคยให้รางวัลการจัดการฟาร์มต้นไม้เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ต่อมาในงานพระราชพิธีแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาปลูกสร้างสวนป่า ได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2523 นานมาแล้วใช่ไหมครับ จุดนั้นเองที่ทำให้ผมเกิดความชัดเจนในการวางลู่ทางของชีวิต > >
ชาตินี้ข้าน้อยจะใช้ชีวิตอยู่กับป่าไม้ที่ตนเองปลูกจนถึงวันมรณัง
หลับไม่ตื่นแล้ว..ก็ยังจะให้เอาไม้ที่ปลูกนี่แหละทำโลง
และใช้ไม้ฟืนในสวนป่าแห่งนี้เผาสังขาร
เถ้าถ่านก็เอาไปเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้
>> พวกบ้าหวยไม่ต้องมาขอเลขเด็ด !
อยากอยู่ดีกินดีก็ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากๆ
(พื้นที่ทำกินกับพื้นที่ป่าควรจะสมดุลย์และสัมพันธ์กัน)
ผมลองตีแตกคำว่า วัฒนธรรมนิเวศและสิ่งแวดล้อมตามความเข้าใจของตนเอง ผมมีความเชื่อว่า ในป่าไม้มีรหัสของป่าที่ยึดโยงกันไว้อย่างแน่นเฟ้น ยากที่คนไม่สนใจด้านนี้จะเข้าใจ บางคนเข้าป่าไปเห็นศาลปู่ตา ศาลเจ้าต่างๆแล้วหัวเราะดูแคลน เอะอะมะเทิ่งทิ้งขวดและกระป๋องเบียร์เกลื่อน ทำมิดีมิร้ายต่างๆนานา ทั้งๆที่ชาวบ้านเขามีวัฒนธรรมการเข้าป่า การใช้ป่า การอนุลักษณ์ดูแลป่า ด้วยความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติ ในชั้นหลังๆเราจะเห็นมีพิธีบวชป่า ชวนกันปลูกป่า อบรมสัมมนาเรื่องป่าไม้ ฯลฯ
ที่น่าเสียดายก็คือรากฐานทางวัฒนธรรมนิเวศที่มามาตั้งแต่ครั้งปู่ย่ายายาย
ได้สูญสลายไปพร้อมกับการล่มละลายทางวัฒนธรรมสังคมโลกกระแสใหม่
จะที่ฟื้นฟูให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิมได้อย่างไร
จึงเสนอว่า..เราน่าจะช่วยกันสร้างวัฒนธรรมนิเวศแห่งยุคสมัย
ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเหตุและปัจจัยสมัยนี้
การปลูกผัก/ต้นไม้/สร้างพื้นที่สีเขียว
การเอาใบไม้ไปเลี้ยงสัตว์เพื่ออธิบายว่าปลูกต้นไม้แล้วได้ประโยชน์ทางตรงทางอ้อมอย่างไร
การปลูกพืชพลังงาน ศึกษาลู่ทางพลังงานเพื่อชุมชน
การประยุควิถีไทยแท้ให้เป็นวิถีไทยร่วมสมัย
ความตื้นเขินทางนิเวศวัฒนธรรมนั้นส่งผลน่ากลัวนัก เมื่อมนุษย์ไม่ตระหนักในคุณค่าของระบบนิเวศป่าไม้ มองเห็นป่าไม้ที่เป็นสมบัติของโลกเป็นมูลค่า หาทางละโมบเอามาเป็นรายได้แบบไก่ได้พลอย ท่านก็ลองนึกดูเถิด มนุษย์พากันโค่นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มีมูลค่าและคุณค่ามหาศาล มาปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน ซึ่งเทียบมูลค่ากับป่าที่อุดมสมบูรณ์ไม่ได้เลย การที่มนุษย์ดื้อตาไส ทำอะไรลงไปอย่างไม่บันยะบันยัง เมื่อห่วงโซ่ของระบบนิเวศเสียหาย สายใยของสภาพแวดล้อมขาดสะบั้น เป็นเงื่อนไขให้เกิดการเอาคืนจากธรรมชาติ ดังที่เราเห็นภาพในทีวี น้ำท่วม ดินถล่ม บ้านเรือนแตก สะพานพัง ถนนขาด พืชไร่เสียหายยับเยิน
คำที่ขอถาม > >
“มีมนุษย์สักกี่คน ที่ไม่สำส่อนสร้างความสูญเสียให้แก่ระบบนิเวศของโลก”
“เธอทำอะไรคุ้มกับออกซิเจนที่หายใจไปทุกวันแล้วหรือยัง”
“มีพื้นที่ไหนบ้างที่มนุษย์อยู่อาศัยแล้วมีสภาพแวดล้อมสมบูรณ์เท่าที่เคยเป็นอยู่ในธรรมชาติดั่งเดิม”
เมื่อระบบนิเวศไม่สามารถปกป้องดูแลมนุษย์ได้แล้ว ต่อๆไปมนุษย์ก็จะเผชิญเคราะห์กรรมซ้ำซากทุกปี นับวันจะสาหัสสากรรจ์มากขึ้น บางพื้นถิ่นเจอเข้าไปหัวปีท้ายปี ที่น่าสังวรก็คือ..มันไม่ได้มีเฉพาะเรื่องน้ำท่วม หลังจากน้ำท่วมมันก็จะแล้งมหาโหด มีแต่เรื่องทุกข์โศกระทมมาเยือนไม่เว้นวาย
นึกถึงคำของอัลเบิร์ตไอสไตน์ที่บอกว่า
“มนุษย์ไม่มีความรู้เพียงพอที่จะอยู่บนโลกใบนี้อย่างปกติสุขได้”
ถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
มูลเหตุมาจากกลไกของธรรมชาติที่เคยปกป้องพื้นที่ให้เป็นปกติ ต่อเมื่อมนุษย์ทำลายล้างกลไกจนอ่อนแอ ระบบนิเวศที่เคยแข็งแรงอ่อนไหว พอมีอะไรมากระทบก็เอาไม่อยู่ จำต้องปล่อยให้เกิดวิกฤติตามสภาพความเปลี่ยนแปลง เมื่อเจอภัยพิบัติอย่างนี้แล้วยังดื้อตาใส ไม่ศึกษานิเวศวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม
ถามว่า มนุษย์แก้ไขปัญหาโดยเมินวัฒนธรรมนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ?
บ้านพังก็สร้างใหม่ ถนนพังก็ซ่อมแซม พืชไร่เสียหายก็ชดเชย ถ้าคิดและทำได้เพียงเท่านี้ ไม่ศึกษาเรียนรู้ต้นตอ..ตอปัญหา มันก็ค้างคาใจสะบัดไสวให้แตกแตนตายมากขึ้น การที่สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักในเรื่องนี้ และพยายามนำร่องนำพวกนำทีมจัดการเชิงกระบวนการทางวิชาการ นับเป็นเรื่องดีงามที่สมควรยกย่องอย่างยิ่ง
จากการเข้าไปดูข่าวความเคลื่อนไหวของสำนักวัฒนธรรมแห่งนี้ พบว่ามีการจัดประชุมระดมสมองอยู่เสมอ ได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อที่จะสอดส่องและสอดแทรกไปยังระบบการศึกษาและการวิจัย รวมทั้งการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชน ยกตัวอย่างในการจัดพันธกิจของสำนักวัฒนธรรมในครั้งนี้
สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลการพิจารณาและคัดเลือกรางวัลศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นด้าน วัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2554 รวมทั้งสิ้น 33 รายชื่อ จากการเสนอชื่อศิลปินและผู้ที่มีผลงานด้านวัฒนธรรมกว่า 60 รายชื่อ “ครูสลา” คว้ารางวัลมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ เตรียมพร้อมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 1-2 เมษายน 2554 รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัล
พร้อมกับชมนิทรรศการ “กึ่งทศวรรษศิลปินมรดกอีสาน และวัฒนธรรมสัมพันธ์” และพบกับการแสดงอีกมากมาย อาทิ การแสดงหมอลำถวายพระพร จาก นางฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง, การแสดง ฟ้อนถวายพระพรสิรินธรราชกุมารี โดยชมรมวัฒนธรรมอีสานใต้ มข. และการแสดงวงดนตรีดอกศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข.
ผศ.วิชัย ณีรัตนพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้ผลักดันกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้เข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน บุคลากรและนักศึกษา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้คนในสังคม อีกทั้งให้คนไทยได้สัมผัสกับวิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านประเพณี กระตุ้นให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจ และสร้างแรงจูงใจที่จะพัฒนาร่วมกันในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รางวัลนี้จึงถือได้ว่าเป็นสร้างกำลังใจให้กับศิลปินที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน สะท้อนวิถีชีวิตและความเป็นไปของท้องถิ่น และสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าต่อไป
สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ดี โดยได้รับเกียรติจาก ดรยันต์ วรรธนะภูติ บรรยายสรุปในหัวข้อ “โลกาภิวัตน์กับการจัดการทุนทางวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” สู่“ทิศทางการกำหนดบทบาทของสถาบันอุดมศึกษากับการจัดการองค์ความรู้ด้านศิลป วัฒนธรรมจากฐานการวิจัย” และ “ทิศทางการวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรมในบริบทภูมิภาคนิยม” ทั้งนี้ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้ย้ำว่าการจะก้าวไปแนวทางการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ดีได้นั้น ต้องเริ่มจากการพิจารณาฐานทางแนวคิดทฤษฎีที่ได้พิจารณาจากสภาวะปัญหาที่เป็นจริงของท้องถิ่น สำหรับในส่วนของการวิจัยนั้นอาจจำแนกได้ ๓ระดับคือ
๑. การวิจัยกับการบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอน
๒. จะทำวิจัยทำอย่างไรจะทำให้มหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับฐานชุมชน
๓. งานวิจัยที่ชี้ให้เห็นปัญหาจากการจัดการทุนทางวัฒนธรรม
โดยแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางการวิจัยศิลปวัฒนธรรมในบริบทภูมิภาคนิยมได้นั้น สำนักวัฒนธรรมจำเป็นต้องเริ่มจากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม ที่มีผู้ทำมาก่อนเพื่อจะได้ไม่เริ่มต้นจากศูนย์ และควรเปิดพื้นที่ให้มีการสนทนาเพื่อรับฟังเสียงจากชาวบ้าน ส่งเสริมให้เกิดการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักพัฒนานักวิจัย และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ยังได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการพิจารณาจุดยืนและหน้าที่ของสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการวิจัยประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมที่ขาดหายไป เช่น การวิจัยเพื่อศึกษาสถานภาพและการเปลี่ยนแปลงศิลปวัฒนธรรมอีสาน โดยมีระบบครอบครัวอีสานเป็นหน่วยในการวิจัย เพราะในอดีตการศึกษาระบบครอบครัวเป็นประเด็นสำคัญที่นักวิจัยให้ความสนใจศึกษา แต่ปัจจุบันกลับไม่นิยมศึกษาทั้งที่นำไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์การอพยพแรงงานจากชนบทสู่เมือง หรือการแตกสลายของระบบครอบครัว
คำถามคือใน พ.ศ.๒๕๕๔ เรามีความรู้เกี่ยวกับครอบครัวอีสานหรือไม่ต่างไปจากที่ Keyes ศึกษาไว้เมื่อ๕๐ที่แล้วหรือไม่อย่างไร หรือแนวคิดเรื่องการแต่งงานของคนอีสาน สะท้อนความสัมพันธ์ที่ต่างไปจากเดิมอย่างไร ทั้งนี้สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยด้านสังคมวัฒนธรรมควรได้กำหนดแนวทางการวิจัย ดังนี้
๑. การวิจัยพื้นฐาน
๒. การวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
๓. การวิจัยมรดกวัฒนธรรมอีสาน(ถอดบทเรียนเพื่อเข้าถึงชุดความรู้ท้องถิ่น)
๔. งานวิจัยวัฒนธรรมชายแดน ข้ามแดน
๕. นิเวศวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากร เช่น ระบบนิเวศวัดป่าความหลากหลายของพืชผักพื้นบ้านอีสาน วัฒนธรรมชุมชนและการจัดการทรัพยากร การผลิตและเส้นทางค้าเกลืออีสาน เป็นต้น
งานนี้มีคนรู้จักมากหน้าหลายตา ศิลปินดังๆของท้องถิ่นอีสานบ้านเฮานั้นไม่ธรรมดาเลยนะครับ ยังจะได้เจออาจารย์สวิง บุญเจิมด้วย ท่านเป็นคนรวบรวมเพลงกล่อมลูกอีสานที่ผมเอามาเปิดในที่สัมมนาเสมอ งานนี้ผมชวนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอื่นไปร่วมรับรู้ความก้าวหน้าของสำนักวัฒนธรรมแห่งนี้ด้วย
ผมสงสัยบักขนาด
ใครนะ..แอบส่งชื่อผมไปป้วนเปี้ยนงานนี้
ทางสำนักฯมอบโต๊ะจีนให้ 1 โต๊ะ
เสียดายแม่ใหญ่ไม่อยู่
ป้าจุ๋มก็ไม่รู้อยู่ไหน?
ยังดีที่มีป้าหวานคอยยิ้มยืนพื้นรักษาระดับอารมณ์ฮา แซ่เฮไว้
ไม่อย่างนั้นคืนวันที่ 2 เมืองขอนแก่นกระเจิงแน่เธอเอ๋ย
ชิมิ ชิมิ . .
« « Prev : นม อย่าคิดว่าไม่สำคัญ
4 ความคิดเห็น
ของ(ครูบา)เขาดี จริงๆ มาปรมมือแสดงความยินดีเป็นคนแรกในบล็อกครูบา
แต่ไปแสดงความยินดีในบล็อกเก็บเรื่องมาเล่าของบางทรายมาก่อนหน้านี้แล้ว…..อิอิ
ขอบคุณคร๊าบบบ
เชียร์กันเอง อิ อิ
ป้าจุ๋มไปหลวงพระบางกับครอบครัวครับตั้งแต่วันที่ 25 ช่วงนี้น่าจะกลับมาแล้วครับ
ท่านอาจารย์ชยันต์ วรรธนภูตินั้น ท่านชุบชีวิตผมขึ้นมาจากท้องร่องครับ เพราะหลัง 14 ตุลานั้น ผมทำงานชนบทที่สะเมิง และโดนทางการกระทำมากมายหลายอย่าง ท่านอาจารย์ชยันต์ลงไปลากผมขึ้นมาและปกป้องผมเท่าที่อาจารย์จะมีเครือข่าย และก็ได้ผลจริงๆ ท่านยังชวนผมทำวิจัยชุมชนให้กับ UNRISD จนเกือบได้รางวัลนักวิจัยหน้าใหม่ดีเด่นทำนองนั้น แต่ผมมีปัญหาซะก่อน เมื่อผมย้านฐานทำงานมาอีสานท่านก็ยังตามมาเชื่อมอีก โดยเฉพาะกับ RDI ที่สมัยท่าน มรว. รตอ. รศ.ดร.อคิน รพีพัฒน์เป็น ผอ. และเริ่มเปิดเวทีการวิจัยเชิงคุณภาพขึ้นในเมืองไทยจนทุกวันนี้…….
นักสังคมศาสตร์ในเมืองไทยต้องรู้จักท่าน เพราะท่านเป็นคนแรกๆที่กล่าวถึง กระบวนการ การผลิตซ้ำ (Reproduction) ที่มหาวิทยาลัย Stanford นั้นผลิตนักสังคมศาสตร์ดีดีในเมืองไทยหลายท่าน
โลกมันกลมจริงๆ ผมรู้จักดร.ชยันต์ โดยบังเอิญ
นานมาแล้ว ซาซากาว่า ญึ่ปุ่น เชิญไปดูงานพร้อมกันที่ฟิลิปปินส์
สมัยนั้นไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ว่าใครเป็นใคร
จนกระทั้งมายุคหลังๆถึงได้รู้ว่าเรานี่เฉียดฉิวกับจอมยุทธระดับอ๋อง อิอิ