เจ้าพ่อครัวโลก
อ่าน: 2982(สภาพน้ำไหลทรายมูลที่ทับถมกันมานมนาน)
ผมไปถึงเมืองดอกบัวจวนเที่ยง เจ้าหน้าที่พาไปพักโรงแรม… ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เอี่ยมอ่องภายในมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เหมาะอย่างยิ่งที่จะมาจัดสัมมนาหรือมาแวะพัก ถ้าชาวเฮมาเมืองอุบลก็อย่าลืมแวะมาทดลองนอนดูนะครับ อาคารข้างๆเป็นห้องสมุดจุฬา คอหนังสือไปเลือกอ่านได้อย่างจุใจ หลังจากกุญแจห้องแล้ว เจ้าภาพชวนไปชิมอาหารเวียดนาม อิ่มแล้วอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ขอคุยด้วย ทางอาจารย์น้อยแห่งคณะแพทย์ศาสตร์ก็อยากสรุปเบื้องหลังกลับมาจากส่วนป่าให้ฟัง จึงรวบยอดไปคุยกันที่คณะแพทย์
ฟังเรื่องเล่าว่าเกิดสิ่งดีๆขึ้นกับนักศึกษาแพทย์แล้วก็ดีใจด้วย ว่าที่คุณหมอเริ่มสนุกกับการออกไปคลุกคลีกับชนบท ต่อๆไปก็อาจจะมีกรณีศึกษาเกิดขึ้นอีกมากมาย ตามกลไกการเรียนนอกห้องได้ความจริง ส่วนอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มีโครงการที่จะนำนักศึกษาไปเจาะความรู้ในป่าร่องก่อ ทราบว่าเป็นกลุ่มที่สนใจด้านการท่องเที่ยว การเป็นมัคคุเทศก์ที่เข้าถึงเข้าใจบริบทของธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันพอหอมปากหอมคอ ต่อท้ายด้วยการเดินไปชมสภาพป่าร่องก่อด้วยกัน
บริเวณป่าร่องก่อ เกิดขึ้นภายใต้สภาพดินไหลทรายมูลที่ทับถมกันมายาวนาน พื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อยู่บ้างก็จะมีพรรณไม้ต่างๆเกิดขึ้นเป็นย่อมๆ ส่วนพื้นพื้นที่ๆดินทรายถมหนาก็จะมีหญ้าและวัชพืชปกคลุมเป็นแถบๆ โจทย์กรณีศึกษาก็คือสภาพธรรมชาติลักษณะนี้ จะมีความหมายในเชิงการจัดสรรโดยธรรมชาติ ว่าพืชชนิดใดเหมาะที่จะดำรงอยู่ ความหลากหลายมีอยู่แล้ว เพียงแต่ข้อศึกษาจะเข้าถึงจุดพิเศษเหล่านี้ได้อย่างไร คงต้องอาศัยข้อมูลที่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญได้รวมไว้ส่วนหนึ่ง และไปปะติดปะต่อกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนที่อยู่รอบๆบริเวณนั้น ซึ่งเรียกว่าจะต้องประมวล”วิ ช า ก า ร” และ “วิ ช า เ กิ น” ออกมาดู ตรงนี้ต้องอาศัยกันออกแบบ ”เ ดิ น ไ ป ห า ผู้ รู้ ” ฝึกนักศึกษาให้เป็น“ผู้ ใ ฝ่ รู้ ”
ผมมีการบ้านที่ร่องก่อมาก่อนหน้านี้ ได้เอาต้นอาคาเซียค่อนข้างเล็กมากไปปลูกปลายฝน เนื่องด้วยองค์ประกอบทางด้านดินปลูกตามที่กล่าวแล้ว ทำให้ต้นไม้ยักแย่ยักยัน ป้าดาว ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในเรื่องนี้ ได้รับการขอร้องให้เข้ามาดูแลต้นไม้โดยการใส่ปุ๋ย-รดน้ำ-ปกคลุมด้วยฟาง และสำรวจความเป็นไป ผมแวะเอาโพลิเมอร์ไปให้ทดลองใช้เพื่อทดลองช่วยเพิ่มความชื่นในยามแล้ง ป้าดาวเดินสำรวจแล้วมีต้นไม้ตายประมาณ400ต้น ตอนแรกคิดว่าจะซ่อม แต่ดูสภาพแล้วเรามาเลี้ยงกล้าไม้ให้โตแล้วไปปลูกใหม่ต้นฝนจะดีกว่า
ผมได้พบป้าดาวและชาวอโศกจำนวนนับสิบท่าน ถ้ารวมทั้งนักศึกษาและผู้ที่กลับไปก่อนหน้านี้คงประมาณ20กว่าชีวิต ที่อาสามาช่วยกันดูแลต้นไม้ จากการพบปะกันในพื้นที่ทำให้ได้อะไรๆมากกว่าการมาช่วยกันดูแลต้นไม้ ทุกคนเล่ากระบวนการจากใจสู่มือน้อยๆ ตอบตัวเองได้ว่ามาทำไม มาทำอะไร เพื่ออะไร เมื่อชัดเจนอย่างนี้แล้วความเหน็ดเหนื่อยไม่สามารถแทรกซ้อนเข้าทำอะไรได้ การประสานแรงกายใส่แรงใจไปสู่ต้นไม้เล็กๆที่ปลูก นอกจาก ” ดู แ ล ต้ น ไม้ ” แล้ว“ ยั ง ไ ด้ ดู ใ จ”ของหมู่กันเองอีกด้วย เมื่อดูใจก็จะ “เ ห็ น ใ จ ” ใช่ไหมครับ เมื่อเห็นใจก็จะนำไปสู่ “ ค ว า ม เ ข้ า ใจ ” แล้วพัฒนาเป็น “ค ว า ม ตั้ ง ใ จ” ร่วมกัน ท่านอาวุโสเหล่านี้เหมาะที่จะพานักศึกษามาสนทนาด้วยอย่างยิ่ง เพื่อเริ่มวิชาคนหาความรู้ในตัวคน เราได้รับฟังแรงบันดาลใจสุดๆร้อนๆเป็นรายคน ได้ฟังเสียงเพลงที่ไพเราะอย่างยิ่ง เป็นเรื่องอึ้งกิมกี่ภาคพิสดารที่เดียวเลยละครับ
ต้องล่ำลา ด้วยเสียงโทรศัพท์มาเตือนให้กลับมาอาบน้ำแต่งตัว เพื่อไปร่วมงานเลี้ยงในตัวเมืองอุบล ที่คณะผู้บริหารบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์จำกัด(มหาชน)หรือซีพีกรุ๊ปที่เรารู้จักกัน ปีนี้ท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร น า ย อ ดิ เ ร ก ศ รี ป ร ะ ทั ก ษ์ ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์ ผู้บริหารชาวCPFในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและส่วนกลาง มาจัดเลี้ยงฉลองความยินดีให้แก่ท่านประธานกรรมการบริหารอันเป็นที่รักของเขา
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วยท่านนายกสภาฯ-อุปนายก-ท่านอธิการบดี-คณะบดีคณะเกษตร-และข้าน้อย ไปถึงห้องเลี้ยงที่เต็มไปด้วยนักบริหารการเกษตรมืออาชีพระดับโลก จากการที่ได้นั่งฝางตรงกับข้ามกับท่านอดิเรก ศรีประทักษ์ ทำให้รับฟังข้อมูลการบริหารความก้าวหน้าอย่างมืออาชีพทางด้านการเกษตรอุตสาหกรรม ที่สามารถนำพาบริษัทขึ้นแท่นระดับโลกได้ภายในเวลา4-50ปีนั้นเป็นโอกาสพิเศษอย่างยิ่ง ข้าน้อยได้ยินคำว่า “ ที่ 1 ข อ ง โ ล ก ” หลายเรื่อง เช่น เป็นบริษัทที่ผลิตอาหารสัตว์อันดับหนึ่งของโลก ที่มีวิยาการด้านการเลี้ยง หมู-ไก่-กุ้ง สามารถสร้างการยอมรับด้วยการไปตั้งโรงงานใน14ประเทศทั่วโลก และกำลังรุกคืบไปยังทวีปอัฟริกาอีกหลายประเทศ มีอัตราความก้าวหน้า12-15%ทุกปี มูลค่าการค่าขายปีละ200,000กว่าล้านบาท นำกำไรเข้าสู่ประเทศปีละ40,000ล้านบาท ส่งคนไทยไปประจำในต่างประเทศขณะนี้4-500คน
ยุทธศาสตร์ที่บริษัทซีพีใช้บุกต่างแดนก็คือ ไปช่วยให้ประชาชนและรัฐบาลประเทศนั้นๆได้รับประโยชน์ก่อนเป็นอันดับ1-2 ส่วนบริษัทค่อยเก็บเกี่ยวประโยชน์เป็นอันดับ3 ไม่ได้เข้าไปเอาเปรียบหรือกอบโกยเอากำไรแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ เข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกันของทุกฝ่าย ด้วยกลยุทธที่ว่านี้ประเทศต่างๆจึงอ้าแขนรับบริษัทซีพีด้วยความเต็มใจ ท่านประธานเล่าว่า>>งานบุกเบิกไปทำมาหากินในประเทศต่างๆนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกนะ แต่ละประเทศต่างก็มีวัฒนธรรมและเงื่อนไขเฉพาะแตกต่างกันออกไป หัวหอกที่ออกไปนำร่องปูทางจะต้องเป็นกระบี่ไร้เทียมทาน และท่านอดิเรก ศรีประทักษ์ ได้ไปสร้างความประจักษ์และความตระหนักในชาวCPF ได้ถือเป็นคัมภีร์ สำหรับการกรุยทางไปสู่ความเป้นมือหนึ่งของโลกในก้าวหน้าต่อไป
ในแง่ของการศึกษา ท่านให้ความเห็นว่า นักศึกษาของเราต้องเรียนรู้กับความเป็นจริง ต้องฝึกทักษะชีวิตด้วยการก้าวไปหาบทเรียนแห่งชีวิตเพื่ออนาคตที่มั่นยืน การเรียนรู้จากการปฏิบัติมีความสำคัญอย่างมาก ทำอย่างไรคณะหรือภาควิชาต่างๆจะจัดสรรตรงนี้ให้นักศึกษาได้ บริษัทซีพีเป็นผู้ใช้ผลผลิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ละปีจะรับนักศึกษาเพิ่ม อายุประมาณ3-40ปีก็เป็นผู้บริหารกันแล้ว ผู้ที่ผ่านงานโชกโชนก็ขึ้นไปเป็นพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษา กระบวนการเชื่อมโยงทักษะจากความเชี่ยวชาญที่สะสมกันมานี้เอง ที่ทำให้บุคลากรของบริษัทแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่น การดูแลบุคลากรขององค์กรCPFถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง เรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัยตลอดเวลา และเรื่องของการวิจัยเป็นกลยุทธที่ทำให้ซีพีล้ำหน้าคู่แข่ง คนรู้มากมีข้อมูลมากย่อมได้เปรียบเป็นธรรมดา บริษัททุ่มเทเพื่อการวิจัยอย่างมาก สามารถผลิตหมูสายพันธุ์ที่เหมาะแก่การเลี้ยงในประเทศเขตร้อนได้เป็นอย่างดี และได้ขยายหมูสายพันธุ์ที่ว่านี้ไปยังประเทศในแถบเอเชียและเขตที่อากาศอบอุ่นอื่น สามารถย่นระยะการเลี้ยงกุ้งจาก120วัน มาเป็น70วัน ได้กุ้งกินอาหารน้อยแต่อัตราแลกเนื้อได้มากกว่าของเดิม มีระบบการเลี้ยงหมูที่ไม่มีกลิ่น นำของเสียไปผลิตพลังงานและปุ๋ยด้วยวิทยาการก้าวหน้า
CPFให้ความสำคัญในจุดที่เกี่ยวข้องกับคนทุกระดับ ดังนั้นทรัพยากรบุคลากร7,80,000คนที่เป็นชาวCPFจึงอบอวลไปด้วย -การมีวิสัยทัศน์-การบริหารจัดการที่ถูกต้อง-การมีผู้นำองค์กรที่มีความสามารถ-การมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการที่จะฝ่าฟันไปยืนอยู่ในชั้นที่ 1 ของโลก
ฟังท่านประธานฯเล่าแล้ว ทำให้คนไทยมีเรื่องดีๆยืดอกกับเขาได้บ้าง การสร้างเกียรติภูมิของชาตินั้นเป็นเรื่องที่พวกเราคนไทยสอบตกมานาน การผลิตอาหารสัตว์เพื่อนำไปสู่อาหารป้อนตลาดผู้บริโภคทั่วโลก นำบริษัทเข้าสู่สถานะ”ครัวของโลก” ขยายไปใน14 ประเทศ ครอบคลุมกระเพาะของประชากร 3,000 ล้านคนนั้นธรรมดาที่ไหนเล่า..
งานเลี้ยงเต็มได้ความชื่นมื่น การได้ไปอยู่ในครอบครัวของชาวCPFในระยะสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยมิตรไมตรี ในเมื่อเจ้าพ่อเนื้อสัตว์มาเอง เมนูจึงเป็นเนื้อเสียส่วนใหญ่
ท่ามกลางเสียงเพลง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การกล่าวคำอวยพร การมอบช่อดอกไม้ ถ่ายรูป และจบลงด้วยของฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทคนละกล่องใหญ่ ที่ผมต้องหอบหิ้วเข้าบางกอก เจ้าภาพบอกว่าเป็นอาหารชั้นเลิศแต่ต้องแช่เย็นไว้ ก็ยังงงว่าไปถึงบางกอกจะแจกให้ใครบ้าง ไม่ได้แจกบัตรคิวล่วงหน้าเสียด้วยสิครับ
อิอิ
Next : วันที่หัวใจเรือจ้างเบ่งบาน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เจ้าพ่อครัวโลก"