ค่ายTT&T รุ่น ที่2
อ่าน: 2167
ชาวค่ายรุ่นนี้เริ่มวันที่ 9-11สิงหาคม2553 เฉี่ยววันแม่ไปหวุดหวิด ชาวค่ายมาจากภาคกลาง -กรุงเทพฯ-สระบุรี -อ่างทอง-เพชรบุรี-พระนครศรีอยุธยา- นครปฐม-ลพบุรี-สมุทรสาคร-กาญจนบุรี-รวม33ชีวิต อากาศครึ้มๆเย็นสบาย ไม่รู้ว่าเง๊กเซียนฮ่องเต้จะเทฝนลงมาอีกหรือเปล่า ถ้าเว้นวรรคสัก2วัน ก็จะชวนยายฉิมเก็บเห็ดมาทำเมนูเด็ด แต่ถึงจะแปรปรวนอย่างไรก็ไม่หวั่น ทั้งวันหนักๆเบาๆเราก็เรียนรู้ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ฝนมาก็หลบเข้าบ้าน ฝนไปก็โผล่ออกสู่โลกกว้าง อย่างน้อยก็จะได้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ชีวิตอยู่ในกำมือเรา เราน่าจะบริหารเองได้ ถ้าไม่ยื่นจมูกไปให้ใครจูง เราก็จะมีอิสระ..มือมีใช้ไขว้คว้า ตามีมองภาพกว้างไกล หูใช้ฟังเรื่องราว ขาก้าวเดินไปศึกษาหาความรู้สดๆใหม่ๆ ใจจดความงดงามแผ่นดินขวานทอง ดีกว่าร้องเย๊วๆหาเรื่องใส่กัน มันมีสูตรสำเร็จไปแล้วกระมัง มีปัญหาต้องยกโขยงมาทำเนียบ มาปักหลักกดดัน มันมีเพียงวิธีเดียวแค่นี้หรือครับในการ“รักประเทศไทย” มีทางเลือกอื่นๆอีกไหม ในการจะห่วงใยแผ่นดินไทย ..ประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวกระฉูดมันก็เป็นอย่างนี้แหละพี่น้อง เรียนรู้กันไป อยู่ด้วยกันไป สังกัดชาติเชื้อไทยแล้วนี่ครับ อะไรๆที่เป็นแบบไทยๆก็อย่างนี้แหละ
เราฉลาดได้อีกแค่ไหน?
เราทำอะไรใหม่ๆดีๆมีประสิทธิภาพได้อีกอย่างไร?
โจทย์
· การจัดการความไม่รู้
· ศึกษาบริบทชาวเฮฮาศาสตร์
- วิชายูเทริ์นชีวิต
- วิชาหมาหลงทางด่วน
- วิชาไม่เหงาเอาเท่าไหร่
- วิชากระแซะความคิด
- เรียนวิชาเจ้าเป็นไผ
- เรียนวิชาดวงตาเห็นธรรม
- ทำอย่างไรให้ชีวีมีโช๊คอัพ
· การเชื่อมโยงชีวิตกับสังคม
· การเกาให้ถูกที่คัน
· การทำงานบนฐานความไม่พร้อม
จะเอาความรู้ที่ไหนไปจัดการความไม่รู้
ความไม่รู้น่าจะมีมากกว่าความรู้หรือเปล่าไม่แน่ใจ
แต่มีผู้กล่าวไว้ว่ามนุษยชาติมีความรู้แค่หางอึ่ง
แถมยังมีความรู้เชิงลบเชิงบวกอีกด้วยนะ
ส่วนใหญ่จะอยู่ในอาการไม่รู้ไม่ชี้
ต้องการอยู่ได้อยู่ดีโดยไม่มีความรู้
ไม่พึ่งพาตนเองแต่ชอบโวยวาย
นิยมไปเซ่นวักตั๊กแตนบนบานสานกล่าว
นึกว่าเจ้าที่เจ้าทางจะสงเคราะห์ได้
หารู้ไม่ว่า..เจ้าตามศาลยุคนี้ก็ลำบากใจเหมือนกัน
ในเมื่อโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย
เกินที่อภินิหารใดๆจะมาฉุดรั้ง
ตอนบ่ายหลังจากแนะนำตนเอง หมุนเวียนเล่าเรื่องประสบการณ์ดีๆในชีวิต ผมได้รับฟังเรื่องที่ประทับใจและน่าสนใจชุดใหญ่ หลังจากนั้นนำเข้ารายการเรียน วิธีถาม การถาม และคุณภาพของคำถาม ให้เหตุผลว่าการถามมีความสำคัญต่อวิธีการเรียน นอกจาก-ฟัง-อ่าน-เขียน-การถาม-ย่อมสำคัญใช่ไหมละครับ ถ้าโจทย์อย่างนี้อะไรจะสนุกเท่าเปลือยครูบา (แต่ไม่สนุกเท่าเปลือยครูปูหรอกนะ) เนื่องจากผู้ถามยังไม่มีข้อมูลแวดล้อม ผมจึงฉายภาพประกอบการเล่าเรื่อง โยงเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้คนฟังหมั่นไส้ สงสัย อยากตอแย แล้วก็แจกกระดาษให้เขียนคำถาม ไม่นานนักก็ได้คำถามมาปึกหนึ่ง ทะยอยอ่านทะยอยตอบได้ในบางส่วน พรุ่งนี้เช้าจะพาเดิน บางทีจะขมวดคำถามได้กระชับขึ้น เพื่อจะโยงให้เห็นว่า คนเรายังสามารถที่จะทำอะไรๆ ในเรื่องใหม่ๆได้อีกถ้าเราสนใจที่จะเป็นผู้เรียน การเรียนนำไปสู่การรู้ จะได้รู้เรื่องใหม่ๆสดๆเหมือนป้าหวานว่า ชีวิตจะไม่ได้เซ็งยังไงละครับ
รุ่นนี้เจอฝนเจอแดด แบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ปรับพื้นที่ปลูกน้ำเต้า 20 สายพันธุ์
กลุ่มที่ 2 ขึ้นรถไปตัดกิ่งไม้ใบไม้
กลุ่มที่ 3 สับใบไม้ให้วัว
การมาอบรมที่สวนป่า มันแตกต่างจากการอบรมในโรงแรม ตรงที่สามารถออกแบบกิจกรรมปฎิบัติให้สัมผัสกับการขยับเขยื้อนแรงกายและแรงใจ แทนที่จะนั่งฟังวิทยากรบนโพเดี๊ยมฉอดๆๆๆ..ทุกกลุ่มลงมือทำหน้าที่ได้รับมอบหมายอย่างสนุก “เหนื่อยแต่ยิ้มแฉ่ง” เสร็จภาระกิจมานั่งคุยกันใต้ร่มไผ่ รับประทานอาหารกลางวันแลวก็ให้ไประดมแผนช่วยกันร่างความคิด เรื่องการมาออกค่ายเที่ยวนี้ “รู้อะไร คิดและเข้าใจว่าอย่างไร? อธิบายภาพรวม-สะท้อนคิด” ได้เห็นความตั้งใจที่จะขบคิดให้ได้สาระครบถ้วน ถึงจะเป็นโจทย์เดียวกัน่ แต่มุมมองแตกต่างกันไป ตรงนี้แหละครับคือการเรียนเรื่อง “คิดแตกต่างเชิงสร้างสรร” ทุกกลุ่มทำได้ดี ต่อด้วยช่วงเย็นที่ทุกคนเข้า“คอร์สลงขันแรงกายแรงใจดัวยทักษะชีวิต” แต่ละกลุ่มทำอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในสวนป่าให้มากที่สุด พวกเราจึงได้ชิม ทอดมันปลีกล้วย ยำหน่อไม้ ต้มจืดหน่อไม้หวาน แกงเขียวหวาน แม่ครัวช่วยกันตบแต่งอาหารได้สวยงาม หัวค่ำฝนตกจึงย้ายเข้ามานั่งรับประทานข้างในอาคาร บรรยากาศใกล้เคียงกับการเลี้ยงดูปูเสื่ออีสาน อิ่มแล้วก็เข้ารายการสนทนากับครูบา เรื่องแสงแดด-ลม-และชีวมวล-เชื่อมโยงกันเพื่อหาแนวทางการบริโภคพลังงานในระดับใคร่ครวญ ท้าทายที่จะมีส่วนพึ่งพาด้านการพลังงานระดับชุมชน
ผมเสนอทฤษฎีมหาชีวาลัยอีสานว่าด้วยเรื่องการทำมาหากินแบบเคารพธรรมชาติ เน้นการประกอบการงานอาชีพที่ไม่ทำลายระบบธรรมชาติ -ไม่ไถ-ไม่ซื้อปุ๋ย-ไม่ใช้สารเคมี-ไม่ตัดทำลายป่า-ไม่เสี่ยง-ไม่ใช้้น้ำมาก-ไม่ใช้ทุนมาก-ไม่กระทบสภาพแวดล้อม-ไม่ๆๆๆๆ.. ตรงกันข้ามกลับเป็นการช่วยฟื้นฟูเหตุและปัจจัยทุกระยะเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน (รายละเอียดฉบับสมบูรณ์กำลังเขียนๆๆๆ) แล้วจะนำเสนอประชาคมโลกต่อไปในเร็วๆนี้ ชั้นนี้ขอตรวจสอบหลักการและกระบวนการกับชาวค่ายทุกกลุ่มและผู้สันทัดกรณีหลายฝ่าย ประเด็นเหล่านี้รุดหน้าตามลำดับ ถ้าสมาชิกชาวเฮมาเห็นจะร้องจ๊ากสสส์..มันเป็นเช่นนี้เอง ง่ายๆ>>ตรงๆ>>ชัดๆ>> ตีแตกปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการเกษตรรายย่อยของประเทศไทย แบบแตกดังโพล๊ะ !
จะนำเสนอกึ่งทางการ
ครั้งที่1ในเวทีเสวนาครบรอบ*80ปี มหาวิทยาลับราชภัฎมหาสารคราม วันที่18 สิงหาคม2553 ซึ่งมีวิทยากรจากสภาพัฒน์ขึ้นเวทีด้วย
ครั้งที่ 2 ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 สิงหาคม 2553 หัวข้อ “กึ๋นภูมิปัญญาไทย ก้าวไกลในกระแสโลก”
เป็นรายการขายความคิดแบกะดิน ครับผ๊ม!
TT&T รุ่นที่ 3 วันที่ 25-28 สิงหาคม บอกเฉยๆ
4 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะพ่อครูบา
หลักสูตรนี้ดูแล้วยิ่งเข้มข้น….
การจัดการความไม่รู้…สุดยอดเลยค่ะ
ฝากเครื่องมือไว้อีกเกมหนึ่งครับ เรียกว่า 99-second pitch คือให้เวลาคนละ 99 วินาที ที่จะ “เสนอขายไอเดีย” ในการทำหรือปรับปรุงอะไรสักอย่างก็ได้
สำหรับคนฟัง ผู้ที่พูดกำลังบอกจุดที่เขาคันครับ ไม่แปลกว่าเราจะเห็นด้วยกับที่เขาเสนอหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด หรือว่าความคิดฉันดีกว่าของเธอ แต่อย่างน้อยเขาเห็นว่าเรื่องที่พูดไม่ปกติ+ปรับปรุงได้ ซึ่งตรงนั้นน่าฟังมากๆ
สำหรับคนพูด การนำเสนอความคิดนั้น จำเป็นต้องเรียบเรียง อันนี้เป็นทักษะซึ่งหมายความว่าฝึกได้นะครับ เวลาเสนอความคิด ไม่ว่ากับคนระดับไหน เราจะ “มีเวลา” ที่ผู้ฟังสนใจเราอยู่ไม่นาน ดังนั้นต้องใช้เวลานี้อย่างคุ้มค่าที่สุด ถ้าหมด 99 วินาทีแล้ว ผู้ฟังยังไม่รู้ว่าพูดเรื่องอะไร จะเสนอให้ทำอะไร นั่นก็แสดงปัญหาบางอย่างแล้วครับ
จะลองดูนะครับ ถ้าไม่ทันย้ายไปรุ่นที่ 3
อยากไปเด้
อยากไปสวนป่าแฮง