นิสิตจิตสาธารณะ

โดย sutthinun เมื่อ 20 สิงหาคม 2009 เวลา 22:12 ในหมวดหมู่ การเมือง การปกครอง กฎหมาย, สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 3031

ขอชื่นชมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีความประสงค์จัดโครงการพัฒนานิสิตจิตอาสา ตามที่นโยบายระดับอุดมศึกษา ที่มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพทั้งความรู้และคุณธรรม โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งที่จะนำพาแนวคิดนิสิตจากภายใน สู่ภายนอก

จุดประสงค์ที่จะขยับการเรียนรู้ให้มีความเคลื่อนไหว ออกไปจากห้อง ออกไปจากตำรา ออกไปจากคอมพิวเตอร์บ้าง ก็เพื่อนำนิสิตออกไปสู่ภาคสนาม ซึ่งเป็นภาคปฏิบติในสภาพแวดล้อมของความจริง แทนที่จะเรียนในโลกเสมือนอย่างเดียว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆน้อยๆนะครับ เป็นวิธีผ่าทางตันของการศึกษาไทยเชียวแหละ จิบอกไห่

ถ้ามหาวิทยาลัยแห่งไหนบุกและทำก่อน ก็จะได้รับคำตอบที่เกิดจากประสบการณ์ตรง ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กองกิจการนิสิตนักศึกษา ที่ แผ่นดินและคณะ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเดินหน้าพานิสิตลงลุยชุมชนอย่างต่อเนื่อง ได้รวบรวมประสบการณ์มาพิมพ์รวมเล่ม “เรียนนอกฤดู” โดยพนัส ปรีวาสนา เป็นหนังสือคู่มือการสร้างเสริมสุขภาวะจิตได้ดีเลยละครับ สาระที่ได้เป็นกำไรที่เกิดจากความเข้าใจชีวิตและสังคมชนิดสดๆร้อนๆ อาจารย์ได้ทักษะในการออกแบบการสอนเชิงรุก เด็กๆได้เรียนรู้โลกกว้าง โลกที่มีเลือดเนื้อและน้ำตา โลกที่เต็มไปด้วยมืออาชีพ

การนำมือสมัครเล่นไปพบมืออาชีพนั้นสำคัญนัก

โจทย์ เกี่ยวกับจิตสาธารณะนั้น อยากจะชวนมองว่า สาธารณะมันอยู่ตรงไหน หน้าตามันเป็นอย่างไร มันมีก็รูปแบบ มีกี่เงื่อนไข เกี่ยวกับศีลธรรม ศีลทานตรงไหน ทำไมต้องคิดต้องทำเรื่องนี้ด้วย ถ้าคิดแล้วไม่ทำจะเป็นอย่างไร ถ้าคิดแล้วทำจะได้อะไร

ผมเองก็ใช่ว่าจะเป็นคุณพ่อรู้ดี ยังงมโข่งเหมือนกับท่านทั้งหลายนั่นแหละ ยังสังสัยว่า การก่อม็อบ การเดินขบวน การเรียกร้องใช่บริบทของจิตสาธารณะด้วยหรือเปล่า เรามาเรียนรู้ร่วมกันดีไหมครับ วันที่ 27 สิงหาคม นัดพบกันที่หน้าภาควิชาชีววิทยา อาจารย์ภูคา จอมยุทธกล้วยไม้แห่งภาคเหนือ รอต้อนรับอยู่แล้ว

ความชอบ>นำไปสู่ความชื่นชม

>ความงามกลายเป็นความงดงามในใจของเรา>>

แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาไทย อาจารย์หมอประเวศ วะสี ชี้ช่องดังนี้

เนื้อหาความรู้ในโลกนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว

ประมาณว่าเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในเวลา3-4ปีเท่านั้น

แต่เวลาเรียนยังมีอยู่เท่าเดิม

การพยายามยัดเยียดความรู้ขนาดมหึมาเข้าไปในเวลาเท่าเดิม

จึงไม่ต่างกับการจับช้างยัดเข้าไปในรูเข็ม

จึงลำบากและบอบช้ำอย่างยิ่ง

ครูก็ลำบากเพราะไม่สามารถจดจำเนื้อหาต่างๆได้

ครูจึงขาดความมั่นใจ

ครูจึงหาทางออกด้วยการแบ่งกันสอนเป็นวิชาๆ

แต่นักเรียนไม่มีทางออกต้องเรียนทุกวิชาแบบแยกส่วน

สุดท้ายก็ฝืนทนไม่ไหว

ถ้าครูทิ้งเด็ก เด็กก็จะทิ้งครู

ถ้าครูทิ้งโรงเรียน ทิ้งสังคม

สังคมก็จะทิ้งโรงเรียน

เด็กจำนวนมากจึงทิ้งครู ทิ้งโรงเรียน ทิ้งการเรียนที่น่าเบื่อหน่าย

หันไปแสดงออกด้วยการ ปาหินใส่รถยนต์ในยามค่ำคืน

ยกพวกตีกัน และประชดชีวิตต่างๆนานา

เพราระบบการศึกษาปรับตัวไม่ทันกับการจัดการสอนเด็กพันธุ์ใหม่

การเรียนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง

โดยไม่เอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง

ทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่น

1. เรียนยาก

เพราะท่องจำไม่ไหว นักเรียนเกือบทั้งหมดกลายเป็นคนไม่เก่งแต่ละคนมีความชอบความถนัดต่างกัน ถ้าได้เรียนสิ่งที่ชอบจะง่ายและเรียนเก่ง การถูกบังคับให้ท่องจำมากมาย ทำให้ขาดความสุข ขาดการสร้างสรรค์ เป็นการทำลายศักยภาพของคนอย่างรุนแรง ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจและความภูมิใจในตนเอง

2. มีปริญญาแต่ทำอะไรไม่เป็น

เคยมีคนถามคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ว่าคุณเจริญ คุณก็มีโรงแรมมาก ทำไมคุณไม่จ้างคนไทยทำงาน คุณเจริญตอบว่า ผมจ้างแล้ว เขามีปริญญาแต่ทำงานไม่เป็น

3. เกิดความแปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์และความเป็นจริง

เด็ก ที่เรียนแบบท่องจะเครียดมาก ไม่อยากคุยแม้แต่กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เพราะคุยแล้วไม่ได้คะแนน คะแนนไปอยู่ที่วิชา การเรียนแบบนี้จึงไม่ให้ความสำคัญสัมพันธภาพใด ๆ ในสังคม เหมือนเด็กถูกตัดขาดหรือไปถูกกักขังอยู่กับ“วิชา” ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนแปลง

4. ขาดศีลธรรม

ศีลธรรมเกิดจากวิถีชีวิตร่วมกัน การเรียนวิชาศีลธรรมสร้างไม่ได้ เมื่อเรามองการเรียนเป็น“วิชา”ไป หมด ไม่มองว่าการเรียนรู้เกิดในวิถีชีวิตและการทำงาน เมื่อระบบการศึกษามาแยกผู้คนออกจากวิถีชีวิตจริง ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมก็หนีไม่พ้น

5. ตัดรากทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรม คือวิถีชีวิตร่วมกันของชุมชน ที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ บุคคลเรียนรู้ในวัฒนธรรมได้ง่าย เพราะผู้คนเขาปฎิบัติอยู่รอบตัว ต้นไม้ต้องมีรากฉันใด สังคมก็เช่นเดียวกัน

จะเห็นว่าหนทางเกียรติยศอันคับแคบของระบบการศึกษาปัจจุบัน ก่อให้เกิดความบีบคั้นอย่างหนักในสังคม เราควรจะผ่าตัดระบบการศึกษาอย่างถึงรากถึงโคนไหม จุดเปลี่ยนอยู่ที่การเคารพความรู้ในตัวคน เราไม่ได้ปฏิเสธความรู้ในทางทฤษฎีและความรู้ในตำรา เพียงแต่ควรจัดสัมพันธ์ความรู้ในตัวคนกับความรู้ในทฤษฎีให้ถูกต้อง อะไรเป็นฐาน อะไรต่อยอด อะไรเป็นส่วนเสริม

“การจัดการความรู้” คือรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน เท่าที่ประเมินสถานการการศึกษาในปัจจุบัน ถามว่าไม้ซีกอย่างเราจะไปงัดอะไรได้การศึกษาไทยถูกคุมกำเนิดไปแล้ว เห็นแต่ความดันทุรังที่จะปีนเกลียวความจริงอย่างที่ท่านอาจารย์หมอประเวศบอก

ลูกหลานไทย รวมทั้งพ่อแม่จึงได้แต่ตาปริบๆ ไม่รู้จะเอาความขมขื่นไปทิ้งที่ไหน นอกเสียจาก..จัดการเรียนการสอนแทรกเข้าไปในหลักสูตรอย่างที่โรงเรียนมงคลวิทยาที่จังหวัดลำพูนทำ ครูอึ่งครูอารามพยายามอิงกระแสอย่างทุลักทุเล คนที่จะทำความดีความถูกต้องให้ประเทศนี้จะต้องทนเจ็บปวด และทุพลภาพทางจิตใจ อิอิ.

« « Prev : รายการกระแซะเมือง2แคว

Next : ไปเที่ยวอ่าวไทยมา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 เวลา 22:41

    ……..ครูอึ่งครูอารามพยายามอิงกระแสอย่างทุลักทุเล คนที่จะทำความดีความถูกต้องให้ประเทศนี้จะต้องทนเจ็บปวด และทุพลภาพทางจิตใจ อิอิ.

    ก็เห็นอารมณ์ดีและ อิอิ  ได้อยู่นี่ครับ  อิอิอิอิ

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 เวลา 23:09

    เดินหัวฟูทุ๊กวัน เร็วนี้จะไปเป่าน้ำให้สดชื่น

  • #3 สุวรรณา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 6:56

    คนทำความดีต้องเจ็บปวด ท้อนะแต่ไม่ถอย เนาะพ่อครู คุณหมอจอมป่วน อิอิ

  • #4 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 สิงหาคม 2009 เวลา 13:06

    ยังอิอิ อยู่ได้  เพราะเวลาท้อใจ ก็มีคนให้น้ำ..
    เหนื่อยก็มีลานให้บ่น แถมมีคนเล่านิทานให้ฟังบ่อยๆ..
    เผลอเซ็งมากไปหน่อย ก็มีคนเคาะกะโหลกให้ได้คิด..
    อิอิอิ อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.15103793144226 sec
Sidebar: 0.29852199554443 sec