ข้อมูลเสมือน
อ่าน: 1864ปัญหา3จังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเราส่วนใหญ่จะได้รับรู้ข่าวจากสื่อมวลชนในหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ซ้ำบ่อยจนเกิดเป็นกระแสความรุนแรง ทวีความกฤติมากขึ้นตามลำดับ คนอยู่อีสานอย่างผมจะรู้เห็นโดยตรงน้อยมาก จะกระตุกความคิดบางครั้งบ้างเช่น เมื่อมีการขนลูกหลานอีสานที่ไปเป็นทหารกกลับมาในสภาพมีธงชาติคลุม มีขบวนต้อนรับที่สนามบิน ท่ามกลางน้ำหูน้ำตาเสียงสะอื้นระงมของหมู่ญาติ ..ปีนี้แล้วมีผู้ขนลองกองมาขายผ่านส่วนราชการ พวกเราก็ช่วยซื้อคราวละ3-4กล่อง มาเที่ยวนี้ได้แวะตลาดกิมหยง(เรียกถูกรึเปล่าก็ไม่รู้) แป๊ดพาไปซื้ออินทผาลัมสด-แห้ง และซื้อลองกอง1กก.ราคา40บาท
การลงใต้ของนักเรียนโข่งเที่ยวนี้ สถาบันพระปกเกล้าจัดตารางเรียนให้ได้เยี่ยมมาก เราได้ลงพื้นที่ไปดูไปคุยไปสอบถามในหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น การสนทนาโต๊ะกลม เรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้บัญชาการกองกำลังจังหวัดปัตตานี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี จุดแรดนี้ถือว่าเป็นการปูพื้นฐานภาพรวมของฝ่ายที่รับผิดชอบหลัก หลังจากนั้นเราเดินทางไปสถาบันปอเนอะสมบูรณ์ศาสตร์ (ปอเนาะดาลอง) พบบากอการีม นาคนาวา ผู้จัดการสถาบัน และนักเรียน ต่อด้วยการเดินทางไปพบผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชนประมงชายฝั่งพื้นบ้าน กลุ่มแม่บ้านข้าวเกรียบ ไปชมมัสยิดกรือเซะ กลางคืนมีสนทนาโต๊ะกลม ก่อนอาหารมื้อค่ำที่โรงแรมที่พัก ทังหมดนี้เป็นโปรแกรม1วัน และวันถัดมาก็จะมีรายการที่น่าสนใจเต็มพิกัดให้ได้รู้ได้เห็น ซึ่งผมจะไม่ลงในรายละเอียด เพราะอัยการชาวเก่าจะเก็บรายละเอียดมาบอกเล่าเก้าสิบไม่มีตกหล่น ติดตามเกาะติดสถานการณ์ตามอัธยาศัยนะครับ
ถึงจะมีรายการปูพรมอย่างไร? แต่ผมก็ยังคันในหัวใจอยู่ดี เพราะเราไม่สามารถเดินไปเที่ยวตลาด ไปชุมชุมชน หรือไปเยี่ยมใครๆได้เลย ฝ่ายกำกับดูแลจะไม่ปล่อยให้เราเอ้อระเหยได้ ต้องอยู่ในสายตาและกำหนดการตลอด ซึ่งก็เข้าใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย สถานการณ์ไม่ปกติพอที่จะให้คนไทยไปจ๊ะจ๋ากันได้ตามอำเภอใจ ต้องระแวดระวังกันอย่างยิ่งยวด เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานหนักในการที่จะดูแลพวกเรา เมื่อทุกอย่างจบลงโดยสวัสดิภาพ ผมคิดว่าเขาคงถอดใจเฮือกโล่งอกไปตามๆกัน เห็นการทำภาระกิจของเจ้าหน้าที่แล้ว น่าเห็นใจมาก บ้านเมืองไม่ปกติ กลไกในวิถีชีวิตต้องเคร่งขรึมตามสภาพแบบวันต่อวัน เราได้รู้อะไรๆกันพอสมควร บางเรื่องก็ไม่แน่ใจว่าควรจะเล่าได้แค่ไหน?
จึงขอฝากพี่น้องชาวใต้ ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับวิกฤติใต้อย่างไร กรุณาเล่าให้ฟังด้วย มุมที่คนพื้นที่มองย่อยกระจ่างกว่าคนนอกมองอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการมองแบบอว๊บๆ ศึกษาข้อมูลแบบลุกลี้ลุกรน ถึงจะมีเอกสาร ข้อคิดจากการสนทนา แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำการบ้านให้พอดูได้ จึงไหว้วานผ่านบทความนี้
คนใต้มองใต้อย่างไร?
คนใต้มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการแก้วิกฤติใต้อย่างไร?
คนใต้ต้องการปัจจัยหรือสิ่งใด หรือเห็นว่ายังขาดอะไรถึงจะดับไฟใต้ได้
ผมคิดเอาเอง..จะเกิดความหมั่นไส้รึเปล่าก็ไม่รู้นะ..ขออนุญาตโยนหินถามทางก็แล้วกัน..
“ไฟไหม้บ้านที่ภาคใต้ เราต้องวิ่งไปตักน้ำจากกรุงเทพฯมาดับอย่างนั้นหรือ”
” ไฟไหม้ป่า เราเอาปืนเล่นน้ำสงกรานต์มาดับอย่างนั้นหรือ”
” ยุงเต็มป่า จะจุดยากันยุงตราห่านฟ้ากินยุงอย่างนั้นหรือ”
” พื้นที่ทำกินภาคใต้ ดินฟ้าอากาศ เหมาะสมที่จะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ มีวิจัยแค่ไหนหรือ”
” จุดแข็งศาสนา วัฒนธรรมประเพณี เอามาเป็นเครื่องมือประนอมใจกันแค่ไหนหรือ”
” ความรับผิดชอบ มิติทางสังคม มีแผนกระจายอย่างเป็นรูปธรรมให้คนใต้แล้วหรือ”
” ปัญหาภาคใต้ คนใต้ควรเป็นหลักบริหารจัดการปัญหา กระบวนการที่ว่ามีแล้วหรือ”
” ปัญหาใต้ ทำให้ปลอดโปร่ง ปลอดภัย ปลอดใจ ที่จะคุยกันบนฐานความจริงได้ไหม”
” ผลประโยชน์แฝง วงจรเถื่อน จะแซะออกมาดูได้ไหม”
” ประวัติศาสตร์ ความต้องการของประชาคม เอามาเป็นจุดตั้งไข่ได้ไหม?
Next : ว่าด้วยเรื่องอนาคตของกระเพาะ » »
1 ความคิดเห็น
พ่อครูครับ
มีคำพิมพ์ผิดครับ ปอเนาะ สมบูรณ์ศาสน์(ปอเนาะดาลอ) พบบาบอการีม
คนใต้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในบันทึกพลังวัฒนธรรม บ้าน วัด มัสยิด โรงเรียน ที่ลานสันติสุขครับ โดย อัฮหมัดสมบูรณ์(มัสยิด)และ อ.ประสิทธิ์(โรงเรียน) ครับ