วิธีถ่างความคิด

โดย sutthinun เมื่อ 25 สิงหาคม 2008 เวลา 12:59 ในหมวดหมู่ สวนป่าฮาเฮ #
อ่าน: 3690

          

 (ขยายความคิด ติดความรู้-สู่การปฏิบัติ)

 

เรื่องความคิดความรู้นี่พูดกันปากเปียกปากแฉะ

ขึ้นอยู่กับวิธีอธิบาย

ช่วงที่จัดค่ายSCG.เปเปอร์ ของชาวปูนซีเมนต์ไทย

จะชวนคิดชาวคุยในเรื่องที่ทำได้ง่าย ได้ประโยชน์และดูดี

แต่ก็ยังติดปัญหา..วัฒนธรรมความเชื่อ ความเคยชิน

ประเด็นอยู่ที่ว่าจะออกแบบให้ฉุกคิด..ได้อย่างไร

จะนำร่อง นำทางอย่างไร ถึงจะถูกจุดโดนใจ

จึงขออนุญาตชูเรื่องมะกรูดเป็นพระเอกตัวอย่าง  เพราะ..

 

  • เรามีวัตถุดิบอยู่แล้ว
  • เรามีกระบวนการพัฒนา/ต่อยอดชุดความรู้ไว้บ้างแล้ว
  • เราสามารถสื่อความหมายไปถึงสินค้าที่ปรากฎอยู่ในตลาด
  • เราโยงไปถึงลักษณะการใช้แบบต่างๆในห้องครัว ห้องน้ำ ห้องสุขา
  • รวมทั้งการอธิบายถอยหลังไปถึงว่าวิถีไทยใช้มะกรูดทำอะไร
  • มีการเพิ่มมูลค่าใหม่ๆในปัจจุบันนี้อย่างไร

 

  

 

เอาเรื่องง่ายๆที่คนรู้จักกันดีอยู่แล้วมาเป็นโจทย์

ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษ

โดยปกติแล้วการปลูกมะกรูดถ้าไม่ใส่ใจจริงๆก็ยากที่จะเติบโต

บางคนต้องปลูกแล้วปลูกอีก การเติบโตช่วงแรกจะช้ามาก

จัดอยู่ในกลุ่มไม้โตช้าได้เลยละ เว้นแต่จะปลูกอย่างเอาใจใส่พิเศษ

หรือใช้วิธีต่อยอดกับต้นกระสังจะได้ผลผลิตเร็ว (ร่นระยะออกผลจาก4-5ปีมารับผลใน1ปี)

 

ในช่วงที่มาปักหลักปลูกสร้างสวนป่า

พืชที่สำคัญในลำดับต้นๆคือ มะนาว มะกรูด

เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการตำน้ำพริก ใส่แกง ปรุงรสอาหาร

บังเอิญเจ้ามะ..ที่ว่านี้มักจะขาดแคลนในช่วงแล้งมีราคาแพง

ประเด็นพื้นฐานที่ว่านี้ละครับ ที่ทำให้เราตั้งใจปลูกมะกรูดมะนาวเป็นพิเศษ

และก็ทำได้สำเร็จในระยะต่อๆมา

 

 

 

ผลพวงที่ทำไว้ ทำให้เรามีมะกรูดมะนาวหล่นเกลื่อนพื้น

ใครไปใครมาต่างเก็บใส่ตะกร้ากะตู้วู้

จัดอบรมการเสียบยอดพืชตระกูลส้มกับยอดกระสัง

ปีนี้ฝนดี มะกรูดมะหนาวออกลูกเป็นพวงห้อยระย้า

บางคนเก็บแล้ว..ไม่รู้ว่าจะเอามาใช้อย่างไร?

จุดที่ว่านี้ละครับคือ..

 

  • โจทย์ของนักวิจัย
  • โจทย์ของนักพัฒนา
  • โจทย์ของนักส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
  • โจทย์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืช
  • โจทย์ของนักวิสาหกิจชุมชน
  • โจทย์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • โจทย์ของครูที่สอนเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น
  • โจทย์ของนักออกแบบกล่องเพื่อการขนส่งและจำหน่าย
  • โจทย์ของบริษัทผลิตภัณฑ์สินค้าสุขภาพ
  • โจทย์ของผลิตภัณฑ์สปา
  • โจทย์ของยาพื้นบ้านและสมุนไพร
  • โจทย์ของแม่ครัวหัวป่าส์

 

 

 

สรุปว่าโจทย์ของคนไหนก็ของคนนั้นตามอัธยาศัย ขึ้นอยู่กับว่าจะโดนใจตามสภาพแวดล้อมอย่างไร ..ช่วงที่จัดค่ายSCG.เปเปอร์ ชาวค่ายทำอาหารเมนูยำแซบหลายรายการ มีเปลือกมะนาวเยอะ นำมาลอยไว้ในกาละมังล้างจาน ช่วยชำระคราบสกปรก มือ/ภาชนะมีกลิ่นสะอาด เป็นการใช้ประโยชน์แบบง่ายๆตรงๆ

 

ส่วนมะกรูด เรายังไม่ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

ผมใช้วิธีง่ายๆ ผ่าซีกแล้วเอามาสระผม เอามาถูตัว ใช้ไปใช้มาติดใจ

ผมสลวย เบาสบาย ไม่ต้องเสียเงินซื้อแชมพู

กลิ่นตัวก็คงจะจางไป จางไป ถึงไม่หอมเหมือนทาโคโลจญ์ แต่กลิ่นสะอาดขึ้น

ไปไหนมาไหนผมจะเก็บผลมะกรูดติดตัวไปด้วย

มาเที่ยวนี้ก็ขนมาเยอะ  เจอใครแจกดะ

หลายคนชอบและใช้ประจำ อ้าวเป็นงั้นไป

ยังงี้ดีเลย มะกรูดจะเป็นของฝากทุกครั้งที่เข้ากทม. 

 

มะกรูดมีคุณสมบัติพิเศษ ไม่เหี่ยวง่าย เก็บไว้ได้นาน

เนื่องจากเราปลูกเองใช้เองจึงเก็บสดๆจากต้นได้เรื่อยๆ

ผมใช้มะกรูดวันละ2ลูก สระผม ถูตัวดังที่เล่าไว้

ปีนี้ก็จะเพาะมะกรูดให้ได้10,000ต้น

ท่านใดจะร่วมด้วยช่วยปลูกก็ดีนะครับ

หรือจะช่วยต่อยอดการใช้ประโยชน์ก็ดีอีกนั่นแหละขอรับ

 

ถ้าเราช่วยกันปลูกอย่างจริงจัง ชี้ชวนกันใช้อย่างกว้างขวาง

รายได้โดยตรงอาจจะไม่ดูมากมาย แต่ถ้าคิดถึงการประหยัด

การเสริมสภาพแวดล้อม การเรียนเรื่องสุขภาวะชุมชนคนพึ่งตนเอง

ทั้งมูลค่าและคุณค่าไม่ธรรมดาหรอกนะตัวเอง

บางทีมะกรูดนี่แหละจะช่วยตีความให้เข้าถึงเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงได้อีกทางหนึ่ง

ท่านใดมีความรู้เรื่องมะกรูด กรุณาแนะนำด้วยนะครับ

ท่านที่ไว้ผมเปีย/ผมยาวๆ ถ้าสระผมจากน้ำมะกรูดโดยตรง น่าจะดีนะขอรับ

ท่านจะได้สร้างตำนานนางพญาผมหอมยุคใหม่

ท่านใดต้องการทดลองใช้มีมะกรูดสดๆจากต้นอย่างจุใจ

เชิญไปเก็บที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน อิอิ..

 

วิจัยสไตล์คนแซ่เฮ

 

อาบน้ำเช้านี้  ผมเอามะกรูดสระผมและถูร่างกาย ถูไปถูมาก็เกิดประกายความคิด..ทำไมเราไม่ลองผ่ามะกรูดแล้วบีบน้ำกลั่วคอ คิดแล้วลองเลย น้ำมะกรูดมีรสเปรี๊ยวแต่ไม่ถึงกับจี๊เท่ามะนาว หลังจากบ้วนน้ำออกจะรู้ถึงรสฝาดในช่องปาก จะดีหรือไม่ดียังไงคงต้องลองใช้ประจำสักระยะหนึ่ง ช่วงนี้เว้นวรรคListerine ถ้ามะกรูดดีกว่าก็จะบอกเลิกศาลากันไป หันมาใช้ของไทยของแท้ ชวนใครๆมานิยมไทยกันดีกว่า ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นทาสสารเคมี และเป็นผู้ที่อาศัยความรู้ชนชาติอื่นไปจนตาย  ที่เล่านี้..เป็นเพียงประเด็นหรือโจทย์เล็กๆผิวๆเท่านั้น ยังมีเรื่องใบมะกรูด น้ำมันมะกรูด เนื้อมะกรูด ราก เปลือกต้นมะกรูด..รอให้เราค้นหาอีกมากมาย

 

มาช่วยกันปลูกมะกรูดช่วยชาติดีไหมครับ?.

 

หมายเหตุ:

เอกสารประกอบการนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

วันครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันที่15 กันยายน 2551

« « Prev : ถามถึงและทบทวนปฏิรูปการศึกษา9ปี

Next : ฟังเสียง2ข้าง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 ทัศนีย์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 เวลา 18:00

    เห็นด้วยทุกความคิดเห็นค่ะ

  • #2 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 เวลา 22:46

    ขอมะกรูดไปฝากที่ใต้ได้มั๊ยพ่อครู….ขอต้นค่ะต้น….ไม่ใช่ลูกของมัน….จะเอาไปให้แนวร่วมที่เขาทำงานแพทย์แผนไทยและปลูกที่ร.พ.ค่ะ

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 สิงหาคม 2008 เวลา 2:06

    เอาเป็นต้นคงยากเพราะเดินทางหลายวัน
    ถ้าเป็นผลละง่าย ใช้แล้วเอาเม็ดเพาะได้เยอะด้วย เสียเวลาห่างกัน 6 เดือน
    ถ้าจะเอาต้นคงต้องวันหลัง นัดเจอกัน แล้วเอาไปฝากที่กทม. อิอิ ไหมครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.057960987091064 sec
Sidebar: 0.069119930267334 sec