เที่ยวในงานแขวงเวียงจันทน์ ๑ ขึ้นเขาข้ามห้วยฝ่าดงทากพิชิตเมืองหลงเก่า

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2012 เวลา 10:17 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1626

 

พี่น้องบ้านเมืองหลงใหม่ บอกว่าอยากไปทำนาอยู่ที่บ้านเก่า บอกว่ามีที่ราบกว้างขวางพอเพียง ท่านเจ้าเมืองฮ่มและคณะนำก็เห็นชอบ เอาไงดีล่ะ ลุงเปลี่ยนไม่ไปดูก็ไม่มั่นใจว่าพื้นที่เหมาะสมจริงหรือไม่ อีกทั้งการสร้างถนนไปที่แห่งนั้นต้องตัดผ่านเขาสูงชัน ผ่านป่าไม้ แม่น้ำลำห้วย นอกจากจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาทแล้วยังต้องตัดไม้หลายสิบหลายร้อยต้น สอบถามทิศที่ตั้ง และระยะทาง พี่น้องชาวม้งบอกว่าไปแค่ ๓๐ นาทีก็ถึง แต่พอหันกลับไปถามอ้ายน้องรัฐกรกลับบอกว่า ๓ชั่วโมง สอบถามใจตัวเองบอกว่าต้องไปเห็นสักครั้ง สอบถามกายตัวเองดันตอบว่าไม่ไหวกระมังใช้เด็กๆเขาไปดูเถอะ แต่ใจกลับแย้งมาว่าไหวไม่ไหวก็ลองดูก่อนสิ โอกาสในการเดินป่าที่เป็นเขตทหารเก่าสมรภูมิรบ”เจ้าฟ้า”นี่ไม่ใช่หาได้ง่ายๆนะ ตกลงใจว่าไปก็ไป(ว่ะ) ชักชวนนัดหมายรองนายบ้านวัยหนุ่มชื่อลงกงเอาไว้ บอกให้หาคนวัยหนุ่มไปเป็นเพื่อนอีกคนสองคน(เผื่อเอาไว้หามลุงกลับ) กวาดตาไปมองบรรดารัฐกรที่มาช่วยงานหมายตาไว้แล้วไปหว่านล้อมมาร่วมขบวน ๒คน คนแรกเป็นเด็กพนักงานกสิกรรมจบใหม่ไฟแรงชาวม้ง อีกคนเป็นพนักงานห้องการสิ่งแวดล้อม(ที่บังเอิญเป็นน้องชาย ของเลขาเก่าผมที่เมืองหงสา ธรรมะจัดสรรจะให้ได้มาพึ่งกันกันที่นี่…ไม่รู้ล่ะตีซี้มั่วเหมาเอาไว้ก่อน งานนี้เมิงต้องช่วยตรูม่ายงั้นตรูจะฟ้องพี่ ฟ้องลุง อา ฟ้อง…เมิง) เป็นอันได้ขบวนครบถ้วนปานว่าเป็นทีมนายพรานรพินทร์ไพวัลย์จะออกเดินทางสู่ภูเขาพระศิวะในนิยายเพชรพระอุมา

(วันรุ่งขึ้น) กว่าจะเคลื่อนขบวนได้ก็สายโด่ง แจกจ่ายข้าวคนละห่อน้ำคนละขวดให้รับผิดชอบของใครของมันแล้วก็ออกเดินทาง ลุงเปลี่ยนสะพายย่ามกล้องห้อยคอมือถือขวดน้ำ รองนายบ้านคนนำทางชี้ให้ดูต้นไม้ใหญ่บนสันเขาที่สูงจนต้องแหงนคอตั้งบ่า บอกว่าเดี๋ยวเราไต่ขึ้นไปทางโน้น ไอ้หยา สูงปานนั้น ตรูถอยตอนนี้ดีไหมน้อ แต่ใจกลับรู้สึกกลัวเสียหน้าหากจะถอยตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม

เลี้ยวเข้าชายป่าก็เจอบททดสอบแรก กับเส้นทางที่ลาดชัน กับก้าวขาที่หนักอึ้ง กับหัวใจที่เต้นโครมๆราวกับจะเต้นหลุดออกมาข้างนอก กับลมหายใจหอบแฮกๆ และเหงื่อที่ไหลโทรม พอรู้ว่าไม่อาจร่วมอัตราเร็วกับคนนำทางชาวม้งได้ก็ค่อยๆผ่อนฝีเท้าลง หยุดพักเมื่อไปไม่ไหว(แอบจับชีพจร หากเต้นโครมๆเกินร้อยซาวครั้งต่อนาทีก็หยุดยืนพักก่อน) ยี่สิบก้าวพักหอบสิบครั้ง พร้อมกับปลอบใจตัวเองว่าร่างกายน่าจะปรับตัวได้ดีหากเดินต่อไปอีกสักระยะ ตกลงถึงตอนนี้ทีมนำชาวม้งทิ้งห่างนำหน้าไปหลายร้อยเมตร ถัดมาเป็นเจ้าน้องชายรัฐกรสิ่งแวดล้อมที่ไปๆหยุดๆ พอเห็นลุงโผล่พ้นโค้งก็ออกเดินดุ่มนำหน้าไป แต่พอหยุดรอหลายครั้งเข้า คงเห็นท่าลุงจะพาย่ามไปไม่รอดแน่ๆเจ้าหนุ่มจึงย้อนกลับมารับย่ามไปสะพายให้   ข้างหลังลุงเป็นรัฐกรกสิกรรมที่ตามประกบ เขาคงแบ่งงานกันตั้งแต่แรกเห็นคุยภาษาม้ง เสียงในฟิล์มตั้งแต่ชายป่า

ยักแย่ยักยันขึ้นไปจนทันพรรคพวกที่นั่งตบยุงรออยู่ นั่งพักพอหายเหนื่อย ชวนกันออกเดินต่อ อ้ายน้องม้งบอกว่าที่ผ่านมายังเป็นเชิงเขา ต่อไปข้างหน้าถึงจะเรียกว่าขึ้นภูของจริง ใจหล่นไปกองอยู่ที่ตาตุ่ม โอย ตรูกลับดีไหมเนี่ย แต่สุดท้ายก็ฝืนลากสังขารค่อยๆไต่ขึ้นไป เส้นทางเป็นดังคำที่อ้ายน้องบอก ชันชนิดแหงนคอตั้งบ่า ถึงตอนนี้อ้ายน้องตัดไม้ไผ่ให้ใช้เป็นไม้เท้า แล้วก็ออกเดินนำลิ่วหายไปในเส้นทางสูงชันข้างหน้า ปล่อยให้ลุงปีนป่ายขึ้นลงๆตามไปช้าๆ จนมาถึงลำธารน้ำใสที่เขานั่งสูบบุหรี่รออยู่ วักน้ำลูบหน้าแล้วออกเดินต่อ

ยิ่งเดินยิ่งสูง ทางก็ยิ่งชัน นับเวลาได้ชั่วโมงเศษๆ อ้ายน้องชี้ให้ดูต้นยางยักษ์ที่เป็นเครื่องหมายทางตั้งแต่เชิงเขา แล้วก็ปีนป่ายกันต่อด้วยความชันที่เหมือนเดินขึ้นบันไดตึกสิบชั้น

เมื่อพ้นป่าไม้ยืนต้น ทางเดินเริ่มชันน้อยลง แต่กลับพาลัดเลาะไปในดงไผ่ที่ขึ้นเบียดเสียดทรงพุ่มหนาทึบ พื้นดินเปียกชุ่ม และแล้วก็เจอกองทัพทากชูลำตัวกวัดแก่วงหาเหยื่อ เจ้าทากคงตื่นตัวจากกองหน้าที่เดินผ่านไปอย่างเร็วๆ พอมาเจอกองหลังอย่างลุงที่เดินต้วมเตี้ยมก็โอชะหวานคอแร้งคอทากละสิทีนี้ ไอ้หนุ่มคนเดินตามหลังละว้าละวนปัดทากออกจากตัวเองแล้วยังต้องมาคอยปัดให้ลุง(น่าสงสารแท้) ลุงก็พยายามเร่งฝีเท้าเต็มที่แต่ขาไม่เป็นใจ ทางไม่ชันมากก็จริงแต่ต้องเดินไวๆไม่ให้ทากเกาะ เหนื่อยแทบขาดใจ หยุดพักเหนื่อยแต่ละทีก็ต้องเลือกช่องว่างที่พอมีแสงแดดส่อง ยืนไปก็ปัดตัวทากไป ในที่สุดก็ขึ้นถึงอีกหนึ่งสันเขาอย่างสะบักสะบอม พรรคพวกรีบมาช่วยจับทากออกนับได้สิบกว่าตัว ยังมีหน้ามาแซวกันอีกว่า ไหนอาจานว่ากินยาปัวพะยาดหลายเม็ดทากมันไม่กัด เออ ทากมันคงป่วยมั้งถึงอยากกินเลือดผสมยาของลุง   

อ้ายน้องพูดให้กำลังใจว่า เส้นทางต่อไปนี้ไม่มีทางชันอีกแล้ว ทากก็ไม่มี(เยอะ)แล้ว ชันก็ชันน้อยๆธรรมดา ว่าแล้วก็เดินลิ่วหายขึ้นภูไปอย่างรวดเร็ว ไหนว่าไม่ชันไง(ว่ะ) ตรูว่ามันก็ชันเท่าๆกับที่ผ่านมานั่นแหละ เดินไปอีกสักครึ่งชั่วโมงระดับทางเดินค่อยๆลาดลง และแล้วก็ถึงเสียที ทุ่งบ้านเมืองหลงเก่า

ทุ่งบ้านเมืองหลงเก่า เป็นที่ราบบนหุบเขากว้างขวางเวิ้งว้าง มีกระท่อมชาวบ้านมาเลี้ยงวัวอยู่สองสามหลัง ฝูงวัวสองฝูงเลาะเล็มหญ้า อากาศเย็นสบาย ความกว้างของทุ่งราวหนึ่งกิโลเมตร และความยาวน่าจะราวๆสามกิโลเมตร มีลำห้วยสองสายไหลผ่านทางด้านเหนือ และตะวันออก พอวัดระดับความสูงดูแทบหงายหลัง ค่าที่ออกคือ ๑๑๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล นี่ลุงเดินขึ้นมาจากระดับ ๖๒๐ นะเนี่ย เออ เก่งจริงโว้ยเรา ดอกหญ้าสีสดกระจิดจิ๋วประดับพรมผืนหญ้า ผีเสื้อสีสดนับร้อยๆตัวขยับปีกบางบินว่อน แต่ก็มีโอกาสชื่นชมเพียงน้อยนิด ต้องรีบวิ่งตามพรรคพวกที่พากันเดินตัดทุ่งไปเก็บผลฝรั่งป่ากินแล้วก็แวะพักทานข้าวที่กระท่อม(โธ่ โธ่ ทำไมไม่พากันกินข้าวเสียงตรงขอบด้านนี้นะอ้ายน้อง ให้ตรูเดินตัดทุ่งอีกตั้งไกลเนี่ยนะ ไม่รู้หรือไงว่าห้เมตรสิบเมตรลุงก็ไม่อยากเดินแล้ว นี่ตั้งกิโลเมตรเชียวนะ ไปกลับก็สองพันเมตรสี่พันก้าวเข้าไปแล้ว ลุงอยากถนอมกำลังเอาไว้ขากลับ) อ้ายน้องหยิบชิ้นส่วนระเบิดสมัยสงครามปลดปล่อยมาให้ชม แถมบอกว่าตรงลำห้วยข้างบนยังมีลูกใหญ่ๆที่ยังไม่แตกอีกหลาย

หลังจากกินข้าวอิ่ม นั่งร่างแผนที่ และแผนงานปรับปรุงพื้นที่ (หากต้องการใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว…แต่ความจริงแล้วอยากเก็บไว้เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติให้สัตว์ป่ามาเลาะเล็มหญ้าระบัดน่าจะดีกว่า) บ่าย ๒โมง๑๐นาที ได้เวลาจรลีกลับ(จากสวรรค์เมืองบนแดนดิน) ลงสู่พื้นราบเบื้องล่าง จ้ำอ้าวร่วมขบวนเดินตัดทุ่ง และไต่ขึ้นสู่เนินขอบทุ่ง และแล้วลุงก็ขอใช้อัตรา ไปช้าๆเนิบๆแบบลุงโดยมีกองระวังหลังเจ้าเก่าประกบอัดท้ายขบวน แถมขากลับอาสาถือขวดน้ำให้ลุงอีก

ทางลงชันเหมือนลงบันไดวัดพระธาตุแต่ไม่มีขั้นบันไดราบๆให้เหยียบยั้งเท้า ไม้เท้าช่วยพยุงข้างหนึ่ง อีกมือหนึ่งโหนเกาะยึดต้นไม้รายทาง ตอนขาลงนี่มองเห็นทางลาดชันด้านล่างไปไกลๆ ไม่เหมือนตอนขาขึ้นที่ได้แต่ก้มหน้าก้มตามองเท้าตัวเอง มีหลายจุดที่หยุดมองด้วยความแปลกใจว่าตอนขามาขึ้นเมื่อตะกี้พาตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร พร้อมกับเป็นกังวลว่า….แล้วตรูจะพาตัวเองลงไปท่าไหนดี

อาการปวดเข่าด้านขวาที่มีมาตั้งแต่สมัยไปขึ้นภูที่ดงหลวงเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วเริ่มกำเริบอีกครั้ง เดือนก่อนไปเดินป่าน้ำกงก็แสดงอาการครั้งหนึ่งแล้ว ด้วยเหตุที่รับน้ำหนักมากตอนขาลงเขาชัน ทำให้ต้องใช้ขาซ้ายค้ำยันลงเขาแบบเอียงๆแล้วค่อยลากขาขวาพาเท้ามายืนขาคู่ก่อนที่จะก้าวเท้าซ้ายลงภูต่อ ก็เลยยิ่งช้าไปกันใหญ่

หยุดฟื้นกำลังขาที่ลานตะพัก ก่อนที่จะรวบรวมกำลังพาตัวเองวิ่งกลิ้งผ่านป่าไผ่ดงทาก แต่ละครั้งที่เท้าขวาย่ำลงคราใด มันเหมือนกับมีเข็มเป็นร้อยเล่มมาทิ่มแทงสะบ้าหัวเข่า มาถึงยอดเขาต้นไม้ยางยักษ์เอาเมื่อเวลาสี่โมงเย็น โขยกเขยกลงอีกสองเนินลาดชันๆ แล้วก็มาถึงชายเขา ระยะทางใกล้ๆจากจุดนั้นลงมาหาพื้นราบเมื่อตอนขามารู้สึกว่าเป็นบททดสอบ แต่ตอนขากลับนี่ยิ่งกว่าเป็นบททดสอบ เป็นเหมือนเส้นทางสายบดขยี้หัวเข่า ตอนนี้ขาซ้ายเกิดหมดแรงยกได้แค่เพียงลากไปกับพื้น ส่วนเจ้าเข่าขวานั้นเจ็บจนไม่รู้สึกเจ็บอีกต่อไปแล้ว แต่กลับควบคุมไม่ได้งอเข่าไม่เป็นพอเผลอไม่ประคองให้วางถูกตำแหน่งปวดแปล๊บขึ้นมาจนหูอื้อ กำหนดจิตพิจารณาทุกข์ ห้าสิบก้าวสุดท้ายต้องกัดฟันน้ำหูน้ำตาไหลนับจำนวนก้าวแต่ละก้าวย่าง

มาถึงพื้นราบเอาเมื่อเวลา ๕โมงเศษๆ ตะวันบ้านเมืองหลงใหม่ลับขุนเขาไปก่อนหน้านี้แล้ว

กลับมาถึงห้องพักพบว่ามีคุณทากเกาะมาในร่มผ้าอีกสี่ตัว กินเลือดอิ่มนอนตัวกลมเชียว….

มั่วนคักๆ แต่ไม่เอาอีกแล้ว

…………………

ตอบแทนอ้ายน้องชาวม้งคนนำทางไปคนละแสน(กีบ) กับอีกหนึ่งแผนงานที่จะเป็นทางออกของชุมชนม้งบ้านเมืองหลง

ตอบแทนสองน้องชายรัฐกรด้วยการนั่งสอนวิชาเขียนบทรายงานสองบทในสองเย็นถัดมา

ตอบแทนยังไงก็คงไม่คุ้มกับการที่คอยลากจูงลุงขึ้นเขาลงห้วย

ขอบใจเด้อ


ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๓) ตามรอยพระเจ้าไชยเชษฐามหาราชแห่งล้านช้าง หลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2012 เวลา 2:22 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3135

จากฝั่งเมืองที่ตั้งแขวงอัตปือ ข้ามลำเซกองไปอีกฟากหนึ่ง เป็นเมืองไชยเชษฐา ตั้งชื่อเมืองตามพระนามของมหาราชพระองค์ที่ ๒ ของล้านช้าง พงศาวดารล้านช้างได้บันทึกถึงเรื่องราวของพระองค์ไว้ว่า “ส่วนพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าแต่ได้เสวยศิริสมบัติทั้งมวญนานประมาณได้ ๒๔ วรรษาถ้าจักกล่าวแต่ชาติมา อายุทั้งมวญได้ ๓๙ ปี ก็ไปกระทำยุทธกรรมสงครามในเมืองรามรักองการ กาลวิปริตผิดกองเลยถึงแก่พระองค์ก็หลงเสียในเมืององการนั้น ในปีระวายเม็ดเดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ ศักราชได้ ๙๓๓ ตัวนั้นแล”

พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างมาอยู่ที่เวียงจันทน์

คือพระองค์ที่ในประวัติศาสตร์อยุทธยาบันทึกไว้ว่า ทรงขอพระเทพกษัตรีย์พระธิดาในสมเด็จพระศรีสุริโยทัยไปเป็นมเหสี แต่ทางกรุงไทยส่งพระแก้วฟ้าธิดาในพระสนมไปแทน แล้วพระองค์ทรงส่งคืน

คือพระองค์ที่ทรงเป็นหลานตาของพระเจ้าเชียงใหม่ที่เคยรับเชิญมาครองเมืองต่อจากพระเจ้าตา(พระเมืองเกษฯ) ก่อนที่จะเสด็จคืนไปครองล้านช้างต่อจากพระบิดา และเป็นหลานยายของพระนางจิรประภามหาเทวีกษัตรีล้านนา (ที่คุณต่ายเพ็ญพักตร์ รับบทในหนังเรื่องสมเด็จพระสุริโยทัยได้อย่างอร่ามตา)

ในบั้นปลายรัชกาล พงศาวดารฉบับหลวงบันทึกไว้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาทรงหายสาบสูญไปในคราวราชการทัพเมืององการตามที่ได้แสดงไว้ข้างบน

แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กลับมีเรื่องราวที่ต่างออกไป ชาวประชาในเมืององการซึ่งปัจจุบันคือเมืองไชยเชษฐา เชื่อว่าพระองค์ทรง”ถูกปลงพระชนม์” และพระศพได้ถูกฝังไว้ ต่อมาพระโอรสชื่อ พระไชย ซึ่งเกิดจากนางสามผิวมเหสีชาวเมืององการ ได้มาขุดเอาพระอัฐิมาก่อเจดีย์ศิลาแลงเล็กๆไว้ พระไชยได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่เตรียมอัญเชิญพระอัฐิพระบิดาขึ้นบรรจุ แต่พระไชยก็มาประสบชะตากรรมสิ้นพระชนม์ลงอีก เจดีย์ที่สร้างไว้จึงได้บรรจุอัฐิของพระโอรส แทนพระบิดา

วัดพระธาตุไชยเชษฐา ปัจจุบันมีเจดีย์สององค์นี้อยู่ และยังมีอีกสองเจดีย์ องค์หนึ่งบรรจุอัฐิของพระครูผู้สร้างวัด และอีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์หลักเมือง คุณลุงผู้เฝ้าวัด นำบรรยาย เล่าประวัติศาสตร์ฉบับท้องถิ่นอธิบายไว้อย่างนี้ครับ

ถัดไปอีกสามร้อยเมตรมีวัดเก่าอีกหนึ่งวัด ชื่อ วัดหลวงเก่าเมืองไชยเชษฐา ที่ป้ายไม้เขียนไว้ว่า สร้างโดยพระองค์เมื่อปีพุทธศักราช สองพันหนึ่งร้อยยี่สิบกว่าๆ พระอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรมไปตามกาล แต่ยังมีร่องรอยของความงดงามอลังการ (นักวิชาการไทยจากมูลนิธิท่านอาจารย์องุ่นเคยเขียนไว้ว่าวัดเก่าทั้งสองแห่งมีร่องรอยศิลปะล้านช้างแกมล้านนา….)

ถ้าประมวลความตามเรื่องราว นักประวัติศาสตร์ลูกทุ่งสมัครเล่นอย่างข้ากระผม ก็เชื่อว่าพระเจ้าไชยเชษฐิราชเจ้าทรง “เคลื่อนไหว”อยู่ที่เมืองนี้ระยะหนึ่งจริงๆ ในช่วงนั้นมีความยุ่งยากในราชสำนักล้านช้างแตกเป็นหมู่เป็นเหล่า พงศาวดารจึงบันทึกข้ามไป ซึ่งถัดจากที่ปันทึกว่าพระองค์สาบสูญไปไม่นานพงศาสดารก็เขียนไว้ว่า มีชายชาวเมืองนี้อ้างตนเป็นพระองค์ยกทัพไปยึดกรุงเวียงจันทน์ได้ ดังนี้ “เมื่อศักราชได้ ๙๔๑ ตัวปีกัดเม้านั้น ยังมีคนอุบาทว์ผู้หนึ่งฉลาดด้วยสาตรศิลป์สำแดงตนว่า แม้นพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าล้านช้างอันไปหลงเสียที่องการนั้น มันก็ปดประโลมเอาข่าส่วยทั้งหลาย …..แล้วก็ไปตั้งรั้วยกเวียงโรงศาล อยู่ในทุ่งแอกกระบือ ความไทยเราว่าทุ่งคี่ควาย มูลควาย ……แล้วก็ยกรี้พลไปรบพุ่งรี้พลพระเจ้า เวียงจันนี้แล ครั้งนั้นพระมหาอุปราชเจ้า จึ่งให้…… ขับเอารี้พลไปรบเขาที่นั้น ชาวแอกกระบือเขาก็เอารี้พล มารบท้าวพระยาฝ่ายเหนือนี้ เลยชนะกระจัดกระจายหนีมาคราวนั้น เขาเลยไล่เข้ามาถึงเมืองนครนั้นแล้ว ……ก็เลยแตกฟุ้งเสียเมืองเวียงจันปีนั้นแล……”(ที่มา พงศาวดารล้านช้าง)

ได้น้อมคารวะพระองค์ท่านด้วยความเคารพ ในฐานะข้าไทสายเลือดล้านนาคนหนึ่ง

พระเจ้าไชยเชษฐามหาราช ทรงเป็นสะพานเชื่อมสองฝั่งโขงมาช้านาน ดังเช่น พระธาตุศรีสองรักที่พระองค์ทรงสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความร่วมมือไท-ลาว พระองค์ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ พระธาตุพนม และอีกหลายๆศาสนสถานทั่วสองฝั่งโขง

หากผู้เกี่ยวข้องคิดเป็นเล่นเป็น หยิบยกเอาประเด็นเป็น อยากให้นำเรื่องราวของพระองค์ท่านมาเป็นสะพานใจเชื่อมสองฝั่งโขง จะได้ผลดีกว่าสร้างสะพานคอนกรีตหลายเท่านัก

(แทนที่จะกำหนดเพดานประวัติศาสตร์ไทย-ลาวไว้ที่ช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ให้หมองน้ำใจไทย-ลาวกันดังเช่นทุกวันนี้….เสนอถึงลุงเอก สสสส.ครับผม)


วิพุทธิยาจารย์อาสา จุฬาฯน่าน สิ่งที่ได้พูด ความหมายที่อยากบอก

1 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 เวลา 6:21 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2919

ที่ประชุมกลางดึกในห้องหัวหน้าคณะ”พ่อครู” ได้รับมอบหมายให้ลุงเปลี่ยนอยู่ในกลุ่มครูห้อง ๒ “บริบทการพัฒนาการเกษตร การพัฒนาชุมชน ในชนบทภาคเหนือ และ ประเทศเพื่อนบ้าน” หัวขบวนตั้งธงมาให้อย่างนี้ ทราบแล้วก็ไม่ได้วิตกว่าจะเอาอะไรไปเล่า แต่แอบกังวลว่าจะเล่าอย่างไรให้น่าสนใจ จะสื่ออย่างไรดี เรียกร้องหาผู้กำกับเวทีด่วน โชคดีที่ได้ครูใหญ่ผู้มากประสบการณ์มากำกับ และได้พี่หมอเจ๊ กับครูอาราม มาช่วยเติมเต็ม ดูไปแล้วทีมเราก็ครบเครื่องทีเดียว ครูใหญ่เรียกประชุมกลุ่มย่อยเตี๊ยมทางหนีทีไล่อีกนิดหน่อย เป็นอันหมดกังวล

ภาคเช้าหลังจากพ่อครูเปิดประเด็น ครูป้อมชวนนิสิตผ่อนคลาย แล้วแบ่งกลุ่มนิสิตออกเป็นสามกลุ่ม ทีมครูกลุ่มสองเตรียมพร้อม อ้าว..ทีมครูกล่มสามของหมอป่วนประสงค์ดีไปจองลานโล่งๆเสียแล้ว ทีมลุงอยู่ห้องสองเพิ่นว่า ดีเหมือนกันห้องสองมีอุปกรณ์สื่อสารครบจะได้ฉายรูปประกอบ ว่าแล้วก็ติดตั้งอุปกรณ์…

ชุดแรก…นิสิตมารอแล้ว เอ้าหนูๆจัดห้อง เอาโต๊ะออก นั่งแบบห้องเรียนไม่เข้าท่าจัดเก้าอี้เป็นวงกลมดีกว่าจะได้เห็นหน้ากัน ระหว่างนั้นลุงก็พยายามหาบันทึกในลานฯที่แต่งโคลงร่ายกาพย์กลอนชมวัดในเมืองน่านไว้ กะว่าจะนำเข้าสู่บทเรียนด้วยคำเหล่านั้น แต่จนแล้วจนรอดด้วยความหลงๆลืมๆหาไม่เจอ จนครูใหญ่สแกนนิสิตเสร็จเริ่มโยนไมค์มา พี่หมอเจ๊ลุกมาช่วยหาบันทึกแทน ลุงเปลี่ยนนี่ติดอยู่อย่าง ถ้าวางขั้นตอนไว้หากติดอยู่ขั้นที่หนึ่งก็จะไปขั้นสองสามสี่ไม่ได้ เขียนรายงานก็เช่นกันหากไม่จบบทสองก็ไปต่อบทอื่นไม่ได้ แต่เมื่อผู้กำกับรายการโยนไมค์มา ก็จำต้องงัดเอาเรื่องที่ตั้งใจจะพูดมาจากบ้านชิงเอามาขายไอเดียเสียก่อน นั่นคือเรื่อง ระบบนิเวศน์วัฒนธรรมเกษตร โดยยกตัวอย่างเล่าถึงประสบการณ์กับพี่น้องโส้ที่ดงหลวง อยากให้น้องๆนิสิตที่จะกลับไปทำงานด้านพัฒนาชุมชนเกษตรกรรม คำนึงถึงสองคำหลักคือ ระบบนิเวศน์ของพื้นที่ที่จะไปอยู่ และคำหลักที่สองคือ วัฒนธรรมของพี่น้องที่จะไปพัฒนา แถมท้ายด้วยการโฆษณาบล็อคให้ไปติดตามรายละเอียดเพิ่ม

นิสิตชุดแรก ย้ายกลุ่มออกไป ทีมครูรวมหัวสรุปบทเรียน แล้วก็ต้อนรับนิสิตกลุ่มที่ ๒ ครูใหญ่สแกนกลุ่มด้วยการยื่นไมค์ให้น้องๆพูดถึงความคาดหวัง เรื่องที่อยากรู้ หรือเล่าที่ไปที่มาของตัวเอง แล้วอวยไมค์ ลุงเปลี่ยนจับคำว่า “ยางพารา” และ ระบบเกษตรแบบการค้า มาขยายความ ได้เล่าถึง เรื่องราวของยางพาราตั้งแต่แรกเริ่มเข้ามาที่ภาคใต้ แล้วขยายมาภาคอีสานภาคเหนือได้อย่างไร และต่อด้วยเรื่องของการสัมปทานปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้าน จบด้วย ผลกระทบของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องแผ้วถางป่าจนเลี่ยนเตียนโล่ง ปีนี้พี่น้องเมืองภูวง จะอดข้าวด้วยเหตุการณ์ถางป่าปลูกยางฯ ทำให้กองทัพตั๊กแตนกัดกินข้าวไร่จนผลผลิตหายไปกว่าครึ่ง และในที่สุดบันทึกชมวัดเมืองน่านก็หาเจอ เลยได้อ่านบทกลอนชมวัดให้นิสิตฟังหนึ่งบท ก่อนที่จะโยกย้ายฐาน

นิสิตชุดที่สาม เข้ามา ลุงเปลี่ยนอาสานำเข้าสู่การสนทนาด้วยบทกวีชมวัดในเมืองน่านอีกสามสี่วัด ที่แต่งไว้เป็น ค่าวฮ่ำ ร่ายโบราณ โคลงสี่สุภาพ ตั้งใจจะแสดงให้นิสิตที่มาจากต่างถิ่น หรือนิสิตเมืองน่านเอง ให้รู้จักการ “เข้าถึง”ท้องถิ่น และให้รู้จักการมองอย่างพินิจ มองให้เห็นรายละเอียด ไม่ใช่ไปวัดกราบพระสามทีแล้วก็ได้แค่นั้น (แต่ลืมสรุป ฮ่า ฮ่า ดีที่ ท่านรอง ผอ. อาจารย์ไก่ ช่วยสรุปให้ว่า เป็นการทำงานด้วยสมองสองซีก …) ถึงรอบส่งไมค์จากครูใหญ่ ลุงเปลี่ยนจับประเด็นที่นิสิตหลายคนเล่าว่าอยากกลับคืนถิ่นไปช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังไม่รู้จะเริ่มตรงไหน จึงได้หยิบยกเรื่องราวของ ท่านลาวมาลี ที่ยกให้เป็นบิดาของยางพาราในเมืองลาว ตั้งใจให้น้องๆศึกษารูปแบบวิธีการ (แต่ไม่ได้ให้ดูเรื่องยางพาราที่ส่งเสริม) และรอบสุดท้ายได้เล่าถึงเรื่องที่ประเทศเมืองหนาวเขาทำท่อน้ำร้อนไปอุ่นดินเพื่อปลูกมันฝรั่ง อยากให้เห็นว่าต่างชาติเขาเห็นความสำคัญของการเกษตร

ขอบคุณโอกาสที่ได้พูด ขอบคุณนิสิตที่ตั้งใจฟัง ขอบคุณผู้กำกับรายการที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เยี่ยมยอด และขอบคุณผู้ร่วมทีมครูกลุ่ม๒ ที่เติมเต็มเรื่องราวให้สมบูรณ์…พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ คริ คริ



Main: 0.12011909484863 sec
Sidebar: 0.015683889389038 sec