ไปเที่ยวงานที่ลาวใต้ (๒) ปากเซ เซกอง อัตตะปือ สายัญตะวันรอน
อ่าน: 4293
รถของน้องๆจากมหาวิทยาลัยแห่งซาด(มอซอ) ที่ออกเดินทางจากเวียงจันทน์ตั้งแต่ตีห้า แวะมารับผมที่ปากเซเวลาสี่โมงเย็นตรงตามเวลานัด แต่กว่าจะเจอกันได้ก็ขลุกขลักอยู่หลายนาทีทีมงานได้รับแจ้งว่าให้มาแวะรับ”คนไท”แต่ไหงโทรมาคุยแล้วเว้าลาวจ้อยๆทำให้น้องๆไม่แน่ใจเกรงจะรับผิดคน จากนั้นก็รีบห้อตะบึงต่อ ระยะทางยังเหลืออีกสองร้อยกว่ากิโลจึงจะถึงอัตตะปือ
รถแล่นผ่านตัวเมืองปากเซ เด็กนักเรียนนักศึกษากำลังเลิกชั้นเรียน พากันขับขี่รถถีบรถเครื่องกลับบ้านกันเต็มท้องถนน ชุดนักเรียนชายที่แขวงนี้ทั้งเด็กเล็กเด็กโตเขาใส่กางเกงขายาวสีกากี แปลกกว่าที่แขวงอื่น
“จากปากช่องมา เจ้าลืมสัญญา สัญญาเมื่อสายัณห์ …ก่อนเคยรัก ใจรักไม่เปลี่ยนผัน ทำไร่ใกล้กันจนตะวันตกดิน” แอบฮัมเพลงลูกทุ่งของพี่ไท ธนาวุธ เบาๆเมื่อรถวิ่งผ่านตัวเมืองปากช่อง(ปากซอง…น่าจะถูกต้องกว่า) ที่ไม่ใช่อำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมาบ้านเรา แต่เป็นเมืองปากซองแขวงจำปาศักดิ์ เมืองปากซองตั้งอยู่บนภูเพียงบอละเวน หรือ ที่ราบสูงบอละเวน แหล่งผลิตกาแฟลาวลือชื่อ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟดาวเรือง กาแฟสีหนุก และอีกหลายๆยี่ห้อ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยฝรั่งเศสนำเข้ามาปลูก ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เย็นสบายตลอดปี มีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ อยู่บนระดับความสูงจากน้ำทะเลที่พอเหมาะ และที่สำคัญคือดินสีแดงที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารพืช ทำให้ที่ราบสูงบอละเวนเป็นแหล่งปลูกไม้ผล และพืชผักนานาชนิด แล้วส่งออกไปเลี้ยงชาวลาวทั่งประเทศ ระหว่างทางจะมีรถบรรทุกพืชผักวิ่งสวนเข้าเวียงจันทน์หลายสิบคัน ตามริมถนนมีรถบรรทุกผักกำลังจอดลำเลียงผักขึ้นรถเตรียมเดินทางอีกหลายคัน ฤดูนี้ผักที่กำลังตัดขายได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว แตงร้าน ฟักทอง แตงไท และฟักแม้ว หรือบวบหวาน(ที่ชาวลุ่มน้ำโขงเรียกหมากซู ส่วนคนเจียงใหม่บ้านอ้ายเรียก บะเขือเครือ ส่วนยอดของเจ้าต้นนี้พอเอาไปผัดน้ำมันหอยขึ้นโต๊ะกลับเรียก ชาโยเต้ผัดน้ำมันหอย) ชาวเมืองปากซองขยันทำมาหากิน ประเภทที่ว่าข่วงบ้านไม่ปล่อยให้ว่าง ลานบ้านท่านจะมีค้างบะเขือเครือจนเกือบเต็มพื้นที่ บางบ้านก็ปลูกกาแฟจนชิดตัวเรือนเลยทีเดียว ที่ว่างที่พอจะมีนิดหน่อยก็ใช้เป็นลานตากกาแฟ
เปรียบกับเมืองไทย เมืองปากซองน่าจะเหมือนกับแถวๆกลางดง แหล่งปลูกข้าวโพดหวาน และผลไม้ ที่นักเดินทางแวะซื้อกันทุกบ่อยพ้นเขตเมืองปากซองก็โพล้เพล้สิ้นแสงตะวัน
จากปากซอง รถแล่นเข้าเขตแขวงเซกอง อ้ายน้องที่นั่งมาในรถเล่าให้ฟังว่า แขวงนี้มีเพียงสี่เมือง และหนึ่งในนั้นคือเมืองชื่อ “ดากจึ่ง” ก่อนที่จะคิดแปลเตลิดไปกันใหญ่ น้องเขาไขความต่อให้กระจ่างว่า “ดาก”เป็นภาษาชนเผ่า แปลว่าน้ำนั่นเอง หยิบเอาเรื่องที่น้องชายเล่าให้ฟังมาถ่ายทอดต่อ เขาเล่าว่าเมืองชื่อประหลาดนี้เจ้าเมืองเป็นผู้หญิง สาว โสด เป็นชนเผ่าลาวเทิงที่เรียนจบมาจากรัสเซีย เสียดายเที่ยวนี้ไม่มีโอกาสแวะชมโฉมแม่เมืองคนเก่ง
รถแล่นเข้าสู่แสงไฟของเมืองอัตตะปือเวลาใกล้สองทุ่ม(รถตู้ของท้าวเวียงออกจากเวียงจันทน์ตอนตีห้า มาถึงอัตตะปือสองทุ่มใช้เวลาเดินทาง ๑๕ชั่วโมงเต็มๆ) เลี้ยวเข้าจอดที่โรงแรม อาลูนสดใส เจ้าของเป็นชาวหลวงพระบาง เรียนจบหมอแล้วมาเป็นผู้อำนวยการโรงหมอแขวงอัตตะปือที่นี่ ด้านหลังโรงแรมเปิดเป็นคลินิกด้วย พักที่นี่ได้อยู่ใกล้หมอ น่าจะเหมาะสำหรับคนขี้โรค ราคาห้องพักสูงสุดไม่เกิน ๔๐๐บาทมีแอร์มีน้ำอุ่นพร้อม วันนี้มีรับเชิญไปกินพาข้าวแลงที่ร้านชาวเวียดนามชื่อ “เด็กร็อค” ฟังแต่ชื่อนึกว่าเป็นร็อคคาเฟ่ แต่ไม่ใช่ เป็นเพียงร้านขายอาหารธรรมดา ต้มปลา ผัดผัก อร่อยสมกับที่มีคนโฆษณาไว้ แต่ที่ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมของคนลาวได้แก่เครื่องในหมูต้มแล้วหั่นเป็นคำๆ เห็นชมกันว่าทำได้ไม่มีกลิ่นเหมือนที่ร้านอื่นๆทำกัน
มื้อเช้าก่อนออกไปพื้นที่ทำงาน เจ้าถิ่นพาไปกินเฝอที่ร้านชื่อดังของเมือง ชื่อร้านแสงสุลิจัน คนเยอะจนต้องต่อคิวรอโต๊ะนั่ง ปอเปี๊ยะทอด(แหนมจืน) และปอเปี๊ยะสด(แหนมขาว) ของร้านนี้ผมชวนให้ชิมครับ
อิ่มท้องแล้วออกเดินทางไปเมืองพูวัง ก่อนออกจากเมืองข้ามแม่น้ำเซโดน สะพานโค้งแบบเก่าสวยแปลกตา ที่เชิงสะพานเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของเมือง
เท่านี้แหละครับเมืองอัตตะปือที่ได้เห็น หนึ่งค่ำคืนกับหนึ่งเช้าตรู่
ทิ้งท้ายด้วยคำว่า “อัตตะปือ หรือ อัตปือ” กร่อนมาจากคำว่า อิด-กระ-บือ แปลเป็นลาวว่า “ขี้ควาย” ที่ไปที่มาจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อในตอนหน้า