เรื่องราว ของท่านลาวมา ลี
อ่าน: 1455
ท่านชื่อ ลาวมา นามสกุลลี ไม่ใช่ชื่อ ท่านลาว นามสกุล มาลี ที่แปลว่าดอกไม้
ท่านเป็น นายบ้าน เป็นเลขาหน่วยพรรคบ้าน บ้านหาดยาว เมืองและแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว
ท่านเป็นคนแรกที่นำยางพาราต้นแรกเข้ามาปลูกใน สปป. ลาว
ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวการต่อสู้พัฒนาการปลูกยางพาราของท่านและชาวบ้านหาดยาวของท่าน
- ปี 1973 ระยะที่ ระยะการปลดปล่อยประเทศลาวใกล้จะสำเร็จ ราชอาณาจักรลาวกำลังจะเปลี่ยนเป็น สปป ลาว พี่น้องชาวม้งกลุ่มหนึ่งได้รับนโยบายจากฝ่ายปลดปล่อย ให้ย้ายลงมาจากยอดภูมาทำนาในเขดทุ่งเพียง (เนื่องจากมีคนอพยพไปอยู่ค่ายผู้ลี้ภัย และประเทศที่สามกันมาก ทำให้มีที่ดินว่างเปล่าหลาย รวมทั้งเหตุผลเรื่องความมั่นคง….ผู้เขียน)
- พี่น้องชาวภูดอย ที่เคยปลูกแต่ข้าวไร่ ข้าวโพด มาตั้งต้นหัดทำนาดำกัน “ขุดเหมืองเอาน้ำเข้านาก่บ่เป็น” “ไถนาก่บ่เป็น เฮดแนวใดก่บ่เพียงต้องเกณฑ์เอาคนทั้งหมู่บ้านมาย่ำ” “หมดเดือนดำนาได้ไฮ่นาเดียว”
- ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายกันมากคน “เด็กน้อยวิ่งเล่นอยู่แท้ๆ ก็ล้มชักตาตั้งตายไปต่อหน้าต่อตา” “ปีแรกมีคนตาย 170 กว่าคน ทางหมอท่านว่าเป็นพะยาดไ ข้ยูง”
- ด้วยความอดอยากขัดสน และการเจ็บป่วย พี่น้องจึงทะยอยกันหนีกลับไปอยู่บนภูดอยคือเก่า จนมาเถิงปี 1985 พี่น้องม้งลาวบางส่วนที่หนีไปได้กลับมาอยู่ที่บ้านหาดยาวเพิ่มอีกหลายครอบครัว จึงมีการตั้งหน่วยพรรคบ้านขึ้น พร้อมกับการจัดสรรที่ดินกันใหม่ (อบอุ่นขึ้นแต่การทำมาหากินฝืดเคืองมากขึ้น)
- หน่วยพรรคบ้านหาดยาว ปรึกษาหารือ เพื่อซอกหาวิธีแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว กิจกรรมแรกเริ่มที่ “แผนการเลี้ยงวัวควาย” พวกท่านพากันไปจับจองพื้นที่เลี้ยงสัตว์รวมของบ้านร่วมสิบแห่ง จัดตั้งสนำเลี้ยงสัตว์รวมของบ้าน “แต่รายรับจากการขายงัว ไม่พอเลี้ยงกัน กว่าจะได้ขายต้องรอถึงสี่ปีห้าปี”
- ตัดสินใจ พากันไปเยี่ยมยามพี่น้องเครือญาติชาวม้งที่ไปตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองไทย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ ตาก “มีพี่น้องอยู่ไหน ไปเยี่ยมยามถามข่าวหมด” ไปดูว่าเขาทำมาหากินกันอย่างไร “จะเอาแบบอย่างมานำพาพี่น้องบ้านหาดยาวได้แนวใด” การไปเมืองไทยได้บทเรียนหลายอย่าง
o เห็นการปลูก ส้มเกลี้ยง มะขามหวาน ลำไย ข้าวโพด ขิง กลับมานั่งปรึกษาหารือกันในหมู่คณะนำบ้าน
o “ไม้ผลก็ดี แต่เมืองลาวไม่มีโรงงานรองรับสินค้า แถมการปลูกไม้ผลต้องลงทุนใส่ปุ๋ยให้น้ำ” คงไม่เหมาะกับพี่น้องบ้านหาดยาว (หรือว่าท่านไปพบเจอมหกรรม การกินลำไย เงาะ มังคุด ลองกอง ช่วยชาติของประเทศสารขัณธ์…..ผู้เขียน)
o จะปลูกข้าวโพด กับขิง ก็เกรงปัญหาด้านแหล่งขายผลผลิตเหมือนกัน “พี่น้องชาวม้ง พ่อแม่พาปลูกข้าวโพด กินข้าวโพดมาตั้งหลายรุ่นแล้ว ไม่เห็นรวยกันสักคน”
- นำพาสี่เฒ่าห้าแก่เจ้าโคตรคณะปกครองบ้านข้ามพรมแดนไปเขตเมืองจีน เห็นเขาปลูกยางพารากันเต็มบ้านเต็มเมืองสิบสองปันนา “เริ่มมีความหวังกับพืชชนิดนี้” “เขาบอกว่าปลูกยางพารา ทนทุกข์แปดปีแต่ได้สบายต่ออีกสามสิบปี”
- กลับมาเปิดกองประชุมคณะพรรคบ้านหาดยาว ตัดสินใจพากันกลับไปถอดถอนบทเรียน “ไปเบิ่งวิธีปลูก เอาไม้ไปแทกวัดไลยะห่างระหว่างต้น ระหว่างแถว แต้มรูปใส่ปื้มมา” “ไปเบิ่งเขาปาดยาง” “ไปเบิ่งบ่อนขาย”
- เว้าจีนบ่ฮู้ความ ได้แต่ถามพี่น้องชาวลื้อๆต่างเว้าเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียดายคนลื้อบ่ทันคนฮ่อ(จีน)ที่มาจากต่างถิ่น มาจับจองบ่อนปลูกยาง” “แต่ก่อนนี้ชาวฮ่อมาใหม่ๆ ทุกข์จนหลาย ตัวเป็ดตัวไก่เฮาตายเอาไปถิ้ม หมู่เขาก่มาเก็บไปกิน” “แต่เดี๋ยวนี้หมู่ฮ่อได้ปาดยางได้ขายยาง ฆ่าหมูกินทุกมื้อ มีแต่ชาวลื้อเฮาไปขอเครื่องในหมูเขามากิน”
- พกความมั่นใจจากเมืองจีน กลับมาเฮดเวียกแนวคิดกับประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่า “สวนทางกับแผนพัฒนาการปลูกฝังของกะสิกำ ท่านให้ปลูกหมากงา กับปลูกใบยาสูบ”
- “ปลูกงาก่บ่ได้ราคา ปลูกยาก่ใบบ่ได้เกรดจั๊กเทื่อ” พี่น้องจึงหันมาสนใจยางพารา
- ปี 1994 มีคนสมัครปลูกยาง 30 ราย ส่วนมากเป็นคณะจัดตั้งบ้าน กรรมการบ้าน “เฮดเป็นตัวแบบ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน”
- เฮดหนังสือเสนอท่านเจ้าเมืองเจ้าแขวง ขอยืมเงินซื้อเบี้ยยางกับหนามหมากจับ(รั้วลวดหนาม) มีเสียงมาเข้าหูว่า “ชาวบ้านหาดยาวนี่ หากเลิกกินข้าวได้ก่จะสามารถปลูกยางได้” ท่านเจ้าแขวงก็สั่งมาว่า “ให้ไปเตรียมบ่อนปลูกไปขุดขุมให้แล้วก่อนค่อยมาบอก จึ่งจะพิจารณาคำขอ”
- กลับมาจัดตั้งปฏิบัติ ขุดขุมขุดแลวจนเสร็จ ท่านเจ้าแขวงจึงสั่งให้ธนาคารส่งเสริมมาปล่อยเงินกู้ ต่อรองได้ระยะปลอดชำระแปดปี ดอกเบี้ยต่อรองจากร้อยละสิบเหลือร้อยละเจ็ดต่อปี ตัวอย่างการเจรจาต่อรองระหว่างธนาคารกับคณะบ้านหาดยาว
- o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่าปลูกแล้วมันจะบ่ตาย มันจะใหญ่” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่เฮาไปเบิ่งจีนเขาปลูกอยู่ใกล้ๆนี่ มันก่งามดี”
- o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่ามันใหญ่แล้ว เวลาปาดมันจะออกน้ำยางให้เจ้า” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่คนจีนปลูกอยู่หล่ายภูเบื้องพู้นกะมีน้ำยางออกหลายดี”
- o ธนาคาร “เจ้าฮู้บ่ ว่าเอาเอาไปขายอยู่ไส” คณะบ้าน “เฮาบ่ฮู้ แต่หากจีนเข้ามาซื้อข้าวได้เฮากะว่าจะเอายางไปขายได้คือกัน”
- ข้ามมาถึงปี 2000 พี่น้องชาวบ้านหาดยาว “สู้ทนปฏิบัติ” จนขยายพื้นที่ปลูกยางพาราได้ สามร้อยกว่าเฮกตาร์ ปลูกยางไปร่วม หนึ่งแสนห้าหมื่นต้น (ทั้งๆที่ยังไม่ทันได้กรีดยางต้นแรก)
- ปี 2001 เริ่มเตรียมการณ์ปาดยาง ไม่มีเงินจ้างคนมาสอน “โชคดีที่มีคนในบ้านหาดยาวคนหนึ่งเคยไปรับจ้างปาดยางที่เมืองลามา” “แต่เว้าบ่เป็นสอนบ่เป็น ….ต้องเอาคนผู้นั้นมาหัดให้เว้าเป็นสอนเป็นก่อน” “แต่งคนไปขอเชื่อมีด ถ้วย เพลิง(ไฟฉาย)ติดหน้าฝาก ที่ตลาดเมืองลา ไปตัดต้นตีนเป็ดมาให้พี่น้องฝึกกรีดยาง
- วันที่ 6/5/2002 เปิดบั้น-ปะ-ถม-มะ-เลิก การปาดยางที่บ้านหาดยาว ได้ยางในปีนั้นรวม ซาวสองโตน ขายได้เก้าสิบหกล้านกีบ
- ทุกวันนี้บ้านหาดยาวมีพื้นที่ปลูกยางพารา แปดร้อยกว่าเฮกตาร์ ผลผลิตยางก้อนปีละ 550 โตน ขายได้เงิน ห้าตื้อกีบกว่าๆ รายรับต่อหัวคน กว่าเจ็ดร้อยโดล่าอาเมลิกาต่อปี
- เพื่อเป็นทางเลือกให้พี่น้องชาวหงสา
- o ในปี 2007ผมดั้นด้นขึ้นรถลงเรือไปต่อรถเมล์สี่ต่อ เพื่อไปแอบดูสวนยางของท่าน ลาวมา เมื่อเห็นว่าเป็น “ของจริงตามคำเล่าลือ”
- o ปี 2008 ก็พาอ้ายน้องทีมงานไปศึกษาหาความรู้อย่างเป็นทางการ(คราวนี้เอารถโครงการไป ค่อยสะดวกขึ้นกว่าเที่ยวแรก)
- o ปี 2009 พาพี่น้องผู้นำชาวบ้านหกสิบกว่าชีวิตไปศึกษาดูงาน ที่สวนท่านลาวมา
- o ปี 2010 พยายามติดต่อท่านลาวมา ให้ช่วยมาดูพื้นที่เมืองหงสา และพบปะพูดคุยกับพี่น้อง (จะได้กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ไปก่อนพาพี่น้องไปหกสิบกว่ารายหมดงบประมาณไปครึ่งล้านบาท) แต่คิวท่านลาวมา ไม่มีให้เลย ติดเวียกงานพรรค งานบ้าน งานสมาคมกลุ่มผู้ขายยาง งานกินเจียง ร่วมงานแข่งกีฬาบรรดาเผ่า
- o ท่านลาวมา ได้มาเยี่ยมยามผมกับพี่น้องชาวหงสา เมื่อต้นเดือนกุมภานี่เอง จึงถือโอกาสเรียบเรียงเรื่องราวของท่าน มาแบ่งปันครับ (ผมคงหนีไม่พ้นที่จะสานต่อการส่งเสริมการปลูกยางพาราที่หงสา เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับพี่น้อง ….แต่ไม่ต้องหว่งครับ เป็นทางเลือกหนึ่ง ตามความสมัครใจ และเงื่อนไขของครอบครัว เพราะยังมีอีกกว่าสิบทางเลือกที่ผมเตรียมไว้รองรับสำหรับพี่น้อง)
- นี่เป็นเรื่องราวของท่านลาวมา แห่งหลวงน้ำทา หากท่านใดมีโอกาสไปไหว้พระประธานในอุโบสถ วัดประจำแขวงหลวงน้ำทา หลังจากกราบพระแล้ว เงยหน้ามองที่ฐานองค์พระ จะเห็นป้ายจารึกชื่อท่านลาวมา พร้อมภรรยา เพราะท่านบริจาคทรัพย์สร้างองค์พระประธาน ห้าสิบล้านกีบ (ไม่มากไม่มาย…ราวๆสองแสนบาทครับ)
- ส่วนท่านใดอยากพบตัวเป็นๆ ของท่านลาวมา หาไม่ยากครับ ถามใครๆที่หลวงน้ำทาก็รู้จัก