หมากคิ้ง

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 23 สิงหาคม 2010 เวลา 3:30 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2650

พริกชี้ฟ้าสองเม็ด เกลือสองเม็ดโขลกพอแหลก ใส่หมากคิ้งย่างลงไป โขลกต่อให้เข้ากัน ตักใส่ถ้วย เรียกหากระติ๊บข้าวเหนียวอุ่นๆ จกข้าวเหนียวปั้นเน้อน้ำพริกในถ้วย แกล้มด้วยเห็ดนึ่งผักลวก

เสร็จไปหนึ่งมื้อเช้าที่รีบเร่ง (เพราะตื่นสาย) ในเมืองหงสาครับ

หมากคิ้ง เป็นไม้เถาว์ปีนป่ายต้นไม้ใหญ่ ในภาพจะเห็นที่มีใบเป็นสามแฉก ปีนขึ้นต้นขนุนอยู่

ผลหมากคิ้ง เหมือนหมากโต่น หรือฟักเขียวบ้านเรา

ในหนึ่งผลมีเมล็ดสีน้าตาลลูกโตๆดังที่เห็นในภาพ เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมากๆต้องเอาไปเผาไฟก่อนถึงจะทุบให้แตกได้

ข้างในเมล็ดหมากคิ้งเป็นแผ่นมันสีขาวๆเป็นแผ่นๆ (เหมือนกะบก)

เอาส่วนนั้นไปใส่ไม้หีบ ทาเกลือ ย่างไปอ่อนๆ ย้ำไฟอ่อนๆมาก เพราะติดไฟง่ายมากๆเผลอแป๊ปเดียวไฟติดลุกพรึบ

เอาเม็ดหมากคิ้งย่าง กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ อร่อย เอาไปตำเป็นน้าพริกหมากคิ้งก็อร่อย

แต่กินเปล่าๆครั้งละมากๆคงไม่เหมาะเพราะมันมาก มันยิ่งกว่ามะม่วงหิมพานต์ มันสามเท่าของมะคาเดเมียนัท มันสี่เท่าของเมล็ดอัลมอนด์

ที่ตลาดเช้าหงสาขายเมล็ดหมากคิ้งห้าเมล็ดสองพัน หากแกะปิ้งขายไม้ละหนึ่งพัน

เป็นอาหารแปลกๆ ตามฤดูกาลของหงสา

กำลังเสาะหาผลหมากคิ้งมาถ่ายรูป แต่ยังไม่เจอ สงสัยต้องออกไปเขตรอบนอก

กำลังจะหาวิธีเพาะเมล็ด กะว่าหากเป็นไปได้จะส่งเข้าไปปลูกแถวบ้านเราครับ 

 


จี๋กุ๊ก

5 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 12 สิงหาคม 2010 เวลา 4:46 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 9820

ดอกจี๋กุ๊ก ที่ตลาดเช้าหลวงน้ำทา

เห็นกองๆสีแดงๆในภาพนั่นแหละครับ จี๋กุ๊กที่จะเขียนถึงในบันทึกนี้

ไม่ใช่กุ๊กทำอาหาร ไม่ใช่ครูกุ๊กพระเอกในละครทีวีขวัญใจสาวๆ แต่เป็นต้นกุ๊กที่เป็นพืชชนิดหนึ่ง ต้นกุ๊กเป็นพืชหัวในตระกูลข่า นั่นคือส่วนที่เป็นลำต้นของกุ๊กคือส่วนที่มีหัวอยู่ใต้ดิน ผมรู้จักต้นกุ๊กเพียงผิวเผิน จำได้ว่าแม่ปลูกไว้ข้างรั้วใกล้ๆกับกอข่า กอไพล(ปูเลย) กอขมิ้น(เข้าหมิ้น)

ไม่ทราบว่าภาษากลางเรียกว่าต้นอะไร แต่สอบเทียบกับคำลาวที่หงสา และคำยวนบ้านนาสีนวนแขวงไชยะบุรี ก็เรียกว่า ต้นกุ๊ก ต้นหมากตำกุ๊ก คล้ายๆกับคนยวนเจียงใหม่ และชาวกาวเมืองน่านก็เรียก กุ๊กเหมือนกัน

จี๋กุ๊ก คือดอกอ่อนของต้นกุ๊ก จี๋แปลว่าอ่อนๆ เช่นสาวจี๋แปลว่าสาวน้อย จี๋กุ๊กหรือดอกกุ๊กไม่ได้เกิดตรงใบตรงยอดแต่จะแตกออกมาจากเหง้าหรือหัวที่อยู่ใต้ดิน ที่เห็นในภาพเป็นดอกอ่อนคือดอกจี๋ ใช้กินเป็นเครื่องเคียงเป็นผักกินคู่กับยำหน่อไม้ไร่ หรือแกงใส่หน่อไม้ ผมเคยเห็นแม่โยนจี๋กุ๊กหมกในขี้เถ้าร้อนๆให้พอสุก จะช่วยให้หอมนุ่มมากขึ้น น้ำมันในดอกกุ๊กมีกลิ่นหอมทำนองเดียวกับว่านไพล มีสรรพคุณช่วยไล่ลมแก้ท้องอืด

ส่วนอ้ายทองแหลง เพื่อนร่วมงานชาวไชยะบุรี ยืนยันว่า จากดอกอ่อนเป็นดอกแก่แล้วจะกลายเป็นหมาก(คือผล) เวลาสุกเด็กๆ(รุ่นก่อน)ชอบเอามาแกะกินเล่นมีรดชาดหอมหวานดี

ทุกวันนี้ต้นกุ๊กได้หายไปจากแม่แตง หรือแม้กระทั่งที่ไชยะบุรีก็หาไม่ค่อยเห็นแล้ว รูปที่เห็นผมไปเจอในตลาดเช้าหลวงน้ำทาเมื่อปีกลายครับ

เสียดายที่สมุนไพรมีคุณค่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนรุ่นเก่า ที่ท่านรู้จักกินอาหารสมุนไพร ที่มีประโยชน์ ที่มีสรรพคุณแก้พิษกัน จะหายสาบสูญไปกับวันเวลา ต่อไปเด็กๆรุ่นหลังคงจะไม่รู้จัก

เห็นรูปดอกจี๋กุ๊กแล้วคิดถึงยำหน่อไม้ไร่ที่แม่บรรจงใช้ขนเม่นจักหน่อให้นุ่ม ใส่ใบขิงอ่อน ใส่น้ำปู๋ แล้วก็กินกับจี๋กุ๊กหมกขี้เถ้าด้วยครับ



Main: 0.02502703666687 sec
Sidebar: 0.015750885009766 sec