คุณอยู่ข้างไหน? ผมเลือกข้างได้(แม้ถูกกำหนดฝ่าย)

3 ความคิดเห็น โดย silt เมื่อ 23 กันยายน 2009 เวลา 9:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1889

เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุมที่องค์กรทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม (Water Resource and Environment Authority: WREA) สังกัดสำนักงานนายกรัฐมนตรีที่กำแพงพระนครเวียงจันทน์ หน่วยงานนี้เป็นศูนย์รวมของแม่ญิงเก่งแห่งเมืองลาว ไม่ว่าจะเป็นท่านรัฐมนตรี (ท่านนาง เข็มแพง) ท่านรองหัวหน้า WREA (ท่านนาง ดร. เวียงสวรรค์ ผู้ที่ไปร่ำเรียนมาจากอุบเบกิซสถานนานถึง ๑๔ปี) ส่วนหัวหน้ากองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA: Environmental and Social Impact Assessment) ชื่อ ท่านนาง บัวคำ ผู้มีนามสกุลเดียวกับท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของ สปป ลาว โดยมีผู้ช่วยที่เข้มแข็งเป็นสาว (โสด) งามร่างน้อยชื่อ ท่านนาง พักกาวัน
เป็นการประชุมเพื่อสรุปก่อนลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการ ระหว่างรัฐบาลลาว กับผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งได้มีการประชุมต่อรองกันมาหลายรอบ ในรอบนี้เป็นการประชุมตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ผมจึงถูกเรียกตัวไปจากหงสาให้ไปเข้าร่วมประชุมด้วย  ประธานในที่ประชุมครั้งนี้คือ ท่านนางบัวคำ แต่ผู้ที่เก็บกำข้อมูลหลักๆและผู้ต่อรองตัวจริงน่าจะเป็นท่านนางพักกาวันนั่นเอง ในฝ่ายรัฐฯยังมีผู้แทนจากองค์การทรัพย์สินที่ดิน พัฒนาชุมชน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ นอกจากนั้นเป็นพนักงานในกรมกองของ WREAเอง แต่ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในซีกฝ่ายรัฐกลับเป็นที่ปรึกษาชาวตะวันตกสองคน คนแรกเชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม อีกคนหนึ่งทางด้านเหมืองแร่และโรงไฟฟ้า พ่อเจ้าประคุณเล่นหอบเอามาตรฐานสากล พร้อมทั้งจิตวิญญาณของนักอนุรักษ์มาเต็มเปี่ยม น่ายกย่องชมเชย น่าดีใจแทนคนลาวที่ได้ที่ปรึกษาที่ดีเช่นนี้

ในฝ่ายผู้พัฒนาโครงการก็มีระดับหัวหน้าโครงการ มีผู้แทนจากขาหุ้นลาว มีที่ปรึกษาจากสำนักกฎหมายสาวไชนีส-อเมริกันที่บินมาจากแอลเอ มีคณะจากสำนักกฎหมายเมืองไทย มีที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มีที่ปรึกษาด้านอพยพโยกย้ายจากโครงการน้ำเทิน(ที่ได้รับรางวัล Best practice ด้านการโยกย้ายอพยพ) อีกหนึ่งท่าน และมีตัวกระผม (ที่ขออ้างตัวเป็นที่ปรึกษา) ด้านสังคม
การต่อรองในด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มที่การเลือกใช้ข้อกำหนดในการควบคุมการทำเหมือง ที่ทางผู้พัฒนาโครงการขอใช้มาตรฐานธนาคารโลกปี คศ. ๑๙๙๘ เพราะเป็นปีที่เริ่มขอสัมปทาน แต่ที่ปรึกษาฝ่ายรัฐบาลเสนอให้ใช้มาตรฐานที่ใหม่กว่า (ที่มีการควบคุมรัดกุมแน่นหนากว่า) มีการต่อรองและตกลงกันในเรื่องค่ามาตรฐานของคุณภาพน้ำ เสียง อากาศ ที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องควบคุม และจะต้องลดปริมาณของเสียที่จะปลดปล่อยลงในแต่ละปี นี่เป็นข้อสัญญาที่รัฐสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทุกเวลา หากพบว่าผู้ประกอบการไม่สามารถทำได้ก็มีสิทธิ์ถูกปรับหรือยกเลิกโครงการไปเลย ทางฝ่ายผู้พัฒนาโครงการก็ต้องกลับมาพิจารณาข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่จริงในสภาพปัจจุบัน (Ambiance) และตรวจดูว่าเครื่องจักรกลของโครงการจะปลดปล่อยมลภาวะออกมาได้อีกเท่าไร จะเกินค่ามาตรฐานที่รับปากไว้หรือไม่ การต่อรองสามภาษาเป็นไปอย่างสนุกสนาน ต่างก็งัดหลักวิชาการของตนมาโต้กัน บางประเด็นหากหาข้อตกลงกันยังไม่ได้ก็พักไว้รอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม หรือรอผู้รู้มาตัดสิน
แต่จะบรรยายให้สวยงามอย่างไร ก็หนีความเป็นจริงไม่พ้น ความจริงที่ว่าฝ่ายผู้พัฒนาโครงการก็ต้องต่อรองให้ผลประกอบการของตนเองเป็นบวก ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องมองว่าผู้ประกอบการเป็นพวก Bad Guy แต่แม้ว่าจะรู้สึกอย่างไรจะถูกมองอย่างไร ผมว่าตัวเราเองรู้จักตัวเองดีที่สุดว่าขาวหรือดำหรือเทา ผมได้มีส่วนในการนำเสนอกรอบมาตรการทดแทนทรัพย์สิน หรือ Entitlement Matrix (ที่ผ่านการปรับแก้และกลั่นกรองจากระดับแขวงมาแล้ว) ที่ตัวเองเป็นผู้ยกร่างโดยอิงตามมาตรฐานสากล และมั่นใจว่าให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้พัฒนาโครงการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดแผนการฟื้นฟูรายได้ และแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิต ในกรณีของการประกันรายได้เราได้ตกลงกันไว้สามระดับคือ ๑. ทุกครอบครัวต้องมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน (เฉลี่ย ๒แสน๔หมื่นกีบต่อหัวคนต่อเดือน) ๒. รายได้ต้องไม่น้อยกว่าที่ได้รับปัจจุบัน และ๓.ภายในระยะเวลาแปดปีทุกครอบครัวต้องมีรายได้สูงกว่ารายได้ปัจจุบัน ๑๕๐% นี่เป็นภาระอันหนักอึ้งที่ผมจะต้องขับเคลื่อน 
แต่สำหรับความคิดตัวผมเองแล้ว การเอาตัวเลขรายรับเป็นตัวกำหนดไม่น่าจะถูกต้องนัก ความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ที่การได้กินอิ่มนอนหลับโดยไร้ข้อกังวลอย่างยั่งยืนต่างหาก ที่น่าจะถือเป็นเป้า หมาย ที่จะนำพาพี่น้องไปสู่ แต่ก็ยากที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ
มีการต่อรองหลายเรื่องที่ผมต้องช่วยผู้พัฒนาโครงการตรวจสอบว่าค่าตัวเลขและเกณฑ์มาตรฐานต่างๆที่จะไปตกลงรับปากกับรัฐบาลลาวนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ เช่นค่าปริมาณฝุ่นที่ทางลาวขอให้เราควบคุมที่ ๖๐ แต่ปัจจุบันเราวัดได้ ๗๐ แม้ยังไม่ได้เริ่มโครงการ อันนี้เราก็ต้องขออั้นเอาไว้ที่ ๗๐ แต่มีบางเรื่องที่ผมเลือกที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เช่น การดูแลชาวบ้านในระยะข้ามผ่าน ที่มาดามพักกาวันเสนอว่าโครงการต้องเลี้ยงดูข้าวสารและ(ทาดซิ้น)ให้ชาวบ้าน ๓ปี ตามหลักสากล แต่ผู้ประกอบการคิดว่าตนเองได้จ่ายค่าที่นาไปในจำนวนสิบเท่าของผลผลิตแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เมื่อถูกขอความเห็นผมก็ตอบไปตรงๆว่า อย่างไรก็ต้องมีค่าเลี้ยงดูในระยะข้ามผ่าน (จะมากหรือน้อยค่อยว่ากันอีกที) ไม่งั้นโครงการท่านไม่ผ่านมาตรฐานสากล ท่านก็ไปกู้เงินจากโลกตะวันตกลำบาก หลายๆครั้งตลอดระยะการประชุมสองวันที่ผมต้องประกอบความเห็นในลักษณะนี้ จนรู้สึกได้ว่าสายตาจาก”ฝ่ายโน้น”ที่มองมาเริ่มเจือด้วยมิตรภาพ ในขณะที่”ฝ่ายเรา”บางคนเริ่มส่งสายตาพร้อมคำถามว่า “คุณอยู่ข้างไหนกันแน่?”
แต่ผมรู้ตัวดีว่า ผมสามารถเลือกข้างได้ แม้ว่าผมจะถูกกำหนดฝ่ายแล้วก็ตาม
ถ้าตกงาน อย่างมากก็ไปขอเป็นวิทยากรอาสาแถวสตึก ปลูกผักแลกอาหารเจวันละสามมื้อ คิ คิ
 



Main: 0.13943314552307 sec
Sidebar: 0.039660930633545 sec