สงกรานต์ ที่หงสา
อ่าน: 1743๑๖ เมษา “วันปากปี๋” วันนี้คนยวน คนลื้อยัง กิ๋นแก๋งบ่าหนุน (แกงขนุน) กันอยู่ไหม
๑๕ เมษา “วันพญาวัน” เมื่อวานนี้ คนล้านนายังคงถือฮีต “ฮักษาศีลบริสุทธิ์” กันอยู่หรือไม่
ฟื้นอดีตตามประสา “ผู้เฒ่าเล่าความหลัง” เมื่อยามเด็ก ถึงวันที่สิบหกเมษาแม่จะปลุกตั้งแต่ตีสี่
ให้ไปช่วยกันส่องไฟเก็บถั่วฝักยาวที่ค้างริมบ้าน และยอดชะอมข้างรั้ว พอตีห้าก็พากันไปขายที่ตลาดขายดิบขายดีขายได้ราคาแพง
เพราะว่าไม่มีผักมาขายเลย ที่แม่แตงสมัยนั้นพี่น้องจะไม่เก็บผักหักไม้ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในวันพญาวัน
วันปากปี๋ ทุกบ้านจะมีแกงขนุนอยู่ใน “ขันโตก” เพราะ บ่าหนุน - หนุนโชค
เดี๋ยวนี้ลูกหลานยังคงยึดถือฮีตฮอยนี้อยู่ไหมหนอ
ที่เมืองหงสา สปป ลาว วันนี้ ๑๖ เมษา พี่น้องชาวเมืองออกไปทำบุญตักบาตรกันแต่เช้า ท่านว่าเป็นวัน “สังขารขึ้น”
เมื่อวาน ๑๕ เมษา ที่หงสาเป็น “วันเนา” ชาวเมืองขึ้นไปสรงน้ำพระธาตุ (แต่ผมขึ้นบ่ไหว…สูงโพด…)
วานซืน ๑๔ เมษา ที่นี่เป็นวัน “สังขารล่อง”
สงกรานต์ที่นี่จะช้ากว่าบ้านเราวันหนึ่งครับ
พรุ่งนี้ผมมีนัดไป “ฮับโชค” ครับ ก่อนหยุดยาววันสงกรานต์ สารถีคู่ใจเดินมาหาที่โต๊ะ เอาแบงค์ร้อยบาทมายื่นให้ใบหนึ่ง แล้วเขาก็นั่งลงเอาหัวโผล่มาที่ขอบโต๊ะพร้อมกับพูดว่า “อ้าย น้องขอเชิญไปฮับโชคที่เรือนเด้อ”
“ฮับโชค” คำนี้ผมเคยได้ยินจากพี่น้องในหมู่บ้านหลายหน วันก่อนที่ไปติดตามการบันทึกบัญชีรับ-จ่ายครัวเรือนของกลุ่มพี่น้องบ้านปากห้วยหลวง หลายคนที่มาช้าก็ยกมือไหว้ขอโทษและบอกว่าเพิ่งไป “ฮับโชค” มา
“ฮับโชค” หรือรับโชค เป็นพิธีกรรมที่คล้ายคลึงกับ การรับขัวญ การผูกข้อต่อแขน ของทางบ้านเรา แต่ฮับโชคของที่นี่จะจัดกันในช่วงบุญสงกรานต์เท่านั้น เป็นพิธีกรรมในแต่ละครอบครัว ก่อนถึงวันพิธีเจ้าภาพจะไป “เล่า” คือไปเชิญแขกญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือพร้อมกับมอบเงินให้จำนวนหนึ่งประมาณห้าพันถึงห้าสิบพันกีบ (ยี่สิบถึงสองร้อยบาท) เมื่อถึงวันงานแขกที่ไปร่วมก็จะนำเงินไปคืนในจำนวนที่มากกว่าที่เจ้าภาพฝากไว้ ถือว่าเจ้าภาพได้รับเงินมากขึ้น มีโชค ค้าขายได้กำไร มีการผูกแขนอวยพรเจ้าภาพ แล้วก็ดื่มกิน ม่วนซื่น
งานฮับโชค ถือเป็นฮีตอันดีงามของหงสา ผมถอดรหัสได้ถึง ความซื่อสัตย์ ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน ของคนในชุมชนครับ
ไม่อย่างนั้นเจ้าภาพคงไม่กล้าเอาเงินไปฝากไว้กับแขกคนละร้อยสองร้อยบาท
แบบนี้เรียกว่า เมื่อให้ใจกับผู้อื่น ย่อมได้ใจจากผู้อื่นด้วยครับ