ผลการทำนาแบบไม่มีน้ำขัง (ดินต้องดี)

อ่าน: 5101

ปีนี้ (๒๕๕๓) เป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดตั้งแต่ผมหัดทำนามาปีที่ ๕ แล้ว คือ

ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา มีฝนตกเหนือนา พอน้ำไหลเข้านาเล็กน้อย ในเดือนมิถุนายน เพียงครั้งเดียว

แต่ก็พอทำให้ข้าวที่ผมหว่านทิ้งไว้ในแปลงที่ ๓ วันพืชมงคล (๕ พฤษภาคม) โดนปลาตะเพียนขึ้นมากินไปบางส่วน

แต่แปลงที่ ๒ ที่มีปลาอื่นๆอยู่ด้วย รวมกับปลาตะเพียน กลับไม่โดนปลากิน ยังงอกงามดี

สำหรับแปลงที่ ๑ ผมยังจัดการหญ้าไม่เสร็จดี ก็เลยหว่านใหม่ไม่ทัน ตอนนี้ก็ใช้เป็นแปลงออกกำลังกาย ตัดหญ้าทุกวันเมื่อมีโอกาส หรืออยากออกกำลังกาย

Rice1y2010mow

แปลงที่ ๑ ปลูกข้าวไม่ทัน

เก็บไว้เป็นแปลงออกกำลังกาย (ตัดหญ้า) ยามว่าง

สรุปว่า

แปลงที่ ๑ ที่ผมทำงานผิดพลาดมาตั้งแต่ปีแรก ที่ไปซื้อแกลบโรงสีมาใส่นั้น เมล็ดหญ้าที่ติดมาก็ยังงอกไม่หมด มีปัญหาต่อเนื่องมา ๕ ปีแล้ว ปีนี้เลยยังหว่านข้าวไม่ได้ เพราะน้ำไม่พอกดหญ้าไม่ให้งอกใหม่

ผมจึงถือโอกาสว่าปีฝนแล้ง ปล่อยให้หญ้างอก ตัดทุกสัปดาห์ไม่ให้ออกดอก กะว่ามีฝนมาจะจัดการให้หมดในปีนี้ ปีหน้าน่าจะจบ แต่ก็ต้องคอยดูอีกที

แปลงที่ ๒ มีหญ้าประปราย ไม่มีปัญหากับการแข่งกับข้าว ตอนนี้ข้าวสูงประมาณเมตรกว่า แค่เดินถอนก็หมด แต่ผมปล่อยไว้บ้าง เพื่อเป็นอาหารหนู เพราะผมสงสัยว่าถ้าไม่มีหญ้าในนา หนูนาอาจจะกัดข้าวผมแทนก็ได้ จึงยังไม่ตัดสินใจถอนหญ้าให้หมด

Rice2y2010s

แปลงที่ ๒ ดินปรุงดีแล้ว ไม่ต้องมีน้ำก็สูงเป็นเมตร

ในภาพ: นศ. ต่างชาติมาศึกษาการจัดการการเกษตรที่แปลงนา

เลยกลายเป็นคนงานถอนหญ้าให้ผมแบบไม่รู้ตัว

จากการเดินถอนหญ้าผมได้รับบทเรียนว่า หนูนาชอบกินหญ้าที่กำลังออกดอก โดยกัดกินทั้งต้นและดอก แต่ไม่กินข้าว คาดว่าข้าวยังอ่อนเกินไป ไม่มีคุณค่าอาหารเท่าต้นหญ้าที่กำลังออกดอก

นอกจากนี้ยังพบรังนกอยู่ตามกอข้าวประปราย น่าจะเป็นกลุ่มนกกินแมลง

แปลงที่ ๓ เป็นแปลงที่ผมมีปลาตะเพียนมาก ปีที่แล้วพยายามชวนเพื่อนๆ และญาติพี่น้องมาวิด และทานกัน ก็มีแค่ไม่กี่คน แค่ลองจับปลาจากบ่อเล็กๆ ในแปลงที่ ๔ ได้แค่ ๒๐ กก. กว่าๆ ก็ทานกันไม่หมดแล้ว เลยเลิกล้มความคิดที่จะวิดปลาบ่อใหญ่แปลงที่ ๓ จึงทำให้มีปัญหาเหมือนเดิมคือ ปลากินข้าวหมดไปเกือบครึ่งแปลง

Rice3y2010s

นักศึกษาต่างชาติมาศึกษาวิธีการทำนาขี้ระแหงที่แปลง ๓

ด้านหลังมีข้าวขี้ระแหงขึ้นเต็มตามรูระแหงและรอว่าจะได้เกี่ยวหรือไม่

ด้านข้างๆ เป็นข้าวหว่านวันพืชมงคลที่รอดจากการกินของปลาตะเพียน

ทุกปัญหาย่อมมีโอกาส เพราะเมื่อเกิดช่องว่างในแปลงนาที่แตกระแหง ผมก็เลยได้ลองหว่านข้าวลงร่องแตกระแหง ทำให้พบว่า ข้าวในรูระแหงทนแล้งได้ดีกว่าบนผิวดิน (ที่งอกอยู่เดิม)  เลยเรียกวิธีการทำนาแบบใหม่ว่า

 การทำนาแบบ “ข้าวขี้ระแหง” ดังรูป

Rice3y2010d

แปลงที่ ๓ ดินยังไม่สมบูรณ์มากนัก และใช้ข้าวหอมนิลที่ต้องการดินดี ข้าวจึงยังมีปัญหาในปีฝนแล้ง

ในภาพเปรียบเทียบข้าวหว่านวันพืชมงคลที่งอกอยู่เดิม กับข้าวขี้ระแหงที่งอกใหม่ (สวยกว่าเก่า)

ปีนี้แล้งก็จริง ไม่มีน้ำขังเลย มีแต่ฝนปรอยแบบนับเม็ดได้มาบ่อยๆ

ผมเลยพยายามหาความหมายใหม่ของวิธีการวัดน้ำฝนและขอรายงานว่า

ที่นาผมมีฝนตก ประมาณ ๒๐๐-๑๐๐๐ มม. เกือบทุกวัน

อย่าตกใจครับ

๒๐๐ มม. คือ ๒๐๐ เม็ดต่อตารางเมตรครับ

ข้าวพอได้ละอองฝนบ้างพออยู่ได้ ประกอบกับดินที่ฟื้นตัวแล้วของแปลงที่ ๒ ทำให้ผมทำนาได้โดยไม่ต้องมีน้ำขัง

สภาพดินและน้ำแปลง ๒ เมื่อวันที่ ๒๖ กค ๕๓

ข้าวแตกกอดี เดินถอนหญ้าง่ายๆ แล้วโยนลงบ่อปลา

น้ำในบ่อ(บางจุด)เหลือแค่ท่วมหลังปลาครับ

ปัจจุบันต้นข้าวหอมพันธุ์กุหลาบแดง ทนแล้งดีมาก ไม่มีน้ำขัง อยู่กับขี้ระแหง แบบ

“ข้าวขี้ระแหง”

 แต่ก็สูงประมาณเมตรกว่าๆ แล้ว แต่จะเป็นอย่างไรต่อก็ต้องคอยดูต่อไป

แต่ปลาในบ่อทั้งสามแปลงนะซิ จะไม่มีน้ำว่าย

สงสัยจะกลายเป็น “ปลาแห้ง” ถ้าฝนยังตกแบบนี้ต่อไป

Rice2y2010

นาแปลง ๒ ที่กำลังงาม หวังว่าจะได้เกี่ยวครับ

ยังไงก็ดีกว่าที่นาที่อยู่รอบข้างๆนาผม ที่ยังไม่เริ่มทำเลยครับ

ข้าวเรี่ยแบบนาผม เขาก็มี สูงไม่เกินฟุต เพราะเป็นนาเคมี ดินไม่เคยปรุง ข้าวต้องรอปุ๋ยเป็นหลัก รากลงลึกก็ไม่ได้ เลยเหี่ยวง่ายทุกวัน

ผมสังเกตอีกอย่าง

ข้าวที่ผมดำซ่อมบางจุดในแปลงสอง ตอนที่น้ำไหลเข้านาในเดือนมิถุนายน ก็เหี่ยวง่ายเหมือนกัน แสดงว่าข้าวนาดำแข็งแรงสู้นาหว่านไม่ได้จริงๆ

ตั้งแต่ผมมาเรียนการทำนาเอง ก็เรียนรู้มากขึ้นกว่าเก่าทุกวัน และมีเรื่องตื่นเต้นทุกวันกับการเรียนรู้

และหวังว่าวันหนึ่ง……

“ผมจะมีความรู้พอใช้

เหมือนอย่างที่ครูบาสุทธินันท์เคยจั่วหัวข้อไว้ทุกครั้งที่ท่านบรรยาย

วันนี้ ผมรู้มากขึ้นกว่าเมื่อวาน แต่ก็ยังไม่พอใช้ครับ กำลังหาเรียนไปเรื่อยๆ

คาดว่าจะหยุดเรียนก็ตอนหมดลมกระมังครับ

อิอิ


ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อการหลอกลวงตนเอง

6 ความคิดเห็น โดย แสวง เมื่อ 8 February 2010 เวลา 9:04 am ในหมวดหมู่ อาหารปลอดภัย
อ่าน: 2306

วันนี้ผมได้สนทนาวิชาการเล็กๆน้อยๆกับลูกสาวที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ ๓ และเตรียมสอบวิชาเกี่ยวกับ “ระบบประสาทของมนุษย์”

ที่เป็นสื่อสำคัญทำให้ให้เรา “รู้ตัว” “รักษาตัวเอง” และ “เอาตัวรอด” ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่งจริงๆ

มี ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ความสามารถในการรับรสชาติอาหาร ที่เป็นสื่อของความ “อร่อย” ว่าคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นระบบทำงาน มีไว้ทำอะไรในระบบของสิ่งมีชีวิต

หลัง จากการวิเคราะห์ประเด็นทางชีววิทยาและวิวัฒนาการ เราได้ข้อสรุปว่า แท้ที่จริง “ความอร่อย” ก็คือการรับรู้ว่ามี “กลูตาเมท” ในอาหารชนิดนั้นๆ

แล้ว “กลูตาเมท” มีประโยชน์ต่อระบบการบริโภคอาหารของสิ่งที่มีชีวิต อย่างไร

เรา เริ่มวิเคราะห์แบบสืบค้นต่อไป ก็พบว่า “กลูตาเมท” จะมีมากในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่มีกิจกรรมสูง เมื่อมีกิจกรรมสูง ก็น่าจะมีสารอาหารมาก เมื่อมีสารอาหารมาก ก็มีคุณค่าควรแก่การบริโภคมาก

คิดไปแล้วน่าทึ่งจริงๆ ทางด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ช่างชาญฉลาดจริงๆ

แสดงว่า ความอร่อยน่าจะเป็นระบบการรับรู้ที่ช่วยให้เราบริโภคอาหารที่มีคุณค่าโดยแทบไม่ต้องใช้ความรู้ทางโภชนาการอะไรเลย ก็ได้

ไม่ต้องมีความรู้อะไรมาก แค่ “อร่อย” แบบธรรมชาติ ก็มีโอกาสได้สารอาหารดีๆ ที่สุดที่มีในอาหารประเภทนั้นแล้ว

แต่ต้องเป็น “ความอร่อย” ตามธรรมชาติ ไม่มีการ “ปรุงแต่ง” หรือ “ใช้สารเคมีหลอกตัวเอง”

ในอีกมุมหนึ่ง การรับรสชาติน่าจะกลไกธรรมชาติในการป้องกันการบริโภคสารพิษ อาหารบูดเน่า ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

แต่

ใน ในสังคมของเรากลับหาวิธี “หลอกตัวเอง” ด้วยการปรุงแต่งรสชาติอาหารโดยวิธีต่างๆ เพื่อ ทำอาหารให้เสมือนหนึ่ง “มีคุณค่า” ทางโภชนาการ กระตุ้นการบริโภค ด้วยเครื่องปรุงรสต่างๆ

ตั้งแต่สมัยโบราณมาก็ใช้ เกลือ น้ำตาล เครื่องเทศ ที่บางอย่างก็อาจมีคุณค่าทางโภชนาการ หรือด้านเภสัชกรรม แต่หลายๆอย่างก็ไม่ค่อยมีประโยชน์ และอาจเป็นพิษเป็นภัยก็เป็นได้ เช่นการบริโภคอาหารรสจัดทั้งหลายนั้น เป็นการหลอกตัวเองอย่างสุดๆ และน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

ใน ปัจจุบัน เรายังมีการผลิตสารเคมี “กลูตาเมท” เพื่อใส่ในอาหารแบบ “ยิงหมัดตรง” หลอกตัวเองอย่างสุดๆ ว่า อาหารที่ตนเองรับประทานนั้นมี “กลูตาเมท” ที่เป็นตัวชี้วัดทางธรรมชาติ และชีววิทยา ว่า มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยที่ สิ่งที่จะบริโภคนั้น อาจจะไม่ใช่อาหาร หรือ ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการแต่อย่างใด

และพบว่า การหลอกตัวเองในลักษณะนี้ มีอยู่ในทุกรูปแบบ ทั้ง สัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง

ทั้งๆ ที่ ระบบประสาทเหล่านี้ น่าจะมีไว้เพื่อการรับรู้ธรรมชาติ สิ่งที่เป็นอยู่รอบตัวเรา เพื่อให้เราได้รู้ตัวว่า เรากำลังเผชิญอะไรอยู่ และควรตอบสนองอย่างถูกต้องได้อย่างไร ทั้งการตอบรับ การวางเฉย หรือปฏิเสธ

แต่ มนุษย์เรากลับใช้สมอง ใช้ความรู้เพื่อจะหลอกตัวเองให้ไม่รู้ตัว ด้วยการปรุงแต่งอย่างเทียมๆ ให้เกิดการบริโภคอย่างผิดๆ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ตั้งแต่ การปรุงอาหาร ที่ส่วนใหญ่ก็ “หลอก” แบบ “หวังดี” ที่บางทีก็เกิด “ผลร้าย” ไปจนถึง การปรุงรสสารพิษ สารเสพติด (เช่น แอลกอฮอล์ นิโคติน แอมเฟตามีน ฯลฯ) ให้บริโภคง่ายขึ้น ที่ไม่ทราบว่า “หวังดี” หรือ “หวังร้าย” กันแน่

แต่ ผมกลับคิดว่า เราน่าจะเน้นความพยายามเข้าใจตนเอง เข้าใจธรรมชาติ ใช้ความรู้ เทคโนโลยีเพื่ออยู่กับธรรมชาติแบบ “ไม่หลอกตัวเอง” น่าจะดีกว่า

สิ่ง ที่ครอบครัวของผมเลิกไปนานกว่า ๒๐ ปีแล้วก็คือ ไม่สนับสนุน และไม่บริโภคสารเคมีปรุงรส อาหารซอง หรือน้ำอัดลมใส่สี ใส่กลิ่น ใส่สารปรุงรส และสารกันบูดเน่า ที่หลอกให้เราบริโภคสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์

และ เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีโทษ มากกว่ามีประโยชน์

ส่วน ตัวผมเอง แม้แต่ยาแก้ไข้แก้ปวด ที่หลอกตัวเองว่า “ปกติดี” ผมก็ไม่รับประทาน เพราะผมอยากรู้ว่าตอนนี้ ร่างกายกำลังเป็นอะไร มากแค่ไหน ที่ตรงไหน

ที่ผมคิดว่าดีกว่า “การปิดบังตัวเอง ไม่ให้ตัวเองรู้ ว่าตัวเองกำลังเป็นอะไร”

ข้อนี้ก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล ที่ไม่จำเป็นต้องว่าอะไรดีไม่ดี

แต่ผมคิดว่า การใช้ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อการหลอกตัวเอง ปิดบังตัวเอง หรือแม้กระทั่งทำลายตนเอง ไม่น่าจะดีสักเท่าไหร่

ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ


ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “โมถ่าย” อีกหนึ่งความหวังของประเทศไทย

อ่าน: 76332

เมื่อช่วงปลายธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้รับการร้องขอจากสหายร่วมอุดมการณ์ (ท่านอาจารย์แฮนดี้-พินิจ พันธ์ชื่น) ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนว่าทางบ้านเกิดของท่านได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ผ่านมาทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอไชยา ด้วยวงเงินหลักหลายล้านให้มีการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ตำบลโมถ่าย เป็นหนึ่งในเจ็ดศูนย์ใหม่ในระดับประเทศ

ผมมีความตื่นเต้นมากเป็นพิเศษที่จะได้มีส่วนร่วมในโอกาสสำคัญนี้ โดยมีการวางแผนการเดินทางไปในช่วงที่มีงานแต่งงานของลูกชายท่านอัยการชาวเกาะ ที่ภูเก็ต

ท่านครูบาสุทธินันท์ ก็ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมกิจกรรมนี้ในช่วงขากลับจากภารกิจสำคัญ โดยมาแวะพักที่บ้านพี่สาวของท่านอาจารย์แฮนดี้เป็นฐานการประสานงาน

เราเริ่มจากการสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อความเข้าใจของเราเอง

ทำให้ทราบว่า

  • พื้นที่เดิมของโมถ่ายเป็นพื้นที่ทำนา แต่ได้ปรับไปเป็นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันเกือบทั้งหมด
  • เหลือคนทำนาไม่กี่คน และมีนาเพียงแปลงเล็กๆที่เหลืออยู่
  • นอกนั้นเป็นแปลงปลูกยางพารา ปาล์ม และนาร้าง
  • บ้านทรงเดิมๆ และบ้านรุ่นใหม่หลังใหญ่ๆ หลายหลังแทบไม่มีคนอยู่อาศัย
  • มีการจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานแทนคนในพื้นที่

ที่มีลักษณะเป็นตัวแทนที่ดีของสังคมภาคใต้ในปัจจุบัน

ที่มีปัญหาด้านการใช้ที่ดิน เศรษฐกิจ และสังคม ที่สวนกระแสกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศ

อันเนื่องมาจาก

  • การพัฒนาการพึ่งพาภายนอก
  • ทั้งอาหาร และแรงงาน

ดังนั้น

การตั้งศูนย์เรียนรู้จึงเป็นสิ่ง “ท้าทาย- challenging” พอสมควรว่า

ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นความหวังของภาคใต้ และของประเทศ

ที่จะพยายามพัฒนา

  • ระบบเกษตรอินทรีย์
  • การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า
  • การผลิตข้าวเพื่อการบริโภค
  • การพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน
  • การฟื้นฟูหัตถกรรม และ
  • การพัฒนากลุ่มและการรวมกลุ่ม

โดยมีท่านนายก อบต. ให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เข้าร่วมประชุม ปรึกษาหารือกันอย่างเอาจริงเอาจัง

มีแกนนำด้านการประชาสัมพันธ์ของตำบลเป็นกำลังหนุน

และอาจารย์แฮนดี้ก็กำลังทำงานแปลงโฉมตัวเองจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปเป็นเกษตรกร เพื่อจะทำนาคล้ายๆกับที่ผมทำที่ขอนแก่น โดยปัจจุบันได้วางตัวเป็นแกนนำในการเชื่อมโยงประสานกลุ่มเฮฮาศาสตร์ลงไปช่วย

ฐานแนวคิดที่สำคัญก็ได้มาจากวัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์) ที่อยู่ใกล้ๆ

ดูแล้วก็น่าจะมีความพร้อมพอสมควร

แต่สิ่งที่ท้าทายที่เหลือก็คือ

ชุมชนจะสามารถระดมทรัพยากรที่เหลืออยู่ เพื่อกลับมาฟื้นฟูระบบเกษตรกรรม สังคม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมให้เป็นตัวอย่างของระบบเศรฐกิจพอเพียงได้อย่างไร

ถ้าได้ ก็จะเป็นตัวอย่าง และเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีพลังจริงๆ

ผมจึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า

แผนงานการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่กำลังทำอยู่ จะเป็นจริงและผลิดอกออกผลตามที่ตั้งใจไว้

ผมได้แจ้งกับทางทีมงาน และอาจารย์แฮนดี้ว่า

พร้อมที่ช่วยเหลือในทุกเรื่อง และทุกโอกาส

เห็นว่าจะมีการจัดเฮฮาศาสตร์สัญจรในครั้งต่อไปที่ไชยา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้นี้

ผมขอไปด้วยนะครับ และจองที่ล่วงหน้าให้กับคนที่รู้ใจสักสองที่นะครับ อิอิ

 


“ทาส” ที่ไม่รู้ว่าตนเป็นทาส จะมีโอกาสเป็น “ไท” ไหม????

อ่าน: 1657

เมื่อวานผมเปิดประเด็นการเรียน ต่อเนื่องจากแนวคิดของครูบาคำเดื่อง ภาษี ว่า

การศึกษาไทยในปัจจุบันนั้น เป็นการศึกษาเพิ่อความเป็นทาส ที่ทำให้ผู้เรียนไม่มีทางหลุดพ้นจากความเป็นทาสได้เลย

ปรากฎว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่เข้าใจคำว่า การศึกษาที่นำไปสู่ความเป็นทาส นั้น คืออย่างไร

จึงตอบมาแบบประหลาด ๆ ว่า “การพ้นจากความเป็นทาส คือ การไม่ลอกการบ้านเพื่อน การไม่ลอกข้อมูลจาก Internet และศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง

ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการศึกษาเพื่อความเป็นทาส

อ่านต่อ »


“ความมักง่าย” กับ “ความยากจน” เป็นของคู่กัน?????

อ่าน: 3404

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (๑๗ สค ๕๑) ผมได้มีโอกาสสนทนากับนักธุรกิจค้าวัสดุเกษตร

จุดสนใจที่ผมอยากคุยก็คือ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ จนกลายเป็นวาระแห่งชาตินั้น มีข้อดี-ข้อเสีย หรือผลกระทบอย่างไรบ้างต่อธุรกิจของเขา

เขาบอกว่า “เข้าทาง” เขาพอดี

แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่วัตถุดิบทำปุ๋ยอินทรีย์ มีไม่ค่อยพอ

เขาจึงพยายามเก็บสต็อกวัตถุดิบจำพวก ขี้ค้างคาว หินฟอสเฟต ดินก้นถ้ำ เป็นต้น

และพยายามติดต่อเหมาเศษเหลือต่างๆ จากอุตสาหกรรมเกษตร

ไม่ว่าจะเป็น โรงงานน้ำตาล โรงงานน้ำมันปาล์ม และโรงงานอื่นๆ

เขาบอกว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจเขามั่นคง

และยิ่งมั่นคงมากขึ้นอีกเมื่อ เกษตรกรชอบความ “มักง่าย”

เนื่องจาก มีการสร้างความเชื่อและจินตนาการว่า

ชีวิตที่ดีต้อง ทำงานอาชีพเร็วๆ ง่ายๆ มีเวลาเหลือมากๆ จะได้ “พักผ่อน” จะลงทุนเท่าไหร่ก็ยอม

และถือว่า “การพักผ่อน” เป็นสัญญลักษณ์ของ “ชีวิตที่ดี”

อ่านต่อ »



Main: 0.026481151580811 sec
Sidebar: 2.8116340637207 sec