จัดกิจกรรมเสริมให้รู้รักสามัคคีในหมู่คณะ

ไม่มีความคิดเห็น โดย maeyai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2013 เวลา 11:55 (เช้า) ในหมวดหมู่ ชีวิตกับโรงเรียน #
อ่าน: 2759

การจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ให้โรงเรียนพัฒนาเด็ก (ประชาสโมสร) เดือนละครั้ง

เดือนกรกฎาคม 2556 เป็นครั้งแรกที่จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับคณะครู ครูพิเศษ และครูพี่เลี้ยง หมดทั้งโรงเรียนร่วมกัน 23 คน ทำแบบย่อๆภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง

จุดประสงค์ก็เพื่อส่งเสริมให้การทำงานเป็นทีมดีขึ้น
รู้จักใจเขาใจเรา รู้จักผ่อนปรนให้อภัยกัน กระชับความสามัคคีและร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา


จุดประสงค์ที่กล่าวมา ล้วนแล้วเป็นนามธรรมทั้งสิ้น ขืนมานั่งบรรยายให้ฟังหรือสั่งว่าต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ก็คงจะเบื่อ อยากหลับ อยากกลับบ้าน (เพราะเป็นช่วงห้าโมงครึ่งถึงหกโมงครึ่งเย็น) กันทั้ง 23 คน ดังนั้น แม่ใหญ่จึงต้องใช้อุบาย ด้วยการหาเกมส์มาให้เล่น เพื่อให้จับต้องได้ รู้สึกได้ เข้าใจได้ และอาจจะนำไปสู่จุดประสงค์ได้ในทางอ้อม

กิจกรรมที่ทำขึ้นได้รับการวางแผนไว้ดังนี้

1. กิจกรรมที่ 1 เกมส์ตาบอดนำทาง ให้คณะครูจับคู่กัน
โดยมีข้อกำหนดว่า ให้อายุของคู่ของตน ไม่ต่ำกว่า 50 และไม่เกิน 80 ปี จูงกันเดิน

ครั้งที่ 1
ให้คนสูงวัยเป็นคนตาบอด

ครั้งที่ 2 ให้คนอ่อนวัยกว่าเป็นคนตาบอด

เปิดเพลงแล้วให้ทั้งคู่จูงกัน เดินตามจังหวะ ไม่ให้ชนกับใคร

แล้วเลือกออกมาสักสามคู่ โดยจับฉลากชื่อ ให้เล่าความรู้สึกในการเป็นผู้นำตาบอด
และผู้ตามตาดี กิจกรรมนี้ห้ามพูดห้ามถามกันโดยเด็ดขาด ( 20 นาที)

2. กิจกรรมที่ 2 เกมส์ โยนกันไปโยนกันมา(10 นาที ) ให้คนแรก ถือปลายไหมพรม แล้วโยนกลุ่มไหมพรมไปยังเพื่อนที่รัก ที่ชอบ คนที่ได้รับจับเส้นไหมพรมไว้ก่อนโยนต่อไปเรื่อยๆจนครบทั้ง 23 คน
แล้วให้แก้ด้วยการโยนกลับ ให้อยู่เป็นม้วนเหมือนเดิม ให้ช่วยกันวิจารณ์ ข้อคิดที่ได้จากเกมส์นี้ ว่า มันสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

3. กิจกรรมที่ 3
บทบาทสมมุติแก้ปัญหา
แบ่งกลุ่ม แก้ปัญหาสามข้อ ที่เป็นปัญหาจริง ในโรงเรียน ให้พูดคุยกัน ในกลุ่ม
แล้วมาเสนอทางแก้ ( 15 นาที)

4. แจกชีทงาน ข้อคิดจากจี้กง เรื่อง ถ้าเขาทำกับเราแบบนี้ เราจะทำอย่างไรตอบ ให้ครูเติม
ความคิดเห็นของตนเองลงไปในช่องว่าง แล้วเฉลยว่าจี้กงคิดอย่างไร คุณคิดอย่างไร ( 10 นาที)

5. แม่ใหญ่สรุปส่งท้าย( 5 นาที)

ผลจากการปฏิบัติจริง
กิจกรรมที่ 1ตาบอดนำทาง ให้คนสูงอายุปิดตาก่อน แล้วให้คนอ่อนวัยกว่าจับเอวเดินตามหลัง แล้วจึงให้คนอ่อนวัยกว่าปิดตาบ้าง คนสูงวัยเดินตาม
ได้ข้อสรุปดีดีจากรายชื่อที่เราจับฉลากขึ้นมา 3 คน ว่า
การเดินแบบมองไม่เห็น รู้สึกไม่มั่นใจ แต่รู้ว่าคนอยู่ข้างหลังได้ใช้สัมผัสคอยช่วยนำทางให้จนไม่ชนกับใคร


คนเดินตามบอกว่ามั่นใจเพราะเห็นทางอยู่ แต่ต้องคอยทำสัญญาณบอกคนนำเหมือนกัน ถ้าคนนำกำลังหลงทางไปชนกับใครไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย


คู่ที่อายุไล่เลี่ยกันหน่อยจะรู้สึกว่า เชื่อมั่นในกันและกัน
พากันเดินสบายๆแถมเต้นตามเพลงได้ด้วย เพราะสามารถใช้ภาษากายสื่อกันได้อย่างถนัดกว่า

ความจริงกิจกรรมนี้ถ้าให้พูดทุกคู่ น่าจะได้ข้อคิดอีกมาก
แต่เนื่องจากเรามีเวลาแค่ช.ม.เดียว จึงเลือกมาเป็นตัวอย่างแค่สามคน แม่ใหญ่ถือโอกาสเสริมเข้าไปเล็กน้อยว่า การทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงวัยกับผู้อ่อนวัย
(
ซึ่งเป็นสภาพจริงของโรงเรียนที่มีช่องว่างระหว่างครูรุ่นเก่ากับครูรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก)
จำเป็นต้องปรับตัวเขาหากันและประคับประคองกัน ให้ใช้ประสบการณ์ของคนเก่าผสม นวตกรรมของคนใหม่
ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ความไม่รู้ ทั้งสองฝ่ายก็เปรียบเหมือนตอนที่ตัวเองปิดตา
ตาบอด เดินนำเขา ต้องอาศัย ความรู้ ของคนเปิดตา ช่วยบอกช่วยนำด้วย และไม่จำเป็นต้องพูด ก็สามารถใช้กายสัมผัสหรือความรู้สึกบอกกันได้
เพื่อให้งานของทั้งสองคนผ่านไปได้ด้วยดี

กิจกรรมโยนกันไปโยนกันมา
เริ่มด้วย แม่ใหญ่เปิดเพลงเร้าใจ ครูก็เล่นสนุก ปาก้อนไหมพรมกันอย่างเมามัน ใครรักใครชอบใคร
สังเกตได้ตอนนี้ พอปาครบทั้ง 23 คน แม่ใหญ่ก็ปิดเพลงถามว่า สนุกไหม
แล้วถามคนที่ได้รับการปาเป็นคนสุดท้าย (ซึ่งส่วนมากเป็นครูรุ่นใหม่…แสดงว่ายังไม่ค่อยมีใครคุ้นเคยเล่นด้วยเท่าไหร่) ว่ารู้สึกยังไง ก็บอกว่า รออยู่ ไม่เห็นใครปามาให้สักที แต่ก็ไม่กังวลเพราะรู้ว่าในที่สุดก็จะต้องได้รับม้วนไหมพรมจนได้ แล้วแม่ก็ให้สังเกตดูผลงานที่เกิดจากความสนุกของตัวเอง ว่าสวยไหม ทุกคนก็มองใยแมงมุมไหมพรมที่กางสับไปสับมาอยู่ข้างหน้า ว่ามองดูสวยดี เป็นผลงานของทุกคนร่วมกัน

คราวนี้แม่ใหญ่ ออกคำสั่งใหม่ พร้อมเปิดเพลงอีกครั้ง บอกว่าให้ทำยังไงก็ได้
ให้ไหมพรมกลับมารวมกลุ่มอย่างเดิม ภายในเวลา 3 นาที ก่อนที่เพลงจบ คราวนี้ทุกคนชะงักเล็กน้อย
มีเสียงบางเสียงดังออกมาว่า เดินไปมาดีไหม…. บางคนก็ว่า…. แบบนี้อีกเป็นชั่วโมงก็ยังแก้ไม่ได้…. บางคนก็บอกให้เริ่มโยนกลับไปให้คนที่ปามาสิ…. คนที่ถือปลายตอนเริ่มแรกกับปลายตอนจบเริ่มหันรีหันขวาง…ตะกุกตะกักกันอยู่สักครู่

พอแม่ใหญ่เปิดเพลง ด้วยความสามารถในการแก้ปัญหาของกลุ่มร่วมกัน ภายในสามนาที ไหมพรมก็กลับมารวมเป็นกลุ่มได้เหมือนเดิม แม้จะแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มเริ่มต้นก็ม้วนเข้าไป และกลุ่มปลายสายก็ม้วนเข้ามาหา
กิจกรรมนี้ได้ข้อคิดจากครูอีกสามท่านว่า

การทำงานเป็นทีมต้องร่วมมือกันทำ


เมื่อมีปัญหาต้องช่วยกันแก้


การจดจำและสังเกตว่าได้ทำอะไรไว้จะช่วยให้การแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

แม่ใหญ่เสริมให้เห็นภาพความจริงของครูในโรงเรียนว่า เกมส์นี้สะท้อนให้เห็นภาพของการทำงานของคุณครูจริงๆว่า กิจกรรมหรือโครงการต่างๆที่ผ่านมาในโรงเรียนที่สำเร็จลงไปด้วยดีนั้น เพราะความร่วมมือร่วมใจกันของคณะครู เห็นศักยภาพของครูทั้งในเกมส์และในสถานการณ์จริง อย่างไม่มีข้อสงสัย

ขอให้รักษาความสามารถนี้ไว้ตลอดไป


กิจกรรมร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหา
แม่ใหญ่ให้เขาเลือกอยู่กลุ่มต่างๆ 3 กลุ่ม ใครที่คิดว่าตาเป็นประโยชน์ ในการสื่อสาร ให้ไปอยู่รวมกัน ใครที่ใช้ หูเป็นประโยชน์ ก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง และใครที่ใช้ ปากเป็นประโยชน์ ก็ให้อยู่อีกกลุ่ม ผลการรวมกลุ่ม ออกมาว่า
มีคนบอกว่า หูสำคัญมีแค่ 2 คน คนที่บอกว่า ปากสำคัญ มีแค่ 3 คน ที่เหลืออีก 18 คนบอกว่า ตาสำคัญที่สุดในการสื่อสาร ความจริงแค่การแบ่งกลุ่มนี้ก็จะเข้าเรื่องไดอาล๊อกกันได้ยาว แต่วันนี้ไม่มีเวลาเลย จะยกยอดไว้คราวหลัง วันนี้ให้ช่วยกันแก้ปัญหาในโรงเรียนเสียก่อน

แม่ใหญ่ส่งปัญหาสามข้อให้กลุ่มละข้อ ดังนี้

กลุ่มหู แก้ปัญหาเรื่อง เวลาเรียนพิเศษ 5 โมงแล้ว
หมดเวลาสอน แต่ครูผู้สอนยังสอนไม่จบได้ในทันที ครูเวรทำสะอาดเข้ามากวาดขณะกำลังสอน เพราะอยากกลับบ้านเร็ว ครูผู้สอนรู้สึกไม่พอใจคิดว่าทำไมไม่บอกกล่าวกันก่อนดูเหมือนไม่มีมารยาท ทั้งสองฝ่ายควรแก้ปัญหาอย่างไร

กลุ่มตา
แก้ปัญหาเรื่อง ครูเวรประตู ทิ้งประตูไปส่งเด็กที่รถ ทำให้ตรงประตูว่าง เด็กอาจวิ่งออกไป และอาจเกิดอุบัติเหตุ จากรถที่ตามหลังมา อาจโดนรถชนได้ ช่วยกันแก้ปัญหานี้

กลุ่มปาก แก้ปัญหาเรื่อง ครูผู้สอนคนหนึ่งกำลังสอนอยู่หน้าห้อง มีเด็กป่วนอยู่สองสามคน ไม่ยอมเข้าวง มีครูผู้ช่วยหนึ่งท่านช่วยดูแลความเรียบร้อยอยู่ เหตุการณ์นี้มีเสมอในทุกๆห้อง ขอให้เสนอแนะวิธีการแก้ไข


ให้เวลาแค่ห้านาทีในการปรึกษาและอีกห้านาทีในการเล่าถึงการแก้ปัญหา และเราก็ได้ข้อคิดที่ดีจากกลุ่ม ดังนี้

กลุ่มหูก็บอกว่าต้องแก้กันทั้งสองฝ่าย คนสอนก็ควรเลิกให้ตรงเวลา คนเข้าไปกวาดถ้ารีบจริงๆก็ควรไปกวาดบริเวณรอบๆก่อนหรือไม่ก็ควรขอโทษสักนิด

ปัญหาของข้อนี้คือการไม่พอใจกัน แต่ไม่พูดกันตรงๆ
แก้ได้ด้วยการมีมารยาท และการตรงต่อเวลา


กลุ่มตา สรุปว่าคนที่อยู่ตรงประตูสำคัญที่สุด ไม่ควรทิ้งประตูเลย แต่ก็ไม่ควรให้ทำอยู่คนเดียวควรเปลี่ยนหน้าที่กัน
ระหว่างเวรทั้งสองคน และครูอื่นๆที่อยู่ตามห้องหรือบริเวณสนาม เมื่อได้ยินเสียงเรียก ก็ควรส่งเด็กให้ที่เวรประตู
ไม่ใช่ต้องให้เวรประตูทิ้งประตูไปจูงเด็ก (โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเล็กสุดที่ยังลงบันไดไม่ถนัด)
ปัญหาข้อแก้ได้โดย ต้องรู้จักพุดกัน บอกกัน แบ่งงานกัน รู้จักหน้าที่ของตนเอง และเข้าใจว่าอะไรสำคัญที่สุดที่ถ้าทิ้งไปอาจเกิดอันตรายได้

กลุ่มปาก แก้ปัญหาว่าไม่ควรทิ้งเด็กป่วนให้ครูผู้ช่วยรับผิดชอบทั้งหมด ควรเอาเด็กป่วนมาไว้ข้างๆตนเองด้วย
สักคน ครูผู้ช่วยเองต้องคอยดูแล อำนวยความสะดวกให้ครูผู้สอน เพื่อให้สอนไปได้อย่างไม่ติดขัด
และต้องไม่ส่งเสียงรบกวนการเรียนการสอนของครูผู้สอน
ปัญหาข้อนี้แก้ได้ด้วย การทำงานเป็นทีม การรู้หน้าที่การกล้าบอกกล้าขอร้องเมื่อมีอะไรไม่เข้าใจกัน


กิจกรรมสุดท้าย แจกชีทงาน
ให้ทำดังนี้

เขาทำอย่างนี้ เราควรทำยังไง

เขาพูด…..

เขาติ…..
เขาใช้….
เขาให้…..
เขาดี…..
เขาขอ…..
เขาบ่น…..
เขาเขลา…..
เขากลุ้ม….
เขาโกรธ…..
เขาด่า….

เขาเฉย…..
สยบใจเขา ต้อง ” ………………….”

พอทำเสร็จก็นำเอาคำกล่าวของท่านจี้กงมาเฉลยให้ฟังดังนี้

เขาทำอย่างนี้ เราควรทำอย่างไร

เขาพูด….. ให้คิดบวก

เขาติ….. ให้คิดใหม่

เขาใช้…. ให้ทำไป

เขาให้….. ให้ขอบคุณ

เขาดี….. ให้ดีต่อ

เขาขอ….. ให้ให้เขา

เขาบ่น….. ให้ทนเอา

เขาเขลา….. ให้ตักเตือน

เขากลุ้ม…. ให้เราปลอบ

เขาโกรธ….. ให้เราเฉย

เขาด่า…. ให้เดินเลย

เขาเฉย….. เพราะเราเย็น

สยบใจเขา ต้อง “สงบใจเราให้เป็น”


คุณครูต่างก็ตรวจผลงานตัวเองกันใหญ่ว่าใครคิดใกล้เคียงท่านจี้กงกันบ้าง
แม่ใหญ่เก็บชีทเอามาอ่านที่บ้านแล้วก็อดขำไม่ได้ เพราะท่าน ผ.อ. ลูกชายแม่ใหญ่เอง ที่เป็นกระทิงเปลี่ยวมุทะลุ แต่มีหนูผสมอยู่ในตัว ตอบคำถามได้ทะลุทะลวงมาก เดือนหน้าต้องเอาไปเผากลางที่ประชุมสักหน่อย

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการก็จบลงภายในระยะเวลา1 ช.ม. ตามกำหนด
คุณครูก็ยิ้มแย้มแจ่มใสได้กลับบ้านตรงเวลาหลังจากได้มีเวลามาเล่นเกมส์สนุกกับเพื่อนร่วมงานทั้งโรงเรียน ที่แฝงทัศนคติเล็กๆน้อยเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น




Main: 0.12308597564697 sec
Sidebar: 0.059929847717285 sec