สวนผึ้ง - จากมุมมองภาคประชาสังคม

โดย จอมป่วน เมื่อ 11 กันยายน 2011 เวลา 22:55 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 1853

บ่ายวันที่ 23 สิงหาคม 2554

ความจริงเป็นหัวข้อ “สวนผึ้ง: แนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรจากมุมมองภาคประชาสังคม”

มีคุณวิเชียร คุตตวัส, คุณสมปอง อินทร์ทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ

ภาคประชาสังคมที่มาร่วมพูดคุยมี

  • ครูวุฒิ บุญเลิศ
  • คุณพรทิพย์ สำเภา
  • คุณสกล คุณาพิทักษ์  กำนันตำบลสวนผึ้ง
  • คุณสมศักดิ์ เหลืองจรุงรัตน์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวนผึ้ง
  • ผู้แทนอุทยานธรรมชาติตามพระราชดำริฯ

วิเชียร คุตตวัส

เคยมาที่นี่ 20 กว่าปีที่แล้ว  สวยงามมาก  คิดว่าต้องช่วยกันรักษาธรรมชาตินี้ไว้ให้ลูกหลานของเราคนไทยได้ชื่นชม   อยากให้อาจารย์วุฒิเล่าเรื่องสวนผึ้งในอดีตให้เราฟัง  แล้วปัจจุบันท่านว่าอย่างไร?

ครูวุฒิ บุญเลิศ

เมื่อเช้าเห็นทุกท่านตั้งใจฟังเรื่องราวของคนที่อยากเป็นพระเอก เป็นระพินทร์ ไพรวัลย์  ผมอยากเป็นแงซาย  เป็นพรานท้องถิ่นในนิยาย  จะดูว่าระพินทร์ ไพรวัลย์เอาอะไรไปจากป่าแห่งนี้  หลักสูตรนี้เป็นการเรียนรู้เรื่องปัญหาความขัดแย้งในสังคม  เราจะจัดการความขัดแย้งอย่างไรในสังคมพหุวัฒนธรรม  คือความหลากหลายของวัฒนธรรม  ของผู้คน  ของความคิด  ของชาติพันธุ์ต่างๆ  ประสบการณ์เหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขในสังคมอย่างไร

ต้องกลับไปมองว่าสังคมสันติสุขในองค์กร ในชุมชน  ประสบการณ์ตรงนี้น่าจะให้อะไรกับหลายๆท่าน เป้าหมายคือ เรียนรู้ความขัดแย้ง ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม   ความขัดแย้งนั้นจะจัดการอย่างไร? ถ้าเราเข้าใจประเด็นนี้แล้วจะนำไปสู่ความเข้าใจในวันที่จะมีการถอดบทเรียน วันที่ 26 นี้  เวทีนี้น่าเสียดายที่ไม่มีชาวบ้านในเวที  เพราะ 25 หัวหน้าพาไปลงพื้นที่

ในย่ามของผมมีรายงานแผนการปฏิบัติการและสรุปของเจ้าหน้าที่อุทยาน  ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคม ของผู้คน เกี่ยวกับความไม่เข้าใจของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต   ถ้าจะแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่เข้าใจความหลากหลายของวัฒนธรรม  สุดท้ายมันก็แก้ไม่ได้   ในการถอดบทเรียนในวันที่ 26  มันไม่ใช่บทสรุป เพราะว่าภาคประชาชนหรือผู้คนที่นี่  ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือมีส่วนร่วมในสถานการณ์ไม่ได้อยู่ในเวทีนั้น

ความขัดแย้งที่นี่เป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากร  การจัดการ ดิน น้ำ ป่า เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนสองกลุ่ม  ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน  และการช่วงชิงทุนทางธรรมชาติ  ดิน น้ำ ป่า ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง

ทรัพยากรมันเป็นของหน้าหมู่หรือเป็นของสาธารณะ  ของหน้าหมู่ถูกตีความ  ถูกกำกับ ให้ความหมายอย่างไร   การที่ของหน้าหมู่  สมบัติสาธารณะหรือทรัพยากรถูกตีความและให้คำนิยามจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างไร  ตัวอย่าง วัฒนธรรมและความคิดของคนดั้งเดิมที่เป็นคนกระเหรี่ยงนั้น  เป็นความคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง  กินพออิ่ม นุ่งพออุ่น กินพอดี อยู่พอดี  วิธีคิดแบบนี้ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาแบบนี้ก็จะใช้ทรัพยากรอย่างนั้น ให้กับลูกหลานของเราในอนาคต

แต่ความคิด  วัฒนธรรมหรือความคิดอีกส่วนหนึ่งที่ต้องการให้มีคุณภาพชีวิตที่มีความสุข  มันต้องกินดี อยู่ดี การกินดี อยู่ดีก็คือการกินแบบเด็ดขาด  และการกินแบบโอ้อวด  ไม่ใช่กินแค่อาหารเท่านั้นแต่กินเรื่องศักดิศรี  ตรงนี้นำมาซึ่งความขัดแย้ง

พี่น้องคนไทยเชื้อสายกระเหรี่ยงอยู่สวนผึ้งมายาวนาน  ย้อนกลับไป 2311  ที่กรุงศรีอยุธยาแตก กองทัพจากทวายมาตามดูว่าที่ราชบุรีมีอะไรบ้าง  แล้วปะทะกันที่บางแก้ว  สมุทรสงคราม

2438 สมัยรัชกาลที่ 5  เมื่อมีการทำเหมืองแร่  สวนผึ้งก็เป็นจุดกำเนิดของการทำเหมืองแร่  พรบ. เหมืองแร่ปี 2444  ฝรั่งก็เข้ามาที่สวนผึ้ง  ผู้คนก็มีอยู่แล้ว  ตำบลสวนผึ้งก็เกิดขึ้น มีการตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านตกทอดกันมา  คนดั้งเดิมเป็นคนไทยเชื้อสายจีน  วิถีชีวิตดั้งเดิมคือการทำไร่โดยนอบน้อมต่อแผ่นดินกับธรรมชาติ   การนอบน้อมต่อแผ่นดินและธรรมชาติเราใช้วิธีทำไร่หมุนเวียนที่คนอื่นเรียกว่าการทำไร่เลื่อนลอย

การใช้ทรัพยากรในอดีตและปัจจุบันซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งมีความเป็นมาอย่างไร?  สวนผึ้งทางตะวันตกเป็นแหล่งผลิตไม้ฝาง  ไม้ฝางเป็นของป่าที่ส่งไปยังราชสำนัก  แล้ว็ส่งลงสำเภาไปเมืองจีน  รัชกาลที่ 2 มีตราสารบอกเจ้าเมืองราชบุรีว่าหาไม้ฝางให้ครบตามลำเรือที่จะลงสำเภา  ถ้าหาได้ไม่ตามจำนวนนั้นเจ้าเมืองราชบุรีก็จะมีโทษ  นั่นคือผลผลิตจากทรัพยากรป่าในช่วงนั้น

พอเข้าสู่ปลายรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3  ที่เหมืองแร่จากภูเก็ตเริ่มเข้ามา ชาวจีนเริ่มเข้ามา  นั่นคือเรื่องแรกนับตั้งแต่ไทยเริ่มทำสัญญาการค้ากับต่างชาติ  เหมืองแร่ก็อยู่มาเรื่อยๆ  จนถึงปี 05-07  เครื่องจักรก็เริ่มเข้ามา  เมื่อปี 28  สวนผึ้งมีเหมืองแร่ประมาณ 40 กว่าแห่ง ส่วนมากเป็นดีบุก

ในขณะเดียวกัน ราชบุรีเป็นพื้นที่ที่ดินดำ น้ำดี  ดินของทุ่งเขางูซึ่งเป็นแหล่งผลิตเซรามิก  เครื่องดินเผา  ก็ใช้ไม้จากป่าสวนผึ้งตะวันตกถูกป้อนเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตเซรามิก  โอ่ง  จะเห็นว่าด้านตะวันตก  ระพินทร์ ไพรวัลย์มาเยอะ  มาเอาทอง  เอาแร่  เอาไม้

หลังจากแร่หมดเมื่อปี 28 ก็นิ่งอยู่ช่วงหนึ่ง  พอยุคชาติชายก็เริ่มบูมขึ้นใหม่ คนก็หลั่งไหลมา  หลังจากปี 40  ระพินทร์ ไพรวัลย์ก็มาเยอะเลย  ตรงนี้มีแรงดึงดูด  มีคนเข้ามาทำธุรกิจรีสอร์ท

ปี 46-47  ถึงต้น 50  ประเด็นของพลังงานทดแทน  พืชน้ำมันก็มีเข้ามา  เป็นนโยบายของรัฐบาล  ทำให้มีการส่งเสริมปาล์มน้ำมัน  และยางพารา  เพราะมีประเด็นความขัดแย้งทางภาคใต้ทำให้ต้องหาพื้นที่ใหม่  ทำให้เข้ามาที่สวนผึ้ง  การใช้พื้นที่ต่างๆก็มากขึ้น

วัฒนธรรมของผู้คนจากข้างนอกกับคนข้างใน  ในการใช้ทรัพยากรมันต่างกัน  จากการกินอยู่อย่างพอดีก็เกิดปัญหาการช่วงชิงกัน

คุณวิเชียร คุตตวัส

ที่ราชบุรีปั้นโอ่งได้เพราะดินเหนียวของราชบุรีมีอลูมิเนียมมาก

คุณสกล คุณาพิทักษ์ กำนันตำบลสวนผึ้ง

เป็นกำนันตำบลสวนผึ้งมาตั้งแต่ปี 2544  เป็นผู้ใหญ่บ้านมาตั้งแต่ปี 2524  อยู่ในพื้นที่สวนผึ้งมาโดยตลอด  บรรพบุรุษก็อยู่มาโดยตลอด  พ่อมารับจ้างวันละบาท  อยู่มาเป็นร้อยๆปี  ต่อมาความขัดแย้งก็เกิดขึ้นในอำเภอสวนผึ้งเกี่ยวกับพื้นที่ทำกินและสิ่งแวดล้อม  พี่น้องชาวสวนผึ้งเป็นผู้ทีหวงแหนสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก  ต้นไม้ทุกต้นจะโค่นหรือจะตัดจะต้องขอขมา  มีการบอกเล่าเจ้าที่เจ้าทาง  แต่ทุกวันนี้ที่เกิดปัญหาขึ้นกับพี่น้องชาวอำเภอสวนผึ้งเกิดจากการที่ทางรัฐบอกว่ามีการบุกรุกทำลายป่า

ชาวอำเภอสวนผึ้งเป็นผู้บุกรุกหรือผู้บุกเบิก  การบุกรุกแสดงว่ามีกฏหมายเข้ามาควบคุมแล้ว  การบุกเบิกแปลว่ายังไม่มีกฏหมายใดมาควบคุมเราเลย  ที่เราทำมาหากินอยู่ทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าบุกรุกหรือเปล่า? เพราะกฏหมายไม่ได้เข้ามา   อยู่ๆเข้ามาเมื่อปี 30  บอกว่าที่สวนผึ้งเป็นที่ราชพัสดุ  อ้างพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศเมื่อปี 2481  ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี  พวกเราเป็นคนชายขอบเหรอ?   เป็นคนโง่ขนาดนั้นเหรอ ? ที่คิดจะมาขับไล่พวกเรา

รัฐมองเอาผลประโยชน์ของรัฐเป็นที่ตั้ง  ไม่เอาผลประโยชน์ของประชาชน  การมองของรัฐปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลง  ให้เป็นการอยู่ดีกินดี  อยู่อย่างมีความสุข  อยู่อย่างสันติสุข   ไม่ต้องยึดเอาผลประโยชน์ของรัฐ  ไม่ต้องยึดผลประโยชน์ของประชาชน  ยึดเอาความถูกต้องและความเป็นธรรมในปัจจุบัน  สังคมจะอยู่ได้และอยู่รอด  อยู่อย่างมีความสุข   ไม่ใช่เอาความรู้ เอาความเข้าใจ  เอาความสามารถ  ไปเรียนมาจากต่างประเทศ  เอามาหาประโยชน์ใส่ตัวเอง  เอายศ เอาศักดิ์ศรี เอาบ้านตัวเอง  ไปตีกับพี่น้องประชาชนเพื่อเอาตำแหน่งให้สูงขึ้น  บางคนเรียนดี เรียนสูง  มีความรู้แต่ไม่มีความคิด

มีความคิดแต่จะเอาผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มองชาติบ้านเมือง ไม่มองทรัพยากรของชาติ

เรื่องป่าไม้  พี่น้องประชาชนรักและหวงแหนยิ่งกว่าชีวิต  ที่มีข่าวสวนผึ้ง  วังน้ำเขียว  แก่งกระจาน  ไม่อยากให้เกิดขึ้น  พี่น้องประชาชนจะอยู่กันอย่างไร  มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับพี่น้องที่สวนผึ้ง  ที่วังน้ำเขียว  ที่แก่งกระจาน  การบุกรุกเป็นคนจากที่อื่น  มาทำสวนยาง  มาทำปาล์ม

ทุกวันนี้ชาวอำเภอสวนผึ้งกลายเป็นจำเลยของสังคม  ออกมาเรียหร้องสิทธิให้กับพี่น้องประชาชน  กลายเป็นตัวยุ่ง  คล้ายกับมีการประกาศกฏอัยการศึกในเขตอำเภอสวนผึ้ง ทำให้ผู้นำท้องที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไม่ได้เลย

นักกฏหมาย  ผู้มีอำนาจ  ผู้มีบารมีทั้งหลาย  อยากให้หันมามองพี่น้องประชาชนบ้าง  อยากให้พี่น้องชาวอำเภอสวนผึ้งอยู่อย่างมีความสุข  ให้พี่น้องทั้งประเทศอยู่อย่างมีความสุข  อยู่อย่างสันติสุข

อยากฝากให้ช่วยดู ความต้องการของรัฐตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่?

คุณสมศักดิ์ เหลืองจรุงรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวนผึ้ง

มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 40  ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต. ตั้งแต่ปี 51 เป็นห่วง มีความกังวล  สวนผึ้งมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก  จากรีสอร์ทสิบกว่าแห่งมาเป็น 70 กว่าแห่ง  ปัญหาของคนในชุมชนมีมากขึ้น  ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาป่าไม้  ปัญหาแย่งชิงทรัยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องน้ำจะทำอย่างไร?  คนเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณน้ำเท่าเดิม  ต้องใช้ชาวบ้านมามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งต่างๆเหล่านี้

อย่างน้ำตก อบต.เป็นผู้รับผิดชอบ  ก็พยายามโอนให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำตก  เรื่องอื่นๆก็พยายามให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล สวนผึ้งมี 8 หมู่บ้าน  มีพื้นที่266,250 ไร่  ใหญ่กว่าบางจังหวัดอีก  ต้องอาศัยประชาชนมาช่วยดูแล  คนในแต่ละหมู่บ้านก็ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่หมู่บ้านของตัวเอง  อบต. ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ดูแลเรื่องงบประมาณและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ   ทำอย่างไรที่จะให้คนในเขตตำบลมีความสุข

คนที่นี่มีหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายกระเหรี่ยง  เชื้อสายมอญ เชื้อสายพม่า แม้แต่คนไทยเชื้อสายจีนอยู่ที่นี่ก็ไม่ใช่น้อย  ต่อไปจะมีการค้าขายเสรี  ไม่มีพรมแดนระหว่างประเทศแล้ว  เข้าออกได้ตลอด  มีข่าวว่าจะมีการเปิดการค้าชายแดนเกิดขึ้น  ก็ต้องเตรียมความพร้อมประชาชนของเราให้พร้อม  ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้วเราควรจะวางตัวอย่างไร?

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วม การต้องดูแลผืนป่าของเราที่นี่  ถ้าเมื่อไหร่สวนผึ้งไม่มีป่า  ไม่มความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ  ก็จะไม่มีใครมาเที่ยวสวนผึ้งแน่นอน  ถึงจะใกล้กรุงเทพฯ เพราะจุดขายของเราคือเรื่องของธรรมชาติ

มีการช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำที่ต้นน้ำแล้วเพื่อป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลหลาก  เคยมีข่าวน้ำป่าไหลหลากแล้วนักท่องเที่ยวต้องติดอยู่ในที่พัก  สมัยก่อนมีน้ำป่าก็มีการชะลอโดยต้นไม้  ปัญหาแก้ได้ อยู่ที่ความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนและภาครัฐด้วยที่จะมาช่วยกันแก้ไข

ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งเป็นเรื่องใหญ่  ชาวบ้านคงเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินในพื้นที่กายภาพ  ในปี 2538 ที่กรมธนารักษ์ได้เข้ามาสำรวจไว้  คงจะเรียกร้องเป็นเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน  หลัง 2538 แล้วกรมธนารักษ์จะให้เช่าอย่างไร?  ชาวบ้านก็ข้องใจว่าทำไมไม่มีการแจ้งว่าจะเข้ามาทำกินต้องไปขอเช่ากรมธนารักษ์ก่อน  ตอนนี้พัฒนาจนสวนผึ้งเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ

ถ้าต้องไปเช่าก็คงขอให้มีความมั่นคงหน่อยได้มั๊ย  เพราะว่าถ้าให้เช่า 3 ปี  ความมั่นคงของที่ดินไม่มี  อยากจะเรียกร้องว่าขอให้เช่านานกว่านี้ได้รึเปล่า?  ทำไมคนต่างชาติมาเช่าที่ดินในเมืองไทย เช่าได้ 30 ปี 90 ปี   แต่ในฐานะประชาชนคนไทย  ขอเช่า 30 ปีไม่ได้เหรอ ?   3 ปีนี่ปลูกต้นไม้ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวเลย  หน่วยงานของรัฐก็บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง  เช่าไปเลย  เขาต่อให้อยู่แล้วชั่วลูกชั่วหลาน  ใครจะรับรองได้ว่าจะได้เช่าตลอดไป  กู้ธนาคารก็ไม่ได้  สุดท้ายบางส่วนก็ต้องขายที่ดินไป

เหมือนวังน้ำเขียวที่ว่าอยู่ในป่าสงวน  ถ้าไม่ขายก็จะถูกยึดพื้นที่ไปก็เลยต้องขาย  น่าจะทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานของรัฐ  เราน่าจะมานั่งโต๊ะกลมคุยกัน  เราไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไหร่  เวลาทำประชาคมกับชาวบ้าน  ชาวบ้านจะไม่ค่อยรู้  และหลังทำประชาคมแล้วก็ไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง  ที่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านเรา  เร็วๆนี้ก็มีการพูดคุยกัน  แต่ก็ไม่มีข้อสรุป

มีการพูดถึงสวนผึ้งโมเดล  สวนผึ้งโมเดลหมายความว่าทุกคนต้องมาเช่ากับกรมธนารักษ์  แต่ชาวบ้านรับไม่ได้  ตรงนี้  ทำกินอยู่ในที่ของตัวเอง  อยู่ดีๆก็มีคนมาบอกว่าต้องมาเช่าผมนะ  อันนี้เรารับไม่ได้จริงๆ น่าจะมีการพูดคุยกันมากขึ้น น่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้  อยากให้กำหนดให้ชัดเจนว่าตรงไหนควรอนุรักษ์ไว้ให้สมบูรณ์  ไม่ให้เช่า

คุณวิเชียร คุตตวัส

เปิด VDO ให้ชม  แสดงถึงปัญหาน้ำจากน้ำตกเก้าชั้นที่ลดลง  มีคนสูบน้ำไปใช่ส่วนตัว  มีการจัดเวทีสภาพลเมือง  มี สส. (สามารถ พิริยะปัญญาพร) มาร่วมด้วย  หลังการพูดคุยก็มีคณะทำงานเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำตกเก้าชั้น

………

Post to Facebook Facebook

« « Prev : เสวนากับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว - สวนผึ้ง- 2

Next : สวนผึ้ง - จากมุมมองภาคประชาสังคม (2) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "สวนผึ้ง - จากมุมมองภาคประชาสังคม"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.037559032440186 sec
Sidebar: 0.063098907470703 sec