เสวนากับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว - สวนผึ้ง- 2
อ่าน: 2437ภกญ. เบญจางค์ เคึยงสุนทรา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทอัฟฟีฟาร์ม จำกัด
ขอถาม 2 ข้อ ข้อแรกสุขภาพคุณแม่ ทำอย่างไรถึงดีขึ้นหรือว่าหายได้ยังไง? ข้อที่ 2 เคยทราบมาว่ารีสอร์ทที่นี่ขุดและใช้ท่อต่อน้ำแร่มาใช้ จะถูกกฏหมายหรือไม่ ?
คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์
คำถามแรกเรื่องสุขภาพคุณแม่ หลังให้เคมีบำบัดหมอก็แนะนำให้ไปอยู่ที่ที่อากาศดีๆ อยู่สวนผึ้งมาตั้งแต่ปี 38 รู้ว่าอากาศที่นี่ดี เลยให้มาพักฟื้นที่นี่
คุณวิเชียร คุตตวัส
เรื่องที่มีการใช้น้ำแร่และให้การรักษาพยาบาลด้วยไม่ได้อยู่ที่สวนผึ้ง แต่อยู่ที่อำเภออื่น ทางราชการกำลังดำเนินการอยู่ ว่าจะปิดสถานประกอบการดังกล่าวเพราะว่ามันไม่ได้ผลอย่างที่โฆษณา
ผศ. ว่าที่ ร.ต. สุรพล สินธุนาวา อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
อยากถามเรื่องเอกสารสิทธิ์ ที่ สปก. ที่นำมาทำรีสอร์ท “อนเปลี่ยนมือไม่ได้ อยากทราบความเห็นที่วังน้ำเขียวจะมีทางออกอย่างไร? มีเพื่อนฝากถามข้อนึงเกี่ยวกับการบุกรุกที่ป่า ที่นี่ใช้วิธีถางป่าหรือเผาป่าครับ ?
คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์
การบุกรุกแถวนี้เป็นเรื่องของคนที่ไม่ธรรมดา คงจะผิดมารยาทมากถ้าจะไปวิจารณ์คนที่ไม่ธรรมดา วิจารณ์ชาวบ้านอาจจะกล้าวิจารณ์ แต่คนที่บุกรุกสวนผึ้งบอกได้ว่าไม่ใช่คนธรรมดา ที่ที่เดิมชาวบ้านทำกินแล้วถูกจับแต่กลายมาเป็นรีสอร์ทขนาดใหญ่ได้ แต่ก็มีภาคประชาสังคมกำลังทำงานอยู่
สวนผึ้งปัจจุบันที่ดูเหมือนว่าการบุกรุกของผู้ประกอบการจะเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่การบุกรุกทำรีสอร์ทไม่น่าจะเกิน 15% นอกนั้นเป็นการบุกรุกเพื่อทำการเกษตร
วิชชุกร คำจันทร์ นักบิน บริษัทการบินไทย จำกัด
มาสวนผึ้งครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาหากระเหรี่ยง แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง วันนี้มาอีกที่ก็ค่อนข้างจะประทับใจกับการได้สัมผัสบรรยากาศโดยรวม เป็นครั้งแรกที่ได้ยินความเห็นจากผู้ประกอบการ ได้ยินว่าผู้ประกอบการไม่ได้มองแต่ในเรื่องของธุรกิจ แต่มองในเรื่องจิตวิญญาณ มองในเรื่องของความรู้สึก ทำอย่างไรที่เราจะสามารถอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล ชื่นชมตรงนี้
เคยไปมาหลายที่ ไม่เฉพาะเมืองไทยแต่ที่ต่างประเทศด้วย เกี่ยวกับการอนุรักษ์สวนป่า ต่างประเทศเขามองว่า การใช้รถออฟโรดที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้าไปในป่าในเขา เสียงมันค่อนข้างจะดัง แต่ในเมืองไทยเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลหมดเลย จะรบกวนวิถีธรรมชาติของสัตว์ป่า อยากถามว่ามีแนวทางอย่างไรในเรื่องนี้
กลุ่มออฟโรด
ออฟโรดดีเซลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ใช้ในการเข้าป่า ขึ้นเขา เครื่องดีเซลมีประสิทธิภาพของแรงบิดดีกว่า เครื่องเบนซินจะดังกว่าเพราะเครื่องเบนซินต้องเร่งเครื่องส่งในการขึ้นที่ชัน
การไปจะเป็นการไปในกลุ่มก๊วนที่เล็กๆ ไม่ได้ไปตลอดหรือไปเป็นประจำ ส่วนใหญ่ก็จะไปในทางเก่าที่เจ้าหน้าที่ใช้ ไม่ได้บุกเบิกเส้นทางใหม่ ผลกระทบกับสัตว์ป่าก็คงจะไม่เท่าไหร่
กิจจา อาลีอิสเฮาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ฟังจากวิทยากรทั้งสามท่าน ผู้ประกอบการไม่ใช่คนในพื้นที่เลย อยากจะทราบว่าภาคพลเมือง ประชากร ชาวบ้านที่อยู่ก่อน หลังจากมีการประกอบการในพื้นที่ ชาวบ้านเดิม คนในพื้นที่มีความพึงพอใจ หรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไร? แค่ไหน? อย่างไร?
อีกประการหนึ่งที่อยากจะทราบ คนงานเป็นคนงานในพื้นที่ ดูจากธุรกิจแล้วไม่น่าจะเป็นคนงานในพื้นที่ 100%
คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์
บ้านสวนหงษ์เหิร แรงงาน 14 รายเป็นคนในหมู่บ้านเลย การศึกษาไม่เกิน ม. ปลาย อีก 2 รายเป็นคนจากหมู่บ้านอื่น Scenery ก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในพื้นที่
พันเอก ดร. พิเชษฐ คงศรี นายทหารปฏิบัติการกองบัญชาการกองทัพไทย
ฟังจากภาคประชาชนแล้ว ภาครัฐมีเครื่องมือที่สำคัญคือกฏหมาย สิ่งที่รัฐทำไปไม่สามารถที่จะสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้ทั้งหมด ถ้าดูพัฒนาการการบุกรุกที่ในลักษณะต่างๆ เราจะพบว่าปัญหาจริงๆก็มาจากทหาร แต่ทหารทำให้ชาวบ้านได้เดินเข้าป่าได้สดวก
หลักจากนโยบาย 66/23 และ 65/25 ท่านเดินเข้าป่าไหนก็ได้ ป่าอุ้มผาง ป่าสวนผึ้ง ป่ากาญจนบุรี เป็นปรากฏการณ์อันใหม่ที่ทหารและภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ ท้องถิ่นหรือภูมิภาคคือทางจังหวัดหรืออำเภอ ก็ไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องพวกนี้ ปัญหามันเกิดขึ้นรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง จะทำให้เราได้ข้อมูลที่ทำให้เห็นว่าบทบาทภาครัฐหาจุดสมดุลของการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆ ขยายความไปถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติที่ควรจะได้นั้นอยู่ตรงจุดไหน ซึ่งตัวแทนภาครัฐจะมาให้ข้อมูลในวันพรุ่งนี้
ขอขอบคุณที่วิทยากรพยายามชี้แจงให้เห็นปัญหาและอุปสรรค เห็นว่าสิ่งที่เป็นจุดเชื่อมของภาคประชาชนกับภาครัฐก็คือการยอมรับในสถานะที่ตัวเองเข้ามาทำ ทุกคนทราบว่าสิ่งที่ตัวเองเข้ามาทำอยู่นั้น สถานะของที่ดินนั้นเป็นอย่างไร?
ขออนุญาตกาญจนบุรีด้วย ทางฝ่ายทหารมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินไว้ใช้ในราชการทหาร พ.ศ. 2481
ถามว่าก่อนหน้านั้นมีสถานะทางกฏหมายอะไรรองรับความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ตอบว่ามี คือกฏหมายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่ากฏหมายบทเบ็ดเสร็จฉบับที่ 42 ที่ดินที่เป็นที่บ้านที่สวน ถ้าใครได้ทำถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ก็คือเป็นโฉนดนั่นเอง
พ.ศ. 2484 เรามีพระราชบัญญัติป่าไม้เกิดขึ้น พ.ศ. 2497 มีประมวลกฏหมายที่ดินเกิดขึ้น พ.ศ. 2504 มีพระราชบัญญัติอุทานแห่งชาติเกิดขึ้น พ.ศ. 2507 มีพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติเกิดขึ้น พ.ศ.2518 มีพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเกิดขึ้น แนวทางในการพัฒนากฏหมายในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เรียกว่าประโยชน์สาธารณะ มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินการของภาคประชาชนก็พึ่งเข้ามาหลังปี 2528
ยุคของน้าชาติคือเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ที่ดินจึงเป็นแหล่งต้นทุนการผลิตที่ผู้คนแสวงหา ดีใจที่วิทยากรซึ่งอยู่ในพื้นที่สวนผึ้งได้พยายามที่จะรักษาจุดยืนอะไรบางอย่าง เท่าที่ประมวลได้มีอยู่ 2 เรื่อง คือสภาวะดั้งเดิมของความเป็นธรรมชาติ กับความต้องการของลูกค้าที่อยู่ในเมืองแล้วมาใช้บริการที่สวนผึ้ง คงยากการที่จะอยู่ร่วมกันของความต้องการที่แตกต่างกันของ 2 ฝ่ายนี้ได้
แนวทางที่อยากเสนอแนะก็คือการเปิดโอกาสให้ทางภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับภาครัฐและชุมชน ภาคประชาชนในสวนผึ้งนี้
พันโท ภาคภูมิ ศิลารัตน์ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ 9 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
อยากทราบว่ายังพอมีที่เหลือให้ทำรีสอร์ทมั่งมั๊ย? (อยากได้มั่ง…..อิอิ)
ภาคเอกชนท่านได้คืนอะไรกลับคืนสู่พื้นที่บ้าง ?
คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์
Scenery เดิมเจ้าของชื่อลุงกะปุ๊ ลุงกะปุ๊ถ้ายังอยู่อายุก็เกินร้อยแล้ว ที่หงษ์เหิรเดิมเป็นที่ของพ่อของป้าพัง ถ้ายังอยู่ก็เก้าสิบกว่า ยืยยันได้ว่าสวนผึ้งนี่มีคนอยู่แต่ดั้งเดิม แต่ไม่สามารถไปขอเอกสารสิทธิ์ได้เพราะไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้บอกว่าไม่ใช่คนไทย และที่ฝั่งซ้ายลำภาชีที่มีปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันสำรวจแล้วปรากฏว่ามี นส. 3 ก ไม่น้อยกว่า 2,000 แปลง ของผม 2 แปลง หมายความว่าขั้นตอน นส.3 แสดงว่าต้องมีการใช้ประโยชน์ก่อน 2497 ยังไม่อยากโต้แย้งไปถึง 2481 ว่าที่นี่มีชุมชนหรือไม่? ขอเป็นตอนบ่ายซึ่งคุณวุฒิซึ่งเป็นลูกหลานที่เกิดที่นี่เลย จะมาคุยความเป็นมา กำนันตำบลสวนผึ้งก็เป็นลูกหลานที่เกิดที่นี่
ในเรื่องของพวกเราทำอะไรบ้างก็อยากให้มองเหมือนกัน ถ้าเลิกประชุมแล้วพอมีเวลา อยากให้เดินไปที่ลำธารแล้วมองไปที่ฝั่งตรงข้าม เป็นที่ดินของบ้านสวนหงษ์เหิร ซื้อไว้เพื่อปลูกสมุนไพร ให้คนที่มาเที่ยวเข้าใจว่าที่นั่นคือป่า ถ้ามองผ่าน Google Earth จะมีเฉพาะที่บ้านสวนหงษ์เหิรที่ปลูกสมุนไพรไว้เท่านั้นเองที่เป็นป่า และมีอยู่หย่อมเดียว เราชอบเราจึงมาอยู่ เรารู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน
« « Prev : เสวนากับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว - สวนผึ้ง- 1
Next : สวนผึ้ง - จากมุมมองภาคประชาสังคม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เสวนากับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว - สวนผึ้ง- 2"