สวนผึ้งโมเดล -1
อ่าน: 2070การศึกษาดูงานกรณีศึกษาภาคกลาง - 4ส3
ในการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 การศึกษาดูงานในพื้นที่จริงถือเป็นหัวใจของหลักสูตร สำหรับรุ่นที่ 3 ได้กำหนดการศึกษาดูงานกรณีศึกษาภาคกลางไว้ในวันที่ 23-26 สิงหาคม 2554 ที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดเพชรบุรี
23 สิงหาคม 2554
ออกเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันที่ Scenery Resort & Farm อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
13.30-14.30 น. รับฟังและร่วมพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของอำเภอสวนผึ้ง ในหัวข้อ “ สวนผึ้ง :แนวทางการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรจากมุมมองภาคธุรกิจท่องเที่ยว”
เริ่มรายการโดยคุณวิเชียร คุตตวัส และคุณสมปอง อินทร์ทอง ซึ่งเป็น สสสส. รุ่น 2
เริ่มให้ข้อมูลของจังหวัดราชบุรี เดิมชื่อ ชยราชปุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็เคยดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญสำคัญ เป็นสมรภูมิการรบหลายครั้ง ที่สำคัญคือสงครามเก้าทัพ
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้มีการประลองยุทธเสือป่าที่จังหวัดราชบุรี
ปัจจุบันก็มีชื่อเสียงเรื่องการปั้นโอ่ง มีการต่อตัวถังรถที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผ้าขาวม้าบ้านไร่ เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ มีการปลูกดอกไม้ส่งออก
ที่ราชบุรีมีทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา มีธุรกิจชุมชนและชุมชนที่เข้มแข็ง สถิติอาชญากรรมต่ำ น่าอยู่ แต่ก็มีปัญหา
มีการแนะนำตัว
- มีผู้แทนผู้ประกอบการชมรมนำเที่ยวเขากระโจม (ออฟโรด์) หรือกลุ่มออฟโรด
- คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์ เจ้าของบ้านสวนหงษ์เหิร
- คุณพลกฤษณ์ สุขเกษม เจ้าของ Scenery Resort & Farm
กลุ่มออฟโรด
พื้นที่ตรงนี้เคยเข้ามาเมื่อสามสิบปีที่แล้ว สมัยที่ยังทำเหมืองแร่ สมัยนั้นคนไทยยังเข้ามาไม่ถึง มีแต่กระเหรี่ยงหรือที่เรียกว่าชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามป่าตามเขา ก็มีคนไทยที่อยู่รอบนอกทำไร่มันไร่อ้อย เข้าออกบ่อยๆก็เห็นว่าเป็นพื้นที่มีธรรมชาติสมบูรณ์ สวยงามน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยได้
เลยเข้ามาหาที่เล็กๆแปลงหนึ่งที่อยู่กับชุมชนในพื้นที่ ไม่ได้บุกรุกอะไร อยู่ริมถนนขอบทางนี่เอง แล้วก็ทำกัน สักระยะหนึ่งก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ไฮไลท์ที่นี่มีเขากระโจมซึ่งมีทะเลหมอก มีน้ำตกหลายๆแห่ง ที่สำคัญที่สุดคืออากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี
การเดินทางก็ต้องอาศัยรถออฟโรดเพื่อรักษาธรรมชาติเอาไว้ ไม่อยากให้สร้างทางขึ้นไป ต้องอาศัยรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นที่จะเดินทางขึ้นไปได้
นักท่องเที่ยวที่มาจะบ่นกันว่าทำไมไม่ทำทางให้มันดีๆ แต่พอได้ขึ้นไปสัมผัสข้างบนก็จะบอกว่า ขอซักที่นึงในเมืองไทยเพราะบนยอดดอยทุกดอยก็มีถนนลาดยางขึ้นไปหมดแล้ว ถ้าถนนดี รถขึ้นมาได้ง่ายๆ ธรรมชาติก็จะหมดไว ขยะก็จะเยอะ สัตว์ป่าที่มีอยู่อุดมสมบูรณ์ก็จะหนีหายไป
คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์
เป็นคนบางขุนเทียน อยากเป็นระพินทร์ ไพรวัลย์ในเรื่องเพชรพระอุมา ตำนานของสวนผึ้งถูกตีพิมพ์ในหนังสือเพชรพระอุมา ชอบมาก เข้ามาดูในพื้นที่ สวนผึ้งเป็นแหล่งที่กำเนิดของนิยายเพชรพระอุมา ในหนังสือก็มีบรรยายถึงธรรมชาติ สัตว์ป่า เป็นอะไรที่ติดตาต้องใจ
ในปี 2538 มีจังหวะว่างงานก็มาเที่ยวได้พบสถานที่แห่งนี้ เจ้าของขายก็เลยซื้อไว้ การสร้างรีสอร์ทเป็นเหตุบังเอิญ เดิมก็จะสร้างบ้านพักเฉพาะของครอบครัว แต่คุณแม่ป่วยเป็นมะเร็ง ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีอะไรทำก็คงไม่อยู่มาจนทุกวันนี้ เดิมหมอบอกว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน เลยย้ายมาอยู่ที่นี่
พอเริ่มทำเป็น Homestay กิจการไปได้ ก็ขยายไปเรื่อย ทำค่ายภาษาญี่ปุ่น ค่ายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ของไทย ทำให้ญี่ปุ่น มีโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนไทยญี่ปุ่นระดับมัธยมปลาย
คุณพลกฤษณ์ สุขเกษม
อยากมีบ้านพักตากอากาศที่สงบเงียบ เดิมทำธุรกิจอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 12 ปีก่อนมีเรื่องกอดอาร์มมี่ที่สวนผึ้ง เลยคิดว่าแถวนี้คงจะสงบสุข เพราะคนคงจะไม่มาแล้ว ก็เลยเข้ามาดู เป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่มีคนเลย ไม่มีรถวิ่ง เรื่องกอดอาร์มมี่ไม่เกี่ยวกับคนในพื้นที่เลย
คดีความในเขตสวนผึ้งน้อยมาก เกือบไม่มีเลย ก็คิดว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ก็เลยมาสร้างบ้านอยู่ เดิมเป็นบ้านเฉลี่ยสุข คือแบ่งให้เพื่อนๆมาพัก เฉลี่ยไปเฉลี่ยมาไม่พอเฉลี่ยก็เลยสร้างบ้านเพิ่ม สองหลัง สามหลัง จนสุดท้ายมีสิบหลัง เปิดเป็น Scenery Resort คนมาพักเต็มตลอด แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข รู้สึกว่าผิดทางไปนิดนึง เลยปิดที่พักไปแต่แหล่งท่องเที่ยวด้านหน้าก็ยังอยู่
คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์
รีสอร์ทแห่งแรกของอำเภอสวนผึ้งคือสวนผึ้งแลนด์ สร้างเมื่อปี 2538 ต่อมามีบัวพัฒนาในปี 2540 แล้วก็มีชมดอยในปี 2541 หงษ์เหิรก็ตามมาในปี 2543 ในช่วงต้นๆก็ทำกันไปแบบมือสมัครเล่น เป็นลักษณะของ Homestay
มีการเปิดเขากระโจมในปี 2540 เริ่มมีคนรู้จักสวนผึ้งมากขึ้น 2545 มีคนเข้าเที่ยวสวนผึ้งเป็นชิ้นเป็นอัน รีสอร์ทเริ่มเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ปี 2545 ก็น่าจะมีซักสิบกว่าแห่ง
คุณพลกฤษณ์ สุขเกษม
ทำไมสวนผึ้งเลี้ยงแกะ? เดิมมีบ้านพักตากอากาศ มีทุ่งหญ้า ย้อนกลับไปว่ามีบ้านพักตากอากาศแต่ไม่มีรายได้ วัตถุประสงค์คือได้เงินด้วยแล้วก็สวยด้วย เคยปลูกต้นหอมมาก่อน ปลูก 45 วันกำไรแสนกว่าบาท ต่อมาลงทุนอีกคราวนี้ขาดทุนสี่ห้าหมื่นบาท เลยพบว่าในการทำการเกษตร ไม่สามารถควบคุมดินฟ้าอากาศและควบคุมราคาพืชผลไม่ได้
เลยคิดเลี้ยงแกะไว้ดูเล่น แต่คนผ่านไปผ่านมาก็หยุดดูกัน จอดรถกันยาวเหยียดเลย มีคนมานั่งปิกนิกกัน คิดว่าน่าจะเป็นกิจการได้ เป็นการท่องเที่ยวได้เลยพัฒนาเป็นฟาร์ม เพิ่มกิจกรรมต่างๆขึ้นมา แล้วปิดรีสอร์ทไป
กลุ่มออฟโรด
บนเขากระโจมมีทะเลหมอก มีเนินมหัศจรรย์ น้ำตกผาแดง และเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาตะนาวศรี
ที่นี่มีปัญหาเรื่องน้ำ มีการพบปะพูดคุยกันหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีข้อสรุป แต่ป่าไม่เหมือนเดิม ป่าเปลี่ยนแปลงไป
คุณอดิศัย หงษ์เหิรสถิตย์
หงษ์เหิรอยู่ลำน้ำภาชี มีปัญหาน้ำป่าทุกปี แต่เรารับมือได้ตลอด พวกที่มีปัญหาเพราะไม่รู้ทำเล เลยเสียหาย
เดิมมีน้ำใช้ตลอดปี แต่ปัจจุบันเดือนมีนาคม เมษายนน้ำจะแห้ง มีน้ำใช้แค่อาทิตย์ละ 2 วันคือวันอังคารกับวันพฤหัสฯ ส่วนราชการบอกว่าวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่เปิดเขื่อน จะเปิดให้เฉพาะเกษตรกรใช้ คุยกันก็รับเรื่อง แล้วก็เงียบหายไปเหมือนเดิม 8 ปี เปลี่ยนนายอำเภอไป 5 คน แต่ก็ยังเหมือนเดิม
นอกจากเรื่องน้ำ ยังมีปัญหาเรื่องที่ดิน เดิมเราเสียภาษี ภบท.5 ไปทำเรื่องที่ที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง ก็คิดว่า ภบท.5 ที่สวนผึ่งคงเหมือน ภบท.5 ที่ประจวบฯ ที่มีอยู่ มี สค.1
ในปี 45-46 ก็เริ่มมีข่าวว่าที่นี่เป็นที่ราชพัสดุ ต้องเช่า แล้วก็เงียบไป
ปี 48 ก็มีการรณรงค์ว่าช่วยเช่ากันหน่อย ใครไม่เช่าก็จะเป็นผู้บุกรุก ใครเช่าก็จะเป็นพลเมืองดีคือเป็นคนที่ไม่มีเจตนาบุกรุก พอเริ่มมีรีสอร์ทเกิดขึ้นเยอะๆก็กลายเป็นเรืองใหญ่เรื่องโตไป สรุปเรื่องของรีสอร์ท ในฐานะที่อยู่ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ยืนยันได้ว่ามากกว่า 70% ได้ก่อสร้างในที่ที่ชาวบ้านทำกินกันมาก่อนแล้ว ที่มีปัญหาคือ 30% ที่ไม่ทำในพื้นที่มีความลาดเอียงสูงบ้าง เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านไม่ได้ทำกินนานมากหรือไม่ได้ทำเลย ซึ่งแต่ละแห่งต้องพิสูจน์กันเอง เราก็ได้รับเกียรติเป็นผู้บุกรุกที่ราชพัสดุไป
คุณพลกฤษณ์ สุขเกษม
ผู้ประกอบการในยุคแรกๆที่มาสวนผึ้งคงไม่ต้องบุกรุกอะไรกัน ในยุคแรกๆมี่ที่ทำไร่ทำสวนกันเยอะมาก อยู่ติดถนน อยู่ใกล้ถนน ขับรถผ่านมาเห็นชาวบ้านทำกินก็ไปถามว่าที่ตรงนี้ขายได้มั๊ย ทำอะไรได้มั๊ย?
ในยุคหลังๆมา เนื่องจากที่ที่อยู่ในพื้นที่ราบหรือใกล้ถนนหมด ที่ไม่พอเพียงกันก็เลยต้องเริ่มหา choice ใหม่ ก็คือต้องขึ้นไปอยู่บนภูเขา ตอนหลังๆเลยมีเรื่องของการขึ้นภูเขาเยอะ พวกเราก็ไม่เห็นด้วย ภูเขาที่เห็นเขียวๆก็ไม่ใช่ป่าเหมือนเดิม แต่เป็นป่าไผ่ ป่าโล้นไปตั้งนานแล้วก่อนที่รีสอร์ทจะเข้ามาด้วยซ้ำ
คุณวิเชียร คุตตวัส
หลังจากป่าถูกโค่น เวลาจะฟื้นจะเริ่มมีต้นสาบเสือก่อน เสร็จแล้วจะเป็นกล้วย จากกล้วยก็จะเป็นไผ่ แล้วถึงจะเป็นไม้โต ไม้ยืนต้น ไม้เบญจพรรณ ภูเขาที่เห็นแถวนี้ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไผ่ แสดงว่าป่าเริ่มฟื้น ทิ้งไว้อีก 5 ปี 10 ปีต้นไม้ใหญ่จะเริ่มขึ้น ที่สำคัญคือต้องไม่มีใครไปบุกรุกต่อ
เขากระโจมมีปัญหา จะสามารถต่อต้านไม่ให้มีรถกระเช้าขึ้นไปอย่างที่ภูกระดึงพยายามจะทำได้ไหม? นักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา เสาร์อาทิตย์รถติด แล้วจะรักษาธรรมชาติที่นี่ไว้ได้ไหม?
กลุ่มออฟโรด
พวกเราอยู่ในพื้นที่ก็เป็นคนเล็กๆ แต่ก็พยายามอนุรักษ์กันตลอดเวลาจะต่อต้านไม่ให้มีการทำถนนหนทางที่จะขึ้นไป เป็นการทำลายธรรมชาติ แต่บางส่วนก็มีความจำเป็นภาครัฐ เขากระโจมก็มีส่วนในเรื่องความมั่นคงด้วย การจะรักษาไว้ก็ต้องใช้นโยบายในเชิงรุก ถ้าคนน้อยก็ต้องมีอาสาสมัครช่วยดูแลพื้นที่ จะได้ดูแลกันได้
…………
มีคนพูดว่า มีเชียงคาน ปาย และสวนผึ้งเป็นที่ที่ควรไปเที่ยวก่อนตาย
สื่อที่ช่วยประชาสัมพันธ์ก็สร้างปัญหาเหมือนกัน ที่บ่งแห่งก็เหมาะกับคนบางพวก บางคนไปแล้วไม่ชอบก็มี เสน่ห์ของสวนผึ้งอยู่ที่อากาศ เงียบ สงบ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 200 กม. สวนผึ้งควรจะเป็นเมืองเล็กๆ ไม่มีแสง สี เสียง เพราะเสน่ห์จะน้อยลง
ธุรกิจกับคนพื้นที่ หมู่บ้านนี้มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 780 คน แสดงว่าน่าจะมีคนไทยอยู่ประมาณ 1500 คนและมีชนเผ่าอีกประมาณ 2,000 คน มี 19 รีสอร์ท ไม่มีคนตกงาน รีสอร์ทต้องรับสมัครคนทำงานตลอด
« « Prev : พูดคุยกับอาจารย์จิราพร บุนนาค
Next : เสวนากับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว - สวนผึ้ง- 1 » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สวนผึ้งโมเดล -1"