ภูมิปัญญาท้องถิ่น: ต้นทุนทางสังคมไทยในการจัดการความขัดแย้ง(2)
อ่าน: 2233กรณีศึกษา: ป่าชุมชน
พ.ศ. 2532 เหตุเกิดที่ บ้านห้วยแก้ว อุทยานแห่งชาติป่าแม่ออน อ.สันกำแพง จ. เชียงใหม่
ชาวบ้านที่บ้านห้วยแก้วกิ่ง อ.แม่ออน รวมพลังคัดค้านนายทุนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ป่าสาธารณะเพื่อปลูกสวนป่าเศรษฐกิจจุดกระแสการเรียกร้องกฎหมายป่าชุมชนเป็นครั้งแรก และนำเสนอนโยบายสาธารณะ ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ทำให้เกิด พรบ.ป่าชุมชนขึ้น เป็นการใช้ภูมิปัญญารักษาป่า
ภูมิปัญญาของชาวบ้าน รวมทั้งปกาเกอะญอก็มีความคิด ความเชื่อที่จะดูแลรักษาป่า
……เราอยู่กับป่ามาหลายสิบปี มีภูมิปัญญา ความเชื่อ ที่จะรักษาป่า แล้วนำมาตั้งเป็นกฏ ระเบียบป่าที่เป็นรูปธรรม เป็นป่าชุมชน
กรณีศึกษา: ภาคใต้ ป่าพรุคันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
ตัวอย่างท่านพุทธทาสรักษาป่า ธรรมะคือธรรมชาติ พระเจ้าคือธรรมชาติ ป่าคือธรรมชาติ ความศักดิ์สิทธิ์ คนทำให้ศักดิ์สิทธิ์ บริบทที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์คือคน
ป่าพรุคันธุลีเดิมเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำ พืชพรรณ สัตว์น้ำและสัตว์ป่า ต่อมามีปัญหาทั้งจากการใช้ประโยชน์ของชาวบ้านและทางราชการ นับตั้งแต่การให้สัมปทานไม้เพื่อทำไม้หมอนรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ชาวบ้านก็อพยพเข้าจับจองพื้นที่ป่าพรุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470-2505 มีการทำลายป่าพรุอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งทำลายป่าพรุไปมากกว่าครึ่ง
พ.ศ. 2533 มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านเพื่อปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน มีการตัดไม้เพื่อสร้างศูนย์วิจัยยาง ส่งผลต่อการลดลงของน้ำและทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพของป่าพรุ
ชาวบ้านจึงเริ่มมีแนวคิดที่จะรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำพรุคันธุลี ซึ่งมีพื้นที่ 875 ไร่ อาศัยแนวธรรมะคือธรรมชาติของท่านพุทธทาส โดยคุณจันทโชติ ภู่ศิลป์ เป็นแกนนำก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์พรุขึ้นมา เริ่มทำกิจกรรมฟื้นฟู เริ่มจาก
- ชุมนุมขับไล่นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินบริเวณพรุออกไปจากพื้นที่ในปี พ.ศ. 2534
- ร่วมกันขุดคูน้ำจากคลองส่งน้ำของโครงการเร่งรัดพัฒนาชุมชนเข้ามาเก็บไว้ในพรุ
- วางแผนอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำพรุคันธุลี
- เป็นแกนกลางในการติดต่อระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงามที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าพรุ
- ปลูกจิตสำนึกแก่ชาวบ้านและเยาวชนที่อาศัยอยู่รอบๆพื้นที่ชุ่มน้ำพรุคันธุลี
ในปี พ.ศ. 2540 มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย พบพรรณพืข 36 ชนิด พรรณปลา 29 ชนิด สัตว์ป่า 98 ชนิด นกประเภทต่างๆมากถึง 50 ชนิด พบหอยทาก 2 ชนิดที่ไม่มีรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน
ปัจจุบันป่าพรุคันธุลีเป็นเป็นแหล่งศึกษาด้านธรรมชาติวิทยา ในฐานะที่เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำของภาคใต้ตอนบน มีหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา เรื่องป่าพรุคันธุลีในโรงเรียนท่าชนะและเยาวชนในท้องถิ่นของตัวเอง
อีกกรณีหนึ่งของภาคใต้คือพื้นที่อ่าวปัตตานี
อ่าวปัตตานีซึ่งมี 30 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 50,000 คน เดิมก็มีความอุดมสมบูรณ์มาก ต่อมาก็เริ่มมีเรืออวนรุนอวนลากเข้ามา เกิดผลกระทบต่อจำนวนสัตว์น้ำมาก รวมทั้งปัญหาโรงงานอุตสาหกรรม การทำลายระบบนิเวศน์ชายฝั่งเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ทำอวนลากซึ่งมีฝ่ายราชการบางหน่วยงานและนายทุนหนุนหลัง กับกลุ่มที่ทำประมงพื้นบ้านตามวิถีเดิมที่มีกรมประมงคอยช่วยเหลือ
จนในที่สุดชุมชนก็แตกสลายเพราะจับปลาไม่ได้ มีการอพยพไปประกอบอาชีพในพื้นที่อื่นรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน(มาเลเซีย)
ปัจจุบันชาวบ้านก็เริ่มหันกลับมาแก้ปัญหาใหม่ ด้วยการปลูกจิตสำนึก ศึกษาเรื่องราววัฒนธรรมชุมชน ใช้ลิเกฮูลู เป็นสื่อชาวบ้านเพื่อปลูกจิตสำนึก นำไปสู่การมีเครือข่ายฟื้นฟูอ่าวปัตตานี ใช้ภูมิปัญญาเป็นสื่อในการปลูกจิตสำนึก
เริ่มจากเครือข่าย 13 ชุมชน แล้วจะขยายอีก 22 ชุมชน
……….นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กลุ่มหนึ่ง นำโดย อ.นุกูล รัตนดากูล ได้ร่วมกันทำวิจัยลุ่มน้ำสายบุรี ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำหรับคนในพื้นที่ยะลา นราธิวาส และปัตตานี
“ชาว บ้านที่นี่ยังมีความผูกพันอยู่กับความเชื่อทางศาสนาอยู่มาก และวิถีชีวิตของพวกเขาเชื่อมโยงอยู่กับธรรมชาติ แต่เพราะความบริสุทธิ์ของพวกเขาทำให้กลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ อยู่เสมอ” การคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านในชุมชนมาหลายสิบปี ทำให้ อ.นุกูลเข้าใจและเข้าถึงชาวบ้านเป็นอย่างดี “เหมือนนิทานเรื่องม้าอารี พอชาวบ้านยอมให้คนนอกเข้ามา แต่ในที่สุดตัวเองก็อยู่ไม่ได้ ที่เห็นเป็นตัวอย่างคือ เรื่องการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอย ที่เอาที่ส่วนรวมของชุมชนไปใช้ สุดท้ายก็ตกไปเป็นของนายทุน”
แม้การ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของทุกที่ทั่วประเทศไทยจะตกอยู่ในอาการเดียวกัน แต่ อ.นุกูลมองว่าในส่วนของแม่น้ำสายบุรียังถูกทำลายน้อยกว่าแม่น้ำสายอื่น เนื่องจากมีเงื่อนไขบางประการที่ช่วยปกป้องเอาไว้
“การจัดการฐาน ทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ การที่ภาครัฐจะเข้ามาดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดควรให้ชุมชนเข้าไปมีส่วน ร่วม และกลไกของรัฐต้องปรับวัฒนธรรมการทำงาน ที่สำคัญคือต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ไม่ใช่ทำงานกันแบบฉาบฉวย”….
จาก จากต้นน้ำสู่ปากอ่าว “สายบุรี” ลัดเลาะชุมชนมุสลิมมลายู(จบ)
โดย ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com
อีกกรณีหนึ่งจากอีสานคือเรื่องเกลือโปแตซ
เกลือมีความสำคัญต่อมนุษย์มาก บางคนเรียกเกลือเป็นทองคำขาว
- สมัยโรมัน ใช้เกลือเป็นค่าจ้างทหาร (บางคนว่า Salary มาจากคำว่า Salt)
- สมัยก่อนมีพ่อค้าที่เดินทางในทะเลทรายจำนวนมาก ราคาเกลือแพงพอๆกับทองคำ
- ประเทศฝรั่งเศส(สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) มีเหตุการณ์วุ่นวายเนื่องจากเก็บภาษีเกลือสูงเกินไป
- อินเดีย สมัยที่อังกฤษปกครองอยู่ ห้ามคนอินเดียทำเกลือ คานธีเลยประท้วงอย่างสงบจนเป็นเอกราชพ้นจากการปกครองของอังกฤษ
- ในสงครามกลางเมืองของอเมริกา ฝ่ายเหนือคุมโรงงานผลิตเกลือได้ เป็นเหตุให้ชนะสงคราม
- สมัยอยุธยา สนธิสัญญาเบาว์ริง รัฐบาลสยามสงวนสิทธิในการส่งออก ข้าว เกลือและปลา ถ้าเห็นว่าจะขาดแคลน
อาณาจักรเกลือในดินแดนอีสาน คือหลักฐานที่ห้วงทะเลได้ฝากทิ้งไว้ ราว ๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว น้ำทะเลที่ไหลท่วมดินแดนแห่งนี้ได้ถูกปิดกั้นด้วยเทือกเขา การยกตัวของเทือกเขาภูพานตอนกลางของภาค ได้ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนอีสานเป็น ๒ ส่วน มีลักษณะเป็นแอ่งคล้าย ๆ ก้นกะทะ ประกอบด้วย ส่วนที่อยู่ทางเหนือเรียกว่า “แอ่งสกลนคร” และส่วนทางตอนใต้ที่เรียกว่า “แอ่งโคราช”
ขอบแอ่งที่ยกตัวขึ้นนั้นก็ได้กั้นให้เกิดเป็นทะเลปิด น้ำทะเลที่ถูกขังอยู่ใน “แอ่ง” นานวันเข้าน้ำเค็มเหล่านี้ก็ถูกแสงแดดแผดเผาจนเหลือเป็นเพียงตะกอนเกลือหิน และ แร่โพแตชที่เป็นแร่ที่พบไม่กี่แห่งในโลกอยู่บนแผ่นดิน และจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาตลอดเวลาน้ำบาดาลก็ได้กัดเซาะโดมเกลือ (dome) ใต้ดินจนทรุดตัวลงกลายเป็นทะเลสาบต่างๆ ดังนั้นหากพบหนองน้ำหรือทะเลสาบที่ไหนในภาคอีสาน เช่น บึงกาฬ (หนองคาย) หนองหาร ( สกลนคร) และหนองหาน ( อุดรธานี) จึงให้สันนิษฐานได้ว่าข้างล่างเป็นโดมเกลือนั้นเอง
“ผลึกเกลือ” อันเกิดขึ้นจากการเกาะเกี่ยวกันอยู่ระหว่างโมเลกุลของโซเดียมกับคลอไรด์ (NaCI) นี้ มนุษย์รู้จักมันมานานนับพันๆปี ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ เกลือเป็นสิ่งมีค่ายิ่งนอกจากเป็นแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกายที่ช่วยรักษาสมดุล ในร่างกายแล้ว เกลือยังมีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนไม่น้อย เช่น น้ำปลา สบู่ ผงชูรส น้ำหอม ฟอกสีกระดาษและสิ่งทอ การฟอกหนัง ทำวัตถุระเบิด ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและรถยนต์ อุตสาหกรรมด้านอาหาร ทำฝนเทียม เป็นต้น
จาก แอ่งเกลือ ขุมทรัพย์อีสาน โดยบัวอีน
นอกจากนี้ ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของแร่โปแตชคือ การนำไปสกัดให้ได้เป็นโพแทสเซียมในการผลิตปุ๋ย ซึ่งมีค่ามหาศาล
ภาพ Pimai Salt Mining;โรงงานเกลือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอยู่ที่โคราชที่อำเภอพิมาย
ที่มา www.nesac.go.th
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เรียกร้องให้ยุติบทบาทกรรมการแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ
ภาคอีสานเป็นแหล่งที่มีเกลือและโปแตซมาก แต่การนำมาใช้ประโยชน์ก็จะก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างมากมายเช่นกัน ก็เป็นปัญหาที่ท้าทายในอนาคต
เราจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ปัญหานี้ได้ไหม?
เราจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม พูดคุยกันว่าจะนำทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลนี้มาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างไร?
กระบวนทัศน์ทุนนิยม โลกาภิวัฒน์ หรือวิถีตะวันตกจะมองโลกแบบแยกส่วน มองเป็นการแข่งขัน ผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะอยู่รอด เชื่อว่าวิทยาศาสตร์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ยอมรับว่าทฤษฎีความรู้เหนือกว่าสิ่งใด เชื่อเรื่องการรวมศูนย์อำนาจ และมีวิวัฒนาการเป็นเส้นตรง มุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
ส่วนกระบวนทัศน์ชุมชนาภิวัฒน์ หรือวิถีตะวันออก จะมองตรงข้าม คือมองโลกเป็นองค์รวม เชื่อในความร่วมมือ ประสานเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ เชื่อในวิถีปฏิบัติ เชื่อในการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน และเน้นความสำคัญทางจิตวิญญาณ
แต่อาจารย์ก็สรุปว่า คงต้องดำเนินไปโดยยึดทางสายกลาง ประยุกต์ใช้ทั้งสองทาง
« « Prev : ภูมิปัญญาท้องถิ่น: ต้นทุนทางสังคมไทยในการจัดการความขัดแย้ง
Next : เปิดเวทีพูดคุยกับอาจารย์บัณฑร อ่อนดำ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น: ต้นทุนทางสังคมไทยในการจัดการความขัดแย้ง(2)"