ที่ว่าปฏิบัตินั้นทำอย่างไร ?

โดย จอมป่วน เมื่อ 31 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:17 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 1505

ในการเรียนรู้ มีหลายแนวทาง หลายทฤษฎี แต่ทุกแนวทางก็จะมีขั้นตอนการเรียนรู้เหมือนๆกัน

อ่านพหูสูต มงคลที่ ๗ ก็จะมีขั้นตอนให้ฟังหรืออ่านมากๆ จำได้ ท่องได้ไม่ลืม ใส่ใจนึกคิดตรึกตรองจนเข้าใจปรุโปร่งหมด เข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ต้องฝึกสมาธิอย่างจริงจัง จนเกิดปัญญา รู้เห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง

การเรียนรู้ก็มุ่งที่จะให้มีการปฏิบัติจนเข้าใจแจ่มแจ้ง

ถ้าเราแบ่งความรู้เป็น Hard side กับ Soft side

ความรู้ด้าน Hard side คงเข้าใจง่ายว่าปฏิบัตินั้นหมายถึงอะไร ?

เราเรียนเรื่องเกษตรกรรม รู้ทฤษฎีหมด แต่ไม่เคยปลูกเองเลย ก็ถือว่าเป็นเกษตรกรกระดาษ มือไม่เปื้อนดิน

เราเรียนหลายๆเรื่อง แต่ไม่เคยออกนอกห้องเรียนเลย แม้กระทั่งครู อาจารย์ที่สอนก็เป็นเสือกระดาษ แล้วคนเรียนจะเป็นอย่างไร ?

มาดูด้าน Soft side กันมั่ง ภาษาฝรั่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นคำว่า Spiritual รึเปล่า ? ภาษาไทยก็ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำว่า จิตวิญญาณ จริยธรรม หรือคุณธรรม

ด้านทฤษฎีก็มีมากมาย ทั้งที่เป็นความรู้ทั่วๆไปไม่เกี่ยวกับศาสนา หรือจะเกี่ยวข้องกับศาสนา ก็คงมุ่งสอนให้คนเป็นคนดี อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข รู้จักปล่อยวาง รู้จักสาเหตุแห่งทุกข์และวิธีดับทุกข์ ก็อ่านกันไป ฟังกันไป จนจำได้ เอาไปพูดต่อได้เป็นคุ้งเป็นแคว(ไม่รู้เข้าใจรึเปล่า?)

แต่สงสัยเหลือเกินว่า ไอ้ที่ว่าต้องปฏิบัติจึงจะรู้ เข้าใจ ต้องทำเอง ไม่ทำก็ไม่รู้ ทำกันอย่างไรครับ ?

ใครรู้ช่วยแนะนำหน่อยครับ นึกว่าเอาบุญ ………

Post to Facebook Facebook

« « Prev : ทำให้อยากแล้วจากไป

Next : ปล่อยวางหรือโยนทิ้งดี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 เวลา 12:12

    เฮียตึ๋งมาแนวหนักนะวันนี้..

    ผมอยากลองแลกเปลี่ยนนะครับ แต่ไม่ทราบว่า “…ไอ้ที่ว่าต้องปฏิบัติจึงจะรู้ เข้าใจ ต้องทำเอง ไม่ทำก็ไม่รู้ ทำกันอย่างไรครับ ?”…

    ประโยคนี้หมายถึงการปฏิบัติธรรม หรือการปฏิบัติทางการเกษตร หรือด้านไหน หรือด้านไหนๆก็ได้…??

    ผมจะลองแลกเปลี่ยนก็แล้วกัน

    ปี 2521 ช่วงที่ทำงานที่สะเมิง พ่อแม่อยากดูผ้าเหลือง เราก็เลือกที่จะบวชในสายพระปฏิบัติ ธรรมยุต ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธรรมธโร ที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม สุพรรณบุรีรอยต่ออ่างทอง เพราะใกล้บ้าน พระอาจารย์ก็เทศนายกแรกเลยว่า มาอยู่สำนักนี้ ไม่ต้องหอบหนังสือมา ห้ามใส่แว่นตาดำ ห้ามใส่รองเท้า ห้ามอ่านหนังสือพิมพ์ ห้ามติดต่อกับญาติโยมเอง ..ฯลฯ…หากจะทำอะไรพิเศษให้มาหาอาจารย์ ปรึกษากันก่อน เวลาทั้งหมดทุ่มเทกับการฝึกฝนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน…

    พระแต่ละรูปมีถ้ำ(สร้างขึ้น)ทุกองค์ พักอาศัยรูปเดียว กิจวัตรคือตื่นตี 4 ชำระร่างกายแล้วเตรียมตัวออกบิณฑบาตกับพระอาจารย์และพระรูปอื่นๆนับร้อย ระหว่างเดินมีข้อปฏิบัติมากมาย สรุปแล้วให้สำรวมในสมณะรูป สายตามองไปข้างหน้าเท่านั้นในระดับแอกเทียมโค ไม่วอกแวก ดูโน่นนี่ แม้จะได้ยินเสียงอะไรก็ให้สำรวมสติให้เรียบร้อยสมกับเป็นนักปฏิบัติให้มากที่สุด… เดินบิณฑบาตก็เข้าไปในตลาดใหญ่ๆเช่น ตลาดวิเศษชัยชาญก่อนไฟใหม่ครั้งใหญ่ ตลาดสามชุก ตลาดบางปลาม้า อู่ทอง ฯลฯ โอย..แค่นี้ก็ทรมานตัวเอง กว่าจะสงบได้นับเดือนเลย แต่เป็นภาพที่สวยงามมากๆ ญาติโยมเห็นก็ก้มกราบกันทั้งนั้น สำรวม นิ่งเงียบสง่า… สำนักสงฆ์แห่งนี้มีข้าวของศรัทธามาก ทุกครั้งที่บิณฑบาตสายไหนๆ ญาติโยมจะถวายข้าวสารยกกระสอบๆทุกครั้ง

    กลับมาสำนักฉันท์มื้อเดียว แล้วเวลาที่เหลือก็เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทั้งวันทั้งคืน รุ่งเช้าก็เอาใหม่เช่นนี้

    ตกกลางคืนทุกคืนพระอาจารย์จะจัดประชุม คล้ายๆ Dialogue ท่านจะเทศน์สั้นๆย้ำเตือนในสิ่งที่ควรพึงปฏิบัติ ท่านเห็นพระรูปใดบกพร่องตรงไหนก็สั่งสอน อบรม แล้วท่านก็เปิดเวทีให้พระทุกรูปสอบถามข้อปฏิบัติต่างๆว่าทำแล้วมันมีข้อสงสัยตรงไหน ระหว่างปฏิบัติเกิดอะไรขึ้น พบอะไร เห็นอะไร ได้ยินอะไร มาเล่าสู่กันฟังแล้วท่านก็จะวินิจฉัยพร้อมสั่งสอน แนะนำต่อไป ที่สำนักนี้เน้นมหาสติปัฏฐาน 4

    ผมก็เฝ้าปฏิบัติตามที่พระอาจารย์แนะนำ สั่งสอน ในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนนั้น ท่านให้ปฏิบัติให้หนักที่สุด ท่านกล่าวว่า เพียงสามเดือนนั้นสั้นนัก จิตใจเธอถูกโลกฝึกมาตั้งกี่สิบปีมาแล้วล่ะ จะใช้เวลาเพียงสามเดือนฝึกเพื่อปลดเปลื้องออกนั้นต้องตั้งใจจริงๆ ทุ่มเทจริงๆ ดังนั้น จะไม่รับนิมนต์ใดๆ ยกเว้นพระอาจารย์เห็นชอบ.. พระบางรูปปวารณาตัวเองฝึกแบบเข้มข้นโดยระหว่างเข้าพรรษาจะไม่พูดกับใครเลย ยกเว้นตอนไปฟังพระอาจารย์ใหญ่จัด Dialogue เท่านั้น

    ต่อประเด็นที่ว่า “…ไอ้ที่ว่าต้องปฏิบัติจึงจะรู้ เข้าใจ ต้องทำเอง ไม่ทำก็ไม่รู้ ทำกันอย่างไรครับ ?”… ผมพบว่า

    · ธรรมคือเครื่องค้ำจุนโลกจริง เพราะหากมวลมนุษย์โลกต่างประพฤติธรรม สังคมอยู่รอด สรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสุขทั่วหน้า

    · จิตใจที่มีธรรมเป็นเครื่องห่อหุ้มนั้นฝึกยากยิ่งสุดยอด นั่งสมาธิเดี๋ยวเดียว เรื่องทางโลกก็แวบเข้ามา ดึงเอาจิตเราออกตะเลิดเปิดเปิงไปไหนๆก็ไม่รู้ กว่าจะรู้ตัวเวลาก็ผ่านไปนานแล้ว ดึงกลับมาเดี๋ยวก็ไปอีก ยิ่งมีคุณสมบัติทางโลกมากยิ่งกักขังจิตยากมากๆ อุบายต่างๆทางธรรมจึงมีมากมาย สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ให้ถูกคนถูกจริตคนคนนั้น

    · เมื่อสัมผัสความสงบ แม้เพียงเสี้ยวส่วน นิ่ง เย็น ใส สว่าง ก็สุขจนน้ำตาไหลอย่างไม่รู้ตัว

    · พระบางรูปพึงปฏิบัติการนั่งสมาธิมากๆ เพราะถูกจริต พระบางรูปพึงการเดินสมาธิเพราะถูกจริต พระบางรูปพึงเหยียดและคู้แขนเช่นนั้นนานเป็นชั่วโมงเป็นวันสลับซ้ายขวาไปมา เพราะถูกจริตท่าน

    · การปล่อยวาง แค่นี้ก็ฝึกอย่างมหาศาลแล้ว ฝึกให้เราสร้างจิตสำนึกใหม่ว่า “สักแต่ว่า..” คำนี้ต้องอธิบายให้ดีนะ คาบลูกคาบดอกจะเข้าใจผิดไปใหญ่.. สักแต่ว่ามันเป็นของเรา แต่มันไม่ใช่ของเรา มันก็เป็นเช่นนั้นเอง.. อย่าไปมัดมา อย่าไปผูกมา อย่าไปโอบรัดมาว่าเป็นของเรา.. แต่พึงปฏิบัติตามหน้าที่ที่พึงควรปฏิบัติ

    · การปล่อยวางต้องสร้างขึ้นข้างใน แล้วจะส่งผลออกมาภายนอกในหลายๆรูปธรรม เช่น ไม่สะสมใดๆด้วยคุณค่าทางโลก แต่มี เพราะควรมี มีเพราะจำเป็นต้องมี เพียงแค่นั้น

    · ฯลฯ

    ดังนั้นพระปฏิบัติจึงชอบปลีกวิเวกเพราะสร้างองค์ประกอบตัวเองให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม เพราะเข้าใจจิตตัวเองดีว่าเดี๋ยวเงื่อนไขทางโลกก็จะพากลับมาเป็นแค่คนห่มผ้าเหลืองเท่านั้น…

    ผมลดตัวเองมาจากผู้ปฏิบัติมาเป็นเพียงผู้ฝักใฝ่ในธรรม และใช้ชีวิตทางโลก แต่ด้านในเตือนตัวเองบ่อยๆ หากหลุดก็ดึงกลับมา จะไม่ปล่อยให้หลุดลุ่ย…

    เฮียตึ๋ง ผมไม่ได้แลกเปลี่ยนแบบตรงๆนะ เอาแบบนี้แหละ..

    แต่สิ่งหนึ่งที่เทียบเคียงกับประเด็นของเฮียตึ๋งก็คือ ธรรมมะนั้นมีตัวแบบให้เทียบเคียงได้เพราะมีหลักของพุทธองค์สั่งสอนไว้ มีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเดินไปก่อนแล้ว เราผู้ตามหลังสามารถเดินทางลัดได้

    · อยากฝึกจิตก็ฝึกเลย

    · มีกระบวนวิธีหลายอย่าง ถูกจริตด้วยกระบวนวิธีแบบไหนตัวเองรู้เอง

    · ฝึกไปมีคำถามไป ก็ไปถามพระอาจารย์ ถามรุ่นพี่ๆ ทางโลกก็ค้นคว้าหาผู้รู้มาแลกเปลี่ยน ตอบคำถาม

    · เราเองผู้ปฏิบัติจะบอกได้ว่าอย่างไร เหมือนเรากินอาหารจึงจะบอกได้ว่ารสชาติอาหารเป็นอย่างไร ไม่กินก็ไม่รู้ ส่วนคำอธิบายออกมาอย่างไรขึ้นกับตัวคนนั้นเองว่ามีคุณสมบัติหล่อหลอมมาอย่างไร คำอธิบายจะพิสดารเพียงไรก็ขึ้นกับผู้นั้น ซึ่งไม่เหมือน หรือต่างจากผู้อื่น หรือใกล้เคียงกับผู้อื่นก็ขึ้นกับตัวผู้นั้นเอง

    · ผู้ปฏิบัติจึงเป็นผู้ที่สัมผัสได้ถึงความเป็นจริงคืออะไร การสัมผัสนี้เราเรียกญาณชนิดหนึ่ง ผู้ไม่ปฏิบัติก็เป็นเพียงเอาหลักการมาอธิบายเท่านั้น มันแห้งๆ

    เฮียตึ๋งหากไม่เข้าท่า ก็ขออภัยด้วยนะครับ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 เวลา 12:13

    ขยะข้างบน เฮียตึ๋งช่วยแก้ไขหน่อยนะครับ

  • #3 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 เวลา 20:25
    ขอบคุณมากครับ  หมัดตรงเลยครับ 
    มีใครเพิ่มเติมอีกครับ  วิธีอื่นๆครับ  อิอิ
    คนแสดงความคิดเห็น  เขียนยาวกว่าคนถามมากเลย  ดื่มน้ำเย็นๆสักแก้วมั๊ยครับ  คอคงแห้ง  อิอิ
  • #4 sompornp ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 สิงหาคม 2009 เวลา 22:03

    พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นนักต่อสู้
    ท่านไม่ให้วิ่งหนี
    ยิ่งหนียิ่งมองไม่เห็นทาง

    น้าบอกตัวเองว่าสมาธิสั้น นั่งสมาธิไม่ได้
    บอกตัวเองมาสี่สิบกว่าปี
    ไหนลองปฏิบัติดูสิว่ามันจริงไหม
    ตอนนี้ก็ไปวัดสวดมนต์ทุกวัน นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังหลวงพ่อเทศน์
    มันก็ทำได้
    ….
    ไอ้ที่เราวิ่งหนีมาครึ่งค่อนชีวิต จริง ๆ เราวิ่งหนีตัวเอง วิ่งหนีในสิ่งที่สมมุติขึ้น
    ตอนนี้ก็ลองปฏิบัติดู ถามว่าปฏิบัติแล้วได้อะไร
    “ได้ออกกำลังใจค่ะ”
    เราออกกำลังกายทุกวัน จากการทำงาน จากการเดินทาง จาก ฯลฯ
    แต่เราไม่ค่อยได้ออกกำลังใจเลย
    ตอนนี้เป็นโอกาสค่ะ
    ได้อะไรอีกไหม
    ได้แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีก
    ตอนนี้ “ได้ใจ” ตัวเองกลับมาค่ะ
    อิอิอิ

  • #5 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 สิงหาคม 2009 เวลา 23:27
    #4 น้าอึ่งอ๊อบ
    น้าอึ่งเล่าได้ชัดเจนมากนะครับ  เราสร้างกรอบหรือกำแพงต่างๆขึ้นมาเอง  ซึ่งเป็นเรื่องสมมุติ
    ต้องฝึกที่จะทลายกำแพงหรือออกมานอกกรอบ   หรือฝึกเดินทะลุกรอบ  ทะลุกำแพงดื้อๆเลยก็ได้นะครับ  อิอิ
  • #6 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 10:39

    มาสนับสนุน พี่บางทราย และ น้าอึ่ง ค่ะ ชอบ การถ่ายทอดออกมามากๆค่ะ  การถ่ายทอดเรื่องหนึ่งๆขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายทอด และ ผู้รับ แต่การปฎิบัตินั้นคือการรับตรง เปรียบเทียบกับเรื่องมะรุม  เราเรียนรู้จากบทความ จากคำบอกเล่า เราได้ข้อมูล ได้ข้อคิด ได้ความรู้ ในรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราได้ลงมือปลูกและดูแลเรารู้จริงเรื่องการเกิด การโต การเจริญ การขยาย ถ้าเราได้ใช้ ได้ทานมะรุม เรารู้จริงว่ามะรุมเป็นอย่างไร มีฤทธิ์ อย่างไร การเรียนรู้และการปฎิบัติส่งเสริมกัน

    ในการดำเนินชีวิต ได้เรียนจากสื่อต่างๆว่า พระท่านสอนว่า  ทุกอย่างเกิดจากจิต  เริ่มจากจิต  เราจะทำอะไรอย่างไร  จิตเป็นตัวเริ่ม เริ่มคิดดี ทำดี เริ่มคิดชั่ว ทำชั่ว  หลักการคือ จิตไม่อยู่นิ่งจะสัดส่ายไปอยู่เรื่อย  เหมือนน้ำจะคงรูปได้ต้องมีภาชนะ ต้องมีการกักเก็บ ไม่เช่นนั้นจะไหลไปสู่ที่ต่ำ การฝึกปฎิับัติเรื่องนี้คือตามดูจิต  ให้รู้สติเสมอ  การรู้สติ เสมือนการส่องไฟไปยังที่มืด เมื่อส่องไฟไป ความมืดก็หายไปในทันใด ท่านจึงให้รู้สติเสมอๆ

    อีกประการคือ จิตจะรับรู้ทีละหนึ่ง แวบหนึ่งของจิตจะมีสิ่งเดียวแต่จิตเปลี่ยนไปได้เร็วมาก ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติคือดึงจิตกลับมา ในขณะจิตหนึ่งจะหลุดจากอีกสิ่งหนึ่งได้ในขณะจิตนั้น  หลังจากนั้นคือความเพียรว่าจะดึงจิตกลับมาได้บ่อยเท่าใด  ปล่อยออกไปบ่อยเท่าใด

    การปฎิบัติต่อจิต  ท่านบอกว่า  เหมือนเราอยู่ในบ้าน ทุกสิ่งล้วนเกิดอยู่นอกบ้าน ถ้าเราไม่วิ่งออกไป สิ่งใดผ่านมา ก็ผ่านไป  ให้เราปฎิบัติต่อสิ่งนั้นๆตามหน้าที่ ที่ควรปฏิบัติ แต่จิตใจยังตั้งมั่นอยู่ในที่ควร 

    มารายงานตามที่ได้เรียนรู้มานะคะ  แต่ยังฝึกอยู่ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยังไม่ได้เก่งค่ะ

  • #7 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 17:40
    ขอบคุณป้าหวานมากครับที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
    เมื่อวานนั่งรถจากพิษณุโลกไปลงเรือไปเกาะเต่าที่ชุมพร  ยืมหนังสือจากห้องสมุดไม่ทัน  เพื่อนให้หนังสือของท่านพุทธทาสมาอ่าน  ท่านสอนว่าศึกษาพุทธศาสนาต้องเริ่มต้นที่อินทรีย์ ๖  แล้วต้องปฏิบัติ  ไม่ใช่ไปเริ่มที่ศึกษาพุทธประวัติ  ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมของอินเดีย  ถ้าผิดทาง  ยิ่งศึกษาก็ยิ่งห่างพุทธศาสนาครับ  อิอิ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.94119596481323 sec
Sidebar: 0.35004281997681 sec