หัดล้มก่อน
อ่าน: 2253สมัยที่เป็นเด็กเล่นยูโด อันดับแรกเลยก็ต้องฝึกตบเบาะ(ฝึกล้มให้ถูกวิธี)อยู่นานมาก จนคล่องแคล่วดีแล้วถึงเริ่มฝึกขั้นต่อไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการฝึกขั้นต่อไป
ไปอ่านโครงการฝึกอบรมเสือภูเขามือใหม่ ครั้งที่ 1 ในร่มธรรมไบค์ ของ อ. วรภัทร์ ภู่เจริญ ก็มีการสอนการล้มที่ถูกวิธีก่อน เพื่อความปลอดภัยในการที่จะฝึกหัดขี่จักรยานในระดับที่ยากขึ้น ท่านที่สนใจก็ติดตามศึกษาได้นะครับ ดีมากๆขอบอก
ก็เลยเกิดสงสัยขึ้นมาว่าแล้วเรื่องอื่นๆ เรื่องของชีวิต เราไม่ฝึกหัดให้พบกับความล้มเหลว ความผิดพลาดเลยหรือ ?
เราสั่งสอนกันมาให้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง นั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่บ้าน ที่โรงเรียน ในสังคม เราสอนเรื่องความล้มเหลว ความผิดพลาดกันอย่างไร ?
เราทำผิดไม่ได้ การทำอะไรผิดพลาด ล้มเหลว ไม่สำเร็จเป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องเลวร้ายมาก ไม่สามารถให้อภัยได้ ?
เราถึงปกปิดความล้มเหลว ความผิดพลาด ?
เราจึงไม่เรียนรู้จากสิ่งที่เราทำผิดพลาด ? หรือขาดโอกาสที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่น?
เราควรจะสั่งสอนกันใหม่ไหม ? ให้ระวังอย่าทำอะไรผิด รู้จักผิดชอบชั่วดี แต่ทว่าถ้าเกิดผิดพลาด ล้มเหลว ไม่สำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ? เรารู้จักยอมรับความผิดพลาดของเราเองและของผู้อื่น พร้อมที่จะเข้าใจ เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เราก็สามารถทำอะไรผิดเหมือนคนอื่น เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ไม่ถือสากัน พร้อมที่จะให้อภัยกัน เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่น
(ทั้งนี้ต้องยกเว้นบางเรื่องที่เป็นเรื่องร้ายแรงมากจริงๆ ที่สังคมต้องดำเนินการเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เช่นการทำผิดกฏหมายหรือผิดศีลธรรมที่ร้ายแรง ซึ่งก็คงต้องมีมาตรการต่างๆที่ต้องดำเนินการ แต่ก็ทำไปด้วยความเมตตา)
โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อย การที่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู อาจารย์ ตำหนิ ด่าว่า ลงโทษเด็ก จะทำให้เด็กกลัว ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวว่าจะทำผิด แล้วผู้ใหญ่จะไม่พอใจอีก ทำให้เด็กเริ่มสร้างกรอบหรือกำแพงขึ้นมา เป็นเหตุให้เด็กไทยคิดไม่เป็น ไม่กล้าที่จะคิดหรือทำอะไรใหม่ๆ พอโตขึ้นก็เลยเป็นผู้ใหญ่ที่คิดไม่เป็น ไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ กลัว เพราะมีกรอบหรือกำแพงที่พ่อแม่ ครู อาจารย์ สังคมมีส่วนให้เกิดการสร้างกรอบหรือกำแพงขึ้นมา แล้วก็ใช้วิธีแบบเดียวกันในการสั่งสอนเด็กๆ ทำให้เด็กเหมือนกับตัวเอง ทำต่อกันไปจากรุ่นสู่รุ่น
ก็คงไม่ใช่ใจดีจนไม่มีระเบียบ วินัยอะไรนะครับ ก็ต้องเลือกทางสายกลาง แต่การอบรม สั่งสอนเด็ก หรือการปฏิบัติต่อกันในสังคมน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นการปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความเข้าใจและการมองเห็นความผิดพลาดบางเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเหมือนการหัดล้มเพื่อให้สามารถเผชิญกับการล้มหรือความผิดพลาดที่ใหญ่โตขึ้นในอนาคตได้
ถ้าทำได้ การที่เด็กฆ่าตัวตายเพราะสอบไม่ได้หรือผิดหวังบางเรื่องก็คงจะลดลง การที่ผู้คนโกรธกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องหรือด้วยเรื่องเล็กน้อยก็คงจะน้อยลง คงทำให้คนในสังคมมีความสุขมากขึ้น โลกนี้ก็คงจะน่าอยู่ขึ้น
คำที่อยากพูด ” อะไรกันนักหนา….” (บางเรื่อง บางเวลา อิอิ )
….. โจรกลับใจ
6 ความคิดเห็น
เห็นด้วยยย..ค่ะ
แหม..เป็นบันทึกที่ชื่นชมและได้คิดต่ออีกแล้ว
สงสัยว่า การเป็นโจรมาก่อน ทำให้มองเห็นมุมนี้ได้ลึกซึ้ง
เอ๊..หรือต้องไปหัดเป็นโจรมั่งแล้ว…ฮ่า..ฮ๋า..
ครูใหญ่อยากเป็นโจร อิอิ
ชอบๆๆๆๆๆๆ ชอบมากๆค่ะ ป้าหวานคิดเหมือนพี่หมอเปี๊ยบเลย..555 ไม่ได้ลอก..
ตอนนี้ป้าหวานคิดว่า แนวโน้มการอบรมเด็กประเทศเรา พัฒนาในการให้อิสระมากขึ้น
แต่ยังติดตรง ข้อมูล วิธีการ ที่จะส่องทางไปในทางที่พึงประสงค์ค่ะ ต้องช่วยกันๆๆๆๆ
อิๆๆๆ หัดไว้บ้างก็ดีครับ จะได้แสดงเป็นเวลาเจอของจริงครับ ทำให้ผมนึกถึงการแสดงลีลาในสนามบอลของนักบอลจังครับ ฝึกล้มในสนาม
แต่การแก้ปัญญาหากต้องล้มจริงๆ ก็น่าเป็นของแท้เผลอๆ ได้รับแผลเต็มๆ ประทับตราไว้ในใจครับ อิๆๆๆ
ขอบพระคุณครับ
เคยฝึกฝนมาแล้ว เจอเข้าจริงๆก็จะสบายครับ ไม่เจ็บมาก หนักก็เป็นเบาครับ
สำคัญคือมีสติ ไม่ประมาท ไม่ตั้งใจทำชั่ว แต่ถ้าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็มีสติ ควบคุมสถานการณ์ได้ รู้จักเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นครับ อิอิ