Facilitation Lab - สถาบันพระปกเกล้า – 7 การเลือกและเตรียมผู้เข้าร่วมกิจกรรม
อ่าน: 14313จากกิจกรรมประชาเสวนาหาทางออก (Public Deliberation) ต้องพยายามหาผู้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาจำนวนที่เหมาะสมมากพอและ ต้องสุ่มอย่างมีระบบ นอกจากนี้ยังต้องเตรียมผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย มีการให้ความรู้ ข้อมูลที่จำเป็น ให้เข้าใจกิจกรรมที่จะทำว่าทำไปทำไม ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทำอย่างไร?
ไปร่วมประชุมเตรียมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่าย (constituency) แบ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายพื้นที่ และกลุ่มเครือข่ายภาคส่วนหลัก 3 ภาคส่วน (ภาคประชาสังคม, ภาควิชาชีพ/วิชาการ, ภาคราชการ/การเมือง) มีรายละเอียดอีกมาก เป็นความพยายามที่จะพัฒนากลุ่มเครือข่ายมาร่วมกิจกรรม เพราะทำกันมานานแล้ว
ในการจัดการอบรมสัมมนาก็ต้องมีกลุ่มเป้าหมายเหมือนกัน ต้องมีการเตรียมผู้เข้าร่วมอบรมเหมือนกัน ผู้เข้าร่วมสัมมนาควรจะชัดเจนว่าเป็นการสัมมนาเพื่ออะไร มีเป้าหมายอะไร ต้องมีพื้นฐานหรือต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
การอบรมในหลักสูตรสร้างเสริมสังคมสันติสุข ก็มีการคัดผู้เข้าร่วมการอบรมเหมือนกัน มีการกระจายกลุ่มเพื่อให้เกิดความหลากหลาย เกือบจำลองสังคมจริง ลุงเอก (พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ) พูดเสมอว่าถ้าคนเหมือนกันหมด กลุ่มเดียวกันหมด การเรียนรู้จะแตกต่างออกไปสู้กลุ่มที่แตกต่างหลากหลายไม่ได้
ประเด็นที่ต้องระวังอีกประการหนึ่งคือในการทำกิจกรรมหรือการอบรมบางอย่าง พื้นฐานความรู้และประสบการณ์ที่ต่างกันอาจเป็นปัญหาในการอบรมหรือทำกิจกรรม
เช่นจะคุยเรื่องพลังงาน,เรื่องการเมือง ฯ การสุ่มผู้เข้าร่วมดีในแง่ความหลากหลาย แต่อาจขาดความรู้ ความสนใจและความเข้าใจ มีการให้ข้อมูลและความรู้ก่อนก็ไม่สนใจหรือไม่ว่าง เวลาเสวนาก็จะมีปัญหาได้ ถ้ามีการเตรียมตัวมาก่อน เครือข่ายต่างๆจะคัดเลือกตัวแทนที่เหมาะสมเป็นตัวแทนที่จะเข้าร่วม เวลาพูดก็จะพูดในนามของกลุ่ม ไม่ใช่ในนามส่วนตัว เป็นต้น
การฝึกอบรมก็เหมือนกัน ความแตกต่างของประสบการณ์และความรู้ก็อาจจะเป็นปัญหาได้บ้างถ้าแตกต่างกันมากเกินไป จริงๆแล้วการอบรมแต่ละครั้งผู้เข้ารับการอบรมก็จะเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน ได้ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป บางคนมีประสบการณ์มาก่อน ได้รับความรู้หรือได้ประสบการณ์บางอย่างเพิ่มขึ้นก็ปิ๊งแว๊บขึ้นมาเลย หรือบางคนมีความรู้ทางทฤษฎีมาก่อนแต่ยังขาดประสบการณ์ ได้ทำกิจกรรมบางอย่าง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆที่เป็นผู้รับการอบรมด้วยกัน หรือโดนสะกิดด้วยคำพูดของวิทยากรกระบวนการก็เกิดปิ๊งแว๊บขึ้นมา แต่ละคนก็แตกต่างกัน
บางคนอาจจะปิ๊งแว๊บน้อยหรืออาจจะไม่ปิ๊งแว๊บอะไรเลยในการอบรม ความรู้และประสบการณ์ต่างๆก็ฝังลึกอยู่ในตัวพร้อมที่จะปิ๊งแว๊บต่อไปในอนาคต ถ้ามีจังหวะหรือโอกาสที่เอื้ออำนวย
วิทยากรบางท่านอาจกังวลในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
ยังมีประเด็นที่พี่หนิงจากเทศบาลนครพิษณุโลกพูดถึงการย่อยความรู้ไม่ทัน เพราะความรู้บางอย่างเป็นปัญญาปฏิบัติอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งที่ต้องผ่านประสบการณ์บางอย่าง ผ่านการฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะความเข้าใจก่อน ดังนั้นการฝึกอบรมที่ใช้เวลานานขึ้น เช่นเพิ่มเป็น 7 วัน 10 วันหรือ 15 วัน เพื่อให้มีความรู้มากขึ้นอาจไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สู้การจัดอบรมเบื้องต้นสัก 3-5 วันแล้วทิ้งช่วงสักพัก ค่อยอบรมขั้นกลางและขั้นสูงขึ้นหลังจากทิ้งช่วงให้เกิดการฝึกฝนจนเกิดทักษะและความเข้าใจสักระยะหนึ่ง
ความแตกต่างหลากหลายของผู้เข้ารับการอบรมก็มีผลดี แต่ก็อาจเป็นการเสียโอกาสของผู้เข้ารับการอบรมบางคนที่อาจไม่พร้อมรับหรือเกิดอาการย่อยไม่ทัน บางหลักสูตรถึงมีการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรืออาจต้องมีการสัมภาษณ์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมก่อน
« « Prev : Facilitation Lab - สถาบันพระปกเกล้า – 6 เรียนรู้จากผู้เข้ารับการอบรม สติ
Next : Facilitation Lab - สถาบันพระปกเกล้า – 8 พี่จิ - วิทยากรกระบวนการ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "Facilitation Lab - สถาบันพระปกเกล้า – 7 การเลือกและเตรียมผู้เข้าร่วมกิจกรรม"