เสียงของตัวเอง vs Big Name
อ่าน: 14065
ขออ้างอิงถึงอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญูที่ผมนับถือเป็นอาจารย์ของผมคนหนึ่ง ศัพท์ที่ท่านเขียนในหนังสือหรือใช้สนทนามีที่ไม่คุ้นหูอยู่หลายคำ ใหม่ๆก็จะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ถ้าอ่านหนังสือของท่านบ่อยๆ คุยกับท่านบ่อยๆก็จะเริ่มคุ้นเคยและเริ่มเข้าใจ
เช่นแผ่นเสียงตกร่อง (ที่ฮิตมากช่วงนี้ก็จะเป็น “ที่ว่าแผ่นเสียงตกร่องของนักสันติวิธี” ของ อ.เกษียร เตชะพีระ) ก้าวข้ามขอบ ออกจากไข่แดง ทะลายกำแพง ฯ และ เสียงของตัวเอง
อาจารย์เปิดหลักสูตร “อ่าน เขียน แปล กระบวนทัศน์ใหม่” คุยกับอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์บอกว่าเป็นหลักสูตรพัฒนาตนเอง อบรมเพื่อให้คนก้าวพ้นขอบ ออกจากไข่แดงหรือทะลายกำแพงแล้วมีเสียงของตัวเอง
ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะเวลาจะจัดการฝึกอบรมหรือจัดกิจกรรมพัฒนาตัวเอง เห็นผู้จัดมักจะชอบเชิญ Big Name มาบรรยายให้ฟัง มีน้อยมากที่เชื่อใน Active Learning หรือวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแล้วเกิดปัญญาร่วม ไม่ต้องมานั่งฟังผู้รู้มาพูดให้ฟังเหมือนเราไม่รู้อะไรเลย อาจารย์วรภัทร์เปรียบเทียบเป็นลูกอีแร้งคอยแม่อีแร้งมาป้อนเหยื่อ หากินเองไม่เป็น คือเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่เป็น
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างน้อยๆก็มีแนวคิดที่ต่างกันคนละขั้ว 2 แนวคิด พูดแบบให้เว่อร์ๆหน่อยก็คือพวกหนึ่งคิดว่าสังคมมีความเห็นที่แตกต่างกัน มีคำตอบที่ถูกเพียงอย่างเดียว ดังนั้นต้องเปลี่ยนความคิดของผู้ที่เห็นแตกต่างออกไปให้กลับมาคิดเหมือนกัน ต้องจัดเวที เชิญคนที่ผู้จัดคิดว่ามีคำตอบที่ถูกต้องมาพูดให้คนที่คิดต่างฟัง ยิ่ง Big Name ยิ่งดี โดยเชื่อว่าจะสามารถจูงใจคนที่คิดแตกต่างออกไปให้กลับมาคิดเหมือนกันได้
หรือบางครั้งก็จัดแบบอภิปรายหมู่ แต่ก็เลือกเชิญแบบเอียงข้าง ที่ดีหน่อยก็เป็นกลางดี ให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่เห็นต่างมาพูดคุยกันด้วยเหตุผลและบรรยากาศที่ชิวๆ อันนี้จะมีประโยชน์มาก แต่บางครั้งก็คุมเกมไม่ได้ บรรยากาศดุเดือดเผ็ดมัน แต่ไม่สร้างสรรค์ ผู้จัดอาจชอบ สะใจผู้ฟังดี Rating ดี การจัดที่ไม่สร้างสรรค์แบบนี้มักลงเอยด้วยความขัดแย้ง ความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นในสังคมไทยเรา
อีกแนวคิดหนึ่งยอมรับว่าคนเราแตกต่างกัน ความคิดเห็นก็แตกต่างกันไปเป็นธรรมชาติของมนุษย์(ถ้าความเห็นที่ต่างกันนั้นอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีงาม ไม่แปลกประหลาดจนสุดโต่งยากที่สังคมจะยอมรับได้) สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างต่างๆนี้ (ทั้งพหุวัฒนธรรมและความคิดเห็น) กลุ่มนี้จะเห็นว่าสังคมไทยเราขาดเวทีที่ให้คนทุกๆฝ่าย แม้แต่คนที่คิดต่างกันมานั่งพูดคุยกันในพื้นที่ปลอดภัย พูดคุยกันด้วยความรัก เข้าอกเข้าใจกัน ผู้คนสามารถมานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้อย่างสบายใจ พูดคุยกันแล้วทราบความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นมากขึ้น เกิดความรักและเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
การพูดคุยแนวนี้เริ่มมีคนพูดถึงมากขึ้นๆในสังคมไทย อาจเรียกสานเสวนา สุนทรียสนทนา สนทนาอารยะ โสเหล่ ฯ –Dialogue ในหลักการการเสวนาแบบนี้ต้องยอมรับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ต้องมีการฝึกฝนปฏิบัติและทำความเข้าใจในหลักการอยู่บ้าง อาศัยวิทยากรกระบวนการหรือกระบวนกร (วงการจัดการความรู้ –Knowledge Management อาจเรียกคุณอำนวย - Facilitator) ช่วยแนะนำฝึกฝนในระยะแรกๆ ความสำคัญอยู่ที่การเปิดใจ รับฟัง ต้องผ่านการฝึกฝนในการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
คนที่พัฒนาตัวเองและฝึกฝนมาระดับหนึ่งก็จะเริ่มมีเสียงของตัวเอง เริ่มที่จะพูดแสดงความคิดเห็นในวงสนทนาได้อย่างมีสติและมีความคิดเห็นของตัวเอง ไม่จำขี้ปากเขามาพูด แต่สิ่งที่พูดออกมาคือสิ่งที่ได้รวบรวม วิเคราะห์จนตกผลึกเป็นความคิดเห็น เป็นความรู้ของตัวเอง อ่านบทความคนอื่น ฟังคนอื่นพูดอย่างยอมรับและตั้งใจไม่ว่าจะเป็น Big Name หรือคนธรรมดา
ในวงเสวนาคนที่พูดมาก แย่งเขาพูด พูดแล้ววงแตกบ่อนแตก ในวงการ Social Media ก็จะเรียกว่าเกรียน ยิ่งหนักข้อกว่าการเสวนาที่เห็นตัวกันเป็นๆเพราะอาจใช้นามแฝง เป็นอีแอบ เป็นปัญหาการแสดงความเห็นที่ไม่สุภาพ ด่าเช็ด ก้าวร้าว…ฯลฯ พวกนี้ไม่ค่อยฟังใครอยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่ามีเสียงของตัวเองหรือเปล่า?
พวกที่ไม่พูดเลย อาจเกรงใจคนอื่น อาจคิดว่าตัวเองรู้น้อย กลัวผิด อยากฟัง Big Name พูด จัดเป็นพวกไม่มีเสียงของตัวเอง ? หรืออาจมีเหตุผลอื่นที่ไม่พูด?
พอมาถึง Virtual Dialogue คือการเขียนบันทึกใน Blog ตาม website ต่างๆ คนที่ไม่มีเสียงของตัวเองก็จะไม่เขียนบันทึกด้วยเหตุผลเดียวกัน??? อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร? มีความคิดเห็นอย่างไร? ก็ไม่ร่วมแสดงความคิดเห็น ก็ไม่ทราบเหตุผลเหมือนกัน หรือเป็นเพราะไม่มีเสียงของตัวเอง
ถ้าระดับเราๆที่ใช้ internet ได้ยังไม่มีเสียงของตัวเอง แล้วชาวบ้านมีเสียงของตัวเองไหม? เคยเปิดเวทีให้เขาไหม? เคยลงไปพูดคุยกับชาวบ้านแบบเปิดอกเปิดใจรับฟังเขาจริงๆไหม? ไม่แน่นะชาวบ้านอาจมีเสียงของตัวเอง แต่เราไม่เคยฟัง ไม่เคยได้ยินก็ได้…..อิอิ
ที่เขียนนี่ไม่ใช่อะไรหรอก อยากกระตุกให้เขียนบทความมั่ง? หรืออย่างน้อยอ่านแล้วแสดงความคิดเห็นบ้าง ทักทายกันเพื่อความสนิทสนมก่อนก็ได้ คุ้นกันแล้วค่อยคุยกันต่อ ไม่ต้องรอ Big Nmae ที่ไหนหรอก พวกเรานี่แหละ Very Big Name ……….อิอิอิอิอิ
« « Prev : เลือกวงเสวนาที่ถูกจริตตัวเอง
Next : การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2554 (1 ) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เสียงของตัวเอง vs Big Name"