ทำเลยวันนี้! พร้อมรับมือภัยพิบัติ

ไม่มีความคิดเห็น โดย iwhale เมื่อ 23 April 2011 เวลา 1:49 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3055

คลิกไปดูโฆษณาที่น่าสนใจกันก่อนนะครับ เป็นคลิปที่แปลมาจากโฆษณาจากต่างประเทศของ FEMA (Federal Emergency Management Agency) ซึ่งเป็นองค์การบริหารส่วนกลางของสหรัฐ เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินเช่นภัยพิบัติ อยู่ในสังกัดของ Homeland Security




โฆษณาชิ้นนี้กระตุกให้ผู้ชมคิดว่า โลกที่เราอยู่กันอย่างปกตินี้ อาจเกิดภัยพิบัติที่คาดไม่ถึงขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่เราไม่รู้ตัว สิ่งที่เขาแนะนำประชาชนของเรามีสามขั้นตอนคือ

1. จัดชุดยังชีพ บรรจุเป็นถุงไว้เลยยิ่งดีครับจะได้หยิบฉวยสะดวกไม่ต้องเสียเวลาจัด สามารถคว้าออกไปได้ทันทีเมื่อครอบครัวต้องอพยพจากบ้าน มีสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างน้อย 3 วัน ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะเตรียมอะไรบ้าง ลองศึกษาได้จากคลิปนี้ครับ




ขอขอบคุณ อ.ไก่ จากทีมส่งผ่าน International Channeling

2. วางแผนล่วงหน้า ควรจะเตรียมตัวหาทางหนีทีไล่ไว้ก่อนว่า ในชุมชนของเราหากเกิดน้ำท่วม ที่บ้านของเราต้องหนีน้ำหรือไม่ ปลั๊กไฟอยู่ต่ำหรือสูง หากต้องหนีน้ำจะนำรถยนต์ไปจอดไว้ที่ใดได้บ้างหรือต้องหนีไปที่ใด เส้นทางเป็นอย่างไร ฯลฯ เตรียมพร้อมไว้ดีกว่าไปสับสนเมื่อยามจำเป็น ตระเเตรียมแต่ไม่แตกตื่น ย่อมดีกว่าแตกตื่นโดยไม่ตระเตรียม

3. หาข่าวสารข้อมูล ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติข่าวสารข้อมูลอาจกระจัดกระจาย จากในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาจึงได้มีการเปิดเว็บไซต์ศุนย์ข้อมูลน้ำท่วม Thaiflood.com ขึ้นมา และได้มีการเตรียมพร้อมเผื่อการรับมือแผ่นดินไหวไว้ด้วยเว็บไซต์ ThaiQuake.com ขึ้นมาด้วยอีกแห่งหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นจุดรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากแหล่งต่างๆและลิงค์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์แหล่งข้อมูลที่จำเป็นในอีกหลายๆที่ของประเทศไทยครับ

ทั้งนี้ในรายละเอียดสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ทั้งสองนี้ หรือ เว็บไซต์สถานการณ์อื่นๆที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเราทุกคนไม่ต้องการให้เกิด แต่การเตรียมพร้อม รับมือ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ยาก หากลงมือทำเลย วันนี้ !! ขอให้โชคดีท่กท่านครับ :)


เวทีสรุปบทเรียน การรับมือภัยพิบัติ

1 ความคิดเห็น โดย iwhale เมื่อ 18 April 2011 เวลา 6:20 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2321

ภาพ : วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับต้นน้ำ คืนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ระหว่างทีมอาจารย์และบุคลากร กับทีมแพทย์อาสา แพทย์สภา

เพื่อให้การผลักดัน เร่งยกระดับ การรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ มีรูปธรรมการดำเนินการมากขึ้น จึงขอนำเสนอรูปแบบการเดินไปข้างหน้าด้วยกัน และเป็นเจ้าภาพร่วมในเรื่องนี้ไปพร้อมๆกัน เพราะเป็นวาระของเราทุกคนไม่ใช่ของรัฐบาลหรือของหน่วยงานใด ดังนี้ครับ

1. ต้นน้ำ : ชักชวนอาสาสมัครและคนทำงาน ให้รวมกลุ่มแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มตามหน้างานของตน เช่น มีเวทีชาวบ้านหลายๆแห่งได้ดำเนินงานไปแล้ว, กลุ่มวลัยลักษณ์เพื่อสังคม, อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ, แพทย์อาสา ฯลฯ ส่วนนี้ถือเป็นต้นน้ำ มีข้อมูลปฐมภูมิจากการทำงานด้วยตนเอง

2. กลางน้ำ : เชิญชวนผู้แทนของกลุ่มต้นน้ำ มาแลกเปลี่ยนกับในวงเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเครือข่ายเดิมที่ตั้งมาในช่วงน้ำท่วมปลายปีก่อน ซึ่งคราวที่แล้วจัดมา 3 ครั้ง เกิดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันอย่างดี ซึ่งในการประชุมได้เรียนเชิญ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธานที่ประชุม เมื่อหารือเสร็จแล้วจะนำผลสรุปเบื้องต้นไปสอบถามและหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุง และเตรียมการดำเนินงานในขั้นที่สาม (ปลายน้ำ)

ถ้าในกลุ่มต้นน้ำกลุ่มใดได้หารือกันแล้วมีความเห็นว่าต้องการส่งตัวแทนมาร่วมแลกเปลี่ยน ก็จะเป็นที่ยินดีมากครับ วงนี้น่าจะนัดคุยกันในช่วงต้นเดือนหน้าแล้วครับ

3. ปลายน้ำ : เป็นการผลักดันเรื่องภัยพิบัติให้เป็นประเด็นสู่สาธารณะ โดยนำประเด็นหลักๆและตัวแทนของกลุ่มที่หารือร่วมกันว่าจะช่วยผลักดันส่วนไหน จัดเป็นเวที เช่น รูปแบบ Ignite ให้ 20 คน 20 เรื่องได้นำเสนอพร้อมสไลด์เรื่องละ 5 นาที โดยจัดร่วมกับ ThaiPBS (อยู่ในระหว่างการหารือ) และองค์กรร่วมจัดร่วมเป็นเจ้าภาพและร่วมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่จะได้จากงานนี้ คือ ได้ร่วมกันผลักดันเรื่องการรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ ได้บทเรียนจากการทำงานจริงเข้ามาแลกเปลี่ยน เกิดเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ และสามารถสรุปบทเรียนเผยแพร่ออกไปได้ผ่านสื่อสารมวลชน และผลักดันให้มีการขยายผลและดำเนินการออกไปอย่างเป็นรูปธรรมที่มากขึ้น


ยินดีเปิดรับข้อเสนอและแลกเปลี่ยน แนะนำเพิ่มเติมได้ครับ ขอบคุณครับ

ปรเมศวร์ มินศิริ

ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภาคประชาชน)

webm...@thaiflood.com

http://www.thaiflood.com

ขอแปะความเห็นที่เคยไปแลกเปลี่ยนไว้ทาง ThaiPBS ไว้ด้วยครับ เป็นรายการในคืนวันที่ 4 เมษายน 2554 นะครับ


เร่งยกระดับ การรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ !!

1 ความคิดเห็น โดย iwhale เมื่อ 18 April 2011 เวลา 3:40 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3888

ในช่วงสองปีนี้ตั้งแต่ ปี 2011 เป็นช่วงที่ปฎิกิริยาพระอาทิตย์จะขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี ตามวัฎจักร ไปจนถึงเดือนธันวาคม ปี 2012 ซึ่งเมื่อประกอบกับความเชื่อเรื่องปฎิทินมายัน ในอดีตที่ไปจบลงที่ช่วงนั้นพอดี กับปรากฎการณ์ดาวในระบบสุริยะเรียงตัว ความเชื่อเรื่องคำทำนายกึ่งพุทธกาลก็ดี ผลจากโลกร้อนก็ดี ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องภัยพิบัติกันมากขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เกิดพายุไซโคลนยาซีที่ออสเตรเลียที่มีความรุนแรงที่สุดในโลก มากยิ่งกว่าแคทรีนา โชคยังดีที่มีขนาดที่เล็กกว่า ถึงกระนั้นออสเตรเลียก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเสียหายอย่างหนัก เกิดสึนามิบนบก (Inland Tsumani) อันเกิดจากน้ำป่าไหลหลากลงมาจากภูเขา ผู้คนต่างพากันอพยพจนต้องมีการอาศัยบ้านเรือนกันอยู่ และในเดือนกุมภาพันธ์ ก้ได้เกิดแผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้ 6.3 ริคเตอร์ มีระดับความลึกเพียง 10 กิโลเมตร ที่เมืองไครส์ต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและอาคาร ตลอดจนถนนหนทางและมีผู้เสียชีวิตถึง 172 คน จากนั้นภัยพิบัติก็ได้เกิดขึ้นอย่างตอเนื่องในโลกนี้ด้วยการเกิดแผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งของเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม ด้วยความแรงระดับ 9.0 ริกเตอร์ ที่ความลึก 32 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่ง Tōhoku เพียง 72 กิโลเมตร เป็นเวลา 6 นาที เกิดคลื่นสึนามิที่มีความสูงมากกว่า 10 เมตร และเกิดอาฟเตอร์ช็อคมากถึง 1021 ครั้ง มี 63 ครั้งที่มีความแรงเกิน 6.0 ริกเตอร์ นอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนทรัพย์สินแล้ว ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 13,858 คน และบาดเจ็บอีก 4,916 คน

เหตุการณ์ภัยพิบัติยังได้มาถึงเมื่องไทย ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2553 มาจนถึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ที่ชายแดนพม่า ส่งผลให้มีคนไทยคนแรกที่เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเนื่องจากถูกกำแพงบ้านล้มทับ แผ่นดินไหวรับรู้ได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทยและผู้ทีอยู่บนอาคารสูงในกรุงเทพยังจับได้ถึงการสั่นไหวในครั้งนั้น นอกจากนี้ยังเกิดฝนตกหนักผิดฤดูในปลายเดือนมีนาคม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักใน 10 จังหวัดภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต 64 คน สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนถึง 628,998 ครัวเรือน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในขณะที่เขียนบทความนี้ก็ได้มีแผ่นดินไหวถี่ขึ้นมากในจุดต่างๆของบริเวณ Ring of Fire และหลายๆจุดในโลก, ประเทศไทยกำลังประสบกับพายุฤดูร้อนในหลายจังหวัดและที่สหรัฐอเมริกาตอนใต้ถูกถล่มด้วยพายุทอร์นาโดจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 45 คน และเกิดพายุลูกเห็บที่กำลังถล่มประเทศจีนตอนใต้เช่นกัน

การเกิดภัยพิบัติที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นในโลก ทำใหนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแลในเรื่องนี้ ได้เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. ในวันที่ 28 มีนาคม 2554 เพื่อพิจารณาปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ เป็น “วาระแห่งชาติ” หวังการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นวาระที่ทุกฝ่ายในชาติจะต้องมาร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งขณะนี้ ครม.ยังไม่มีมติในประเด็นนี้ออกมา เนื่องจากมีความต้องการให้เกิดการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน แต่จากข้อมูลที่ภาคประชาชนได้ทำการรวบรวมมา มีความเห็นว่าควรจะมีการเร่งยกระดับ การรับมือภัยพิบัติให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดำเนินการป้องกัน เนื่องจากภัยธรรมชาติหากเกิดขึ้นโดยไม่มีความสูญเสียหรือสูญเสียเพียงเล็กน้อยจากการเตรียมการที่ดี ก็จะไม่เกิดภัยพิบัติขึ้น แต่หากเกิดภัยธรรมชาติแล้วขาดการเตรียมการรับมือที่ดี จนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพยสิน นั่นคือเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว

อาศัยความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 ที่ได้กำหนดให้บุคคลมี “หน้าที่” ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอทำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยทุกท่าน มีส่วนร่วมในการผลักดันเร่งยกระดับการรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ สร้างความตระหนักในทุกระดับให้มีการเตรียมพร้อม จัดทำระบบป้องกัน เตือนภัย ซักซ้อม จัดวางระบบที่ทำให้ชุมชนแข้มแข็งสามารถช่วยเหลือตนเองและมีความสามารถที่จะช่วยเหลือชุมชนเพื่อนบ้านข้างเคียงได้ยามเกิดภัยพิบัติ จัดทำนโยบายสาธารณะที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดกลไกการรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองได้รวดเร็ว ภายใต้งบประมาณที่สมเหตุสมผล เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น แต่เราสามารถร่วมแรงร่วมใจเตรียมพร้อมรับมือได้ตั้งแต่วันนี้เพื่อลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพยสินของผู้ประสบภัยได้ในวันข้างหน้า

ปรเมศวร์ มินศิริ

ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภาคประชาชน)

webm...@thaiflood.com

http://www.thaiflood.com


สงกรานต์ที่กรุงชิง : คนไทย มีน้ำใจ ไม่ทิ้งกัน

ไม่มีความคิดเห็น โดย iwhale เมื่อ 13 April 2011 เวลา 3:28 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4075

น้ำตกกรุงชิง คือน้ำตกในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ตั้งอยู่ในตำบลกรุงชิง นอกจากจะมีความสวยงามเป็นพิเศษแล้วยังเป็นแหล่งต้นน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชาวนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง น้ำตกกรุงชิงมีอยู่หลายชั้น เช่น หนานมัดแพ หนานฝนแสนห่า หนานปลิว หนานจน หนานโจร หนานต้นตอ หนานวังเรือบิน แต่ชั้นที่สวยที่สุด คือ “หนานฝนแสนห่า” ที่อยู่ชั้นที่ 2 เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูงชันประมาณ 80-100 เมตร ที่ตกลงมากระทบโขดหินที่อยู่กันตามธรรมชาติได้พอเหมาะ เกิดเป็นกระแสน้ำแผ่เป็นผืนกว้างกระจายออกเป็นละอองเหมือนม่านฝน ไม่จับกันเป็นเกลียวน้ำดังน้ำตกทั่วไป จีงเรียกว่า “ฝนแสนห่า”

ความยิ่งใหญ่ของสายน้ำตามธรรมชาติ : ภาพ ตากล้อง.คอม

ความสวยงามของน้ำตกกรุงชิง เป็นที่ประจักต์จนเคยปรากฎที่ด้านหลังของธนบัตรใบละ 1,000 บาทรุ่นเดิมมาแล้ว

จากการที่กรุงชิงมีฝนตกหนักติดต่อกันถึง 6 วัน ในปริมาณเกินวันละ 100 มม. หรือรวม 1,200 มม. จากข้อมูลของ NASA จนเกิดสถานการณ์น้ำท่วมและมีน้ำป่าไหลหลาก คลิก เหตุเกิดที่กรุงชิง-นบพิตำ จึงทำให้สะพานฟัง เส้นทางตัดขาด ชาวบ้านต้องอพยพ มีผู้เสียชีวิตและบ้านเรือนเสียหาย เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ช่วยเหลือกันอย่างสุดความสามารถเช่น กองทัพภาคที่ 4 ช่วยในการอพยพชาวบ้าน, ตชด. 42, หน่วยรบพิเศษ, ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช, คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ จาก รพ.ค่ายวชิราวุธและ รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ, และเจ้าหน้าที่จากฝ่ายต่างๆ ทหารช่างเร่งทำทาง ซ่อมสะพาน, การประปานครหลวงส่งรถผลิตน้ำประปาดื่มได้เข้าในพื้นที่, อาสาสมัครกู้ภัยและเดินเท้าส่งถุงยังชีพ นพ.รังสิต ทองสมัคร์ ทีมทาร์ซาน ที่กำลังทำงานสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ด้วย

ภาพที่เราได้เห็นคือมีทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครหลายฝ่ายทั้งอาสาสมัครในพื้นที่, กู้ภัย และอาจารย์,บุคคลากร,นักศึกษาจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ล้วนทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน กว่า 2,800 ครัวเรือน

แต่หลังจากที่น้ำฝนตกจนไหลหลากผ่านไป ทางกรุงชิงก็พบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ในวันสงกรานต์ที่หลายๆพื้นที่ในประเทศไทยกำลังสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานในเทศกาลสำคัญนี้ บริเวณกรุงชิง นบพิตำ ยังขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค บางหมู่บ้านมีน้ำสำรองใช้อีกไม่นาน ระบบประปาภูเขาที่เคยได้งบประมาณจากอบต.เมื่อหลายปีมาก่อนถูกทำลายและจากการที่ดินถล่มได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจุดตาน้ำ และนำโคลนเข้ามาในบ้านเรือน, วัดและสถานที่ส่วนกลางอีกหลายที่ การแก้ปัญหาระยะสั้นอาจจะเป็นการซื้อน้ำแต่การแก้ปัญหาระยะยาวไม่ควรเป็นเช่นนั้น

แต่เนื่องจากงบประมาณในท้องถิ่นมีไม่พอต่อความต้องการในขณะนี้ ทีมอาสาดุสิตนำโดยคุณหนุ่ย ปิยะชีพ วัชโรบล ซึ่งกำลังทำโครงการประปาภูเขาที่ภูทับเบิกอยู่ด้วย จึงได้ลงสำรวจพื้นที่และได้รับการร้องขอจากชาวบ้านทั้ง 11 หมู่บ้านให้ช่วยดำเนินการทำโครงการประปาภูเขาขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ จึงได้จัดให้มีการประชุมผู้นำทั้ง 11 หมู่บ้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง บรรยากาศเป็นไปด้วยดี และได้มีการโหวตเริ่มทำงานได้ทันทีที่หมู่ 6 ก่อน แล้วจึงดำเนินการในหมู่บ้านอื่นๆที่มีความพร้อมตามลำดับต่อมา โดยมีน้องปู ชิดชนก ฌานคุปตรัตน์ จากอาสาดุสิต ที่เพิ่งได้ตำแหน่งใหม่มาหมาดๆคือ สมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส ซึ่งได้รับค้ดเลือกจากคุณสมบัติที่เป็นผู้มีจิตอาสา เป็นตัวแทนสื่อทางเลือก ได้เข้าประสานงานในพื้นที่ และกำลังทำการเก็บตัวอย่างน้ำจากต้นน้ำเพื่อไปตรวจสอบในห้องแล็ปเพื่อหาค่าโลหะหนักที่อาจเป็นอันตรายได้ในจุดต่างๆ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนท่อน้ำจากทาง SCG โดยคุณโก้ คุณสุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิซีเมนต์ไทยเพื่อนำมาดำเนินการโดยใช้แรงงานอาสาสมัครในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มดำเนินการโดยความร่วมมือของหลายภาคส่วน เพื่อส่งมอบน้ำให้เป็นของขวัญในเทศกาลสงกรานต์ มอบสู่ชุมชนผู้ประสบภัยในกรุงชิง จังหวัดนครศรีธรรมราช



Main: 0.061630010604858 sec
Sidebar: 0.013067960739136 sec