เร่งยกระดับ การรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ !!
ในช่วงสองปีนี้ตั้งแต่ ปี 2011 เป็นช่วงที่ปฎิกิริยาพระอาทิตย์จะขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี ตามวัฎจักร ไปจนถึงเดือนธันวาคม ปี 2012 ซึ่งเมื่อประกอบกับความเชื่อเรื่องปฎิทินมายัน ในอดีตที่ไปจบลงที่ช่วงนั้นพอดี กับปรากฎการณ์ดาวในระบบสุริยะเรียงตัว ความเชื่อเรื่องคำทำนายกึ่งพุทธกาลก็ดี ผลจากโลกร้อนก็ดี ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องภัยพิบัติกันมากขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาได้เกิดพายุไซโคลนยาซีที่ออสเตรเลียที่มีความรุนแรงที่สุดในโลก มากยิ่งกว่าแคทรีนา โชคยังดีที่มีขนาดที่เล็กกว่า ถึงกระนั้นออสเตรเลียก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเสียหายอย่างหนัก เกิดสึนามิบนบก (Inland Tsumani) อันเกิดจากน้ำป่าไหลหลากลงมาจากภูเขา ผู้คนต่างพากันอพยพจนต้องมีการอาศัยบ้านเรือนกันอยู่ และในเดือนกุมภาพันธ์ ก้ได้เกิดแผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้ 6.3 ริคเตอร์ มีระดับความลึกเพียง 10 กิโลเมตร ที่เมืองไครส์ต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและอาคาร ตลอดจนถนนหนทางและมีผู้เสียชีวิตถึง 172 คน จากนั้นภัยพิบัติก็ได้เกิดขึ้นอย่างตอเนื่องในโลกนี้ด้วยการเกิดแผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งของเมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม ด้วยความแรงระดับ 9.0 ริกเตอร์ ที่ความลึก 32 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่ง Tōhoku เพียง 72 กิโลเมตร เป็นเวลา 6 นาที เกิดคลื่นสึนามิที่มีความสูงมากกว่า 10 เมตร และเกิดอาฟเตอร์ช็อคมากถึง 1021 ครั้ง มี 63 ครั้งที่มีความแรงเกิน 6.0 ริกเตอร์ นอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนทรัพย์สินแล้ว ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 13,858 คน และบาดเจ็บอีก 4,916 คน
เหตุการณ์ภัยพิบัติยังได้มาถึงเมื่องไทย ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปลายปี 2553 มาจนถึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ที่ชายแดนพม่า ส่งผลให้มีคนไทยคนแรกที่เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเนื่องจากถูกกำแพงบ้านล้มทับ แผ่นดินไหวรับรู้ได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทยและผู้ทีอยู่บนอาคารสูงในกรุงเทพยังจับได้ถึงการสั่นไหวในครั้งนั้น นอกจากนี้ยังเกิดฝนตกหนักผิดฤดูในปลายเดือนมีนาคม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักใน 10 จังหวัดภาคใต้ มีผู้เสียชีวิต 64 คน สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อประชาชนถึง 628,998 ครัวเรือน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในขณะที่เขียนบทความนี้ก็ได้มีแผ่นดินไหวถี่ขึ้นมากในจุดต่างๆของบริเวณ Ring of Fire และหลายๆจุดในโลก, ประเทศไทยกำลังประสบกับพายุฤดูร้อนในหลายจังหวัดและที่สหรัฐอเมริกาตอนใต้ถูกถล่มด้วยพายุทอร์นาโดจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 45 คน และเกิดพายุลูกเห็บที่กำลังถล่มประเทศจีนตอนใต้เช่นกัน
การเกิดภัยพิบัติที่มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นในโลก ทำใหนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแลในเรื่องนี้ ได้เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. ในวันที่ 28 มีนาคม 2554 เพื่อพิจารณาปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ เป็น “วาระแห่งชาติ” หวังการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นวาระที่ทุกฝ่ายในชาติจะต้องมาร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งขณะนี้ ครม.ยังไม่มีมติในประเด็นนี้ออกมา เนื่องจากมีความต้องการให้เกิดการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน แต่จากข้อมูลที่ภาคประชาชนได้ทำการรวบรวมมา มีความเห็นว่าควรจะมีการเร่งยกระดับ การรับมือภัยพิบัติให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดำเนินการป้องกัน เนื่องจากภัยธรรมชาติหากเกิดขึ้นโดยไม่มีความสูญเสียหรือสูญเสียเพียงเล็กน้อยจากการเตรียมการที่ดี ก็จะไม่เกิดภัยพิบัติขึ้น แต่หากเกิดภัยธรรมชาติแล้วขาดการเตรียมการรับมือที่ดี จนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพยสิน นั่นคือเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว
อาศัยความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 ที่ได้กำหนดให้บุคคลมี “หน้าที่” ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอทำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยทุกท่าน มีส่วนร่วมในการผลักดันเร่งยกระดับการรับมือภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ สร้างความตระหนักในทุกระดับให้มีการเตรียมพร้อม จัดทำระบบป้องกัน เตือนภัย ซักซ้อม จัดวางระบบที่ทำให้ชุมชนแข้มแข็งสามารถช่วยเหลือตนเองและมีความสามารถที่จะช่วยเหลือชุมชนเพื่อนบ้านข้างเคียงได้ยามเกิดภัยพิบัติ จัดทำนโยบายสาธารณะที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดกลไกการรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองได้รวดเร็ว ภายใต้งบประมาณที่สมเหตุสมผล เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมใจของคนในชาติในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น แต่เราสามารถร่วมแรงร่วมใจเตรียมพร้อมรับมือได้ตั้งแต่วันนี้เพื่อลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพยสินของผู้ประสบภัยได้ในวันข้างหน้า
ปรเมศวร์ มินศิริ
ผู้ประสานงานเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภาคประชาชน)
webm...@thaiflood.com
http://www.thaiflood.com
« « Prev : สงกรานต์ที่กรุงชิง : คนไทย มีน้ำใจ ไม่ทิ้งกัน
Next : เวทีสรุปบทเรียน การรับมือภัยพิบัติ » »
1 ความคิดเห็น
ถ้าเรื่องนี้จะเป็นวาระแห่งชาติ ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความไว้วางใจต่อกันและกัน ถูกต้อง โปร่งใส รวดเร็ว ตรงไปตรงมา และหัดฟังกันบ้าง
ข้อมูลใดๆ ของภาครัฐที่จัดหามาด้วยงบประมาณแผ่นดิน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้าน ควรจะเปิดเผยทั้งหมดครับ