เจ้าของลานสองแคว (๑)
อ่าน: 359ดิฉัน ลูกน้ำยม คนสุโขทัย เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ จังหวัดสุโขทัย ที่ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แม่เป็นสาวชาวบ้านไทยแท้จบป.4 มีความรู้ตัดเย็บเสื้อผ้าได้ แม่คนสวยคนหนึ่งจึงเป็นที่หมายปองของบรรดาหนุ่มในอำเภอสวรรคโลก หรือชาวบ้านจะเรียกอำเภอนี้สั้นๆว่า หวันโลก เตี่ยเป็นคนจีนแท้ๆ มีภูมิลำเนาครั้งแรกที่กรุงเทพ เตี่ยเล่าว่า อาม่า-อากง หอบเสื่อผืนหมอนใบลงเรือมาจากเมืองจีน มาทำมาหากินสร้างครอบครัวที่เมืองไทย ประเทศที่มีผู้คนจิตใจดี สงบร่มเย็น เตี่ยเป็นลูกหลงคนสุดท้องของอาม่า อากง พี่สาวเตี่ยมีอายุพอจะเป็นแม่เตี่ยได้ จึงรักและตามใจเตี่ยมาตลอด คราวต่อมาพี่สาวเตี่ยคนโตออกเรือนกับพ่อค้าชาวจีนที่ลงเรือมาจากประเทศจีนเช่นกัน มีอาชีพเป็นช่างถ่ายรูป พาครอบครัวมาเปิดร้านถ่ายรูปที่ ใกล้หอนาฬิกา จังหวัดพิษณุโลก
ต่อมาก็ย้ายกิจการร้านถ่ายรูปจากพิษณุโลกขึ้นไปอยู่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย พี่สาวจึงหอบน้องชายวัยลูกตัวเองจากกรุงเทพมาช่วยกันที่ร้านถ่ายรูป ร้านถ่ายรูปของเราเป็นร้านแรกของอำเภอสวรรคโลก ชื่อว่าร้านโฟโต้อารต์ ร้านก็อยู่ใกล้หอนาฬิกาอีกแหละ อยู่ฝั่งถนนตรงกันข้ามกับสถานีรถไฟอำเภอสวรรคโลก กิจการร้านถ่ายรูปดีมาก ทุกบ้านต้องมาถ่ายรูปกับทางร้านเรา ที่ร้านจะรับถ่ายรูป อัดรูป ขยายรูป เข้ากรอบรูป รับงานแทบไม่มีเวลากิน-นอน พี่สาวเตี่ยส่งเตี่ยเรียนหนังสือ เตี่ยเป็นคนหัวไวเรียนหนังสือเก่ง ได้พลัดชั้นนอยู่เสมอ แต่นิสัยออกจะดื้อร้น ไม่ค่อยเชื่อฟังคุณครูสักเท่าไร จึงลาออกจากโรงเรียนด้วยตัวเอง เตี่ยก็เลยจบการศึกษาแค่ ม.3 จึงอาศัยกินกงสีในครอบครัว เมื่อสมัยก่อน ด้วยกิจการร้านถ่ายรูปดีมาก เงินเข้าลิ้นชักตลอดเวลา ครอบครัวทุกคนก็ขยายขึ้น
ในปี พ.ศ 2500 ลุงเขย เห็นว่าอำเภอสวรรคโลกเป็นเมืองเกษตรกรรม พ่อค้ารับซื้อพืชไร่สมัยนั้นก็มีเพียงบ้านตระกูลของขุนเพ่ง ลิมปะพันธุ์เท่านั้น เราจึงไปซื้อที่ ประมาณ 10กว่า ไร่ คนละฝั่งแม่น้ำไม่ไกลจากร้านถ่ายรูปเท่าไร ทำกิจการโรงสีขนาดใหญ่ชื่อว่าโรงสีเฮงไพบูลย์ ( ปัจจุบัน 2 ครอบครัวเป็นดองกันแล้ว ด้วยฝ่ายหลานชายตระกูลลิมปะพันธุ์ปัจจุบัน สส.จังหวัดสุโขทัยแต่งงานกับหลานสาวบ้านเรา)
เตี่ยเป็นหัวแรงคนหนึ่งของโรงสี เตี่ยมีความสามารถทำได้ทุกอย่าง เป็นช่างเครื่อง ช่างพอกหินขัดข้าวได้เอง จากการได้เรียนรู้กับช่างที่เราจ้างมาจากที่อื่น จนหลังๆชำนาญขึ้น ว่างเตี่ยรับจ้างพอกหินขัดข้าวให้บรรดาโรงสีเล็กทั้งหลายที่มาจ้าง ทั้งแบกข้าวเปลือก ข้าวเปลือกใช้กระบุงสานไม้ไผ่ปากบานขนาดใหญ่ จุข้าวเปลือกประมาณ 50 กิโลกรัม แบกกระสอบข้าว 100 ก.ก ทุกอย่างเตี่ยทำเคียงข้างลูกจ้างของโรงสี การรับซื้อข้าวเปลือกจะรับชื้อทั้งที่หน้าลานสี สมัยนั้นชาวบ้านใกล้ๆจะใช้วัวลากล้อเทียมเกวียน นำมาขายที่โรงสีเรา ถ้าหากนอกอำเภอหรือในอำเภอใกล้เคียง ทางโรงสีจะใช้รถยนต์ 6 ล้อไปลากข้าวมาจะเป็นข้าวเปลือกจากทางอำเภอทุ่งเสลี่ยมเสียส่วนใหญ่ การไปรับข้าวเปลือกกันก็จะถึงยุ้ง ถ้าตวงถังขายก็จะได้เงินสดเลย
เตี่ยจะเป็นพ่อค้าตีราคาข้าวเปลือกตามความชื้นของข้าว เครื่องมือก็ไม่มีวัดความชื้น ใช้มือสัมผัส กับใช้แท่งไม้บดข้าวเปลือกดูความเป็นตัวของข้าวคือถ้าข้าวมีความแกร่ง เมล็ดข้าวไม่หักมากก็จะได้ราคาดี หรือเจ้าของข้าวเปลือกจะติดรถมามาชั่งข้าวเปลือกที่โรงสีก็ได้ พอถึงโรงสีก็เทข้าวเปลือกจากรถลงลาน ทางโรงสีก็จ้างคนหาบข้าวจากลาน ขึ้นช่างกิโลครั้งละ 1หาบ คนชั่งข้าวก็จดน้ำหนักไว้รวมสุทธิกันเมื่อข้าวหมดคันรถ หาบหนึ่งก็ตกประมาณ 40-45 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักก็ขึ้นอยู่กับข้าวนั้นเป็นข้าวหนักหรือข้าวเบา สมัยนั้นข้าวเปลือกจะราคาเกวียนละ 400 บาท ก็จะเป็นพันธุ์ กข. ทั่วไป ไม่มีข้าวพันธุ์หอมมะลิ ข้าวเปลือกส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวเป็นข้าวนาดำ
การสีข้าวจะใช้เครื่องจักรยนต์ไอน้ำใช้แกลบข้าวเป็นเชื้อเพลิง การสีข้าวจะสีเป็นข้าวสารที่ 1: 100% ราคาขณะนั้นถังละ 20 บาท (16 กิโลกรัม) ก็จะตกกระสอบละประมาณ 125.00 บาท ข้าวหักครึ่ง (ข้างครึ่งเมล็ด เรียกว่าข้าวท่อน) ถ้าลูกค้าต้องการข้าวที่ 2 ทางโรงสี จะนำข้าว 100% ผสมข้าวหักครึ่ง สัดส่วน 50:50 การจำหน่ายข้าวสารจะจัดส่งภายในอำเภอ จังหวัด ถ้าข้าวเปลือกมากถึงจะสีข้าวสารส่ง กรุงเทพฯ ปลายข้าวเม็ดเล็ก (ปลายข้าวเม็ดเล็กสุดจากการร่อนออกจากตะแกรง เรียกอีกชื่อว่าข้าวเปียน)
ส่วนเป็นรำ จะได้รำ 2 ชนิด คือรำอ่อน และรำหยาบ (รำแก่) ส่วนรำอ่อนจะนำไปเลี้ยงหมู รำหยาบเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่กันเอง เหลือก็จำหน่าย รำอ่อน ก.ก 1.50 บาท รำแก่ 1.00 บาท อีกส่วนสุดท้ายจะเป็นแกลบส่วนที่เหลือ จะได้แกลบ 2 ส่วน คือแกลบแดง คือเปลือกข้าว จำหน่ายให้กับคนเผาถ่าน ขายกันเป็นราคาลำรถ ลำรถละ 50 บาท อีกส่วนหนึ่งเป็นแกลบดำที่่เกิดจากการเผาไหม้ ให้บ้างขายบ้างกับคนเพาะถั่วงอก ปกติคนเพาะถั่วงอกสมัยนั้นจะเพาะถั่วงอกกันที่หาดทราย เพราะคนเพาะถั่วงอกจะสะดวกมากไม่ต้องหาบน้ำไปเลี้ยงถั่วงอก พอถั่วงวกได้ความยาวที่ต้องการแล้วก็จัดการล้างถั่วงอกกันที่ในแม่น้ำเลย ถ้าน้ำท่วมหาดทรายคนเพาะถั่วงอกก็จะใช้แกลบดำสำหรับเพาะถั่วงอกแทนการเพาะที่หาดทราย
กิจการค้าข้าวดีมาก รถ6ล้อทุกคันของโรงสีไม่เคยว่างเว้นที่ออกไปรับซื้อข้าวถึงยุ้ง ที่โรงสีก็หาบข้าใส่บ่อสีใส่ยุ้งกันทั้งกลางวันกลางคืน แต่กิจการร้านถ่ายรูปก็ยังดำเนินต่อไปเป็นทุนอีกแรงหนึ่งควบคู่กับกิจการโรงสี เพราะเราเป็นครอบครัวใหญ่ กอปรกับลุงเขย ส่งลูกๆ ทุกคนของตัวเองเรียนที่กรุงเทพฯตลอดทุกคน จึงใช้เงินมาก
พี่ชายใหญ่คนโตไม่ได้เรียนสูงนักกลับมาช่วยกิจการโรงสี ตามทำเนียมคนจีนทั่วไป พี่ชายคนรองประกอบอาชีพเป็นวิศวกรบริษัทปูนซิเมนต์ไทย พี่สาวรับราชการที่สกอ. พี่ชายคนสุดท้ายเรียนแพทย์เป็นแพทย์ศัลยกรรม ประจำที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ต่อมาเตี่ยกับแม่จึงได้แต่งงานกันที่โรงสีแห่งนี้พราะญาติผู้ใหญ่ของแม่เป็นพ่อสื่อ ชักจูงให้เพราะเห็นเตี่ยมีฐานะดีเป็นถึงน้องชายเจ้าของโรงสี อนาคตคงจะร่ำรวย ทั้งที่แม่เล่าให้ฟังเมื่อโตว่าแม่มีคนในตลาดมาชอบมาก ไม่ได้ชอบพอในตัวเตี่ยเลย แต่ตา-ยายเห็นเหมาะสมเลยแม่จึงยอมตามใจผู้ใหญ่
วัยเด็ก
แม่กับเตี่ยจึงเกิดพวกเราที่โรงสีแห่งนี้ ด้วย 5 ท้อง 6 คนเป็นลูกสาวทั้งหมด ลูกสาวคนโตของเตี่ย-แม่ เกิดใน ปี พ.ศ 2502 ตั้งท้องดิฉันเป็นท้องที่ 3 (เกิดวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2506) เป็นฝาแฝด ลักษณะแฝดเหมือน เพศเดียวกันและหน้าตาเหมือนกันมากจนผู้คนทักผิด ปัจจุบันมีครอบครัวอยู่พิษณุโลกด้วยกัน เป็นที่แปลกใจของคนที่รู้จักเรา บางครั้งเจอน้องแฝดเมื่อสักพักแล้วยังเจอตัวดิฉันอีก ก็ตกใจพอสมควร เตี่ยก็ยังรอลูกชายเหมือนพ่อคนจีนทั่วไป สุดท้ายลูกสาวสุดท้องคนที่ 6 (พ.ศ 2511) เตี่ย-แม่ จึงหยุดความตั้งใจที่จะอยากได้ลูกชาย พวกเราแม่ลูก 6 คน ได้รับการดูแลจากพี่สาวใหญ่ของเตี่ยเป็นอย่างดี
แม่ได้คลอดลูกแต่ละคนด้วยหมอสาธารณสุข ชื่อหมอเนียง หรือหมอสำเนียง เป็นหมอผู้หญิง ซึ่งต้องรับตัวหมอเนียงมาทำคลอดให้ที่โรงสี หมอท่านนี้คนเก่าคนแก่ในอำเภอสวรรคโลกจะรู้จักกันทุกคนและเป็นคนที่ใครก็นับหน้าถือตา
แม่ได้รับการดูแลจากให้อยู่ไฟกระเป๋าน้ำร้อน และไฟชุด เป็นลักษณะกล่องใส่แท่งยาไทยคล้ายธูป จุดไฟติดแล้วนำแท่งยาใส่ในกล่อง แล้วนำมากล่องยามาคาดที่เอวช่วงอยู่ไฟ ถ้าร้อนมากก็จะใช้ผ้าหนาพันไว้อีกให้พอทนความร้อนได้ อาหารการกินหลังคลอดของแม่ จะยาชุดต่างๆก็ตำรับจีนทั้งนั้น แม่คลอดมาก็ได้กินไก่ตุ๋นยาจีนทั้งตัวใส่เหล้าจีน ผัดขิงก็ใส่เหล้าจีน ต้มขาหมูถั่วลิสง เพื่อจะบำรุงน้ำนม แต่ไม่ชอบใจตรงที่ป้ามีความเชื่อในการเลี้ยงเด็กเล็ก ด้วยเชื่อมน้ำตาลผสมน้ำต้มหมู+ เนื้อหมูหยุ่ย ใส่ข้าวบดให้พวกเราทาน เพราะจะทำให้พวกเราอ้วน จ้ำหม้ำ ซึ่งต่อมาพวกเราโตขึ้นฟันน้ำนมปวดมีอาการฟันผุเป็นแถว ต้องถอนฟันแท้ไปหลายซี่ ไล่ทำฟันให้ตัวเองบางซี่อุดแล้วอุดอีก สุดท้ายต้องรักษารากฟัน ครอบฟันเข้าไปอีก แต่พวกเราสุขสบายกันทั้งครอบครัว
แม่มีหน้าที่ในโรงสีแค่ดูแลพวกเราและช่วยในครัวบ้างเล็กน้อย เพราะเราเลี้ยงอาหารคนงานวันละ 3 มื้อ ทุกวัน ถึงแม่มีลูกแฝดแม่ไม่ได้ลำบากมากนัก เพราะมีพี่ชายลูกป้า คนงานหนุ่มสาวในโรงสีช่วยพาอุ้มเที่ยวได้ช่วงแม่ลงไปซักผ้าอ้อมในแม่น้ำ ไปเที่ยวจนง่วนนอนเมื่อไรก็พามาส่งคืนที่เปลไกวเปลให้ จนกว่าแม่จะว่างจากงานบ้าน
แม่ยังเล่าเล่าว่า คนงานหนุ่มๆมักอุ้มแฝดสองคนเราไปจีบสาว เอาเด็กน่ารักอย่างเราบังหน้าเวลาจะไปเที่ยวหาสาวเป็นการแก้ความขวยเขินได้ทำนองนี้ค่ะ คนสมัยก่อนหนุ่ม-สาว จีบแฟนกันในวงของการทำงานเอาแรงหรือประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัว ใครขยัน ขี้เกียจกันก็เห็นจากการได้ทำงาน การประกอบอาชีพ และยังใกล้ตาพ่อ-แม่ของทั้ง 2 ฝ่ายอีก
ต่อมา พ.ศ 2508 ก็เหมือนกับว่าเรากินกงสีต่อไปไม่ได้แล้ว เนื่องจากเตี่ยเริ่มมีลูกหลายคนอยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง เตี่ยจึงรวบรวมเงินทั้งหมดออกรถสิบล้อวิ่งส่งของ ระหว่างต่างจังหวัด-กรุงเทพฯ ตอนนั้นบ้านก็ยังไม่มีอยู่ ทางโรงสีจึงช่วยให้พวกเราไปอยู่บ้านพักในโรงเรียนจีน ใช้สิทธิพ่อค้าของทางโรงสี เข้าพักอาศัย ชื่อโรงเรียนกวางวา ในตัวอำเภอ มีแต่ไฟฟ้า น้ำแม่ต้องไปหาบจากบ่อโพงหน้าโรงเรียนมาใช้เอง เราจึงได้เรียนหนังสือและภาษาจีนที่โรงเรียนกวางกวาแห่งนี้ เสื้อผ้าชุดนักเรียนแม่จะเป็นคนตัด-เย็บให้ลูกใส่เอง สมัยนั้นเสื้อสำเร็จยังไม่มีขาย แม่ตัดเสื้อชุดนักเรียนสวยมาก แม่ใช้ผ้าหน้ากว้างตัดกระโปรงให้พวกเรา จึงได้กระโปรงที่จีบลึก และเป็นที่ถูกใจของลูกๆ ว่างจากงานบ้านแล้วแม่ก็ไปรับผ้าโหลมาเย็บ ดิฉันก็เป็นลูกมือให้แม่คอยตัดหางด้าย และพับเสื้อให้แม่ ด้วยสงสารแม่ แม่ต้องอดนอนเย็บผ้าโหลขณะที่พวกเราหลับไปแล้ว เพราะพวกเราซนมากเหมือนเด็กผู้ชาย ชอบปีนป่ายต้นไม้ ลูกฝรั่งต้องขึ้นไปกินบนกิ่งที่สูงที่สุด (ความสูงเท่าหลังคาโกดังข้าวสาร) ที่ปลายยอดสุดใครไปกินลูกปลายอวบขาวลูกนั้นได้ก็จะเป็นฝ่ายชนะ สุดท้ายตัวดิฉันเองที่ชอบเอาความชนะ ปีนไปสุดยอด กิ่งฝรั่งทานไม่ไหว พลัดหล่นจากต้นฝรั่งไม่ปะทะกิ่งใดเลยถึงพื้นดินไม่เป็นอะไรเลยแค่จุกนิดหน่อย แป้บเดียววิ่งปร๋อได้อีก เตี่ยกลับมาจากวิ่งรถสิบล้อ แม่รายงานเสียยกใหญ่ เตี่ยก็ได้ใจเลยรีบฟันต้นฝรั่งที้งเสียก่อนกระดูกลูกจะออกนอกเนื้อ เหน็ดเหนื่อยพวกลิงทะโมนยังไม่พอ น้องสาวคนสุดท้องเลี้ยงยากมาก ป่วยบ่อย ขี้ร้องไห้ ไข้ขึ้นจะชักเป็นประจำ เป็นครั้งแรกเกือบตาย เพราะแม่ตกใจทำอะไรไม่ถูก อุ้มน้องวิ่งไปหาเพื่อนบ้านที่เรานับถือ ช่วยน้องกันใหญ่ ใช้นิ้วมือดันลิ้นน้อง น้องก็กัดนี้วมือ สุดท้ายคงคิดกันได้ใช้ด้ามช้อนพันผ้าให้น้องกัด แล้วเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจนอาการไข้ลด พอภายหลังอายุเข้าโรงเรียนได้ก็หายอาการชัก แต่คนสุดท้ายสติปัญญาดีมาก เรียนได้ที่ 1 ตลอด แต่ก็ดื้อกับคุณครูไม่เชื่อฟัง โดดเรียนประจำ จนเรียนไม่จบมัธยมปลาย เตี่ย-แม่ก็โกรธ ดิฉันจึงรับผิดชอบการออกโรงเรียนของน้องคนเล็ก ต่อมาก็เรียนกศน.จนจบมัธยมปลาย ไม่มีครอบครัว ทำงานบริษัท ขณะนี้กำลังเรียน มสธ.ระดับปริญญาตรี
การเรียนระดับอนุบาล- ประถม 2 ของดิฉัน ที่โรงเรียนจีน ครูและเหล่าซือจะดุมาก ถ้าไม่ทำการบ้านพวกเราต้องถูกลงโทษด้วยการตีด้วยไม้เรียวที่น่อง และแล้วก็เกิดเหตุจนได้ เราคู่แฝดเรียนห้องเดียวกัน น้องคู่แฝดโดนครูสอนคณิตศาสตร์ทำโทษเพราะน้องตอบคำถามของคุณครูไม่ได้ จำได้เลยชื่อคุณครูนงคราญ ครูเรียกไปตีน่องที่หน้าชั้น น้องร้องไห้เลยเพราะครูฟาดอย่างแรงจนเกิดริ้วที่น่องให้เห็น ดิฉันทนเห็นน้องต้องเจ็บไม่ไหวแล้ว รีบวิ่งออกจากห้องเรียนไปฟ้องแม่ เพราะบ้านอยู่ติดกับห้องเรียน สุดท้ายแม่โกรธมาก เอาลูกออกจากโรงเรียนแห่งนี้ทั้งหมด กลางคันเลยทั้งที่เรายังไม่จบ ป.2 ด้วยซ้ำ สมัยก่อนออก-เข้ากลางคันได้ เราจึงเรียนภาษาจีนกันได้แค่ 2 ปี จากนั้นแม่ก็ให้ไปเรียนโรงเรียนเทศบาลเมืองสวรรคโลก
หลังจากเตี่ยนั้นเตี่ยขับรถสิบล้อส่งของจนได้ถึง 10 ปี ต่อมาระยะหลังลูกน้องเตี่ยขับรถไปคว่ำ บ่อยทั้งรถและข้าวของเสียหายค่าซ่อมรถก็ติดอู่ไว้มากมาย แม่ก็โดนขโมยจี้เอาทอง เข็มขัดนาคไปหลายบาทเชียว ซึ่งเราอยู่กันตามลำพังแม่-ลูกเล็กๆไม่มีผู้ชายก็จึงโดนจี้ได้ง่าย ระบบความปลอดภัยไม่มีเลย แม่เห็นท่าทางไม่ดีแน่ บ้านช่องเราก็ยังไม่มีเป็นหลักแหล่ง จึงปรึกษาเตี่ย ชักชวนเตี่ยขายรถสิบล้อไปซื้อที่ดิน เพื่อสร้างโรงสี เลี้ยงหมูกันดีกว่า ก่อนที่จะไม่เหลืออะไร จากนั้นเตี่ยก็ขายรถสิบล้อไป
ในปี พ.ศ 2518 จึงได้ไปซื้อที่เพื่อสร้างโรงสีขนาดกลางอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำยม ใช้เครื่องยนต์ดีเซล เป็นเครี่องจักรลากสายพานในการสีข้าว สมัยนั้นใช้เรือจ้างข้ามฟาก จากเคยอยู่สบายต้องมาอยู่ที่นี่เราเริ่มลำบาก จากเคยมีน้ำไฟใช้สะดวก ต้องมาใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด จุดทำการบ้านอ่านหนังสือ รีดชุดนักเรียนใช้เตาถ่านรีด ไฟแรงไปต้องมีใบตองมารองรีดก่อนเพื่อไม่ให้เสื้อผ้าไหม้ น้ำกินน้ำใช้ต้องลงไปหาบที่แม่น้ำ
ส่วนน้ำกินเราจะทำน้ำซึมบ่อทราย โดยชุดทรายบริเวณที่ทรายหนาและสะอาด กว้างพอแล้วนำวงกระถางวางที่บ่อทรายกลบทรายให้เรียบร้อย จากนั้นก็ตักน้ำที่ขุ่นจากที่ขุดทรายออกให้เกลี้ยง น้ำที่อยู่ในวงกระถางก็ได้รับการกรองจากทรายจะใสสะอาดนำไปทานกันได้ ดิฉันตอนนั้นเริ่มโตอยู่ชั้นประถมปีที่ 7 ช่วยเหลือครอบครัวได้บ้างในการหาบน้ำกินน้ำใช้ได้ การหาบน้ำของพวกเรา ก็เริ่มจากเตี่ยจะเป็นผู้ที่เหลาไม้คานเล็กสำหรับหาบให้พวกเรา กระถางก็จะเป็นกระถางอลูมมิเนียมเบอร์ที่เล็กที่สุด จนสามารถหาบขนาดปีบอย่างแม่ได้ สนุกตรงที่เราจะแย่งไม้คานอันเบากัน เตี่ยต้องเหลาเพิ่มเพื่อที่จะถูกใจเรา ถูกใจเราทุกคน เราใช้ไม้คานเปลืองมากเพราะความเป็นเด็กตักน้ำเต็มถังแล้ว เราไม่ระวัง เชือกจากกระถางต้องมาคล้องหลังนมไม้คาน เราไม่ทันได้ดูให้ดี เชือกคล้องออกนอกนมไม้คาน สรุปไม้คานหักทั้งใช้งานและเผลอเรอของพวกเรา ก็สนุกสนานทั้งได้น้ำและเสียของ
เราชอบที่บ้านตรงนี้ เราภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงของครอบครัวเรา เป็นทั้งบ้าน กิจการ มีพื้นที่ที่เหลือเป็นที่ดินทรายพูน ยื่นลงข้างตลิ่งให้เราได้ปลูกไผ่ตรงไว้กิน ปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว ถั่วลิสง แม้กระทั่งมันเทศได้หัวสวยมากเพราะปลูกกับดินปนทราย ถึงปีน้ำลดมีทรายมามากมายให้เราได้วิ่งเล่นกับน้องๆและเพื่อนบ้าน ได้เล่นน้ำแม่น้ำ จนกระทั่งว่ายน้ำเป็นได้ด้วยตัวเอง อยากกินปลาหรอเราก็ไล่จับปลากันด้วยใบกล้วยแห้งนำมาพันกันยาวๆ 2 คนจับหัวท้ายก้านกล้วยที่มัดได้ยาวเป็นที่พอใจแล้วก็ลากก้านกล้วยพาปลาเล็กปลาน้อยที่น้ำไม่ลึกขึ้นหาดทรายจับปลาใส่กระถาง หลังจากนั้นขอดเกล็ดเอาไส้ออก สับทอดปลาเห็ดกินกันสดๆ ได้เล่นได้อิ่มในเวลาเดียวกันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยพลังพวกเราเหลือเฟือมาก เตี่ยเราก็ได้ใจงานฝีมือถักแหหาปลาเตี่ยก็ถักได้ ดิฉันจับปลาทอดแหเป็นจากการเลียนแบบเตี่ย ทุกอย่างเตี่ยแม่ไม่สอนแต่ทำให้เราดู เหยียบแห ลากแหเตี่ยจนขาด เตี่ยก็ปะชุนไปบ่นไป ของใช้ในบ้านแทบไม่ต้องเสียเงินซื้อ
เราใช้แรงงานในครัวเรือน สร้างบ้านสร้างโรงสี ดิฉันช่วยเตี่ยแม่ตั้งแต่หาบทราย หาบกรวด หาบน้ำจากแม่น้ำ เพื่อจะมาผสมปูนหล่อเสาบ้านเทพื้นบ้าน สร้างคอกหมูกันเอง ธรรมชาติน้ำท่าดินดีอุดมสมบูรณ์มาก -กรวด-ทราย มีพอเพียงเราไม่ต้องซื้อเลย ซื้อเพียงปูนซิเมนต์ และเหล็กเส้น ส้วมยังขุดกันเอง
การสร้างโรงสีแห่งนี้ด้วยแรงกายและสติปัญญาของเตี่ย กับทางโรงสีใหญ่ของป้าสนับสนุนอุปกรณ์บางอย่างให้กับเรา กิจการรับจ้างสีข้าวดำเนินไปควบคู่กับการเลี้ยงหมู สุดท้ายเราแก้ปัญหาโรงสีข้าวไม่ตกตรงที่ ไม่สามารถจัดการแยกแกลบข้าว (เปลือกข้าว)จากรำได้ไม่ทั้งหมด หลังจากสีข้าวแล้ว ต้องมาร่อนแกลบออกจากรำ ดิฉันกับแม่ต้องช่วยกันหลังจากสีข้าวเสร็จ นับว่าเหน็ดเหนี่อยกันมาก เราจะจ้างช่างมาแก้ปัญหาที่เกิดก็ไม่ได้ เพราะช่างก็ไม่รู้จะช่วยเราอย่างไรเพราะเราทำของเราเอง ช่างอื่นก็ไม่รู้เรื่องของเรา เรารับจ้างสีข้าว เพื่อได้รำได้ปลายข้าวมาเลี้ยงหมู กับขายข้าวสาร เปลียน รำ หน้าโรงสี
การเลี้ยงหมูก็เพื่อเป็นออมสินให้แก่เรา ราคาหมูเป็นขึ้นกับจำนวนหมูในตลาด ถ้าช่วงใหนหมูมากราคาจะถูกเราต้องขุนไว้ต่อ แต่น้ำหนักแต่ละตัวก็ไม่ให้เกิน 95 กิโลกรัม ขนาดใหญ่ไปพ่อค้าหมูก็เกี่ยงเราอีก
แม่จะใช้ปลายข้าว(เปลียน) รำ จากการสีข้าวผสมหัวอาหารที่ซื้อมาจากร้านค้าในตลาด ถ้าหน้าปลาสร้อยแม่น้ำขึ้นเราจะมีปลามาทำหัวอาหารใส่ไหให้หมูก็ทุ่นซื้้ออาหารไปได้บ้าง
ในทุกวันตอนบ่ายๆ ว่างจากสีข้าวแม่และลูกๆจะพากันไป ตัดผักโขมหนาม ผักโขมหิน ผักบุ้งบ้าง มาต้มกะทะใบบัว ผสมข้าวให้หมูกิน แม่จะซื้อพันธุ์แม่หมู พ่อหมูมาเลี้ยง และเพาะลูกเอง เวลาหมูจะคลอดสนุกมาก เตี่ยแม่และดิฉันไม่ได้หลับนอนกันเลยเพราะแม่หมูเจ้าอู้ดคลอดกลางคืนทุกครั้งไป เราอยากได้ลูกทุกตัวแข็งแรงและรอดทุกชีวิต จึงต้องเฝ้าทำคลอดให้เจ้าอู้ด บางตัวเจ้าอู้ดเบ่งหลายครั้งไม่ออกสักที เตี่ย แม่จะเข้าไปช่วยมันคลอดโดยดึงออกมาตัวแม่มัน มันก็ให้ความร่วมมือดี หลังจากนั้นเราต้องคอยตัดสายสะดือ มัดสายสะดือและ แต้มยาทิงเจอร์ให้ตรงช่วงที่เราตัดสายสะดือ พอเจ้าอู้ดน้อยแข็งแรงดีแล้วเราจะตัดเขี้ยวแหลมทั้ง 4 ของมัน เพราะป้องกันมันกัดนมแม่จะเจ็บ เข็ดไม่ยอมให้ลูกกินนม หลังตัดเขี้ยวเสร็จเรียบร้อย เจ้าตัวแม่คลอดรกออกเป็นที่เรียบร้อยเราก็จะปล่อยให้แม่ลูกอยู่ด้วยกัน แต่ก็สาหัสอยู่ไม่น้อยตรงที่เราต้องหาบน้ำมาอาบหมู ถ้าวันใหนอากาศร้อนมาก เราต้องลงไปหาบน้ำแม่น้ำกันตอนเที่ยงวันเพื่อมาให้เจ้าอู้ดได้กิน อาบ นอนกันอย่างสุขสบาย อิอิโปรดติดตามตอนต่อไป
« « Prev : ไข้หัวลม
Next : เวลาที่เหลือ….อยู่เพื่อใคร » »
18 ความคิดเห็น
ชอบมากครับ น้องนิด เห็นชัดเจนวิถีการดิ้นรนของครอบครัว คนจีนที่อดทน สู้ และพร้อมจะปรับตัวได้ตลอด..
น้องนิดลองประมาณ พ.ศ.ได้ไหมครับว่าช่วงตั้งโรงสี เมื่อไหร่ ช่วงเตี่ขับรถสิบล้อเมื่อไหร่ โดยประมาณน่ะครับ แล้วหากมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าสมัยนั้น การสีข้าวเป็นแบบไหน ใช้เทคโนโลยีสีข้าวแบบไหน ข้าวพันธุ์อะไร ค้าจ้างสี เท่าไหร่ เอาแกลบไปทำอะไร เอารำไปทำอะไร ข้าวที่ซื้อมาสีราคาเกวียนละเท่าไหร่ครับ..ฯลฯ
หากเพิ่มเติมได้ก้ดีครับ แต่หากว่ายากเพราะไม่มีใครให้ซักถามแล้ว ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะหากมีรายละเอียดจะเห็นสภาพทางเศรษฐกิจสมัยนั้นครับ น้องนิดอย่า ซีเรียจนะครับ..เข้าใจว่าไม่ใช่ง่ายๆที่จะไปเก็บรายละเอียดมาครับ
พี่ชอบการต่อสู่ชีวิตของคนสมัยนั้น การดิ้นรน และทางออกทางเลือก การตัดสินใจของท่านเหล่านั้นครับ
พี่นิดคะ อ่านเรื่องของพี่นิดแล้วสนุก คิดถึงตอนเด็กๆ ค่ะ
คิดถึงตัวเองตอนหาบน้ำค่ะ เดินหน้าสองก้าว ถอยหลังสามก้าว เห็นท่าจะไม่ไหวก็เลยต้องใช้หิ้วแทน..
ที่บ้านนักการหนิงก็ลองเลี้ยงหมูค่ะ ต้องอาบน้ำให้หมูเช่นกัน แต่พอเจ้าแม่หมูคลอดลูก ลูกหมูออกมาตายหมดเลย ร้องไห้กันยกใหญ่ พอขายแม่หมูให้เขาไปก็ร้องไห้กันอีกยกใหญ่ แล้วก็ไม่ทานเนื้อหมูกันไปหลายเดือนเลยค่ะ … จากนั้นก็เลิกเลี้ยงหมู
ตามติด รอติดตามครับน้านิด
พี่บางทรายค่ะรับไว้ปรับปรุงค่ะ
น้องหนิงค่ะแรกๆๆ ก็ไม่ชินกับการหาบค่ะ มันจะมีจังหวะค่ะ จะผ่อนแรง เราไม่ได้ใช้เชือกมัดกระถางหรือปี้บที่หาบ แต่จะใช้เหล็กเส้นเป็นตะขอเกาะระหว่างไม้คานกับแกนคานปิ้บ บี้ปจะไม่แกว่งทำให้เราเดินได้ง่าย เพราะเรากลัวเสียลูกหมูไปจากการแม่นอนทับ ก็ต้องทนอดหลับอดนอนดูแลให้คลอดได้ปลอดภัย ถ้าตายไปที่ลงทุนไปก็จะหมด แม่พี่บอกว่าหมูที่เราเลี้ยงเป็นออมสินของเราจ้ะ
กำลังสนุกเลย
รอติดตามตอนต่อไปค่ะ
คิดถึงเรื่องหาบน้ำเหมือนนักการหนิง ตอนเด็กๆ ไปอยู่บ้านยายเห็นเด็กแถวนั้นหาบของขายกัน เลยรบเร้าจะขายมั่ง ยายจึงเอามะเขือเทศใส่หาบให้ไปเดินขาย
แรกๆ ก็สนุกดีหรอก พอไปไกลๆ เข้า เริ่มบ่าระบม เจ็บชะมัด ตอนหลังๆ ท่าหาบที่ดูสง่างาม ก็กลายเป็น ใหล่คดไหล่งอ เพราะต้องพยายามเอาไม้คานมาไว้ตรงสันคอด้านหลังที่มีเนื้อมากที่สุด กลายเป็นเรื่องเล่าขำๆ กันจนถึงทุกวันนี้ค่ะ
อีกหนึ่งไผมาแว๊วววววว
นั่งเบิ่งตารออยู่ค่ะ
จะไม่ยอมกระพริบถ้าพี่นิดไม่ขึ้นบันทึกใหม่อ่ะ
อิอิ กดดัน ๆ
อุ้ยคะ พี่ครูอึ่งคะคอยอีกนิดนะคะ แน่เชียวค่ะการหาบนี่บ่าระบมเลยค่ะ บางครั้งต้องพันผ้าที่ไม้คานบ้างค่ะ พอขาแข้งลำตัวเราแข็งแรง ทุกอย่าง สุดท้ายวิ่งหาบกันเลย เพื่อนบ้านนุ่งผ้าถุง ถกผ้าถุงข้างหนึ่งจับไม้คานข้างหนึ่งไว้ พาหาบวิ่งขึ้นตลิ่งสูง น่าตาเฉยเลยค่ะ อิอิ
น้องครูปูคะว่างใจลงได้บ้างแล้วเลยลองเขียนเล่าให้อ่านค่ะ มุมเศร้าก็มีนะคะแต่เก็บไว้ลึกๆค่ะ ไม่กดดันจ้ะ กระพริบตาได้ค่ะพี่นิดอนุญาตเดี๋ยวตาแห้งเจ็บไม่รู้ด้วยนะคะ อิอิ
น่าจะเขียนมาตั้งนานแล้ว
ไปหลบมุมอยู่ที่ไหนนนนนนนนนนนนนนนนน
โธ่ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
ถ้าพี่นิดขยายขนาดตัวอักษรสักนิด แล้วเพิ่มเป็นหลายย่อหน้าหน่อย สว.แถวนี้น่าจะสบายตาขึ้นนะคะ ลุ้น ๆ ค่ะ
จาก สายตา สว.เหมียนกาน แฮ่ๆ
พ่อครูคะ อิอิยังบิ้วรมณ์ บ่ได้ ไม่ได้หลบสักกะหน่อย เขียนในข้อคิดเห็นท่านอื่นออกบ่อยค่ะพ่อครู
น้องอาจารย์ลูกหว้าคะ จะทักก็พอดีกะลังแก้บันทึกจ้ะ เมื่อวานก็พาลูกไปเที่ยวถนนวัฒนธรรม งานลอยกระทงด้วยจ้ะ พระจันทร์สุกสว่างลมเย็นสบายใจมากได้วิดีโอกลองยาวเพื่ออัพเดทข้อมูลจ้ะ
swot ของสำนักฯ ไม่ยากนะคะ จุดแข็งอยู่ที่ท่านอาจารย์ครองศักดิ์และอาจารย์นิภารัตน์ จ้ะ
อาจารย์น้องยาไปหาพี่ที่หอสมุด ก็คุยกันในตัวภาระกิจหลักของสำนักฯไปพอสมควร เห็นบอกกันว่าจะทำหนังสือขอข้อมูลจากพี่จ้ะ น้องอาจารย์ลูกว้าสบายดีนะคะ ที่หอสมุดพี่ก็จะตรวจประเมินต้นธันวานี้จ้ะ เห็นฝ่ายประกันคุณภาพวิ่งกันให้วุ่น มีอะไรให้พี่ช่วยบอกกล่าวได้เลยนะคะไม่ต้องเกรงใจ
เป็นชีวิตที่น่าสนใจมาก อาม่าไม่เคยรู้เรื่องแบบนี้มาก่อน นับว่าเป็นโชคที่ได้เรียนรู้ชีวิตจริงจากน้องนิด ที่แสนจะสนุกน่าอ่านมากๆ เต็มไปด้วยชีวิตจิตใจและสาระรายละเอียดของการทำอาชีพ โรงสีข้าว และเลี้ยงหมู บอกได้คำเดียว ว่าของเขาดีจริงๆ ค่ะ
ขอบคุณค่ะอาม่าขา ดีใจที่อาม่าสนุกกับหนู เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หนูโชคดีไที่เตี่ย-แม่มอบวิชาชีวิตให้ค่ะ
น้องอาจารย์ลูกหว้่าคะ oK ค่ะ ด้วยความยินดี สาวบริการสดใส พี่นิดชอบค่ะ
เอาของรักมาฝากครับ
http://gotoknow.org/blog/ekkachai-km3/337257
ขอร่วมแสดงความยินดีผ่านที่ลานละกันนะคะ ครอบครัวลุงเอกแสนน่ารักมากนะคะ หนูเช็คเมลล์แล้วพบลุงเอกอุสาห์ให้เกียรติ ครอบครัวกำลังวุ่นเลยค่ะ มหาวิทยาลัยสั่งการให้ย้ายบ้านพักไปส่วนหนองอ้อค่ะ อยู่ระหว่างการย้ายบ้านพักเลยค่ะลุงเอก ขอบคุณลุงเอกมากค่ะ