มังคละ : เวทีการถ่ายทอดศิลปะพื้นบ้านสู่เยาวชน
อ่าน: 1096ได้โอกาสเสียทีการลงเก็บข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อบันทึกและเผยแพร่ในฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลก สู่หลักสูตรท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์ อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลาการขอพักร้อน ของผู้เขียน 3 วัน นี้(13-15 สิงหาคม 2551) ณ มรภ.พิบูลสงคราม ซึ่งได้การอนุญาตการบันทึกข้อมูลที่เจาะลึก จากพันจ่าอากาศเอก ประโยชน์ ลูกพลับ ประธานชมรมอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละ จ.พิษณุโลก และสนับสนุนโครงการนี้โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ถ่ายทอดศิลปะพื้นบ้านให้กับครูและนักเรียน ทั้ง 3 เขตพื้นที่การศึกษา ขอจังหวัดพิษณุโลก
ในวาระแรกท่านอาจารย์ครองศักดิ์ ภุมรินทร์ ท่านเล่าประวัติความเป็นมา ภูมิหลังของมังคละ ว่าดนตรีมังคละ ไม่ชัดเจนที่บอกได้ว่า เป็นคนตรีพื้นบ้านของพิษณุโลก สุโขทัย หรือ อุตรดิตถ์ จึงสรุบว่าเป็นของจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง ละกัน แต่ที่ชัดเจน ปรากฏหลักฐานบันทึกยืนยันว่า มีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี เคยมีบทบาทสำคัญใน ฐานะมหรสพของสังคมเมืองพิษณุโลกและภูมิภาคภาคเหนือตอนล่าง
เมื่อย้อนอดีตจากวันนี้ผ่านมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ๑๑๑ ปีมาแล้ว มีหลักฐานบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ความว่า
“ เวลาบ่าย ๔ โมง ๔๐ นาที ไปวัดมหาธาตุ อยู่ฝั่งตะวันออกตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล นมัสการพระชินราชแล้วดูธรรมมาสน์เทศน์ ธรรมมาสน์สวด ดูเรือนแก้ว สิ่งทั้งปวง เหล่านี้ล้วนเป็นของดีอย่างเอก ไม่เคยพบเคยเห็น จะพรรณนาก็จะมากความนักคิดว่าจะพรรณนาเวลาอื่น เพราะจะดูอีก ดูวันนี้เป็นการรีบ ๆ ผ่าน ๆ แลจดหมายเวลาจะนอนคงจะหยาบไปมากไม่สมกับของดี ดูในวิหารแล้วมาดูรูปพระชินราชจำลอง ติเตียนปฤกษากับหลวงประสิทธิ์ปฏิมาอยู่จนจวนค่ำแล้วดูบานประตูมุก
ดูพระระเบียงนอก ระเบียงใน ดูวิหารพระชินศรีจำลอง ดูมณฑปด้วยได้ไม้สลักหัวนาคจำแลง ที่จะเป็นหัวบันไดธรรมมาสน์อันหนึ่ง ได้นาคปักเป็นหัวมังกรทำด้วยดินเคลือบอันหนึ่ง เวลาทุ่ม ๑ กลับมา
ถึงเรือ
พอกินข้าวแล้ว พระยาเทพามาบอกว่า มังคละมาแล้ว ลืมเล่าถึงมังคละไป คืนวันเมื่อพักอยู่ที่ไทรโรงโขน ได้ยินเสียงไกล ๆ เป็นกลองตีเป็นเพลง แต่จะสังเกตว่าเป็นอะไรไม่ได้ รุ่งขึ้นกำลังเดินเรือมาตามทาง ได้ยินอีกหนหนึ่ง ทีนี้ใกล้เขาแห่นาคกันอยู่ริมตลิ่ง แต่ไม่แลเห็นอะไรเพราะพงบังเสีย นึกเอาว่าเถิดเทิงเลวอยู่มาก ก็นึกเสียว่า เถิดเทิงบ้านนอกมันคงลักขูอยู่เอง ครั้นมาจอดที่วัดสะกัดน้ำมัน ได้ยินอีกไกล ๆ จึงได้ถามท่านสมภารว่าอะไร ท่านสมภารอธิบายว่า ปี่พาทย์ ชนิดหนึ่งเรียกว่ามังคละ พระยาเทพาอยู่ที่นั่นด้วย ก็เลยอธิบายว่า เป็นกลองคล้ายสองหน้า มีฆ้องมีปี่ ปี่พาทย์ชนิดนี้เล่นไม่ว่าการมงคลแลการอัปมงคล หากันวันกับคืนหนึ่งเป็นเงิน ๗ ตำลึง จึงได้ขอให้พระยาเทพาเขาเรียกมาตีให้ฟัง เมื่อเขาจัดมาแล้วเขาจึงมาบอก ได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกทกแป้งฤาอะไรแป้ง จำไม่ได้ถนัดที่เขาบอก เครื่องมังคละนี้เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้น ขึงหนังหน้าเดียวมีไม้ตียาว ๆ (ที่หมาย ๑) มีไม้ตีตรง ๆ (ที่หมาย ๒) กลองสามใบนี้ต้องหุ้มผ้าดอกเหลือไว้แต่หน้าเพราะเขาว่าฝีมือขึ้นแลฝีมือทำหุ่นดูไม่ได้ และมีปี่คันหนึ่ง ตัวเป็นทำนองปี่จีน ลิ้นเป็นปี่ชวา มีฆ้องแขวนราว ๓ ใบ เสียงต่าง ๆ เข้ากับกลองเล่าโต๊ว ไม่น่าฟังแปลว่าหนวกหูเพลงปี่ก็ไม่อ่อนหวานเป็นทำนองลูกเล่นมากกว่า เพราะลองให้ตีดู ๒ เพลงหนวกหูเต็มทีเลยให้อัฐไล่มันไปบ้านแล้วกลับลงมานอน” เสียงดนตรีที่ดั่งหนวกหู ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ ทรงวิจารณ์นั้น ปัจจุบัน (ปี ๒๕๔๘) ก็ยังเล่นกันอยู่ซึ่งไม่แตกต่างไปจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ทรงบรรยายไว้ เว้นแต่กลองสองหน้าในปัจจุบันบางทีใช้ใบเดียว และมีฉิ่งฉาบด้วยแสดงให้เห็นว่า มังคละ เป็นดนตรีในท้องถิ่นของจังหวัดพิษณุโลกที่เล่นมาแต่โบราณกาล
ต่อมาจึงได้มีผู้คิดท่ารำประกอบโดยจินตนาการจากสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของหนุ่มสาวชาวชนบทในยามว่างจากการทำงาน มีงานรื่นเริงหรือในเทศกาลงานบุญต่าง ๆ แต่ก่อนมังคละจะรู้จักกันเฉพาะในท้องถิ่น ปัจจุบันวงดนตรีมังคละได้รับการ พัฒนาให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแล้วโดยอาจารย์ครองศักดิ์ ภุมรินทร์ ภาควิชาดนตรีมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ได้รับการส่งเสริมฟื้นฟูกันขึ้นมาใหม่จึงทำให้เสียงดนตรีมังคละที่ค่อนข้างหนวกหูนั้น มีความกลมกลืนประสานเสียงกัน ฟังไพเราะยิ่งขึ้น เสียงปี่ เสียงกลองมังคละถึงแม้จะมีเสียงดังแต่ก็มีความกังวาน ก้องลึกเข้าไปในความรู้สึกของผู้ฟัง ท่วงทำนองลีลา และจังหวะของเพลงมังคละได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นโน้ตเพลง ซึ่งทำให้ดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลกได้เผยแพร่ออกไปสู่นักดนตรีในท้องถิ่นอื่น ๆ และผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อสืบต่ออายุของ ดนตรีมังคละให้แพร่หลาย มีเพลงที่น่าสนใจอยู่เพลงหนึ่ง ชื่อ นมยานกระทกแป้ง เพลงนี้ปรากฏในบทพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เรื่องจดหมายเหตุระยะทางไปพิษณุโลก ดังความว่า “…เมื่อเขาจัดมาแล้ว เขาจึงมาบอกได้ขึ้นไปดูมังคละ ทีแรกตีเพลงนมยานกระทกแป้ง ฤาอะไรแป้งจำไม้ได้ถนัดที่เขาบอก..” ชื่อเพลงนมยานกระทกแป้ง นับเป็นความฉลาดหลักแหลมของผู้ตั้งชื่อในสมัยโบราณ จะเห็นว่าได้ทั้งอารมณ์และจิตนาการ แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันอย่างลึกซึ้ง คำว่ากระทก (กทก) คงจะหมายถึงกิริยา ฝัด เมื่อนำแป้งไปใส่ไว้ในกระด้งก็จะทำกริยา ฝัด (กระทก) เพื่อให้ได้แป้งที่ละเอียดตามที่ต้องการ การฝัดแป้งนั้นต้องใช้แขนทั้ง ๒ ข้าง ฝัดเข้าออกสลับกันไป จินตนาการของผู้ตั้งชื่อคงมุ่งเน้นไปที่สตรีวัยชรา คุณย่า คุณยาย ฝัดแป้ง จึงเกิดแรงบันดาลใจตั้งเป็นชื่อเพลงดังกล่าว
เพลงมังคละ มีทำนองเพลงกลองยืนบันทึกเป็นโน้ตไว้ ๒๑ เพลง แต่เพลงพื้นฐาน ที่ศึกษา ดังนี้ คือ
๑. เพลงไม้หนึ่ง ป๊ะ เท่ง ป๊ะ ๒. เพลงไม้สอง ป๊ะ เท่ง ป๊ะเท่งป๊ะ
๓. เพลงไม้สาม ป๊ะ เท่ง ป๊ะเท่ง ป๊ะเท่ง เท่ง
๔. เพลงไม้สี่ (เพลงครู) ป๊ะ เท่ง เท่ง ป๊ะเท่งป๊ะ
เพลงมังคละท่ารำที่ อาจารย์อนงค์ นาคสวัสดิ์ คิดท่าขึ้นมี ๔ ท่า ดังนี้
ท่ารำที่ ๑ ท่าเจ้าชู้ยักษ์ ฝ่ายชายที่มีผู้นำทำท่าเกี้ยวหญิง
ท่ารำที่ ๒ ท่าเจ้าชู้ไก่แจ้ ชายอีกคนหนึ่งลุกขึ้นรำกลางวง ชวนเพื่อนออกไปเกี้ยวใหม่ด้วยท่าเจ้าชู้ไก่แจ้
ที่ ๓ ท่าป้อ ท่านี้เป็นท่ารำที่อ่อนช้อยของชายซึ่งมีผู้นำคนใหม่ชวนพรรคพวกออกมาเกี้ยว
ท่าที่ ๔ ท่าเมิน ท่านี้เป็นท่าสุดท้ายที่ฝ่ายชายคิดขึ้นใหม่ คือทำท่าไม่สนใจหญิง เมื่อพากันรำเข้ามาใกล้ ตัวฝ่ายหญิงแล้วก็ทำท่าหยิ่งไว้ตัว ไม่ง้อ ไม่สนใจ แต่แอบยิ้มให้ลับหลัง
เล่ามามากเลย ผู้อ่านลองชมภาพกันดีกว่า
รศ.ครองศักดิ์ ภุมรินทร์ เล่าภูมิหลังประวัติความเป็นมา
อาจารย์นิภารัตน์ สอนร่ายรำ ประกอบ พันจ่าอากาศเอก ประโยชน์ลูกพลับ แนะนะสอนเด็กๆ เน้นตีจังหวะให้หนักแน่น กังวาน
ถึงคราคุณครูแสดงฝีมือ นักเรียน บันทึกภาพคุณครูบ้าง น่ารัก ม๊ก มาก
เอกสารอ้างอิงประกอบคำบรรยาย : ชมรมอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละ จังหวัดพิษณุโลกภูมิหลังมังคละ
หมายเหตุ ศึกษาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลก เพิ่มเติ่ม ได้ที่ www.med.nu.ac.th/wisdom
« « Prev : งานเข้าอีกแล้ว ครับผ้ม
Next : พ่อครูบาสุทธินันท์ มาชี้แนะ » »
6 ความคิดเห็น
พี่นิดครับ
บันทึกนี้ ยอดเยี่ยมทั้งเนื้อหา ภาพประกอบ เขียนได้สนุกมากจริงๆ ขอบอก อิอิ
พี่นิดจ๋า… หว้าก็ลงชุมชนที่จอมทองค่ะ เรื่องดนตรีมังคละกำลังช่วยดูชาวบ้านหมู่ 8 เขาทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ แต่ก็มีเรื่องเศร้าคือ…พอต.จอมทองเริ่มเปิด ก็เริ่มมีของเก่าในวัดเริ่มหายไป แย่จังเลยนะคะพี่ ทำให้เราไม่ค่อยกล้าประชาสัมพันธ์อะไรที่เกี่ยวกับของโบราณ เพราะกลัวใบสั่งจาก….. คิดถึงนะคะพี่นิด
สวัสดีครับ รู้สึกว่าบล๊อกมีปัญหาต้องปรับแก้นะครับ
แวะมาเยี่ยมเยียน สบายดีนะครับ
สวัสดีค่ะพี่นิด
ชอบใจชะมัดเลยค่ะที่มีการฟื้นฟูดนตรีพื้นบ้านขึ้นมาใหม่ ถ้าจำไม่ผิดของเชียงรายรู้สึกจะเป็นพิณเปี๊ยะนะคะ ที่คุณจรัล มโนเพชรมาฝึกเล่นและนำไปสอนเด็กๆรุ่นใหม่ๆทำให้ไม่สูญหายไป
ดนตรีมังคละดูท่าทางน่าสนุกนะคะ เห็นเด็กๆเล่นแล้วชื่นใจ
แต่เบิร์ดสงสัยจังว่าทำไมบล็อกของพี่นิดถึงมีการทับซ้อนของ widget กับ บันทึกล่ะคะ
ได้ทราบว่า ภูมิหลังของมังคละ ว่าดนตรีมังคละ ยังไม่ชัดเจนที่บอกได้ว่า เป็นคนตรีพื้นบ้านของพิษณุโลก สุโขทัย หรือ อุตรดิตถ์
แค่นี้ ก็พอจะรู้ว่า เป็น ของที่ใดที่หนึ่ง ที่กล่าวมานะคะ
พี่ sasinand ขอบคุณค่ะ น่าจะประมาณนี้นะคะ