เจ้าเป็นไผ ครูคิม
(พูดกันจัง เด็กคืออนาคตของชาติ ชาตินี้ หรือชาติหน้าก็ไม่รู้)
หลังจากที่ชาวแซ่เฮได้ไปเยี่ยมโรงเรียนครูคิม
ทำให้ความตั้งใจเก่า ๆ ต่อยอดออกมาได้อีก หลังจากฟุบแฟบไปนาน
เรื่องการสร้างโอกาสให้เด็กไทยที่ไร้ปัจจัยชีวิต
จากที่เคยฝากเด็กให้เรียนให้เข้าทำงานในบริษัทต่าง ๆ
ไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่านิยม นิสัยหยิบโหย่ง เหยาะแหยะ ไม่สู้ชีวิต เป็นลูกแหง่
เก่งแต่แบมือขอ ใจคอแข้งกระด้าง หลงแสงสี ฯลฯ
ถามว่าเป็นความบกพร่องของใคร ตอบว่าไม่มี จุดสำคัญ..อยู่ที่การอบรมสั่งสอนของโรงเรียนและครอบครัวร่วมมือกัน ที่โรงเรียนครูคิมมีคำตอบเรื่องนี้ โรงเรียนเปิดการอบรมนิสัยใจคอเด็กให้สุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดได้ทำตามจินตนาการ ไม่ยัดความรู้เหี่ยว ๆ ใส่สมองเด็ก การกระหายใคร่รู้จะเจริญงอกงามตามความคิดคำนึงของเด็ก เด็ก ๆ เสนอโครงงานที่คิดกันขึ้นมาเอง แล้วลงมือช่วยกันทำ โดยครูเป็นพี่เลี้ยง คอยให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเรียนเชิงโครงงานจริง ๆ ไม่ใช่โครงงานโหล ๆ
โรงเรียนเปิดบัญชีสะสมนิสัยหนักเอาเบาสู้ตามอายุของเด็ก
เด็กจะเห็นคุณค่าของการทำงาน ริเริ่มเรียนรู้วิธีทำงาน
ถามว่าทางบ้านไม่ช่วยสอนหรือ
บางครอบครัวก็ช่วยได้มาก
แต่บางครอบครัวที่พ่อแม่อพยพไปขายแรงงานในเมือง
ทำให้เกิดช่องว่างตรงจุดนี้ ถ้าโรงเรียนเข้ามาเติมเต็มได้จะวิเศษมาก
ครูคิมเล่าว่า ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ยากจนมาก หลายคนอยู่กับตายายอย่างแร้นแค้น เรียนจบไปแล้วโอกาสที่จะไปศึกษาต่อน้อยมาก ตรงจุดนี้เป็นการบ้านที่ผุดปรายขึ้นมาจากเนื้อแท้ของสังคม ครูึิคิมได้เสนอแผนงานเข้าร่วมกับโครงการระพีเสวนา จะนำเด็กไปศึกษาดูงานที่สวนป่าครูบาสุทธินันท์ ถึงงบประมาณยังไม่ได้รับ ทางโรงเรียนเจียดเงินส่วนอื่นเป็นค่าน้ำมันรถเดินทางไปก่อน เรื่องนี้โรงเรียนทำกันอย่างเป็นระบบ เด็กรับรู้ คุณครูทุกคนรับทราบ ร่วมด้วยช่วยกัน แบ่งกันเป็นรุ่น ๆ ใครไปก่อนก็มาสานต่องานให้รุ่นน้องผลัดเปลี่ยนกันไป
..การเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ชัด ๆ อย่างนี้ จะอธิบายวิธีทำงานแบบบูรณาการฉบับของจริง มหาชีวาลัยอีสานจะแจกหมูเหมยซานพันธุ์แท้ให้เด็กมาเลี้ยง 1-2 คู่ เพียงปีเดียวหมูออกลูกได้ประมาณ 50-80 ตัว แบ่งให้เด็กนำไปเลี้ยงในหมู่บ้านขยายพันธุ์ทวีคูณ ปีที่ 2 น่าจะขยายหมูพันธุ์นี้ได้ทั่วถึงทุกหลังคาเรือนที่สนใจเลี้ยง หมู่บ้านนี้ก็จะเป็นแหล่งผลิตหมูเหมยซานพันธุ์แท้จำหน่ายทั่วภาคเหนือ ขึ้นป้ายหมู่บ้านเหมยซานเงินล้่าน ในระหว่างเลี้ยงขยายพันธุ์ ครูก็สอนเรื่องการแปรรูปอาหาร ทำหมูรมควัน กุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น ฯลฯ ฯลฯ ขี้หมูเอาไปปลูกผัก พันธุ์ผัก พันธุ์ต้นไม้ พันธุ์กล้วย พันธุ์มะละกอ พันธุ์น้ำเต้า ฯลฯ
เด็กที่รับผิดชอบจะต้องลงมือเลี้ยง ลงมือปลูก ลงมือบันทึกขึ้นบล็อกเป็นระยะ
แล้วมานำเสนอวิธีเรียนในเวทีระพีเสวนาที่กรุงเทพ วันที่ 3 พฤษภาคม2552
ถ้าเด็ก ๆ เหล่านี้เรียนจบชั้น ม.3 ครูแนะแนวแนะนำให้ไปเข้าวิทยาลัยเกษตรกรรมที่ไหนก็ได้ ถ้าสนใจอยากจะอยู่ใกล้ครูบาสุทธินันท์ ก็ยกโขยงมาเรียนที่วิทยาลัยเกษตรกรรมบุรีรัมย์ก็ได้ วันไหนเหงา ว่าง คิดถึง ก็มาหาครูบาได้ มาช่วยทำกับข้าวกินกัน จะได้หายคิดถึงครูคิม.. การเรียนระดับ ปวช. ปวส. ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ค่าอาหาร ค่าที่พักฟรีหมด เด็กที่เีรียนเชิงประจักษ์เหล่านี้ ถ้านิสัยดี หนักเอาเบาสู้ เขาจะเป็นคนสืบทอดอาชีพการเกษตรรุ่นใหม่ ที่มีทั้งภาควิชาการและวิชาชีพ จะมีงาน มีอนาคต มีความหวัง
เขาจะเป็นนักปฎิบัติเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตัวจริงเสียงจริง
เขาจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ว่า..เด็กยากจนจะไปไหน เรียนอะไร
เขาจะเป็นผู้ช่วยตอบคำถามนโยบายปฎิรูปการศึกษารอบใหม่
เขาจะเป็นนักเรียนพันธุ์แท้
เรื่องนี้ผู้บริหารโรงเรียนคณะครูเอาจริงนะครับ ไม่งั้นไม่ระหกระเหินไปบุรีรัมย์หรอก มีคนถามว่า.. การเรียนระดับปวส. ในวิทยาลัยเกษตรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียวหรือ อาจจะมีบ้างเช่น ค่าเดินทาง เสื้อผ้า เงินก้นถุง จะเอามาจากไหน แหม..ถ้าเด็กเลี้ยงหมูเหมยซานตั้งแต่ตอนนี้ กว่าจะเรียนจบ ม.3 คงมีหมู ขายหมู ไปหลายรอบแล้ว ก่อนออกเดินทางขายหมูสักครึ่งเล้า ก็มีเงินสำหรับการเดินทางเบื้องต้น เด็กที่หาเงินมาด้วยน้ำพักน้ำแรงเหนื่อยยาก จะรู้คุณค่าเงิน ต่างกับเด็กที่เรียนวิธีแบมือมากนัก
เรื่องนี้ผมไม่ต้องยุ
ครูคิมก็สู้โว้ย!! อยู่แล้ว
ไม่เชื่อลองไปอ่านบล็อกครูคิมก็จะพอประมวลอะไร ๆ ได้
ครูตัวเล็ก ๆ แต่หัวใจเสริมใยเหล็ก
จะเป็นน๊อตตัวเล็ก ๆ ช่วยขันสกรูวิกฤติการศึกษาและพัฒนาชาติได้บ้างก็ยังดี
ผมเชื่อเช่นนั้น ไม่ยังงั้นไม่เอาเรื่องนี้มาเปิดโปงหรอก
ใครอยากเป็นพี่เลี้ยงคอยประคองปีกครูคิม
รับสมัครไม่อั้นตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
จบ..
Next : ประกาศ ๆ » »
2 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะพ่อครูบาที่เคารพ
วันนี้ท่าน ผอ.อ่านบันทึกนี้..คงครุ่นคิดค่ะ ตอนโรงเรียนเลิกมาบอกว่าให้คัดเด็กเพิ่ม จะเอารถไ ๒ คันมีผู้ใหญ่บ้านอีก ๒ หมู่บ้านไปด้วยค่ะ เด็ก ๆเขาตั้งชื่โครงานว่า “โคงงานเหมยซานสร้างฝันภูมิปัญญาท้องถิ่น” ค่ะ
ขออภัยค่ะ จะเอารถไ ๒ เอารถไป ๒ คน