วันคืนแห่งกรรมฐาน : พ.อินทปัญโญ

โดย ป้าหวาน เมื่อ 1 ตุลาคม 2010 เวลา 4:38 (เย็น) ในหมวดหมู่ เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1383

http://www.buddhadasa.com/freethinkbook/meditation.html
คัดจาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

สมาธิ เป็นเหมือน เอาของหนัก ทับความชั่ว ไว้
ส่วนปัญญา หรือ วิปัสสนา เป็นการ ตัดต้นไฟ ได้แก่ การขุดทิ้ง รื้อทิ้ง ทีเดียว

วิธีที่ผมชอบ ในบัดนี้ คือ สติสัมปชัญญะ เป็นตัวยาม ระวังเหตุให้แก่ใจอยู่เสมอ

ทุกข์, บาปอกุศล, ลามกธรรม, อันใดผ่านมา เป็นต้นว่า ความกำหนัด ความอาลัย
ระลึกถึง ความห่วงใย ความหงุดหงิด ความมึนชา ฯลฯ ผ่านมา แม้เล็กน้อย
สติสัมปชัญญะ ที่บำรุงฝึกฝนไว้ จะเป็นผู้จับมันส่งไปยังกองปัญญา (วิปัสสนา)
ทันที, ค้นหาว่า นี่มันมาอย่างไรกัน? อะไรเป็นเหตุ? อะไรเป็นผล? จะให้เกิด
อะไรขึ้นบ้าง? ทำลายมัน ได้อย่างไร ในกาลต่อไป? ป้องกันอย่างไร? แล้วก็
กระทำโดยวิธีนั้นๆ นี่แหละ ควรเป็น ความเป็นอยู่ วันหนึ่งๆ ของนักภาวนา
ตามที่ผมเข้าใจ และเห็นว่าดีที่สุด การฆ่ากิเลส ที่เข้ามาติดตาข่าย ของเรา
เสมอไป ทุกครั้ง นั่นคือ “พระนิพพาน” น้อยๆ ของเราทุกครั้ง นิพพานแห่ง
กิเลส! อริยมรรคน้อยๆ ก็ตัด กิเลส ตัวน้อยๆ ขุดราก ของมัน ออกทีละน้อยๆ
เราได้หน่วง อริยผล ทีละน้อยๆ เสมอไปทุกคราว, จะได้ ไปถึงไหน แล้วนั้น
อย่าคิดเลย คิดอย่างเดียว โดดๆ คือ เราจะก้าวหน้า เรื่อยไป เท่านั้น ก็พอแล้ว

เมื่อเห็นว่า กิริยา เช่นนี้ ขูดเกลา กิเลสแล้ว เป็นลงมือ ทันที เพราะฉะนั้น จึง
ขอเตือน คุณผู้ที่ผมถือเป็นน้องชาย โดยพรรษาอายุ ว่า อย่าทำลายเวลา ให้
หมดไปด้วย “การสงบตะพึด” เสียท่าเดียว มันจะไม่เป็นการก้าวหน้า และจะ
ถอยหลัง ในเมื่อ รสชาติ แห่งความสงบ มันจืดจางลง เพราะยังเป็น โลกิยะ

ที่ทวารทั้ง ๖ เฉพาะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ควรขึงตาข่าย ไว้พอสมควร
เสนาสนะ ของเรา สงัดพอแล้ว และเราก็ ตัดการคลุกคลี ลงไปแล้ว เป็น
อย่างมาก ตลอดถึง อาหาร ก็ปราศจากโทษ ยังเหลือแต่ ทวารที่ ๖ คือ
ใจ นี่แหละสำคัญนัก จงขึงตาข่าย กล่าวคือ สติสัมปชัญญะ ให้ละเอียด
ถี่ยิบทีเดียว เพราะศัตรูที่ลอดเข้าไปถึงด่านนี้ย่อมตัวเล็กมาก ต้องทำกะมัน
โดยแยบคาย
สำหรับคุณ มีบางอย่าง เยี่ยมกว่าผม เช่น กำลังใจ เป็นต้น
จึงขอให้คุณ ตั้งหน้า พยายาม ให้เต็มที่เถิด จะต้องสำเร็จแน่นอน ไม่ต้อง
นึกถึงว่า เรียนมามาก เรียนมาน้อย ข้อนั้น ไม่สู้สำคัญ ในการจับกิเลสฆ่า
ข้อนั้น มีประโยชน์ สำหรับ การบำเพ็ญ ประโยชน์ ผู้อื่น เท่านั้น และควรทำ
แต่บางคน หรือ บางส่วนที่ควรทำ

สำหรับ การคิด, ถ้าไม่แยบคาย ก็ดูเหมือน จะไม่มีอะไรคิด ดูนั่น ก็ไม่เป็นเรื่อง
นี่ก็ไม่เป็นเรื่อง เอาทีเดียว แต่ถ้าคิด ให้แยบคายแล้ว มีมากถมไป คอยคิดแต่
เรื่องในใจของตน วันหนึ่ง ก็พอแล้ว คิดหาเหตุผล ลงไป เป็นชั้นๆ มันมี
หลายร้อย หลายพันชั้น นัก คิดได้ลึกเท่าใด ก็ยิ่งวิเศษ เพราะจะรื้อรากของมัน
ได้มากๆ นี่ผมกล่าวเฉพาะเรื่องแห่งความทุกข์ และการดับทุกข์ ปัญหา นิพพาน
คืออะไร? นี่คิดได้ทุกวัน มีแง่ให้คิด กระทั่ง ทุกอิริยาบถ จนเมื่อฉัน ดื่ม ไปถาน
ไปดูปลาในสระ ฯลฯ ก็ล้วนแต ่มีแง่ สำหรับคิด ทั้งนั้น
พระพุทธองค์ ทรงเห็น
สิ่งต่างๆ แล้ว คิดตีปัญหานั้น เรื่อยๆ จนทะลุปรุโปร่ง ไปหมด ก็เพราะทรงคิด
มาแล้ว เป็นอย่างมาก นั่นเอง คิดมา ก่อนตรัสรู้! คิดมาแต่ชาติก่อน! การคิดได้
มารวบรวม เหตุผล ตัดสินเป็นหนึ่ง เด็ดขาด ลงไปในวันตรัสรู้ เพราะถึงที่สุด
แห่งความคิด แต่เพียงนั้น เท่านั้นแล้ว ตอนแรก ทรงค้นคว้า เรื่อยๆ มาว่า อะไร
คือทุกข์, อะไรให้เกิดทุกข์, อะไรดับทุกข์ได้, อะไรให้ถึง ความดับทุกข์นั้น? เมื่อ
รวบรวมเหตุผล ได้มากพอ ก็ทรงพบความจริงอันนี้ ถูกต้องคงที่ ไม่แปรปรวนอีก.

พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธองค์ จะไม่เดินตามรอยพระยุคลบาท อย่างไรเล่า
ถึงเราจะไม่เป็นพระพุทธเจ้าก็จริง แต่เราต้องรู้อริยสัจ อย่างเดียวกับที่พระองค์รู้
เพื่อความสิ้นทุกข์ ของเรา เราต้องพยายาม แต่เรื่องนี้ เท่านั้น เพราะฉะนั้น เรา
ต้องคิด ต้องมีการคิดค้นคว้า พร้อมกับ การทดลอง ทำดูด้วย ในสิ่งที่ทำได้ เช่น
ข้อที่ทรงกล่าวว่า ทำอย่างนี้ๆ ช่วยเหลือในการคิดให้ดำเนินเป็นผลสำเร็จ โดยเร็ว.
ศีล, ธุดงค์, สมาธิ เป็นเพียง อุปกรณ์ แห่งการคิด ข้อสำคัญ ตัวจริง อยู่ที่ การคิด
เพราะฉะนั้น เป็นอัน สรุปความ ได้ว่า “วันคืนแห่งกรรมฐาน คือการคิด!” หาใช่
ความสงบรำงับ หาความสุข เกิดแต่ วิเวก ตะพึด ไปอย่างเดียวไม่. อาการสงบ
เคร่งขรึม มีผู้เลื่อมใส นิยมมาก ก็จริง แต่ผลสำคัญ อยู่ที่การคิด เราสงบ เพื่อให้
คิดได้ลึกซึ้ง ไม่ใช่ เมื่อสงบก็พอแล้ว อาจกล่าว เป็นหลัก ได้ว่า ถ้าตามธรรมดาเรา
เป็น ผู้ที่คิดได้ เต็มที่ โดยไม่ใช่ เป็นนัก ราคจริต หรือ โทสจริตแล้ว เราก้าวหน้า
การคิดอย่างเดียวก็พอ การคิดตกแล้วนั่นแหละ กลับเป็นอาวุธสำหรับทำลายราคะ
โทสะ โมหะ ที่แม้ ยังไม่เคยผ่าน ออกมาปรากฏ แก่ใจเลย (อนุสัย) เมื่อคิดตกแล้ว
สิ่งต่างๆ อันเป็นความชั่ว ก็พลอย ตกไป หมดสิ้น การคิดตก มีมากน้อย เป็นขั้นๆ
แต่ไม่ค่อยมีใครนึกกี่คนดอกว่า นั่นแหละคือสิ่งที่เราเรียกกันเสียว่า บรรลุมรรคผล
จึงทำให้เราไม่เห็นเต็มที่ในคุณค่าของการคิดให้ตก คิดตกหมดก็บรรลุพระนิพพาน
นั่นเอง

วันคืนแห่งกรรมฐานที่แท้จริง คือ วันคืนแห่งการคิด! **

พ. อินทปัญโญ.

** “วันคืนแห่งกรรมฐานที่แท้จริง คือวันคืนแห่งการคิด” :
ภายหลัง ท่านพุทธทาส กล่าวไว้ในหนังสือ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติ
ของพุทธทาสภิกขุ” พิมพ์รวมเล่มครั้งที่๓ พ.ศ.๒๕๔๖ หน้า ๒๓๑ ว่า ที่จริง
ควรจะพูดว่า วิปัสสนา คือ วันคืนแห่งการดูความจริงของธรรมชาติ มากกว่า

* คำว่า คิด(วิปัสสนา) ท่านพุทธทาสกล่าวแก้ไว้ในหน้าเดียวกันว่า ..คำว่าพิจารณา
ก็มักจะเข้าใจเป็นการคิดไปเสีย ก็เลยใช้ไปไม่ได้ วิปัสสนา คือ เตรียมจิตให้ดู ดูแล้วเห็นเอง

Post to Twitter Post to Facebook

No related posts.

« « Prev : คิดอะไรแปลกๆ:ตอน แท้จริง..คือการหมุนวนกลับไปสู่ธรรมชาติ

Next : ยิ้มหน่อย..วันนี้.ตอน: “คลิก” เอง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "วันคืนแห่งกรรมฐาน : พ.อินทปัญโญ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.12223792076111 sec
Sidebar: 0.060842037200928 sec