ชุดบันทึกตามเก็บรอยเท้า: ดอยเต่า
อ่าน: 3415(คนบะเก่าเพิ่นว่าตายไปเป็นผีแล้วต้องมาตวยเก็บฮอยตี๋น คนมักเขียนขอถือก๋าละโอกาสเก็บเล่าเป๋นก๋านเก็บฮอยเท้าไว้เหียเมื่อยังคน)
ดอยเต่า เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ต้องตามเก็บรอยเท้า ไปค้นดูรูปเก่าๆเจอรูปหมู่สมัยเป็นนักเรียนผู้ช่วยพยาบาลหนีไปแอ่วดอยเต่า น่าจะเป็นช่วงแรกๆที่เปลี่ยนจากชุดนักเรียนขาสั้นมานุ่งกางเกงขายาว เมื่อซาวปีก่อนใครๆก็ไปแอ่วดอยเต่า รวมกลุ่มกันได้เก้าคนสิบคนเหมารถสองแถวแดงไป แล้วก็ลงเรือต่อไปนั่งกินข้าวบนแพ บ่ายๆนั่งเรือมาขึ้นรถกลับ ตอนหลังๆมาได้ไปเที่ยวอีกครั้งสองครั้งกับหมอพยาบาลที่วอร์ด ไปดอยเต่าต้องแวะออบหลวงเพราะอยู่เส้นทางเดียวกัน
อันที่จริงผมรู้จักพี่น้องชาวดอยเต่ามาตั้งแต่วัยก่อนเข้าโรงเรียน ตั้งแต่พ่อแม่พาย้ายจากบ้านหนองหล่ม มาอยู่บ้านแพะซึ่งเป็นบ้านจัดสรรให้กับพี่น้องชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนยันฮี มีครอบครัวพ่อน้อยจู แม่ต๋าแก้ว แม่ต๋านิล อ้ายหนานเหล็ง เป็นต้น พี่น้องเล่าว่ามาจากบ้านน้อยมืดก๋า ยามใกล้วันบุญศิลกิ๋นตาน แม่มักชวนพี่น้องบ้านมืดก๋าจุมนี้มาขึ้นมะพร้าวขุดแล้วก็ตั้งกะทะใบบัวคนขนมปาดอันเป็นขนมประจำถิ่นชาวดอยเต่า
ปี ๒๕๐๗ ผมเพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่พี่น้องชาวดอยเต่ากำลังวิตกอกไหม้จากข่าวที่ทางการมาแจ้งว่าน้ำจากเขื่อนจะเอ่อมาท่วมบ้านท่วมเมือง ทางการท่านสร้างนิคมสร้างตนเองหลายแห่ง ชาวบ้านบางคนที่เชื่อก็อพยพโยกย้ายไปตามทางการ แต่ส่วนที่ไม่เชื่อว่าน้ำจะมาท่วมก็ไม่คิดย้าย ด้วยคิดไม่ถึง ไม่เคยรู้เคยเห็นว่าสร้างเขื่อนใต้ลงไปตั้งไกลน้ำที่ไหนจะมาท่วมถึง ด้วยห่วงไร่นาต้นหมากรากไม้วัวควายหมูเห็ดเป็ดไก่ ด้วยอาลัยวัดวาอาราม สมัยนั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารคงไม่ทั่วถึงเหมือนสมัยนี้ เสียงตามสายไม่มี ทีวีไม่ต้องพูดถึง วิทยุทรานซิสเตอร์ก็มีเฉพาะที่บ้านพ่อหลวงกำนันเป็นประเภทที่ใช้ถ่านสามสิบแปดก้อน ทีนี้พอน้ำท่วมมาจริงๆ ขึ้นมาทีละคืบทีละศอก เอาใต้บ่ได้เหนือ บ้านเฮือนบ่ทันได้ม้างได้ขน ได้มาแต่ผ้าติดเนื้อเสื้อติดตั๋ว นี่เป็นเรื่องราวที่แม่อุ้ยดีแม่ของแม่ต๋าแก้วเคยเล่าให้ฟัง
ค่าวน้ำท่วม ที่กวีท่านเผยแพร่ไว้ใน https://sites.google.com/site/pumpanyadoitao/home/4-6-sakha-phasa-laea-wrrnkrrm สะท้อนภาพเหตุการณ์ตอนนั้นได้ชัดแจ้งเลยทีเดียว ขออนุญาตคัดมาเผยแพร่สักหนึ่งตอน ดังนี้
“อกตีบใจ๋ตั๋น พ่องนั่งฮ้องไห้ จักเยี๊ยะจะได ปี้น้อง
ปู่ป้าน้าอา ปากั๋นนั่งซ้อง ปรึกษากั๋นอั้น ตางไป
กั๋นดื้ออยู่แต้ น้ำจะท่วมต๋าย กั๋นว่าย้ายไป กลั๋วต๋ายอดกั้น
แม่งัวตัวควาย ไฮ่นาเฮือนบ้าน จักเตปัง แตกม้าง
วัดวาอาราม ก็จักเป็นฮ้าง จ๋มอยู่ใต้ วังวน
ก๋าละครั้งนั้น เหมือนมารผจ๋ญ หัวอกตุ๊กคน เหมือนสายฟ้าต้อง”
ขอขอบคุณ กวีผู้แต่งที่บ่ได้ระบุนาม (น่าจะเป็น อ้ายศรีโหม้ เลิศสุวรรณไพศาล ผู้แต่งค่าวเขื่อนเจ้าน้ำตาที่อยู่ในเวปไซด์เดียวกันนี้)
บทเรียนจากการอพยพโยกย้ายผู้คน และการเผยแพร่ข่าวสาร นี่แสดงว่ามีมาพร้อมๆกับที่ผมเกิดโน่น หากมีการถอดบทเรียนปรับปรุงแก้ไข ทุกวันนี้อะไรๆน่าจะดีขึ้น
สมัยก่อนที่จะมีทางรถไฟเชื่อมต่อเชียงใหม่-กรุงเทพ(รัชกาลที่ ๖ พ ศ.๒๔๖๔) การเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองล้านนากับบางกอกต้องอาศัยขึ้นล่องตามลำน้ำปิงเป็นเส้นทางสายหลัก บ้านมืดก๋าเป็นพื้นที่จอดพักเรือตระเตรียมผูกมัดเครื่องของ หาแรงงานท้องถิ่นก่อนที่จะพาเรือล่องผ่าน ๔๙แก่งไปถึงเมืองตาก เคยได้อ่านเรื่องราวการล่องแม่ปิงสมัยนั้นอยู่สองสามเล่มได้แก่ (๑) บันทึกแม่น้ำปิงในวารสารเมืองโบราณ แต่งโดย มล. สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ท่านตามรอยหนังสือพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ (๒) A Half Century Among Siamese and the Lao by Daniel MeGilvary (๓) ระยะทางไปมณฑลพายัพ โดยพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (พ.ศ. ๒๓๖๕) และ (๔) โคลงนิราศล่องแก่งแม่ปิง โดยจางวางเอก พระยาบุรุษรัตนราชวัลลภ ที่แต่งไว้ในคราวที่ได้ติดตามเสด็จพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ไปเชียงใหม่ปี๒๔๗๐ แม้นว่าทุกวันนี้ทางน้ำแก่งเกาะทังมวลจมอยู่ใต้ทะเลสาบหน้าเขื่อนไปเสียแล้ว แต่ก็ยังพอมีเรื่องราวร่องรอยให้สืบค้น หากวันไหนจัดระเบียนหนังสือเสร็จท่านใดสนใจหยิบยืมได้ครับ
สำเนียงภาษาของพี่น้องดอยเต่าเป็นที่คุ้นหูต่อมหาชนเมื่อเพลง “ไอ่หนุ่มดอยเต่า” ของวง นกแล โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง สระไอ พี่น้องจะออกเสียงเป็นสระ ออย ไปตี้หนอย ไปตางดอย ไก่มันกิ๋นก๋อยกิ๋นก๋างโต้งต้อยหยับบ่ด้อยมันแห เป็นคำที่ชาวพื้นถิ่นแม่แตงมักจะพูดหยอกพี่น้องชาวบ้านแพะที่ยกย้ายมาจากบ้านน้อยมืดก๋า
บ่าอ้ายลูกโตนเกิดมาพร้อมยี่ห้อคนขี้โรคป้ออุ้ยแม่ป้าไผๆก่มัดมือผูกแขนเอาเป๋นลูกเป๋นเต้า ยันต์ห้อยเต็มคอ ฝ้ายหมัยมือเต็มสองข้อแขน ตอนยังหน้อยเพิ่นก่ะเลยฮ้องว่า”อ้ายหมัย”กั๋นหมดบ้านหมดเมืองย้อนฝ้ายไหมมือเต๋มแขนเคาะเลาะ ทีนี้ลองนึกดูสิพี่น้อง ว่าอาวอาว์หมู่ฟู่ชาวดอยเต่าจะฮ้องบ่าอ้ายว่าจะได ฮ่า ฮ่า ฮิ้ว