ครอบครัวตัวแบบ “พอเพียง”
อ่าน: 3824ระยะนี้นั่งทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจครอบครัวของพี่น้องที่ต้องรับผิดชอบฟื้นฟูชีวิตการเป็นอยู่
ตรวจสอบตัวเลขความถูกต้องเพื่อเป็นค่าตั้งต้นที่ตามพันธะสัญญาจะต้องให้พี่น้อง…”ดีขึ้นกว่าเก่า”
ใช้ทีมงานมือใหม่เก็บกำสำรวจข้อมูล เขาก็คงทำเต็มที่ของเขา แต่พอมาตรวจกลับพบว่าผิดตรงนั้นขาดตรงนี้ ตรวจร้อยชุดต้องแก้หกสิบชุด เลยตัดสินใจ”รื้อ”ข้อมูลทั้งหมดมาทำใหม่ เรียกแบบสอบถามมานั่งอ่านทีละชุด อันไหนสงสัยออกไปถามใหม่ด้วยตัวเอง
การที่ได้นั่งศึกษาพื้นเพแต่ละครอบครัว ถือเป็นการได้เรียนรู้ หนึ่งครอบครัวเหมือนกับดูละครเรื่องหนึ่ง ต้องดูว่าสมาชิกครอบครัวมีกี่คน อายุ เพศ อาชีพหลัก อาชีพเสริม ปฏิทินการเคลื่อนไหวในรอบปีทำอะไรบ้าง มีที่ดินกี่แปลง แต่ละแปลงปลูกอะไรเดือนไหน ได้ผลผลิตเท่าไร เอาไปกินหรือขายที่ไหนจำนวนมากน้อยเพียงใดได้เงินมากน้อยเท่าไหร่ เลี้ยงสัตว์อะไรบ้าง ช้าง ม้า วัว ควาย หมู เห็ด เป็ดไก่มีกี่ตัว กินเท่าไร ขายเท่าไร ออกไปรับจ้างไหม เดือนไหนไปเก็บของป่า เดือนไหนไปจับปลา เอามากินมาขายได้กี่มากกี่น้อย สภาพบ้านเรือนเป็นอย่างไร ทรัพย์สิน เครื่องใช้ไฟฟ้า รถถีบ รถเครื่อง มีกี่คัน เงินฝากมีไหม หนี้สินมีเท่าใด ทำนาได้ข้าวพอกินไหม ขาดข้าวกี่เดือน รายจ่ายมีอะไรบ้าง ค่าอาหาร ค่ากะปิ น้ำปลา ยาสูบ ยารักษา ไฟฟ้า ค่าภาษี(พันธะรัฐ) ค่าใส่ซองงานวัดงานบุญงานแต่ง(พันธะสังคม) แล้วก็เอามาดูกลับไปกลับมาว่าตัวเลขสมเหตุสมผลหรือไม่อย่างไร
อันที่จริง ใจผมอยากเก็บข้อมูลด้านความสุขของครอบครัว มาเป็นเครื่องชี้วัดมากกว่าตัวเลขรายรับรายจ่าย แต่เมื่อโจทย์เป็นอย่างนี้ก็คงต้องลุยตามไปก่อน แล้วค่อยๆเสริมทีหลัง
ผ่านไปหนึ่งหมู่บ้านร้อยเก้าสิบครอบครัว (จากทั้งหมดห้าหมู่บ้านห้าร้อยครอบครัว) ผมก็พบครอบครัวหนึ่งที่ถือเป็นตัวแบบ ของการไม่พึ่งพาเทคโนโลยี
สามพ่อแม่ลูก พ่ออายุ ๕๒ ปี แม่ ๔๗ ปี และลูกสาวจี๋วัย ๑๖ ปี อาศัยเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำนาหาเครื่องป่าของนามาเป็นอาหาร ที่บ้านไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีแม้กระทั่งรถถีบ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ (เป็นหนึ่งในไม่เกินห้าครอบครัวของบ้านนาทรายคำที่ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ)
เมื่อเข้าหน้าฝนถึงฤดูเพาะปลูก ครอบครัวนี้ทำนาดำ ๑ไร่กว่าๆ ปลูกข้าวไร่อีก ๒ไร่ ได้ข้าวปีละ ๓.๕ตัน เก็บไว้กิน ๒.๓ตัน ที่เหลืออีก ๑.๒ตัน ขายได้เงิน ๓ล้านกีบ(๑หมื่น๒พันบาท) นอกจากนั้นก็ปลูกข้าวโพดอีก ๒ไร่เก็บผลผลิตไว้เกือเป็ดเกือไก่
การใช้ประโยชน์จากป่า ได้เข้าไปตัดไม้ไผ่มาใช้สอย ไปหาสัตว์ป่าเก็บผักป่ามาเป็นอาหารเดือนละ ๒-๓ครั้ง ไปหาสมุนไพรมาต้มกิน และไปเก็บดอกแขมกับเปลือกก่อมาขายได้เงินปีละ ๑ล้านกีบ(๔พันบาท)
ครอบครัวนี้เลี้ยงควาย ๓ตัว วัว ๕ตัวเอาเป็นออมสินไว้ขายยามฉุกเฉิน เลี้ยงเป็ด ๒๐ตัว ไก่ ๖๐ตัวเอาไว้กินและขาย ปีหนึ่งได้เงิน ๘แสนกีบ(๓๒๐๐บาท) และเลี้ยงหมู ๒ตัวขายได้เงิน ๑ล้าน๒แสนกีบ(๕พันบาท) มีบ่อปลาเล็กๆซื้อลูกปลามาปล่อยไว้หาปลวกมาให้กินปีหนึ่งวิดปลาได้ ๒๐ กก.กินครึ่งขายครึ่งได้เงินอีก ๒แสนกีบ(๘ร้อยบาท) ไปจับปลาจากในห้วยในหนองอาทิตย์ละครั้งเอากินไม่ได้ขาย
ว่างจากงานไร่นา และการหาอยู่หากิน พ่อบ้านออกไปรับจ้างงานในไร่นาของเพื่อนบ้าน ปีหนึ่งได้เงินราว ๔แสนกีบ(๑๖๐๐บาท) ส่วนแม่กับลูกสาวทอผ้าขายมีรายได้ ๒ล้านกีบต่อปี(๘พันบาท)
รวมๆรายได้เป็นตัวเงินของครอบครัวนี้ ตกราว ๓หมื่นสามพันบาท
เมื่อไล่เลียงถึงรายจ่ายของครอบครัวนี้ สามารถสรุปรวมได้ว่าในรอบหนึ่งปี ครอบครัวนี้ใช้จ่ายเงินไปในการต่างๆ ดังนี้ ค่าลงทุนการเพาะปลูกสามแสนเจ็ดสิบพันกีบ(๑๔๘๐บาท) ค่าลงทุนการเลี้ยงสัตว์สามแสนสอง(๑๒๘๐บาท) ค่าซื้อเนื้อ ซื้อผัก กะปิ น้ำปลา ไข่ น้ำมันจืนอาหาร ผงนัว น้ำตาล เกลือ น้ำนม น้ำหวาน บะหมี่ไวไว รวมทั้งค่าเฝอที่ซื้อกินนอกบ้านรวมทั้งหมดหนึ่งล้านเก้าแสนกีบ(๗๘๐๐บาท) ค่าเหล้าเบียร์สามแสนกีบ(๑๒๐๐บาท) ค่าทำบุญเพาะทานสองแสนกีบ(๘๐๐) ค่าใส่ซองงานแต่งงานงานสู่ขวัญแอน้อยงานขึ้นบ้านใหม่หนึ่งแสนกีบ(๔๐๐บาท) ค่าภาษีอากรสองแสน(๘๐๐) ค่าซื้อเสื้อผ้า ยาปัวพะยาด ไฟฟ้า เครื่องแต่งตัว สบู่ แชมพู ค่าโดยสารรถ รวมปีละหนึ่งล้านสองแสนกีบ(๔๘๐๐บาท) รวมเงินออกจากบ้านทั้งหมดทั้งมวลประมาณสี่ล้านหกแสนกีบ(๑๗๗๐๐บาท)
ดุ่นเดี่ยงรายรับสูงกว่ารายจ่าย ปีละสามล้านหกแสนกีบ
นี่เป็นตัวอย่างเป็นหน้าตาของครอบครัวชนบทบ้านเราเมื่อสามสี่สิบปีก่อนที่ยังหลงเหลือให้เห็นที่นี่
ทบทวนเรื่องราวของครอบครัวนี้ แล้วรู้สึกเบาสบายอิ่มสุขอย่างไรก็ไม่รู้
แต่เมื่อหันกลับมามองตัวเองกับงานที่กองพะเนิน กับหน้าต่างจอคอมฯที่เปิดงานค้างไว้สี่ห้าเรื่อง แม้ว่าเขาจะเอาอัฐมาให้เดือนหนึ่งมากกว่าที่ครอบครัวนี้หาได้สามปีก็ตาม แต่ก็ยังอดมิได้ที่จะอิจฉา…ครอบครัวตัวแบบของผมครอบครัวนี้