พืชต่างถิ่น
อ่าน: 1997แหม่ม โมนิกา ชาวเยอรมัน เป็นนักธุรกิจชาวฝรั่งคนเดียวในเมืองหงสา แหม่มมาเช่าบ้านเปิดเป็นเรือนพัก บริการแขกที่ชอบท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติประเภทขี่ช้างและเดินป่า
โมนิกา ไปอย่างไรมาอย่างไรถึงมาอยู่หงสาก็ไม่ทราบได้ น่าจะมากับเพื่อนฝูงนักพัฒนาที่มาในฐานะเครือข่ายองค์กรช่วยเหลือสากลของเยอรมนี เพื่อนฝูงหมดโครงการหรือย้ายไปบ่อนอื่น จึงเห็นมีแต่เธอผู้เดียว เธอมีชื่อสำรองว่า สติ๊กกี้โมนิกา แปลว่าโมนิกาขี้ตืด ข้อนี้ผมว่าอาจจะมาจากธรรมเนียมปฏิบัติของชาวลาวชาวไทยที่ไม่เหมือนกับชาวตะวันตก ทำให้ถูกมองว่าเธอเป็นคนประเภทนั้นไปก็ได้ แต่ตามที่เขาเล่าลือกันมาว่าหล่อนพาแขกหกเจ็ดคนไปงานดอง ใส่ซองน้อยเดียวแล้วพากันกินเต็มอิ่ม แถมซดเบียร์หมดเป็นลังๆ ตามประสาฝรั่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงจะสติ๊กกี้จริงๆ
กับผมแล้ว โมนิกาก็ไม่ถึงกับขี้ตืด (หรืออาจเพราะเจอตังเมอย่างผมเธอเลยต้องถอย ฮ่าๆ) เจอกันก็ทักทายกันตามถนนหนทาง เป็นเพราะทำท่าทางว่าคุยภาษาปะกิตกับแหม่มแล้วเข้าใจว่าเข้าใจที่เธอพูด บางทีหมาเธอไปกัดแบ้ชาวบ้านก็ช่วยไปแปลภาษาให้ อะไรประมาณนั้น เธอสอนทำโปเตโตสลัดแล้วชวนกินข้าวเย็นสองสามครั้ง ส่วนผมก็เอามันฝรั่ง กับมะเขือเทศที่ปลูกในหงสาไปให้เธอชิมบ้างเป็นการตอบแทน
เมื่อปีกลายเธอกลับจากเยี่ยมบ้านที่เยอรมัน เอาเมล็ดผักมาฝากผม ๒ ซอง
(รูปสุดท้ายนี้จากอินเตอร์เนตเพื่อเปรียบเทียบกับเรดดิชหงสาข้างบน)
อย่างแรกเป็นหัวเรดดิช เอาไปปลูกที่สวนท้าวสมจิต เจ้านี้ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีมาหลายปี อ่านข้างซองกะบ่ออก อาศัยเคยเห็นเจ้าจิตเคยปลูกแครอทคงจะเหมือนๆกันกระมัง ปลูกแล้วก็ลืมๆไป ปรากฏว่าผ่านไปสองเดือนได้ผลตามรูปนั่นแหละครับ กลายเป็นเรดดิชประหลาดหัวโตกว่าที่ปลูกเมืองฝรั่งสามเท่า เอาไปให้โมนิกาดูหัวเราะกันท้องคัดท้องแข็ง ชิมดูแล้วไม่หวานกรอบเหมือนทั่วไป อาจเป็นเพราะปล่อยไว้จนแก่เกินไป ปกติเจ้าหัวนี่ปลูกแค่เดือนเดียวก็กินได้แล้ว ตกลงเรดดิชซองนั้นก็เลยไปไม่รอดในหงสา
ซองที่สอง เป็นไปกะเพราะฝรั่งชื่อ บาสิลิกา หน้าตาเหมือนโหระพา แต่กลิ่นแปลกต่าง อันนี้ผมหาดินใส่ถุงปุ๋ยมาวางหน้าบ้านแล้วปลูกเอง ส่วนหนึ่งแบ่งให้แม่บ้านชาวบ้านแท่นคำปลูก ต้นโหระพาฝรั่งนี้น่าจะแพร่พันธุ์ได้ดีในหงสา ต้นที่ปลูกในถุงหน้าบ้านเห็นแหม่มเธอแวะเวียนมาเด็ดไปใส่ผัดมักกะโรนี สะปาเกตตี้อยู่ตลอด ส่วนที่แม่บ้านปลูกนั้นก็เห็นเด็ดยอดมาวางขายที่ตลาดเช้าอยู่ไม่ขาด
ถือเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งในการแนะนำสิ่งแปลกใหม่ให้กับชุมชน