หมกปลาแดกแลกช้าง
อ่าน: 2308ว่างเว้นจากการเขียนถึง คำลาว มาหลายเพลา วันนี้ขอนำเสนอด้วยคำว่า “หมกปลาแดกแลกช้าง”
“หมก” เป็นอาหารของชาวถิ่นสองฟากฝั่งโขง มีลักษณะโดยรวมคือใส่เนื้อ ใส่ผัก ใส่ข้าวเบือ ปรุงรสด้วยพริกเกลือหอมแดงกระเทียม กะปิ ปลาร้า ตะไคร้ ใบแมงลัก(ผักอีตู่) แล้วห่อด้วยใบตอง นำใบนึ่งให้สุก แกะห่อตอนร้อนๆปั้นข้าวเหนียวจิ้ม สุดยอดความแซบนัว หมกที่นิยมทำกันได้แก่ หมกไก่ หมกปลา หมกกบ ที่หงสายังมีหมกแปลกๆขายในตลาดเช่น หมกตุ่น หมกอ้น หมกเจี้ย(ค้างคาว) เป็นต้น ส่วนหมกปลาซิวนั้นไม่ต้องเอาไปนึ่ง เพียงแต่ใส่เกลือ พริกชี้ฟ้าทุบ ตะไคร้ ใบผักอีตู่ แล้วห่อใบตองโยนเข้ากองขี้เถ้าร้อนๆ ก็แซบนัวเหมือนกัน
วัฒนธรรมการปรุงห่อหมก ของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันไป ของทางอีสานใส่ข้าวเบือคือข้าวสารนำมาแช่น้ำแล้วโขลกให้ละเอียด ส่วนของทางเหนือเรียก “ห่อนึ่ง” (ชาวหงสาเรียก หมกชาวยวน) จะเป็นแบบ “หอนึ่งแค” คือใส่ผักหลายชนิดแบบแกงแคเช่น ถั่ว มะเขือ มะเขือพวง ยอดตำลึง ชะอม ยอดมะรุม เป็นต้น ที่มีความโดดเด่นอีกอย่างคือ จาวเหนือจะใส่ข้าวคั่ว (ในขณะที่ชาวลาวใส่ข้าวเบือ) คือเอาข้าวสารข้าวเหนียวมาคั่วในกะทะจนเป็นสีน้ำตาลหอมแล้วเอามาโขลกให้ละเอียด ส่วนห่อหมกของทางภาคกลางและภาคใต้นั้นเด่นที่ใส่กะทิเช่นห่อหมกปลาช่อน ห่อหมกทะเลในลูกมะพร้าวอ่อน
อ้าว ไหงเผลอมาเขียนเป็นเรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องเป็นราวเสียแล้ว สงสัยเก็บกดกับการถูกห้ามกินโน่นกินนี่
สรุปแล้ว หมกปลาแดก ก็คืออาหารของคนลาว ประเภทอาหารคนยากเพราะไม่ได้ใส่ตัวเนื้อตัวปลาแต่อย่างใด มีแต่ใส่ผัก กับปลาแดก กับข้าวเบือเท่านั้น
หมกปลาแดกแลกช้าง แปลตรงๆตามคำ ก็แปลว่า เอาหมกปลาแดกไปแลกกับช้าง หมายถึงการเอาของที่มีราคาเพียงน้อยนิด ไปแลกกับของที่มีมูลค่าสูง เป็นการแลกเปลี่ยนแบบไม่สมค่ากัน
หมกปลาแดกแลกช้าง หากเปรียบกับคำพังเพยของไทย ก็คือ “เอาพิมเสนแลกไปกับเกลือ”
เพื่อแสดงลายละเอียดให้ชัดเจน ขอถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์ที่ทำให้มีคนพูดคำนี้ “หมกปลาแดกแลกเกลือ” ออกมา
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า
ผมมีกิจกรรมการสำรวจสภาพเศษรฐกิจสังคม ของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อเป็นฐานข้อมูลไว้ เพราะมีโจทย์ที่ต้องเพิ่มรายได้ประชาชีให้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นหลายภาคส่วนจากองค์กรอิสระก็จะมาตรวจสอบ ดังนั้นพวกเราจึงต้องทำฐานข้อมูลไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ แต่ฐานข้อมูลเหล่านี้จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐการด้วย คณะทำงานของเราจึงต้องมีทั้งรัฐกรจากแขวงไชยะบุรี แผนกพัฒนาชนบท แผนกแผนการลงทุน แผนกกสิกรรม สหพันธ์แม่ญิง และอีกหลายแผนก นอกจากนั้นก็ยังมีรัฐกรอีกห้าหกท่านจากห้องการที่เกี่ยวข้องจากเมืองหงสามาร่วมกำกับดูแล ส่วนพนักงานสัญญาจ้างที่เราคัดเลือกมาเองนั้นมีอีกร่วมยี่สิบชีวิต รวมความแล้วถือได้ว่าเป็นคณะใหญ่ งบประมาณดำเนินการที่ให้อ้ายน้องตั้งเบิกมาไว้ก็ตกหลายแสนบาท
ฝ่ายที่ควบคุมการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นสาวใหญ่คนไทยก็โทรมาซักไซร้ไล่เลียงกับอ้ายน้องคนเบิกเงิน ถามโน่นย้ำนี่ถามซ้ำถามซาก แบบลืมตตัวนึกว่าเป็นเจ้าของเงินเอง ถามแบบพูดไม่เป็น ถามเหมือนกับไม่ไว้ใจไม่ให้เกียรติคนเบิกเงิน คนถูกถามอดไม่ได้จึงพูดออกไปว่า “ข้อยบ่เอาหมกปลาแดกไปแลกช้างดอกเด้อ” เหมือนกับจะตั้งใจบอกไปว่า เงินเล็กน้อยแค่นี้ผมไม่โกงให้เสียชื่อเสียงหรอก
นี่คือที่มาของ หมกปลาแดกแลกช้าง
การทำงานกับอ้ายน้องที่หงสา ต้องละเอียดอ่อน ถึงจะเป็นที่ยอมรับ ประเภทโผงผางโฉ่งฉ่างตีสนิท เจ้าอำนาจเพราะคิดว่าเป็นเจ้าของเงินนั้นไปไม่รอดต้องเปลี่ยนตัวปรับตำแหน่งกันมาหลายครั้งหลายคนแล้ว ไม่ใช่ว่าคนหงสาจะตั้งแง่เอาเรื่องกับชาวด้าวท้าวต่างแดน แต่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนที่ท่านถือปฏิบัติกันเช่นนั้นแม้แต่ในหมู่ของคนหงสาเอง ดูได้จากการพาดผ้าเบี่ยงเข้าวัด ดูได้จากการพาดผ้าเบี่ยงมานั่งพับเพียบเล่าบุญบอกบุญ ดูได้จากการเชิญไปร่วมงานต่างๆ ขนาดเจ้าสมจิตรลูกน้องผมจะทำขวัญเดือนให้ลูกสาวยังต้องพิมพ์การ์ดมาเชิญไม่งั้นถือว่าไม่ให้เกียรติ ประเภทที่ตะโกนชวนกันที่หน้ารั้ว หรือเดินสวนกันที่ถนนแล้วบอกกันนั้นรับรองไม่มีใครไปร่วมงานท่านแน่ๆ สองปีมาแล้วที่งานเลี้ยงปีใหม่ของโครงการจองโต๊ะสี่สิบแต่คนมาไม่ถึงยี่สิบโต๊ะ เพราะฝ่ายจัดงานไม่ได้ส่งบัตรเชิญให้น้องๆพนักงาน(ชั้นผู้น้อย เช่น เสมียน แม่บ้าน พนักงานขับรถ ลูกจ้างรายวัน) แม้ว่าในตอนกลางวันอ้ายน้องเหล่านั้นมาช่วยเตรียมงาน มาช่วยจัดสถานที่ กันเต็มที่ แต่พอตอนเย็นกลับไม่เห็นหน้าใครมากินกันซักคน ขนาดโทรไปตามกันแล้วก็ไม่ยอมมา บอกแค่ว่าไม่ได้บัตรเชิญ
นี่เป็นวัฒนธรรมชุมชนที่ละเอียดอ่อน ไม่ใช่ว่าคุยภาษาคล้ายกัน ก็เข้าใจกัน
นี่เป็นบทเรียนที่สอง “การเข้าใจชุมชน” ต่อจากบทเรียนแรก “การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน การได้รับการยอมรับจากชุมชน” ที่เล่าไว้ในบันทึกก่อน