และแล้ว…. ผมก็ทำงานเป็นวงกลมพอดีๆ เฮ้อ…….
ระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ผมได้รับการร้องขอจากบริษัทที่ต้องการลงทุนผลิตพลังงานทดแทน โดยใช้เมล็ดของต้นสบู่ดำ
เมื่อเริ่มงานประมาณเดือนมกราคม ผมได้ใช้เทคนิคการกรองข้อมูลจากประสบการณ์ของผมว่าน่าจะมีที่ใดที่น่าจะเหมาะกับการเริ่มต้นปลูกสบู่ดำ
ท่านที่ไม่เคยรู้จักหรือได้ยินเกี่ยวกับโครงการสบู่ดำ อาจคิดว่า ทำไมต้องกรองประสบการณ์
ผมขอท้าวความสักนิดว่า
สบู่ดำเป็นพืชดั้งเดิมของไทยในการผลิตสบู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่มีเมล็ดสีดำ จะทำสบู่เป็นสีดำหรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ
สบู่ดำเป็นพืชที่แข่งกับใครไม่ค่อยได้ ทั้งต้นที่เล็ก และไม่ทนร่ม จึงต้องหาวิธีอยู่รอดคือ ทนแล้ง ทนโรค ทนแมลง และสัตว์ไม่กิน
จึงอยู่กลางโคกแห้งๆ โล่งๆได้ดี
ชาวบ้านนิยมนำมาทำเป็นรั้ว เพราะไม่มีสัตว์แทะเล็ม อยู่ทน ปลูกง่าย ใช้กิ่งก็ได้ เมล็ดก็ได้ ไม่ต้องดูแล ก็อยู่รอดได้
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน มีคนเริ่มคิดว่าน่าจะเตรียมพัฒนาให้เป็นพืชพลังงานทดแทน
คนที่ทำโดนกล่าวหาว่า “บ้า” เพราะต้นทุนต่อลิตรไม่ต่ำกว่า ๒๐ บาท ในขณะที่น้ำมันดีเซลขณะนั้น ๕-๖ บาท
พอประมาณสัก ๔-๕ ปีมานี้ มีช่วงหนึ่งที่น้ำมันดีเซลขึ้นเป็นประมาณ ๑๐-๑๕ บาท ทำให้นักธุรกิจเริ่มหันมามอง และเริ่มคิดว่าน่าจะวางแผนปลูกในปริมาณมาก
จึงมีการเริ่มกระตุ้น ส่งเสริม กันอย่างทั่วไป แต่พอน้ำมันถอยมาตั้งหลักแถวๆ ๘-๙ บาท ความคิดดังกล่าวก็ “ฝ่อ” และหยุดไปอีก
มีคนขาดทุนจากกิจกรรมดังกล่าวพอสมควร และชาวบ้านที่ร่วมโครงการรู้สึก “เข็ดขยาด” กับการปลูกสบู่ดำ ส่วนใหญ่ปล่อยแปลงทิ้ง แม้ระยะหลังๆ ทางราชการพยายามจะส่งเสริม แต่ก็ฮึดเป็นพักๆ แล้วก็เลิกรากันไป
จนกระทั่งเมื่อน้ำมันดีดตัวขึ้นมาเป็น ๔๐ กว่าบาท เราจึงได้มาเริ่มคิดกันใหม่อีกรอบหนึ่ง
จึงทำให้เห็น “ร่องรอย” อยู่สามแบบด้วยกันคือ
- การปลูกเป็นรั้ว
- การปลูกเป็นแปลงๆ ในที่ไร่ ที่ส่งเสริมโดยนักธุรกิจ
- การปลูกตามสถานที่ราชการ และผู้นำชุมชน ภายใต้การส่งเสริมของทางราชการ
พื้นที่ที่ปลูกอยู่ ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่ที่ไม่ทราบจะใช้ทำอะไรดี เพราะมีที่มากอยู่แล้ว
กลับมาเรื่องงาน และการเดินทางเป็นวงกลม ของผมนะครับ
พอผมเริ่มงานก็กรองข้อมูลนี้อย่างละเอียด เพื่อวางแผนการทำงาน และพบว่า มีเฉพาะพื้นที่แถบอำเภอชุมแพ ที่น่าจะพัฒนาเป็นพื้นที่ผลิตได้ดี จึงลงตรวจสอบพื้นที่แบบ ground survey ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง
ทางกายภาพเหมาะมาก สภาพเสื่อมโทรม รกร้างว่างเปล่า เป็นพื้นที่กว้างๆ หลายร้อยไร่ แม้กระทั่งยูคาลิปตัสก็ยังไม่ค่อยโต มีสบู่ดำต้นแดง(พันธุ์ป่า เมล็ดเล็ก)กระจายอยู่ทั่วไป เป็นตัวชี้บ่งความเหมาะสม
ใช่แน่ๆ
ผมเริ่มดำเนินงานทันที ไปสอบถามชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ฯลฯ
ปรากฏว่า ไม่มีใครสนใจ เพราะ คนเหล่านั้นโดนหลอกมา ๒ รอบแล้ว ว่าจะมาส่งเสริมแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
มิหนำซ้ำ ที่แปลงใหญ่ๆนั้น เป็นที่ของ “คนจีนในตลาด” ทั้งนั้น มีเหลือก็เล็กน้อยตามหัวไร่ปลายนา
ผมยังไม่สิ้นความพยายาม ได้ขอความช่วยเหลือจาก อบต ที่มีที่สาธารณะ และขอให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยประสานงาน
ผมไปเตรียมงานช่วงมีนาคม- เมษายน กะว่าจะเริ่มให้ทันฤดูฝน
ได้แต่รอแล้วรอเล่า ท่านผู้นำท้องถิ่นก็ไม่ดำเนินการใดๆ
โทรหาเกือบทุกวัน จนเบื่อคุยกันไปข้างหนึ่ง
ด้วยความอึดอัด ก็เลยพักงานทางชุมแพไว้ระยะหนึ่ง แต่หันไปเปิดงานทางอำเภอกระนวน (ทางตะวันออกของขอนแก่น) แทน
แต่ที่กระนวน ผมเผชิญปัญหาหนักกว่าชุมแพ เพราะเป็นพื้นที่อ้อย และมัน
ยากที่สบู่ดำจะแทรกเข้าไปได้
แต่ก็ยังโชคดีอยู่นิดหนึ่งที่ได้พบ จนท. อบต ที่ให้ความสนใจ และชวนผมมาเยี่ยมแปลงสบู่ดำที่กำลังทดลอง แม้แค่ ๒ ไร่ก็ยังฟังดูว่ามีเพื่อนบ้าง
ผมได้รู้จักกับปลัด อบต. ที่ดูแลงานนี้ แต่ท่านกำลังจะกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ชุมแพ
ผมเลยถือโอกาสฝากท่านให้ประสานงานทางชุมแพให้
พอโทรประสานอีกครั้งท่านปลัด อบต ก็บอกว่าช่วยไม่ได้ หาคนไม่ได้ แต่ก็ให้หมายเลขโทรศัพท์ ของ ปลัด อบต. ของตำบลหนึ่งในชุมแพมาให้ประสานงานต่อ
ผมโทรไปหาตามที่บอก ก็ได้รับคำตอบว่าช่วยไม่ได้ และให้หมายเลขติดต่อไปยังปลัด อบต อีกท่านหนึ่ง ที่ตำบลเสาเล้า
ผมก็โทรตามไปอีกหลายครั้งกว่าจะติด
พอได้คุย ท่านกลับบอกว่าที่ตำบลท่านนั้น มีแต่นาไม่น่าจะหาที่ปลูกได้ แต่ก็ให้หมายเลขเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอชุมแพที่เป็นที่ปรึกษาของ อบต เผื่อจะช่วยได้
ผมฟังแล้วก็แทบหมดหวัง เพราะผมทราบมาว่าระบบราขการได้พยายามส่งเสริมมานาน แต่ก็ไม่ได้ผล และ ยิ่งกว่านั้น สถิติการปลูกสบู่ดำของจังหวัดขอนแก่นนั้น มี ๐ ไร่ (ไม่มีการปลูก) ทั้งๆที่ผมไปเห็นมามากว่าปลูกหลายร้อยไร่
แสดงว่าเจ้าหน้าที่เกษตรของจังหวัดขอนแก่นไม่สนใจสบู่ดำ จึงปล่อยให้สถิติกลายเป็น ๐ ไร่ ดังกล่าว
แต่ผมก็ทำใจดีสู้เสือ โทรไปหาเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอท่านนั้น
ผมต้องใจหายวูบทันที เมื่อท่านบอกกับผมว่า
“ผมศึกษามาหลายปี ผมไม่เชื่อว่าสบู่ดำจะมีผลผลิตคุ้มค่า”
“เกษตรกรแถวนี้เขาเบื่อกับคำเชิญชวน ที่ไม่เคยเป็นจริง”
ผมแทบถอดใจกับสองประโยคนี้ แต่ก็พูดไปดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อขอความร่วมมือ ภายใต้คำพูดที่ไม่มีความหวังใดๆ
แล้วก็วางสายด้วยความไม่หวังอะไรเลย
แต่อีก ๒ วันต่อมาระหว่างที่กำลังสอนอยู่ ก็ปรากฏว่ามีเสียงโทรศัพท์ ที่ผมว่าจะไม่รับ แต่พอดูว่าใครโทรมา ก็ประหลาดใจที่เป็นหมายเลขของนักวิชาการเกษตรท่านนั้น
ผมบอกว่ากำลังสอน เดี๋ยวจะโทรกลับ
พอสอนเสร็จผมก็โทรกลับ และปรากฏว่าท่านได้มารอผมอยู่ที่ข้างๆตืกคณะเกษตรศาสตร์
เราจึงได้คุยกัน
ผมได้ฉาย VCD เกี่ยวกับสบู่ดำให้ดูว่ามีวิธีการผลิต การปลูก อย่างไร
ปรากฏว่า VCD ได้ทำให้นักวิชาการเกษตรจากอำเภอชุมแพ สนใจ
จึงขอให้ผมไปบรรยายกับเกษตรกรที่อำเภอ ในวันที่ ๔ กันยายน ๕๑ ที่ผ่านมาในหัวข้อ
เกษตรอินทรีย์ และพลังงานทดแทน (สบู่ดำ)
วันต่อมาท่านก็โทรบอกผมว่า ท่าน สจ. ให้ความสนใจ อยากจะคุยด้วย จะนัดให้เอาไหม
ผมรีบตอบรับด้วยความดีใจ
ผมก็ได้ไปบรรยาย จนถีงเที่ยง
พอทานข้าวเสร็จก็รีบเดินทางไปพบท่าน สจ. ของอำเภอชุมแพ
ผมเปิดประเด็นด้วยเกษตอินทรีย์ ทำนาแบบประหยัดพลังงาน และตามด้วยการปลูกสบู่ดำเป็นพลังงานทดแทน
ท่านบอกว่า ท่านหามานานแล้ว และรีบรับปากว่าจะช่วยทันที
ท่านรีบโทรไปหาคุณแม่ของท่าน ที่บอกว่าซื้อที่ไว้มากในอำเภอชุมแพ
และพูดแบบอ้อนๆ ว่าขอยืมที่สัก ยี่สิบไร่ ตรงไหนก็ได้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมแปลงสาธิต
และรีบพาผมไปพบคุณแม่ของท่าน ที่อยู่หลังปั๊มป์น้ำมัน
พอพบก็ได้เสนอแนวคิดอีกรอบหนึ่ง ท่านก็เริ่มไล่เลียงว่าท่านมีที่ตรงไหนบ้าง ทำอะไรอยู่บ้าง
จนมาถึงจุดแถวๆที่ผมเคยไปสำรวจเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ท่านบอกว่ามีอยู่ ๗๐ ไร่ ยูคาไม่ค่อยงาม จะใช้ได้ไหม
ถ้าได้ก็ให้รื้อยูคาออกแล้วใช้เป็นแปลงสาธิตปลูกสบู่ดำได้เลย
ก็บังเอิญเหลือเกินที่เป็นแปลงเดียวกับที่ผมไปสำรวจรอบแรก เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เป็นการเดินทางครบวงกลมพอดี ในจังหวัดขอนแก่น ที่ผมใช้เวลาทั้งสิ้น ๘ เดือน
ทำให้ได้ที่ทำแปลงทดลอง ๗๐ ไร่ (เป็นของคนจีนในตลาดจริงด้วย)
นี่แหละคือวงกลมที่ผมเดินจนครบรอบ ……เฮ้อ……..หายท้อซะที
ตอนนี้เลยกำลังวางแผนงานปรับปรุงที่ ๗๐ ไร่เป็นแปลงสาธิต และทดลอง ผลิตสบู่ดำครับ
1 ความคิดเห็น
ดีใจด้วยค่ะ อาจารย์ ได้ยินเรื่องสบู่ดำมานานมาก มีคนมาชวนลงทุนด้วย มีการศึกษามาเสนอเสร็จ เอาไปวางเสียที่ไหนแล้ว ต้องหาก่อน อิๆๆๆ เขียนเล่ามาอีกนะคะ