เทศบาลนครพิษณุโลกเปิดวงเสวนา
อ่าน: 2031ผู้บริหาร ของเทศบาลนครพิษณุโลกได้เปิด “โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ” Kickoff โครงการวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2555 14.00 –18.00 น. ที่ห้องประชุมจุฬามณี 2 เทศบาลนครพิษณุโลก มีคนเข้าร่วมประมาณ 20 คน
เริ่มพูดคุยกันประเด็น จำเป็นไหมที่ต้องทำโครงการนี้ ? ทำไปทำไม? ถ้าทำโครงการจะมีลักษณะอย่างไร? ทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง ?
ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าควรทำ โครงการนี้ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาทำให้บรรยากาศทั้งที่บ้าน ในครอบครัว ที่ทำงานและสังคมมีความแตกแยก คุยกันเรื่องการเมืองไม่ได้ หวาดระแวงกัน ทำให้ไม่มีความสุข และการทำงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
มีผู้เสนอให้มีจัดคนมาบรรยายให้ ความรู้เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมือง จะได้รู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตยกันมากขึ้น แต่ก็สรุปว่าเวลาจัดบรรยายให้คนมาพูด คนพูดก็ไม่ค่อยเป็นกลาง อยู่ที่ใครเป็นคนเชิญ คนเชิญก็จะเชิญคนที่มีความเชื่อเหมือนตน เอามาพูดให้คนที่คิดต่างเปลี่ยนความคิดให้คิดเหมือนตน จัดไปจัดมาก็มีแต่คนที่คิดเหมือนกันมานั่งฟังกัน จนคนจัดก็เริ่มเบื่อเพราะคนที่คืดต่างก็ไม่ยอมมาฟัง ถ้ามาก็แค่อยากมาป่วนให้เสียบรรยากาศเล่นๆ
เลยสรุปว่างั้นก็จัดเป็นรูปแบบ สุนทรียสนทนาหรือสานเสวนา (Dialogue) ฝึกพูดคุยกันเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง ทำในกลุ่มเล็กๆ ลองดูว่าจะมีอะไรๆดีๆเกิดขึ้นในกลุ่มไหม? ถ้ามีอาจเป็นประสบการณ์ที่จะขยายผลต่อไปในชุมชนและสังคมเมืองพิษณุโลก
บรรยากาศการพูดคุยค่อนข้างดี กลุ่มที่เข้าร่วมประมาณครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์การสนทนามาบ้างแล้ว สามารถเหนี่ยวนำและหล่อเลี้ยงกลุ่มได้ดีพอสมควร มีการพูดตรงๆ ลึกๆ หลายครั้งเหมือนกันแต่ก็รับฟังกันดี ไม่มีการโต้เถียงหรือเอาแพ้เอาชนะกัน อาจเกรงใจกันอยู่เพราะเป็นครั้งแรกๆ หรือเกรงใจรองนายกฯ ก็ไม่รู้…อิอิ
วันนี้โยนโจทย์ไปว่าสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันเป็นอย่างไร? ในความคิดเห็นของแต่ละคน
ถ้าสถานการณ์ดีอยู่แล้วก็อยู่นิ่งๆ อย่าขยับอะไรมากเพราะจะทำให้ยุ่งขึ้นมาอีก
หรือ
สถานการณ์ไม่ค่อยดี เหมือนคลื่นลมสงบก่อนพายุร้าย ถ้าเป็นแบบนี้ก็น่าจะทำอะไรสักอย่าง? เพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกัน ถ้าใครว่าสถานการณ์ไม่ดี ต้องทำอะไรสักอย่างก็เสนอด้วยว่าควรทำอะไร?
ก็มีการแสดงความเห็นกันพอสมควร มีการเสนอให้นักการเมือง ผู้บริหารประเทศต้องปรับปรุงตัวบ้าง แต่ก็มีคนเสนอให้พัฒนาตัวเองให้เป็นพลเมืองที่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย เพราะไปเปลี่ยนคนอื่นจะยากมาก
เลยพูดถึงเรื่องรายงานการศึกษา วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้าและข้อเสนอแนะให้ทำ ประชาเสวนาหาทางออก (deliberation) รายงานการค้นหาความจริง เหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองและข้อเสนอเพื่อการปรองดองฉบับสมบูรณ์ของ คปอ. และเรื่อง Citizenship and The Future of Thai Democracy ที่เคยแนะนำให้อ่านกันมาแล้ว
นัดคุยกันอีกครั้ง วันที่ 11 หรือ 12 ธันวาคม 2555 ซึ่งจะมีเครือข่ายสุนทรียสนทนา@พิษณุโลกมาร่วมพูดคุยด้วย