สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่ (3)

โดย จอมป่วน เมื่อ 27 สิงหาคม 2011 เวลา 22:21 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 1737

19 สิงหาคม 2554   9.30-12.30 น.

อาจารย์จิราพร บุนนาค

อยากให้รับทราบปัญหา  สถานการณ์ที่ถูกต้อง  แล้วจะนำไปสู่การเลือกการแก้ปัญหา  จะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี

ปี พ.ศ. 2550 มีการประเมินสถานการณ์  ในอนาคน 5 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น  โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ  และเครือข่ายข่าวกรอง  และฟังจากทุกภาคส่วน  ให้ความสำคัญกับข้อมูล  ความจริง  ความเห็น  และปัญหาของทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน

จากภาคประชาชนฐานราก  ในแต่ละปัญหาที่เกี่ยวข้อง  NGO, ภาคเอกชน, กลุ่มเด็ก เยาวชน, กลุ่มสตรี, ผู้นำชุมชน, ผู้นำท้องถิ่น, นักการเมือง, ผู้นำศาสนา,  ฟังคนชายขอบ, คนที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ  วัฒนธรรม,  แรงงานต่างชาติทั้งที่จดทะเบียนและลักลอบเข้ามา

ฟังและเห็นคุณค่าของคนที่มาพูดให้ฟัง เพื่อหาแนวทางที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ทำได้จริงในการแก้ปัญหา

คำนึงถึงผลประโยชน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์แห่งชาติ  ต้องมีข้อมูลที่เป็นจริงและปฏิบัติได้จริง

ใช้การทำงานระบบเครือข่าย  ภาครัฐและนอกภาครัฐแบบมีส่วนร่วม  ถ้ากระบวนการการมีส่วนร่วมถูกต้อง  จะมีความรู้สึกว่ามีส่วนร่วม  เท่าเทียม  มีความเป็นเจ้าของนโยบายและยินดีร่วมมือปฏิบัติตามนโยบาย

อุปสรรคไม่ได้อยู่ที่ภาคประชาชน  แต่อยู่ที่ภาครัฐ  ที่ติดอยู่กับวิธีคิดแนวดิ่ง  คือ อำนาจและการอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นต้นทุนของสังคมไทย

อำนาจและอุปถัมภ์ ถ้าใช้ด้วยความจริงใจ  ไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น  ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก  ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

แต่ถ้ามี Hidden Agenda อำนาจและอุปถัมภ์ก็๋จะเกิดจุดอ่อน

สังคมไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามอำนาจและอุปถัมภ์

ใช้สันติวิธีเป็นแนวคิดในการทำงาน บทเรียนจากทั่วโลก ความขัดแย้งที่รุนแรงถึงตายไม่มีประเทศไหนจบได้ด้วยความรุนแรง  อาจารย์ยกตัวอย่างที่อัฟกานิสถาน พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อาเซอร์ไบจาน แอฟริกา ไอร์แลนด์เหนือ

ความรุนแรงทั่วโลก  ไมีมีประเทศไหนจบได้ด้วยชัยชนะของกองกำลังทหาร  บทเรียนในประเทศ  การแก้ปัญหาด้วยอำนาจและการใช้กำลังก็ไม่เคยสำเร็จ

แนวทางสันติวิธีเห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น    เรื่องของผลประโยชน์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ  ที่ดิน  น้ำ  ทำให้เกิดความขัดแย้ง  แต่สันติวิธีจะทำให้เราอยู่ร่วมกับความเห็นต่างและความขัดแย้ง  สันติวิธีจะป้องกันความขัดแย้งไม่ให้แปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรง

ทฤษฎีสันติวิธี  (ทหารอาจเข้าใจว่าสันติวิธี เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน  เพราะให้ทหารอยู่เฉยๆ)

  1. อำนาจ
  2. สันติวิธี ต้องทำ  ไม่ใช่อยู่เฉยๆ  ต้องไม่เกลียดชังกัน  มุ่งสู่ความเป็นธรรม
  3. ต้องอดทน  ยอมรับความทุกข์  การเสียหน้า

วิธีการ

  1. การประท้วงเชิงสัญญลักษณ์
  2. การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ
  3. วิธีการแทรกแซงทางตรง

สันติวิธีมี 2 บริบท

  1. เปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการเปลี่ยนใจ  ไม่ให้ใช้ความรุนแรง
  2. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ข้อจำกัดของสันติวิธี

  1. ขึ้นกับการเตรียมตัว เตรียมความพร้อม
  2. สันติวิธีก็อาจต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตรงข้าม
  3. อาจไม่ประสบความสำเร็จ

การจัดการกับข้อจำกัด

1. การประเมินสัญญาณทีร่ส่งมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง  หมายความว่าอย่างไร? 

กรณีหินกรูด  มีการประท้วง  ทางรัฐไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้อง  ประชาชนก็ไปบริจาคเลือดเก็บไว้ที่โรงพยาบาล  ถ้ามองมุมลบ  ฝ่ายประท้วงเตรียมใช้ความรุนแรง  แต่ถ้ามองมุมบวก  การข่าวดี มีประสิทธิภาพก็จะทราบว่าไม่ได้เตรียมไว้ใช้ความรุนแรง  อาจจะมีความรุนแรงจึงเตรียมไว้

หรือกรณีอำเภอจะนะ สงชลา  การที่ประชาชน นั่งรถมามีไม้ปลายแหลมผูกผ้าสีแดง  ทางรัฐประเมินสัญญาณว่าเป็นการเตรียมใช้ความรุนแรง  เลยสลายการชุมนุม  แต่ประชาชนอาจไม่คิดแบบนี้

2. ข้อขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง  เหตุผลใช้ไม่ได้  เพราะข้อมูลที่แต่ละฝ่ายมีเป็นข้อมูลคนละชุด  ความจริงที่รับรู้  สะสมของแต่ละฝ่ายไม่ตรงกัน  ไม่เหมือนกัน  การแก้ที่ต้นเหตุคือการทำให้รับรู้ความจริงชุดเดียวกัน  ต้องพิสูจน์ความจริง  ใช้กลไกของนิติวิทยาศาสตร์  ให้คนยอมรับร่วมกันให้ได้

3. ความเชื่อ  “ความเชื่ออยู่เหนือความจริง”  ทำให้แก้ปัญหายากขึ้น  เช่นประเด็นทางการเมือง  คนเสื้อแดง (นปช.) ที่รับรู้สะสมจนกลายเป็นความเชื่อเรื่องสถาบันสูงสุดก็เป็นส่วนหนึ่ง  ความเชื่อเรื่องทหารและรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ทำอะไรกับคนเสื้อแดงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนคนเสื้อเหลืองก็จะมีความเชื่อต่างกันออกไป  ทำให้การพูดคุยทำได้ยาก  เพราะความเชื่อ  ความจริงเป็นคนละชุด 

ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา  เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น  ต้องแก้ที่ตัวคน  แก้ที่ความเชื่อ  วิธีคิด  แก้ด้วยความจริง  เป็นสิ่งสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

เป็นส่วนที่ลึกมาก  ปกติคนจะมองแค่สถานการณ์  เหตุการณ์ซึ่งเป็นแค่ผิวหน้าของสถานการณ์  เบื้องหลังยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง  กฏหมายที่ไม่เป็นธรรม  ระบบ  วิธีแก้ปัญหาที่ทำให้มีความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

ส่วนที่ลึกที่สุดเป็นมิติทางวัฒนธรรม  วิถีชีวิต  วิธีคิด  ความรู้สึก  อารมณ์ 

การพูดคุยด้วยความจริงใจ  ในกรณีที่ความเชื่อ  ความจริงแตกต่างกัน  ความบริสุทธิใจ  ความจริงใจ  ความเท่าเทียมกัน  จะสร้างความรู้สึก  บรรยากาศที่เป็นพวกเดียวกัน 

การให้เกียรติกัน  เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน  จะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเชื่อกัน

ถ้ารัฐเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน  รัฐต้องเป็นฝ่ายให้เกียรติ  ให้ความเสมอภาค  ความเท่าเทียม

คนที่เหนือกว่า คนที่มีอำนาจต้องเริ่มก่อน  ให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมถึงความจริงใจ

ตอนที่ นปช. และรัฐบาลอภิสิทธิ์คุยกัน  ลึกๆที่พบคือรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในความรู้สึกและอารมณ์

ในบรรยากาศแบบนี้เหตุผลใช้ไม่ได้  ต้องให้ความสำคัญที่ความรู้สึกและอารมณ์

win-win ไม่ใช่การพบกันครึ่งทาง  ที่สำคัญของ win-win คือ win-win ในความรู้สึกและอารมณ์  เกิดความพอใจเพราะให้เกียรติ เคารพ  เห็นคุณค่า  ให้ความเท่าเทียม  คนที่ให้อาจมีความรู้สึกว่าชนะ  ไม่ดูแค่ผิวหน้าของสถานการณ์ขณะนั้น

เวลาเผชิญหน้ากับความรุนแรง  สิ่งที่พบเสมอคือความไม่ไว้ใจกันมีสูงมาก 

ทหารใช้กฏหมายพิเศษจัดการด้วยความรุนแรงเพราะปัญหามีชายชุดดำ  แต่ นปช. ก็เห็นว่ามีชายชุดดำในอีกฝ่ายหนึ่ง  ประเมินในเชิงลบ  ก็จะไม่ไว้ใจ  จะใช้ความรุนแรงก่อนเพื่อป้องกัน

หัวหน้าการ์ด นปช. ก็มีปัญหากับเสธ. แดง  ไม่ให้ดลุ่มของเสธ. แดงเข้ามาใช้ความรุนแรง

วันที่ 10 เมษายน  มี ฮ. ทหารทิ้งก๊าซน้ำตาลงมาที่ฝูงชน  ทำให้มีคนบาดเจ็บ  เป็นความรุนแรงที่คาดไม่ถึง

ทหารก็มองว่าการเสียชีวิตของ พันเอกร่มเกล้า  ก็เป็นความรุนแรงที่คาดไม่ถึง

มองย้อนกลับไป  เหตุความรุนแรงคือการมองภาพลบของงานการข่าว

นปช. ไม่มีทีมหาข่าว  แต่ได้ข่าวจากทหารแตงโมกับตำรวจมะเขือเทศ  แล้วก็เชื่อเพราะข่าวจะเป็นความจริงทุกครั้ง จึงรู้สึกว่า ทหารและตำรวจส่วนหนึ่งเข้าใจความทุกข์ยาก และเป็นพวกเดียวกับ นปช.  เป็ความคิดที่เป็นอิสระของคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย  ยังมีสิ่งที่หล่อหลอมความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน  แก้ไขปัญหาร่วมกันได้

ภาครัฐและภาคประชาสังคมต้องทราบผลที่จะเกิดขึ้นจากการไม่เห็นผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ

กรณี วิชชุกร ถามอาจารย์ศิระชัย เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการพูดกันเรื่องนี้  เรื่องสถาบันฯ เป็นเรื่องที่ต้องดูแล  กลุ่มคนหรือหน่วยงานที่ต้องดูแลปกป้องคือทหาร  ต้องเริ่มจากยอมรับความจริง

ปัจจุบันสังคมไทยคิดกันหลากหลาย  ทั้งวัยที่ต่างกัน  วัยรุ่น  วัยกลางคน  ผู้สูงอายุ  แต่ละกลุ่มมองอย่างไร?

เวลาที่ทหารทำหน้าที่ปกป้องสถาบันฯ ทำแบบ รปภ. เฝ้าธนาคาร ?

ลืมไปหรือเปล่าว่า  ถึงได้เงินไป ธนาคารก็ไม่มีวันเจ๊ง  แต่ธนาคารจะเจ๊งเพราะคนไม่ฝากเงิน  พากันถอนเงินหมด  เพราะอะไร?  เพราะความเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนต่อสถาบัน  ทหารต้องทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธา เชื่อถือต่อสถาบัน

ความไม่ไว้วางใจกันทำให้มองไม่เห็นทางออก  ประเมินในทางลบ  ทำให้ใช้กำลัง  การประเมินลบ  อคติ  ทำให้การตีความ  การสื่อสารไม่ตรงกับความเป็นจริง  ทำให้ตัดสินใจผิด  นำไปสู่การใช้ความรุนแรง

ทุกเรื่องจะมาเชื่อมโยงกับการประเมินสัญญาณ  การสื่อสารที่ผิดปกติ  การสื่อสารทางเดียว  ข้อมูลไม่เพียงพอ  ไม่ทันเวลา  ทำให้นำไปสู่ความรุนแรง

ถ้าเผชิญหน้า การประเมินสัญญาณเป็นลบ  รู้สึกว่าไม่เป็นพวกเดียวกัน  อยากเอาชนะก็จะนำไปสู่ความรุนแรงได้

การมองเห็นสัญญาณที่เป็นจริง  การปรับเปลี่ยนท่าทีที่ช่วยให้เกิดความไว้วางใจ  จะช่วยลดเงื่อนไขความเข้าใจไม่ตรงกัน  ต้องเริ่มจากภาครัฐ  ไม่ใช่จากประชาชน  เรื่องอัตลักษณ์ก็มีความสำคัญ  ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวด 

กรณีความมั่นคงกับแรงงานต่างชาติ  เราใช้ประโยชน์จากแรงงานต่างชาติ ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม  ความเป็นธรรม  สิทธิเสรีภาพ  ต้องดูแลกรณีเจ็บป่วย  ตั้งท้อง  การศึกษา  ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

ต้นทุนสังคมไทยที่เคยมีความเมตตาต่อผู้คนมาก่อน  กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้าใจเรื่องพวกนี้  เพราะถ้าเราปฏิบัติไม่ดีจะมีผลกระทบกับคนไทย

ในต่างชาติ  กรณีเผาสถานทูตไทยและห้างร้านของคนไทยในกรุงพนมเปญ  ที่ประเทศลาว คนลาวคิดอย่างไร? คำตอบคือ  สะใจ  โดนซะมั่งก็ดี !!!!!  มีการรับรู้ข้อมูลจากแรงงานต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย  คนไทยชอบข่ม  ทั้งการกระทำ  การใช้วาจาที่ตอกย้ำความเจ็บปวด  ทั้งคนลาว  พม่า กัมพูชา  ก็มีความรู้สึกเช่นนี้ 

 

 

Post to Facebook Facebook

« « Prev : เสวนากับอาจารย์ศิระชัย โชติรัตน์

Next : พูดคุยกับอาจารย์จิราพร บุนนาค » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่ (3)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.59303712844849 sec
Sidebar: 0.28339099884033 sec