สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่ (2)
อ่าน: 1935อ.ศิระชัย โชติรัตน์
“ งานข่าวกรอง งานด้านความมั่นคง การสันติวิธี ไม่ใช่ของเล่นๆ ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ต้องมีความเป็นมืออาชีพ จรรยาบรรณ ต้องฝึกฝนกันมาเป็นสิบๆปี ต้องแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมได้ ”
ต้องมีความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ วัตถุประสงค์แห่งชาติ นโยบายชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ
หันมาดูเมืองไทยบ้าง ปัจจุบันประเทศไทยเรามีปัญหาหลักๆอยู่ 6 ปัญหา คือ
- ภัยคุกคามต่อสถาบันหลักของชาติ
- การแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ
- ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ
- ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
- อาเซียน 2558 หรือ Asian 2015
ภัยคุกคามต่อสถาบันหลักของชาติ
ตั้งแต่สถาบันสูงสุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยถูกกระทบกระเทือนขนาดอย่างเช่นปัจจุบันนี้
สถาบันนิติบัญญัติก็ขาดความเชื่อถือจากประชาชน ตัวชี้วัดก็คือมีการเล่นการเมืองนอกสภา สถาบันบริหาร รัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารก็เข้าได้บางพื้นที่ บางพื้นที่ก็เข้าไปไม่ได้ และสถาบันตุลาการก็มีปัญหาจนเกิดคำว่า “สองมาตรฐาน” สถาบันหลักของชาติที่เคยค้ำชูสังคมให้อยู่รอดปลอดภัยมาโดยตลอดเสื่อมถอยลง เกิดผลกระทบอย่างมากมาย เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
การแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ
เกิดการแตกแยกทางความคิดของคนในชาติทั้งแนวราบและแนวดิ่ง เป็นความขัดแย้งทางการเมือง อิทธิพลของสื่อบางประเภทก็มีส่วนกระพือ การใช้เสรีภาพเกินขอบเขต และการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฏหมาย
ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ไม่มีแนวโน้มที่จะยุติในเวลาอันสั้น ยังไม่สามารถให้คำตอบว่าปัญหานี้จะจบได้ภายในระยะเวลากี่ปี รอบสองตั้งแต่ปี 2548 ไม่ใช่ปัญหาของการใช้กำลังแล้ว มันลึกลงไปถึงระดับความคิด เราเติบโตมาในช่วงเวลาที่สอนให้เราเกลียดพม่า ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเลิกเกลียดพม่าเมื่อไหร่? ปัญหาภาคใต้ คงต้องมีกระบวนการอีกหลายอย่างและยังคงต้องใช้เวลา และไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเพราะต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ความต้องการของประชาชนคือคำตอบ
มีผู้รู้ มีคณะกรรมการ คณะทำงาน มีคนหลายกลุ่ม แต่ก็คงไม่มีกลุ่มไหนแสดงออกถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ชัดเจนได้ ที่แสดงออกมาก็เห็นจะมีการที่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง 70-80% แปลว่าพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังยอมรับรัฐธรรมนูญ ? ยังยอมรับระบบการปกครองใช่ไหม? ไม่ต้องการที่จะแยกตัวออกไปใช่ไหม? สะท้อนอะไร? แต่ก็ยังคงสรุปอะไรไม่ได้ ปัญหามันซับซ้อมมาก อย่าเพิ่งไปประกาศว่าจะแก้ด้วยวิธีนั้น วิธีนี้
ในสถานการณ์ที่ยืดเยื้ออยู่นี้มีโอกาสที่จะถูกแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศได้ เผอิญจุดยืนและแนวคิดของกลุ่มในภาคใต้กับการก่อการร้ายสากลยังไม่ค่อยจะสอดคล้องกัน กลุ่มก่อการร้ายสากลต้องการต่อสู้กับตะวันตกและก่อตั้งรัฐอิสลาม จึงควรจะรีบยุติปัญหา ไม่ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อต่อไป
ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ
ปัญหายาเสพติดที่กำลังลุกลามและเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
มีปัญาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ไทยเรากำลังถูกนานาชาติเพ่งเล็งเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เดิมก็มีรัสเซีย เกาหลี
ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยสรุปกัมพูชายังเปราะบาง อาจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับปํญหากัมพูชาจะต้องละเอียด รอบคอบ
พม่า เหตุการณ์ก็ยังปกติแต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องชายแดนทั้งทางบกและทางแม่น้ำ และความไม่สบายใจของพม่าเกี่ยวกับเรื่องชนกลุ่มน้อยที่พม่ายังระแวงว่าเรายังแอบช่วย แต่เราก็ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเรื่องนี้อย่างชัดเจน
ลาว เป็นประเทศเดียวที่ความสัมพันธ์ค่อนข้างดีและมีแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ
มาเลเซียก็ดี แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในระดับเวทีโลก แต่เท่าที่สัมผัสก็มีความรู้สึกว่าทางมาเลเซียค่อนข้างจะจริงใจกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่การที่มาเลเซียเป็นประเทศอิสลามจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้
อาเซียน 2558 หรือ Asian 2015
จะมีผลกระทบต่อไทยอย่างมาก ทั้งด้านบวกคือจะเกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนและทำให้กลุ่มมีอำนาจต่อรองทางการเมืองในเวทีโลกทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ด้านลบ มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ขนาดยังไม่ถึงอาเซียน 2558 ก็ลักลอบเข้ามากันแล้ว ในอนาคตก็คงทะลักเข้ามา การระบาดของโรคทั้งคนทั้งสัตว์จากการอพยพของแรงงาน อาชญากรรมข้ามชาติเพราะมีช่องว่างของกฏหมายระหว่างประเทศ การหลั่งไหลของสินค้าราคาถูก
สุดท้ายที่อยากจะพูดก็เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราขดำรัส ให้แก่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ขอยกพระราชดำรัสมาอธิบายให้พวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาความมั่นคงฟังว่า เป็นสุดยอดในการชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์ที่มีครบทั้งสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ พูดถึงผลประโยชน์แห่งชาติ พูดถึงวัตถุประสงค์แห่งชาติ พูดถึงนโยบายแห่งชาติ พูดถึงยุทธศาสตร์แห่งชาติ
สภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ ทรงชี้ให้รัฐบาลและประชาชนต้องรับทราบว่า ประเทศเรากำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมของโลกที่กำลังยุ่งยากและสับสน จากปัญหาและภัยที่หลากหลายรูปแบบรวมทั้งปัญหาภายในประเทศ พระองค์ท่านสรุปว่า มันยุ่งยากและสับสน
ในสภาวะแบบนี้ผลประโยชน์ของชาติที่มีความสำคัญในขณะนี้คือความมั่งคั่งรุ่งเรืองและความมีเสถียรภาพ (Prosperity, stability) รัฐบาลต้องทำให้ประเทศมีความรุ่งเรือง มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ
วัตถุประสงค์แห่งชาติที่จะทำให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองภายใต้ความสับสนวุ่นวายนั้น ท่านทรงแนะว่า ให้มุ่งไปที่การสร้างบ้านเมืองให้สงบและมีสันติสุข พระองค์ท่านใช้คำว่า ทำให้บ้านเมืองนี้เป็นบ้านเมืองที่น่าอยู่ จะใช้สันติวิธีหรือวิธีใดๆก็ได้สร้างสังคมสันติสุข การสร้างสังคมสันติสุขให้เกิดขึ้นเป็นทางรอดสำหรับโลกที่สับสนวุ่นวาย
นโยบายชาติ จะทำให้ประเทศน่าอยู่ภายใต้ความสลับซับซ้อนก็คือทุกกลไก ทุกภาคส่วน ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ต้องไม่ Dysfunction ต้อง well Function ฝ่ายบริหารก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ต้องกลับไปดูว่าตัวเองมีหน้าที่อะไรในสังคม
ยุทธศาสตร์ชาติ พวกเราที่เป็นชนชั้นนำทางสังคมต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี หัวเรือหรือชนชั้นนำต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีในทุกๆด้าน แล้วคนที่ระดับรองๆลงไปจะเอาเป็นตัวอย่าง เมื่อทำดีกันทั้งประเทศ การที่จะสร้างสังคมสันติสุขนั้นก็จะไม่เหลือบ่ากว่าแรง
พระราชดำรัสชี้ให้เห็นครบ สมบูรณ์แบบตามหลักการของวิชาการความมั่นคง
ประเทศเรามีผู้รู้ มีผู้มีประสบการณ์ทางด้านความมั่นคงที่หลากหลาย แต่ต้องเลือกใช้แนวทางความมั่นคงที่แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม
« « Prev : สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่ (1)
Next : เสวนากับอาจารย์ศิระชัย โชติรัตน์ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สันติวิธีกับความมั่นคงแห่งชาติในมิติใหม่ (2)"