พระมหากษัตริย์ไทยกับสันติวิธี (2)
อ่าน: 2537“สงครามไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ปัญหาชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน” โดย พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ
แนวทางการบรรยายของลุงเอกคือ
- เสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการศึกษาค้นคว้าในแนวทางเชิงสันติ สอดแทรกด้วยแนวคิดทฤษฎี
- นำเสนอ VCD แนวทางการจัดการปัญหาเขตแดนของเพื่อนบ้าน
- แนวคิดการจัดการเขตแดนแนวสันติของประเทศต่างๆ
- กรณีศึกษาวิเทโศบายของพระพุทธเจ้าหลวงในการเลี่ยงสงครามสู่สันติสุขของชาติไทย
กษัตริย์ไทยสมัยโบราณต้องออกศึกทำสงคราม แต่ยุคหลังๆก็มาใช้ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้
รศ. 112 เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสียพระราชหฤทัยมาก จนถึงกับทรงพระประชวร พระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์ระบายความโศกเศร้าไว้ว่า
เจ็บนานหนักอกผู้ บริรักษ์ ปวงเอย
คิดใคร่ลา ลาญพัก ปลดเปลื้อง
ความเหนื่อยแห่งสูจัก พลันสว่าง
ตูจักสู่ภพเบื้อง หน้านั้น พลันเขษม
เป็นยุคล่าอาณานิคม ที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆประเทศไทยก็ตกเป็นเมืองขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของชาติมหาอำนาจจากยุโรป ฝรั่งเศสก็จ้องที่จะฮุบประเทศไทย
……..
“ อารมณ์ของฝรั่งเศสปรากฏว่าชอบใช้กำลังมากกว่าการเจรจา” (จอร์จ นาตาแนล เคอร์ซอน จากหนังสือ ปัญหาชายแดนประเทศสยาม)
“ การดำเนินทางการฑูตแบบนุ่มนวลไม่เหมาะสำหรับประเทศสยาม กับชาวเอเซีย ต้องแสดงพลังเมื่อคุณแข็งแรงกว่า หรือหากคุณตกเป็นเบี้ยล่าง คุณต้องยืนหยัด การเจรจาตกลงเป็นเรื่องเล็กน้อย เสียเวลา” (ชาร์ล เลอ มีร์ เดอ วิเลร์ เอกอัครราชฑูตประจำกรุงสยามกล่าวต่อ จูลส์ เดอแวล รมต.ต่างประเทศ 24 สิงหาคม 2436)
การดำเนินวิเทโศบายผูกมิตรกับมหาอำนาจรัสเซีย เริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยระหว่างที่มกุฏราชกุมารแห่งรัสเซีย เสด็จฯจากอินเดียมาแวะไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ และเต็มที่ ทำให้ทั้งสองพระองค์กลายเป็นพระสหายสนิทข้ามทวีป ทั้งๆที่ทรงมีพระบุคลิกภาพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยองค์ประมุขแห่งรัสเซียทรงประหม่าขี้อาย ขณะที่พระพุทธเจ้าหลวงของไทยทรงร่าเริงอบอุ่น
ซึ่งต่อมามกุฏราชกุมารแห่งรัสเซีย ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง (จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิรัสเซีย ก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบสังคมนิยม)
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สองได้ทรงส่งนักการฑูตระดับสูง เข้ามาเป็นเอกอัครราชฑูตประจำประเทศไทย เพื่อช่วยไทยแก้ปัญหาข้อพิพาทชายแดนกับฝรั่งเศสด้วย
พระราชดำรัสที่บ่งบอก ถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ท่าน…..
“เราตั้งใจอธิษฐานว่า เราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างที่สุด ที่จะให้กรุงสยามเป็นประเทศอันหนึ่ง ซึ่งมีอิสรภาพและความเจริญ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรักชาติบ้านเมือง และความหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินสยาม
ช่วงวิกฤตของประเทศสยาม
พ.ศ. 2436 ทำสนธิสัญญาและอนุสัญญาไทย-ฝรั่งเศส
พ.ศ. 2437 ทั้งในปารีสและในอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส มีความก้าวร้าวรุนแรงต่อสยามมากขึ้น
พ.ศ. 2439 มีแรงบีบคั้นเพื่อให้รัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจใช้กำลังอาวุธเข้ายึดครองบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะหลังการประกาศ “คำแถลงการณ์ร่วมอังกฤษ-ฝรั่งเศส”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440 เพื่อ
- ทำความเข้าใจกับชาติที่คุกคามไทย ในการเจรจาโดยตรงกับผู้นำของฝรั่งเศส แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกรณีที่สืบเนื่องจากวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)
- แสวงหาชาติพันธมิตรมาช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะประสบความสำเร็จในการสร้างสัมพันธไมตรีกษัตริย์รัสเซีย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง แห่งราชวงศ์โรมานอฟ และได้ส่งเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถไปศึกษาที่ประเทศรัสเซียด้วย
- ได้ทรงเจรจาและปรับความเข้าใจกับฝรั่งเศส ที่กำลังคุกคามไทยอย่างมาก
- ทอดพระเนตรความเจริญของยุโรป จะได้นำมาเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงบ้านเมือง
รวมทั้งการแวะอินเดียถึง 3 เดือนเพื่อ
- ดูวิธีการจัดระเบียบบ้านเมืองของอังกฤษกับเมืองขึ้นอินเดียและสิงคโปร์
- เลิกทาสเพื่อให้มหาอำนาจเคารพไทย
- การตัดคูคลองเพื่อสร้างเศรษฐกิจสังคมเกษตร
- กฏหมายให้ทุกคนมีความเสมอภาค
การเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450
- เพื่อรักษาพระอาการประชวรเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและพระวักกะ(ไต)
- เพื่อเจรจาราชการบ้านเมืองกับชาติตะวันตกต่างๆ
- เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เรื่องคนในบังคับฝรั่งเศส อำนาจการปกครองเหนือดินแดนเมืองหลวงพระบางบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงและเขตปลอดทหาร(ไทย) ระยะ 25 กม. บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตลอดแนวชายแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส
- ปัญหาภาษีร้อยชัก 3 เป็นร้อยชัก 10
- โครงการสร้างทางรถไฟสายใต้
- ทรงให้สัตยาบันในสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2449
- เจรจากับประเทศอังกฤษส่งผลให้เกิดสนธิสัญญาแลกเปลี่ยน 4 รัฐมลายูในเวลาต่อมา
- การเสด็จพระราชดำเนินทรงรับปริญญาด็อกเตอร์ออฟลอว์ (Doctor of Law) ณ บ้านของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นทั้งกวี นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักการทหาร นักการศึกษา ภูมิสถาปนิก เคยค้าสำเภาจนได้ราชสมญานามว่า เจ้าสัว พระองค์ท่านก็ได้ทรงเตือนให้ระวังฝรั่งไว้ เก็บพระราชทรัพย์ไว้มากเพื่อสร้างวัดและทรงยกให้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งภายหลังได้นำมาจ่ายเป็นค่าปรับให้กับฝรั่งเศสเป็นเงินถึง 3 ล้านบาทและอีก 2 ล้านฟรังก์
แนวทางสร้างสันติสุขของพระองค์ท่าน
- Relationship: มาจากการเยี่ยมเยือนสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน
- Peace Talk: มาจากการพบปะพูดคุยศุ่ความตกลง
- Peace Net: การสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างสังคมสู่สันติสุข
- Peace Communication: การสื่อสารเพื่อสันติที่ให้เห็นภาพลักษณ์ที่ดี
- Trust: สร้างให้เกิดความไว้วางใจและมีความเชื่อมั่น
- Fear: ความหวาดกลัว เรามักกลัวสิ่งที่เราไม่รู้ คาดเดาไม่ได้ ยังไม่เคยเห็นและยังไม่เคยเป็น
- Expectation: ความคาดหวัง
พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงฉายคู่กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2440 เป็นหนึ่งในภาพข่าวที่ฮือฮาและมีนัยยะสำคัญทางการฑูตเป็นอย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา รวมพระชนมายุได้ 57 พรรษา หลังจากที่เสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจไม่นาน
« « Prev : พระมหากษัตริย์ไทยกับสันติวิธี
Next : พระมหากษัตริย์ไทยกับสันติวิธี (3) » »
ความคิดเห็นสำหรับ "พระมหากษัตริย์ไทยกับสันติวิธี (2)"