สันติวิธีในสังคมไทย:การรับรู้และความเข้าใจ–ศ. ดร. มารค ตามไท
อ่าน: 196522 กรกฎาคม 2554 13.30-16.30 น.
ก่อนอื่นอาจารย์ก็พยายามทำความเข้าใจกับนักศึกษาก่อนที่จะลงรายละเอียดต่อไป
อยู่ดีๆประเทศไทยเราจะกระโดดไปสร้างสังคมสมานฉันท์คงไม่ได้ เพราะ concept หรือความหมายของสังคมสมานฉันท์ก็ยังไม่ตรงกัน แต่จะมุ่งไปหาวิธีทำกันแล้ว
คำถามคือ
- สังคมสมานฉันท์มีลักษณะอย่างไร?
- จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมสมานฉันท์ได้อย่างไร?
ความคิดของอาจารย์คือ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป
ในการสร้างสังคมสมานฉันท์เรากำลังมุ่งสร้างสังคมแบบไหน?
อาจารย์เริ่มจากที่ไม่ใช่ก่อน
- ไม่ใช่สังคมอุดมคติ (ต้องทำได้จริง และคงจะไม่ง่ายแน่นอน)
- ไม่ใช่สังคมในอดีต (เราอาจมองว่าสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่สงบสุข สมานฉันท์ แจ่อาจไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เราคงไม่รู้ความทุกข์ของอีกหลายภาคส่วน ในอดีตอาจมีความอึดอัด แต่ประชาชนไม่แสดงออกหรือไม่สามารถแสดงออก)
- ไม่ใช่สังคมที่ทุกคนในสังคมรักและห่วงใยกัน (เอาแค่ทุกคนเคารพกันน่าจะง่ายกว่า แต่ก็ยังคงยาก)
ลักษณะของสังคมสมานฉันท์
- มีความหลากหลายทางความคิดในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การปกครอง หรือนโยบายสาธารณะต่างๆ สามารถแสดงออกได้เพื่อให้มีการถกกัน (ถ้าพูดไม่ได้ เก็บกดก็จะเกิดความรุนแรง)
- ทุกคนในสังคมรู้สึกว่าวัฒนธรรมเฉพาะของตนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมรวมของสังคมเท่าๆกับวัฒนธรรมอื่นในสังคม (คือยอมรับว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม)
- ทุกภาคส่วนของสังคมเข้าใจและพยายามใช้หลักสันติวิธี ในการจัดการกับความขัดแย้งในสังคม (มีวิธีจัดการกับความเห็นที่แตกต่างกัน หาวิธีอยู่กับความเห็นที่แตกต่างกัน)
- ทุกคนในสังคมมีสถานะเป็นพลเมืองเต็มที่ รวมทั้งรับทราบในสิทธิและความรับผิดชอบต่างๆที่ตามมา (เข้าใจและยอมรับกติกาเดียวกัน รวมถึงวิธีที่จะเปลี่ยนกติกา)
- ทุกคนในสังคมมีความหวังในการที่จะปรับฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้นได้
สังคมไทยจะไปสู่สังคมสมานฉันท์ดังกล่าวได้อย่างไร?
ในอดีตเราไม่มีทั้ง 5 ข้อดังกล่าว อดีตเป็นเหมือนเมฆที่ทอดเงาคลุมสังคมอยู่ สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องหาวิธีออกจากเงานี้ให้ได้ เพื่อแสงสว่างจะได้ส่องลงมาถึง แล้วเราก็จะสามารถเริ่มสร้างสังคมสมานฉันท์ที่เหมาะสมกับกาลเวลาได้ สังคมตะวันออก อดีตผูกมัดผู้คนไว้แน่น ออกไม่ได้
สันติวิธีในสังคมไทย:การรับรู้และความเข้าใจ
ความเข้าใจสันติวิธีแตกต่างกัน บางคนเห็นเป็นเรื่องตลก
อาจารย์อธิบายว่า คำว่าสันติวิธีมีความหมาย 3 อย่างที่แตกต่างกัน ภาษาอังกฤษใช้ศัพท์ 3 คำที่แตกต่างกัน แต่ภาษาไทยใช้คำคำเดียวกัน คือ
- สันติวิธีในบริบทของการต่อสู้เรัยกร้อง (ชุมนุมอย่างสันติ)
- สันติวิธีในบริบทของการรักษาความสงบ (รักษาความสงบโดยไม่ใช้ความรุนแรง)
- สันติวิธีในแง่ของการจัดการความขัดแย้ง (พยายามจัดการความขัดแย้งโดยหลักสันติวิธี)
1. สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้อง
Civil Disobedience -อารยะขัดขืน
- ทำเพื่อเรียกความสนใจของมวลชน เป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชน สังคม (แต่ประชาชน สังคมอาจโกรธ ไม่พอใจเลยไม่เกิดการศึกษา)
- เป็นวิธีแสดงออกของประชาสังคม
- ต้องยอมรับโทษที่ตามมา ทำด้วยจิตใจที่มั่นคง มีเป้าหมายทางบวก
ตัวอย่างเช่น
- การต่อสู้ให้สตรีมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เดิมสตรีไม่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เกิดขบวนการเรียกร้องโดยสตรี มีการเสนอให้แก้กฏหมายแต่ก็ไม่รับฟัง ต้องชุมนุมอย่างสันติ ทำผิดกฏหมายจนได้ผล เป็นการต่อสู้ของประชาชน(สตรี)
- สหภาพแรงงาน กว่าจะตั้งสหภาพแรงงานให้ถูกต้องตามกฏหมายได้ ก็มีการเรียกร้องจากกลุ่มคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าในสังคม มีการเคลื่อนไหว มีการล้อมโรงงาน จนเกิดสหภาพแรงงานที่ถูกกฏหมาย
- แรงงานเด็ก เดิมการใช้แรงงานเด็กไม่ผิดกฏหมาย มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิเด็กจนสำเร็จ
- คนสีผิว เรื่องนี้ก็มีเรื่องราวของการต่อสู้จนสำเร็จ
สันติวิธี ความหมายของสันติวิธีของแต่ละสังคมก็แตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมนั้นๆ ต่างก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป
แต่ละสังคมต้องกำหนดและมีข้อตกลงร่วมกันให้ได้ว่าการกระทำแบบไหนเป็นสันติวิธีในสังคมนั้นๆ โจทย์นี้ค่อนข้างยาก เพราะแค่ในห้องนี้ก็เข้าใจไม่ตรงกัน แล้วสังคมล่ะ?
บางสังคม ด่ากันเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางสังคมยอมรับไม่ได้
สังคมไทยล้อชื่อพ่อก็ต่อยกัน สังคมอื่นเห็นว่าแปลก ตลกมาก
หลากหลายวิธีที่ “สันติ” แต่อาจแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม ลองพิจารณาดูว่าเห็นด้วยไหม?
- เขียนป้ายติดตามแหล่งสาธารณะต่างๆ
- ให้รางวัลประชด
- จัดพิธีกรรมทางศาสนา
- ถอดเสื้อผ้าตามที่สาธารณะ
- ทำลายทรัพย์สินของตัวเอง
- ทำป้ายตั้งชื่อถนนและตึกใหม่
- แสดงท่าทางและพูดหยาบคาย
- เจาะจงบุคคลเฉพาะเพื่อกดดันโดยการล้อเลียนหรือยืนเฝ้าหน้าบ้านต่อเนื่อง
- ทำพิธีหลอกเกี่ยวกับการตายของบุคคลต่างๆ
- ไม่จ่ายค่าเช่า
- นัดกันหยุดงาน
- ถอดป้ายชื่อราชการ
- ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ยุติการชุมนุม
- ไม่ปฏิบัติตามกฏหมายที่คิดว่าไม่เป็นธรรม
- ฯลฯ
2. สันติวิธีในแง่ของการรักษาความสงบก็มีปัญหาเหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม
อาจารย์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เมืองเวโก รัฐเทกซัส มีกลุ่มคนจับคนไปขังไว้ เผชิญหน้ากับตำรวจนาน 2 เดือน มีการเจราจากันตลอด สุดท้ายก็ตายกันหมด ตำรวจก็ตาย
เกิดอะไรขึ้น ผลการศึกษาพบว่า ตลอดเวลา 2 เดือนที่คุยกัน มีการพูดกันแต่ไม่ได้ยินเสียงของกันและกัน คือต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกัน
คน 2 กลุ่มนี้คุยกันแบบคนละโลกทัศน์ กลุ่มหนึ่งมุ่งประเด็นทางศาสนา อีกกลุ่มหนึ่งมุ่งรักษากฏหมาย รักษาความสงบ
การเจรจาไม่ใช่งานของมือสมัครเล่น
3. สันติวิธีในบริบทของการจัดการความขัดแย้ง
Conflict Resolution เป็นการระงับความขัดแย้ง เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ชั่วคราว ลดความร้อนแรง ลดความรุนแรง การเจรจาขณะที่เกิดความรุนแรงแล้ว ฆ่ากันแล้วเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ไม่ยั่งยืน ต้องเสริมด้วย
Conflict Management คือบริหารความขัดแย้ง อาจจะแค่ควบคุมสถานะการณ์ได้ แต่ไม่ยั่งยืน
Conflict Transformation แก้ไขที่ระดับรากเหง้าของความขัดแย้ง
แต่มีความขัดแย้งบางอย่างที่เกิดมานานแล้ว ลุกลามไปไกลแล้ว เหมือนมะเร็งปอด เป็นแล้วถึงหยุดสูบบุหรี่ก็ไม่หาย แต่อาจช่วยลูกหลานได้
ความขัดแย้งที่ทิ้งไว้นาน ลุกลามไปไกลแล้วต้องหาวิธีใหม่ๆ
งานสันติวิธียังมีเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่ไปเรียนรู้มาจากที่อื่นแล้วนำมาใช้ได้เลย แต่ต้องประยุกต์กับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
« « Prev : แนวคิดเอกนิยม-Monism vs พหุนิยม-Pluralism
Next : พูดคุย ซักถามกับอาจารย์มารค ตามไท » »
ความคิดเห็นสำหรับ "สันติวิธีในสังคมไทย:การรับรู้และความเข้าใจ–ศ. ดร. มารค ตามไท"