ท่องเยอรมัน
อ่าน: 1820ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมามีภารกิจไปต่างประเทศ 5 ครั้ง เขียนบันทึกเล่าเรื่องการไปประชุมที่เซี่ยงไฮ้ตามคำเชิญของ UN ไว้แล้ว ยังค้างอยู่อีก 4 เรื่อง น้าอึ่งอ๊อบก็ทวงถามมา อ. สร้อยก็เตือนว่า ถ้าไม่เขียนบันทึกนานๆ ระวังสนิมจะเกาะเอา
วันนี้เดินทางมา อ. อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อยู่บนรถว่างๆก็เลยเริ่มเขียนบันทึก เริ่มจากบันทึกการไปดูงานที่เยอรมัน ตามคำเชิญของบริษัท FABER AMBRA ภารกิจหลักๆก็มี 2 ประการ
ประการแรก เข้าชมงาน IFAT (International Trade Fair for Water, Sewage, Refuse, Recycling and Natural Energy Sources ) ที่มิวนิค
ประการที่ 2 ไปศึกษาดูงานการจัดการขยะมูลฝอยของเมืองมิวนิค
บันทึกนี้เล่าเรื่องงาน IFAT ก่อนแล้วกัน
IFAT (International Trade Fair for Water, Sewage, Refuse, Recycling and Natural Energy Sources ) เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติที่เน้นมาทางสิ่งแวดล้อมและพลังงาน งานนี้มีคนเข้าชมมากงานหนึ่ง เป็นผู้สนใจจากต่างประเทศเกือบ 40% เคยมางานนี้เมื่อหกปีที่แล้ว
ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันเคยแนะนำว่า ในงานนี้เทคโนโลยีที่นำมาแสดงจะบ่งชี้ถึงแนวโน้ม ทิศทางของการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานในอนาคต ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ๆที่นำมาเสนอก็แสดงว่าเป็นทิศทาง เป็นเทคโนโลยีในอนาคต เทคโนโลยีไหนที่หายไปหรือมีการนำเสนอน้อยลง ก็แสดงว่าไม่เป็นที่นิยม ล้าสมัยไปแล้ว หรือมีเทคโนโลยีใหม่มาทดแทน
สิ่งที่เรียนรู้และความเห็น
ในงาน IFAT ที่มาดูเมื่อ 6 ปีที่แล้วก็มีเรื่องราวของการฝังกลบขยะน้อยมาก คราวนี้ก็มีน้อยมากเป็นเรื่องของการฝังกลบขยะอันตราย อาจเป็นเพราะประเทศทางยุโรปโดยเฉพาะเยอรมันมีนโยบายไม่ให้สร้างหลุมฝังกลบใหม่ แต่จะไปส่งเสริมการใช้เตาเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อหลายปีที่แล้ว ทั้งยังส่งเสริมการคัดแยกขยะ การนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ และการนำไปใช้เป็นพลังงานในรูปแบบต่างๆ อาจจะเป็นเพราะประเทศในยุโรปจะมีพื้นที่น้อย ประชากรหนาแน่น
ต่างกับทางสหรัฐอเมริกาที่เคยไปศึกษาดูงานและงานแสดงสินค้าด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อแปดปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกามีพื้นที่ว่างค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับทางยุโรป ยังมีเรื่องราวของการฝังกลบขยะค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการใช้วัสดุคลุมกองขยะรายวัน(Daily Cover) เพราะการใช้ดินกลบขยะรายวันจะมีปัญหามากและค่าใช้จ่ายสูง จึงมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาวัสดุมากลบหรือคลุมกองขยะรายวัน มีทั้งการใช้แผ่นวัสดุสังเคราะห์ การใช้โฟมมาพ่นเพื่อคลุมหรือกลบ
ใน IFAT ครั้งนี้จะมีเรื่องของ Anaerobic Digestion หรือการนำขยะชีวภาพมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ค่อนข้างมาก น่าจะเป็นแนวโน้มในอนาคตของการจัดการขยะ
ในการทำ Anaerobic Digestion เมื่อได้ก๊าซชีวภาพแล้วจะเหลือกากซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพที่สามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยหมัก(compost) ได้ ในงานนี้จึงมีเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆของการทำปุ๋ยหมักมานำเสนอค่อนข้างมาก ก็เป็นแนวโน้มและทิศทางของการจัดการขยะในอนาคตด้วย
« « Prev : UN Pavilion (เซี่ยงไฮ้ ตอนที่ 4)
Next : ท่องเยอรมัน ตอนที่ 2 » »
3 ความคิดเห็น
เครื่องอัดขยะน่าสนใจ สั่งมาไว้อัดน้าอึ่งท่าจะดี ใครอ้วนๆจับอัดหมด อิอิ
น่าสนใจนะคะ นับเป็นวิธีการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจากขยะได้ดีทีเดียว
อัดแล้วเอาไปไว้ไหนต่อละคะ