สิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของเรา

โดย จอมป่วน เมื่อ 30 มกราคม 2010 เวลา 19:58 ในหมวดหมู่ จอมป่วน #
อ่าน: 1449

ครูบาเคยบอกให้ทำทุกวันให้เป็นวันพิเศษ ทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องพิเศษ แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆเราก็สามารถทำให้เป็นเรื่องพิเศษที่ยิ่งใหญ่ของเราและครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโลกได้

 

ระยะนี้นอกจากงานในหน้าที่รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกแล้ว ก็เดินสายเป็นวิทยากรร่วมกับทีมงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในหลักสูตรการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน (CBM Community Based Solid Waste Managemant) ที่เทศบาลนครพิษณุโลกได้พัฒนาขึ้นภายใต้ความช่วยเหลือของสำนักงานให้ความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธรัฐเยอรมัน – GTZ

 


เป็นอาจารย์พิเศษร่วมกับนักการอิ่ม (แต่นักการอิ่มไปสอนมากกว่า) ช่วยสอนจิตตปัญญาศึกษาให้กับคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

อบรมพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานที่ตัวเองรับผิดชอบ หน่วยงานอื่นที่หลงเชื่อเราบ้าง

อบรมกระบวนกรบ้างตามแต่จะมีใครหลงมาให้อบรม

รับป่วนให้กับพรรคพวกอีกบ้างเล็กน้อย

ที่ทำไปก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ก็พอใจกับผลสำเร็จเล็กๆที่เกิดขึ้น

เช่น….

จัดอบรมหลักสูตรการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชนให้เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ก็เกิดผลสำเร็จระดับหนึ่ง แต่เรื่องเล็กๆที่ชอบมากที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องที่เดิมต่างฝ่ายต่างโทษกันว่าไม่มีจิตสำนึก ไม่เอาจริง บ้านเมืองเลยไม่สะอาดเท่าที่ควร เลยจับเอาท่านนายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานีและทีมงานมานั่งสนทนากับประชาชนในชุมชน

ชาวบ้านเล่าความรู้สึกให้ฟังว่าอยากช่วยท่านนายกฯ อยากให้พาไปดูงานที่เทศบาลนครพิษณุโลก ถ้าพาไปรับรองว่าภายในหกเดือนจะช่วยท่านนายกฯคัดแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะ ทำชุมชนให้สะอาด ไม่ถึงสองอาทิตย์ท่านนายกฯก็พาลูกบ้านมาเยี่ยมที่พิษณุโลก หลังจากนั้นไม่นานก็ส่ง VDO มาอวดผลงาน

 

ตอนไปจัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สกลนครก็คล้ายๆกัน นายกฯ เคยคิดว่าชาวบ้านแย่ ไม่มีจิตสำนึก มักง่าย ชาวบ้านก็ว่านายกฯ ไม่เอาจริง ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เลยอบรมเสียทั้งคู่(รวมพนักงานท้องถิ่น) แล้วจับมานั่งคุยกัน ชาวบ้านบอกอยากช่วยนายกฯ จัดการเรื่องขยะมูลฝอยแต่อาจต้องใช้งบประมาณบ้าง กลัวนายกฯ จะไม่สนับสนุน

นายกฯ ได้ยินถามว่าใช้เงินเท่าไหร่? ชาวบ้านบอก ซักสามพันบาท นายกฯ บอกว่าเอาไปเลย สองหมื่นบาท ทำไม่กลัว กลัวจะไม่ทำเท่านั้นเองแหละ

 

หลังสุด ไปอบรมที่เทศบาลตำบลบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ในวงสนทนาที่จัดให้ ผู้บริหาร พนักงานเทศบาลและชาวบ้านมานั่งคุยกัน มีโครงการดีๆมากมายเกิดขึ้น แต่ที่ประทับใจที่สุดก็คือตอนที่ชาวบ้านบอกว่า อยากช่วยนายกฯ กวาดหน้าบ้านของตัวเองให้สะอาด เป็นการลดภาระของเทศบาล แต่อยากได้ไม้กวาด ท่านรองนายกฯ บอกว่าเย็นนี้จะเอาไปให้

 

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอาจจะเล็กน้อยมาก แค่รองนายกฯ จัดหาไม้กวาดไปให้ชาวบ้าน แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันกวาดหน้าบ้านตัวเองให้สะอาด แต่มันเป็นก้าวแรกที่สังคมนั้นๆเริ่มนั่งคุยกัน เริ่มคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน ประเมินผลร่วมกัน แม้งานที่ทำจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่แค่ได้คุยกัน ได้คิด ได้ทำ ร่วมกันก็ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แล้ว งานอาจจะไม่สำเร็จ ก็จะได้มานั่งคุยกัน หาสาเหตุและแก้ไขร่วมกัน

แถมยุด้วยว่า ถ้าทำร่วมกันแล้วไม่สำเร็จก็ต้องเลี้ยงฉลอง อย่ามัวโทษกันไป โทษกันมา แล้วจะเข็ดเขี้ยว ไม่อยากทำอะไรร่วมกันอีก อิอิ

 

ฝันไปว่า ถ้าสังคมไทยเราหันหน้ามานั่งคุยกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ บ้านเมืองเราคงไม่เป็นแบบทุกวันนี้ ถ้าเราช่วยกันทำ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าหลายๆคนช่วยกันทำ สักวันหนึ่งสังคมไทยเราก็คงจะดีขึ้น

 

………..

อย่ากลัวความล้มเหลว

ไม่ต้องทำสิ่งที่ใหญ่โตอะไร ทำสิ่งเล็กๆที่เราทำได้

ไม่ต้องหวังอะไรจากสิ่งที่เราทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่ควรทำ

เวลาผมเหลือน้อย ต้องรีบทำประโยชน์ให้สังคม……

 

เป็นคำสั่งสอนของอาจารย์ ดร. นิกร วัฒนพนม อาจารย์ของจอมป่วน


 

Post to Facebook Facebook

« « Prev : พี่บางทรายที่ผมรู้จัก

Next : ทบทวน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 มกราคม 2010 เวลา 23:14

    เฮ้อ กลับมาป่วนเสียที ให้รอเก้อมานานแล้ว แคว๊กๆ

  • #2 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2010 เวลา 0:19

    หลวงพ่อพุทธทาสสอนว่าให้ทำดี ทำถูกต้องตลอดเวลา แล้วจะมีความสุชไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหน  ท่านสอนมาตั้งเกือบ 30ปีแล้ว ป้าหวานเพิ่งมาอ่านเจอ…แปลกใจตัวเองว่า ทำไมเพิ่งเจอ.. เหมือนเคยพบคนๆหนึ่งในสื่อต่างๆแต่เพิ่งเจอตัวจริงเสียงจริง  เมื่อมีสติรู้ขณะทำดีก็สุขใจและแม้ผลดีจะเกิด หรือยังไม่เกิดก็รู้ว่าจะต้องเป็นผลดีไม่ช้าก็เร็ว  เหมือนงานที่พี่หมอและทีมงาน สายงานกำลังทำ  จะพัฒนาไปสู่ผลดี และดียิ่งๆขึ้นไปนะคะ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2010 เวลา 3:22

    แต่ที่ประทับใจที่สุดก็คือตอนที่ชาวบ้านบอกว่า อยากช่วยนายกฯ กวาดหน้าบ้านของตัวเองให้สะอาด เป็นการลดภาระของเทศบาล แต่อยากได้ไม้กวาด ท่านรองนายกฯ บอกว่าเย็นนี้จะเอาไปให้

    ในมุมมองของผมคิดว่า นี่คือหน่ออ่อนของต้นไม้ใหญ่ครับ งานใหญ่จะเกิดไม่ได้หากไม่มีหน่ออ่อน  ผมทำงานพัฒนาชนบทมานาน สิ่งหนึ่งที่วิชาการผิดพลาดคือ การประเมินผลที่เราเรียก  Impact evaluation ซึ่งโครงการจะกำหนดวัดช่วงปลายโครงการที่กำลังสิ้นสุด  และก็เอาผลมาเขียนรายงานใหญ่โต หลายเรื่องบ่งบอกว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง…

    แต่ หลังจากโครงการถอนตัวไป หลายปีผ่านไป มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากโครงการนั้นๆ แต่ไม่ได้ประเมินผลแล้ว โครงการจบไปแล้ว ดูเหมือนโครงการจะเข้าใจว่าคนนั้นเปลี่ยนแปลงได้ และหลายเงื่อนไขต้องใช้เวลา ซึ่งบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ แต่จำเป็นต้องวัดเพราะ proposal กำหนดไว้อย่างนั้น หรือผู้ให้งบประมาณกำหนดไว้เช่นนั้น ระบบโครงการฯจึงมีข้อจำกัด อย่างน้อยเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งละครับ

    สมัยทำงานกับ CUSO (Canada University Services Oversea) ที่สุรินทร์ ชายแดนเขมร (ต้องไปเรียนภาษาเขมร และสอบด้วย..) หลังโครงการจบไปแล้ว 5 ปี CUSO ถึงมาประเมินผลกระทบ  มีโครงการเดียวที่ทำเช่นนั้น

    แน่นอนบางเรื่องสามารถวัดได้ทันที หรือใช้เวลาหลังทำกิจกรรมสักพักใหญ่ๆก็อาจจะวัดได้ แต่หลายเรื่องต้องใช้เวลานานกว่านั้น…

    ผมจึงชอบใจประโยคข้างบน เพราะนั้นคือ สัญญานที่บ่งบอกถึงการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้ว หากเราหนุนเนื่องดีดี เหมาะเหมาะ ผมว่าวันข้างหน้า พลังตรงนั้นจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำเรื่องที่สำคัญมากขึ้น และอาจจะขยายออกไปกว้างขวาง ผมเห็นด้วยว่านี่คือความสำเร็จขั้นต้นที่เห็นประจักษ์ครับ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 มกราคม 2010 เวลา 3:34

    ประสบการณ์ทางภาคเหนือผมก็พบมาเหมือนกัน หลังจากที่เราอบรม คุยกัน เยี่ยมยามกันมานานหลายครั้งหลายคนในการกระตุ้นให้ชาวบ้านตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์นั่นแหละ ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจเข้าร่วมทันที แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่เข้าร่วม ทั้งที่มาร่วมอบรม ประชุม ร่วมการพูดคุย ศัพท์ทางเหนือก็คือ เขากำลัง “ท่าผ่อ”  จอมป่วนเข้าใจแน่ๆคำนี้

    อธิบายสำหรับท่านอื่นๆคือ ชาวบ้านบางคนยังไม่มั่นใจในการเข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์จึงอยากจะรอคอยดูสักพักหนึ่งว่ากลุ่มนี้จะดีจริงหรือเปล่า หากดีจริงก็จะเข้ามาเป็นสมาชิก หากไม่ดี หรือมีปัญหาก็ไม่เข้ามา  ดังนั้น กระบวนการหลังการฝึกอบรม พูดคุย จึงมีการ followup หรือ visiting ทางการแพทย์จะเรียก round up ก็ได้ การทำแบบนี้ดูเหมือน NGO เท่านั้นที่ทำได้ ราชการนั้น จบการฝึกอบรมแล้วก็จบ แต่กระบวนการสร้างคนนั้น ไม่พอ ต้องมีการติดตาม เยี่ยมเยือน เพื่อเฝ้าสังเกตุการเปลี่ยนแปลง หรือประเด็นคำถาม ปัญหาอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงคนคืออะไร  

    แต่งานแบบนี้ต้องใช้เวลา ใช้คนที่เข้าใจงาน ธรรมชาติของคนโดยเฉพาะชาวบ้าน หมอยังทำกระบวนการหลังการรักษา หรือผ่าตัด งานพัฒนาก็ต้องใช้เช่นกัน และสำคัญด้วย แต่ส่วนใหญ่ ไม่ทำ

    การทำกระบวนการหลังการฝึกอบรมนั้น จะช่วยให้หน่ออ่อนนั้นๆเกิดความมั่นใจ และแจ่มแจ้งมากขึ้น ผมคิดว่า จอมป่วนก็เห็นประเด็นนี้นะครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.27423000335693 sec
Sidebar: 0.25020790100098 sec