สภาพปัจจุบันของการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครพิษณุโลก
อ่าน: 5150
ก่อนจะเล่าเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยด้านต่างๆให้ฟัง ก็ขอคุยให้ฟังก่อนว่าปัจจุบันการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครพิษณุโลกมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เผื่อจะทำให้เป็นที่สนใจมากขึ้น จะได้ติดตามดูว่าเดิมเป็นอย่างไร ทำอย่างไรถึงได้ผลออกมาเป็นอย่างนี้
อันแรกก็จะคุยให้ฟังก็คือที่หลุมฝังกลบขยะ หลุมฝังกลบขยะของเทศบาลนครพิษณุโลกปัจจุบัน ได้งบประมาณจากโครงการเมืองหลักสมัยก่อนโน้น อยู่ที่ตำบล บึงกอก อำเภอบางระกำ ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก ประมาณ 40 กิโลเมตร พอได้รับมอบหลุมฝังกลบขยะมา ก็ทำไม่เป็น เพราะไม่เคยทำ พอดีเป็นช่วงเริ่มโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเมืองพิษณุโลกที่ได้รับการสนับสนุนจาก GTZ ก็เลยขอ ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันมาอบรมวิธีทำงานที่บ่อฝังกลบขยะ พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำให้ปรับปรุงบ่อขยะให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย
ต่อมาก็มีการศึกษากรรมวิธี การบำบัดเชิงกลชีวภาพ หรือชื่อย่อเรียกว่า MBT ( Mechanical Biological Waste Treatment ) โดยทดลองทำจริงโดยแบ่งขยะส่วนหนึ่งมาทำการทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งปัจจุบันก็ใช้วิธีนี้ในการกำจัดขยะมูลฝอยอยู่ กรรมวิธีนี้อันดับแรกก็คือการบำบัดเชิงกล ( Mechanical ) ต้องทำการแยกขยะที่ไม่เหมาะกับกระบวนการ เช่นเศษขยะชิ้นใหญ่ๆ แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆที่ไม่ใช้แล้วและมีขนาดใหญ่ ในบางกรณีต้องใช้เครื่องบด บดเป็นชิ้นเล็กๆก่อนจึงจะนำเข้าสู่กระบวนการได้ ขั้นต่อไปก็เป็นขั้นตอนชีวภาพ ( Biological ) ก็คือนำเอาขยะที่เหลือทั้งหมดมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทำการหมัก ( ขั้นตอนต่างๆเหมือนการหมักปุ๋ยทุกประการ แต่วิธีการจะเป็นแบบไม่ต้องกลับกอง เพราะมีการนำเอาอากาศเข้าไปในกองโดย มีท่อนำอากาศเข้าไป เพราะอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้น อากาศเย็นก็จะหมุนเวียนเข้าไปแทนที่ ทางเทคนิคเรียกว่า Static Passive Aerated Method )
ในการตั้งกองหมักก็จะตั้งกองบน Pallet ไม้ เพื่อให้อากาศผ่านเข้ากองขยะได้ มีการวางท่อเข้าไปในกองขยะ ท่อจะเป็นท่ออ่อนเจาะรูไว้ ( Perforate Corrugated Tube ) มีการคลุมกองหมักด้วยเศษกิ่งไม้ใบหญ้าแห้งหนาประมาณ 30 ซม. ทำหน้าที่กรองลดกลิ่น ( Biofilter ) ตั้งกองไว้ 9 เดือน ช่วงนี้จะต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณออกซิเจนในกองหมัก อินทรียสารต่างๆก็จะย่อยสลายหมดและกองก็จะแห้งและยุบตัวลง เวลานำไปฝังกลบก็จะสามารถบดอัดให้แน่นกว่าเดิม ปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียก็ลดลง สามารถยืดอายุการใช้งานของหลุมฝังกลบขยะออกไปได้ 2.5 – 3 เท่าของเดิม
ขณะนี้ทางเทศบาลได้มีการศึกษาทดลองร่วมกับ Ecosiam company ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง มีการนำเอากองที่อายุครบ 9 เดือนแล้ว มาร่อนเพื่อแยกเอาอินทรียสารชิ้นเล็กๆออก ส่วนนี้จริงๆแล้วก็คือปุ๋ยหมัก ( Compost ) ดีๆนี่เอง แต่เราถือว่ามีการปนเปื้อนเพราะการคัดแยกขยะของเรายังไม่ดีพอ ไม่ได้คัดแยกขยะอันตรายออกตั้งแต่ระดับครัวเรือน จึงมีการปนเปื้อนตั้งแต่ต้นทาง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยหรือนำเข้ามาใช้ในห่วงโซ่อาหาร ( Food Chain ) จึงได้นำกลับไปใช้ในกระบวนการ MBT ใหม่อีก
ส่วนที่เหลือซึ่งมีขนาดใหญ่จะเป็นเศษถุงพลาสติกและโฟมซึ่งจะแห้ง มีความชื้นต่ำและให้ค่าความร้อนสูง ได้นำไปทดลองใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตปูนซิเมนต์ เบื้องต้นทางด้านเทคนิคไม่มีปัญหา ขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อเจรจากันในเชิงธุรกิจต่อไป
ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการได้ เหมือนที่ทำกันในต่างประเทศก็จะสามารถพัฒนาไปสู่ Zero Landfill ต่อไป กล่าวคือแทบไม่ต้องใช้หลุมฝังกลบขยะเลย ขยะที่ผ่านกระบวนการ MBT แล้ว ก็จะส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเลย ก็จะลดปัญหาการไม่มีที่ฝังกลบขยะ และเป็นการใช้ขยะมูลฝอยมาใช้เป็นพลังงานทดแทนต่อไปในอนาคต
ล่าสุด นอกจากการศึกษาทดลองร่วมกับบริษัท Ecosiam แล้ว ยังได้บันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้เป็นพลังงานทางเลือกอื่นๆ และมีบริษัทเอกชนอีกหลายแห่งที่สนใจ และขอวัสดุไปทำการทดลอง และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้เป็นพลังงาน
« « Prev : นิทานธรรม - ดับทุกข์ผิดทาง อิอิ
Next : ความหมายของคำว่า “ ประชาสัมพันธ์ ” อิอิ » »
5 ความคิดเห็น
โอโห เป็นเจ้าพ่อปุ๋ยขยะ แต่ไม่เอามาใช้ใส่บำรุงต้นขนุน จึงอดกินขนุน555555
ขนุนน่ะ รอไปกินทักษิณไพศาลที่บ้าน อ. หลินฮุ่ยครับ แถมได้กินทับทิมด้วย อิอิ
ยอดเยี่ยมครับท่าน จัดการขยะแบบนี้ประเทศไทยเราร่ำรวยเลยครับ
ก็เอาวิธีและเทคโนโลยีมาจากเยอรมันครับ ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจาก GTZ ครับ
อยากได้ข้อมูลการคัดแยกขยะก่อนลงหลุมฝังกลบเยอะๆอะค่ะ
ได้โปรดส่งให้ทีนะคะ
ผู้รู้ทั้งหลาย
ขอบคุณค่ะ