พลังเยียวยาจากสวนป่า

โดย อุ๊ยสร้อย เมื่อ มีนาคม 7, 2012 เวลา 8:12 (เย็น) ในหมวดหมู่ การเรียนรู้ชีวิต, มหาชีวาลัยอิสาน, โมเดลบุรีรัมย์ #
อ่าน: 2729

บันทึกนี้ ต่อประเด็นที่ไปเขียนความเห็นไว้ในบันทึกของพี่บางทรายที่ http://lanpanya.com/bangsai/archives/1041 ที่ตั้งคำถามว่าทำไมสวนป่า ให้ความเห็นไปว่า

กฎของแรงดึงดูดนะคะพี่บางทราย

พี่หมอเจ๊เคยให้ยืมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ความสุขไม่ได้หาย แค่หาให้เจอ” โดยจางเต๋อเผิน แปลโดยอนุรักษ์ ต่อไพบูลย์ศรี

หนังสือพูดถึงแรงดึงดูดไว้น่าสนใจ คล้ายๆ กับแนวคิดที่หนังสือ เดอะซิเคร็ด เขียนไว้ คือเรื่องของพลังในใจ เป็น การใช้จินตนาการ ถ้าเราเพิ่มพลังด้วยการมีสมาธิมากขึ้น สิ่งที่เราตั้งใจไว้จะนำเราไปสู่สิ่งที่เราปรารถนา และบางครั้งเราเองอาจจะไม่รู้ถึงแรงปรารถนานั้นด้วยซ้ำ เป็นจิตใต้สำนึกที่เป็นแรงขับนำเราไป

สวนป่ามีพลังดึงดูดคนที่มีความปรารถนาลึกๆ ถึงเรื่องธรรมชาติ การแสวงหาความสุขสงบและสันติ โดยมีพ่อครูบาเป็นผู้เปิดเส้นทางแห่งเมตตานั้นให้แต่ละคนได้สัมผัส

เมื่อแรงของจิตใต้สำนึกมีมากขึ้น เราเองมีสมาธิแน่วแน่ตั้งใจมากขึ้น
ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นจากตรงไหน สุดท้ายสิ่งที่แต่ละคนได้รับคือการได้ไปในที่ๆ ตั้งความปรารถนาเอาไว้
และการได้สัมผัสพลังของธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ในบรรยากาศที่พ่อครูบาเป็นผู้จุดไฟส่องทางให้ ก็ทำให้ผู้ได้รับประสบการณ์รับรู้ถึงการเยียวยา การปลอบประโลมใจที่ไหวหวั่นและตื่นเตลิดในท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมเมือง
กลับกลายเป็นความรู้สึกอ่อนน้อมต่อธรรมชาติมากขึ้น รับรู้ถึงใจที่อิสระมากขึ้น มีพลังใจมากขึ้น

ประสบการณ์อย่างนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการของการเยียวยากายและใจ ที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน…

.เป็นปัจจัตตังที่มีแก่นกลางคือความงดงามของการมีชีวิตที่เกื้อกูลกันและกันนะคะ

ที่จริงการไปสวนป่าทุกครั้ง ตัวเองมักมีเหตุผลของการไป ที่เกี่ยวกับเรื่องราวการเรียนรู้ทั้งหมด ไม่ว่าไปเรียนรู้วิธีการจัดค่ายแบบครูบา การอบรมบ่มเพาะเรื่องของการจัดการศึกษา การไปเพื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ที่ไปและสนใจเรื่องเดียวกัน ฯลฯ

ระยะแรก …ยังติดกรอบการเรียนในระบบทำให้ตั้งความหวังว่าการไปสวนป่าจะได้มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น

ช่วงแรกๆ นั้นมักไม่ได้คำตอบอย่างที่ตั้งใจ ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก เหมือนๆกับมีเรื่องที่ขัดใจไม่ได้อย่างใจ

แต่เมื่อกลับจากสวนป่าแต่ละครั้งก็กลับพบว่ามีเรื่องราวที่อยากรู้เพิ่มขึ้น เรื่องที่ไม่เคยสนใจก็กลับมาสร้างความสนใจให้มากขึ้น เรื่องที่อยากเรียนรู้กลับกลายเป็นเรื่องราวการเรียนนอกระบบมากขึ้น และเรื่องที่เคยคิดเอาเป็นเอาตายมาก่อนกลับกลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ อีกนับไม่ถ้วน

จนกระทั่งรับรู้ด้วยตัวเองว่าที่ครูบาบอกว่ามหาชีวาลัยอีสานเป็นยาขมหม้อใหญ่รักษาไข้ใจ นั้นเป็นเช่นนั้นจริงๆ

แต่ยาขมหม้อนี้จะสำแดงผลดีควรจะต้องผ่านกระบวนการศึกษาถอดบทเรียนวิธีการคิด วิธีการเรียนรู้ วิธีการตั้งโจทย์คำถาม และอุบายในการแก้ปัญหาในแบบฉบับของครูบ

ตัวเองมองว่า การจะให้ยาขมนี้ออกฤทธิ์ดี มีหลายระดับเช่น

ในระดับพื้นฐาน ควรเริ่มจากการหาอ่านบันทึกต่างๆ ที่ครูบาเขียน อาจจะมีความสงสัยมีประเด็นที่เหมือนหรือแตกต่างจากที่เคยเรียนเคยอ่าน ขั้นนี้การรักษามักเป็นๆหายๆ เรื้อรัง

ถัดขึ้นไปคือการหาทางฟังความคิดเห็น การวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆจากครูบา ขั้นนี้อาจจะเหมือนกับเริ่มสะกิดเปิดแผลเอาหนองออก

ถัดขึ้นไปอีกขั้น ควรจะหาทางไปสวนป่า เรียนรู้ด้วยการสังเกตวิถีชีวิต สิ่งละอันพันละน้อยที่ประกอบเป็นครูบาและสวนปา ในขั้นนี้หนองอาจจะไหลหนักขึ้นบ้าง แต่แผลตื้นขึ้นมาก

และขั้นที่สูงกว่านั้นคือการไปเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงและนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แล้วตรวจสอบตนเองอย่างสม่ำเสมอ ติดขัดอย่างไรก็ขอพึ่งพาพี่เลี้ยงจนกว่าจะเกิดความรู้จริง ถึงขั้นนี้แผลใหม่จะไม่มี แผลเก่าก็ได้รับการเยียวยา

แต่ละคนก็คงมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป ขีดความสามารถของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ยาขมก็เหมือนกันจะถูกโฉลกออกฤทธิ์กับคนที่มียีนที่พอจะรับยาได้มากหรือน้อย การรักษาก็แตกต่างกัน

แต่ถ้าคนใดมีแรงปรารถนาที่จะเรียนรู้เพื่อได้คำตอบความรู้จริงนั้นมีมากพอ มีความมุ่งมั่นพอ….สุดท้ายก็คงได้คำตอบในสิ่งที่ตนเองแสวงหานั้นและคงเป็นการค้นพบตัวเองที่ยิ่งใหญ่ด้วย

กราบขอบพระคุณครูบาที่เปิดเส้นทางให้ได้ไปสวนป่า เพื่อจะกลับมาค้นพบคำตอบของชีวิต เช่นกันค่ะ

« « Prev : เพราะรู้ว่าไม่รู้จะนำโลกสู่สันติ

Next : บ้านแบบไหนดี » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

140 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.86599898338318 sec
Sidebar: 0.018584012985229 sec