อาสาดุสิต - โครงการสำรวจข้อมูลความเสียหายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เล่าที่มาคร่าวๆก่อน ว่าผมมาเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำท่วมเพราะทำ ThaiFlood.com ขึ้นมาเมื่อวันที่ 19 พย. 53 พอวันที่รัฐบาลจะตั้งวอร์รูม จึงมีการแถลงข่าวจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดนึงคือ คชอ. ชาวทวิตเตอร์จึงช่วยกับทวิตหาหัวหน้าศูนย์ฯ นั่นคือคุณอภิรักษ์ ฝากฝังผมเข้าไปเป็นตัวแทนในภาคประชาชนด้วย ได้ @noppatjak ช่วยประสานจนผมและทีมงานที่ทำอาสากันอยู่ได้หารือกับท่าน จนได้เป็นคณะกรรมการด้วย เลยชวน @iPattt เข้าไปช่วยอีกเป็นสองแรง
ในช่วงตุลาคม-พฤษจิกายน เราทำงานกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนได้มาพบกับทีมอาสาดุสิต ซึ่งทำงานอาสามานานแล้วตั้งแต่ยังเป็น facebook กลุ่ม ประเทศไทยกลับมาสดใส ดีกว่าเดิม ซึ่งทำโครงการส่งยาส่งใจ ลงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนหน้าน้ำท่วม จนถึงการมาตั้งเต้นท์ที่หน้าโรงแรมดุสิตธานีและรับบริจาคพร้อมขนของมากมายและถุงยังชีพไปช่วยน้ำท่วมในหลายๆจุด จำนวนถุงยังชีพที่ขนไปเกือนแสนถุง มูลค่ากว่า 28 ล้านบาทเป็นเครื่องยืนยันว่าแรงกายแรงใจ พลังน้ำใจของพี่น้องชาวไทยนั้นไม่ทอดทั้งกันจริงๆ
น้ำลดแล้ว เต้นท์ปิดแล้ว แต่ภาระกิจการฟื้นฟูยังมีอยู่ ปลายๆปีทีมอาสาดุสิตเทียวไปเทียวมา ใช้ห้องประชุมที่ออฟฟิสทำงานอยู่หลายวัน จนปีใหม่จึงตัดสินใจใช้ห้องประชุมเล็กหนึ่งห้องทำงานอาสาไว้ตลอดเลยเพราะงานเยอะจริงๆ จำได้ว่าวันที่ช่้องสามประกาศปิดรับบริจาค ก็ได้ทาง @superconductor ช่วยตั้งกองทุนร้อยน้ำใจ เป็นที่รับบริจาคแบบโปร่งใส ใครโอนเงินมาให้เราขอบคุณให้เครดิต บันทึกไว้เป็นหลักฐาน อัพภาพสมุดบัญชีให้ด้วย อาสาเอาเงินลงไปช่วยเหลือฟื้นฟูส่วนใดก็มาทำรายงานขึ้นเว็บไซต์ไว้ เงินบริจาคถึงผู้ประสบภัย 100%
ช่วงที่ลงไปสำรวจกัน ทีมอาสาดุสิตออกเงินกันเองไปมากเอาการ ผมเองก็เอาเงินบริษัทช่วยค่าเดินทางที่พักต่างๆไปเป็นแสน เงินบริจาคก็พอเข้ามาบ้าง แต่พอถึงปลายปีมาต้นปีนี่ยอมรับเลยว่าเงินบริจาคน่าจะหยุดเกือบสนิทแล้ว ทำไงดี ตัดสินใจเปลี่ยนแผนครับ เนื่องจากทางรัฐบาลเองก็ทำงบประมาณและมีงบกลางมาช่วยฟื้นฟู ทีมอาสาดุสิตจึงเปลี่ยนแนว ลงสำรวจข้อมูลเป็นหลัก ทำให้ละเอียด ครอบคลุม ทั่วถึงให้ได้มากที่สุด ผมรับหน้าที่นำส่งคชอ.ภาครัฐ ตรงไหนรัฐจ่ายได้จะได้รีบฟื้นฟูเช่น ถนนหนทาง, พื้นที่ส่วนกลางเช่น โรงเรียน, ศาสนสถาน ฯลฯ และส่วนที่เหลือจะได้ทำข้อมูลนำส่งกองทุนบริจาคของที่อื่นที่ยังมีเงินเหลือต่อไปเพื่อจะได้จัดส่งความช่วยเหลือได้ เลือกลงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพราะการเก็บข้อมูลโดยภาครัฐทำยากที่สุดจึงต้องเป็นอาสาภาคประชาชนมาเสริม และต้องแข่งกับเวลาอีกด้วย
เรื่องเงินก็ออกกันเองแบบอาสาเช่นเดิม แต่โชคดีต้องขอบคุณที่ได้ สสส. ที่เห็นทุกข์ภาวะของชาวบ้านสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทีมอาสาดุสิตจึงอาสานำเอกสารเพื่อสร้างสุขภาวะไปแจก และนำข้อมูลมาใช้เพื่อวางแผนป้องกันปัญหาต่อไป ทีมอาสาจึงได้รับการสนับสนุนไม่ต้องออกค่าเดินทางที่พักและค่าใช้จ่ายที่ต้องควักกระเป๋ากันเองเพราะกระเป๋าฉีกไปจนไม่รู้จะฉีกยังไงแล้วจ้า
ให้กำลังใจทีมอาสาดุสิตจริงๆ งานนี้สู้ไม่ถอย เช่นเดียวกับอีกหลายๆคนที่ผมยังเห็นทำงานไม่หยุดก็ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ
แหลมโพธิ์ ปัตตานี จุดนี้เสียหายและถูกคลื่นกัดเซาะซ้ำจนเกือบถึงถนน ควรจะรีบทำการซ่อมแซม
ถ้าสื่อมวลชนท่านใดต้องการข้อมูลภาพคลิปหรือจะขอรายละเอียดในการทำข่าว ติดต่อได้ที่ @nui707 ผู้นำทีมลงพื้นที่เลยครับ
Next : With or Without You เวิ่นเว้อ U2 » »
4 ความคิดเห็น
[...] ลานปลาหมึก » อาสาดุสิต - โครงการสำรวจ… lanpanya.com/iwhale/archives/23 – view page – cached โดย iwhale เมื่อ 20 January 2011 เวลา 2:40 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ # อ่าน: 16 [...]
อยากแสดงความยินดีกับ #ArsaDusit แต่ก็เป็นห่วงเหมือนกันครับ ชาวบ้านน่ะไม่มีอะไร แต่พวกหัวรุนแรงไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อนกันไปทั่ว แล้วทางรัฐก็มีเงื่อนไขในโครงสร้าง ที่ขยายความไม่เข้าใจกันมากมายเหลือเกินครับ
ปัญหาความเสียหายจากอุทกภัยและวาตภัยยังต้องการการฟื้นฟูอีกยาวนาน บ้านก็ต้องซ่อม เครื่องมือทำมาหากินเสียหายใช้การไม่ได้ ความช่วยเหลือก็ล่าช้า ชาวบ้านจะอยู่อย่างไรในเมื่อไม่มีความหวัง ไม่มีไฟหล่อเลี้ยงชีวิต ตั้งแต่น้ำท่วม+พายุเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ผ่านมาสองเดือนครึ่งแล้วนะครับ นั่งอยู่กับบ้านพังๆ ไม่มีอาชีพ มองไม่เห็น “ทางออก” ทำให้เครียดมาก
ขอบพระคุณท่านมากมายนะครับที่เข้าใจปัญหาและเป็นห่วงพวกเรา อาสาดุสิตมีสมาชิกในพื้นที่ ที่ช่วยงานอาสากัน เสียสละกันอย่างจริงจัง และประสานกับอาสาสมัครในพื้นที่เครือข่ายของสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปัตตานี)ที่มีอยู่ในปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา ช่วยกันสำรวจตรวจตราความทุกข์ยากของราษฎร แบบไม่ทิ้งกันมาตลอด
ใครถามเราว่ากลัวไหม? เราก็ตอบว่ากลัว ใครถามอาสาสมัครในพื้นที่ ที่ช่วยเราสำรวจว่ากลัวไหม? เขาก็ตอบว่ากลัว
แต่ทุกคนมีความกล้าและความเสียสละ และเข้าใจตรงกันว่า หากเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ?
หากคนในพื้นที่ไม่กล้าเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหายเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวมุสลิมด้วยกันแล้ว คนนอกพื้นที่อย่าหวังว่าจะได้เข้าไป
ภาครัฐหรือ? ไปแตะๆแค่ระดับอำเภอ ระดับตำบลอย่างมากก็ไป อบต. การสำรวจความเสียหายอาศัยการโทรศัพท์ การวิทยุสอบถามกัน ไม่มีใครไปเดินสำรวจความเสียหายระดับหมู่บ้าน หรือ ระดับตำบลกัน แต่ส่งรายกันไปถึงระดับจังหวัด
อธิบดี ปภ.ไปสำรวจความเสียหายด้วยตนเอง ๒ วัน ก็ไม่รู้ว่า ๒ วันนั้น ท่านไปได้กี่อำเภอ กี่ตำบลใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ขนาดคนในพื้นที่แต่ละหมู่บ้านเอง ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๓ วันเป็นอย่างน้อย ในการเดินสำรวจหมู่บ้านของตนเอง
และที่สำคัญคือ หมู่บ้านต้นน้ำเชิงเขา ได้รับความเสียหายจากน้ำป่าที่ลงมาจากเขา ก่อนลงสู่ลำธาร คลอง และแม่น้ำ ที่โดนกระแสน้ำผิดปกติถล่มพัดบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเสียหาย บ้านหลายหลังโดนลมพายุหังคาปลิวหาย ผนังบ้านพัง ฯลฯ
พวกเขาอยู่ไกลปืนเที่ยง ไกลเกินกว่าที่ภาครัฐจะได้ยินเสียงน้อยๆของพวกเขา บางแห่งระยะทางเพียง ๑ กิโลเมตรจากที่ทำการ อบต. มันช่างไกลแสนไกลที่หน่วยงานปกครององค์กรเล็กที่สุดจะได้ยินเสียงของพวกเขา
“พี่กล้ามา ผมก็กล้าไปกับพี่” นี่คือคำตอบที่อาสาสมัครในพื้นที่ให้กับเรา
“พี่กล้าไป ผมก็กล้าไป” นี่คือคำตอบที่อาสาดุสิตจากส่วนกลางให้กับเรา
หลายคนถามว่า อาสาดุสิตไปทำไมในพื้นที่ไกลหูไกลตาไกลสื่อมวลชน อาสาดุสิตไปทำไมในพื้นที่เสี่ยงภัย
คำตอบคือ เพราะไม่มีใครไป หากเราไม่เข้าไป แล้วเราจะได้ข้อมูล และนำความปราถนาดีของผู้บริจาคไปส่งต่อให้ถึงมือราษฎรได้ไหม?
เราทุกคนรักในหลวง เราทุกคนอยากเป็นคนดีของพ่อ เราทุกคนอยากทำดีเพื่อพ่อของแผ่นดิน
อาสาดุสิตและอาสาสมัครในเครือข่ายสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก้าวออกมาทำงานเพื่อพ่ออย่างเป็นรูปธรรม ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ อาสาทุท่าน รวม ทั้งราษฎรในพื้นที่น้อมนำพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
เราต้องเข้าใจราษฎรในพื้นที่ เมื่อเรียนรู้เข้าใจแล้ว เราก็กล้าเข้าถึง กล้าเข้าไปสำรวจในพื้นที่ เพื่อนำการพัฒนาเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่
เราขอขอบคุณเครือข่ายผู้นำเยาวชน ๓ จังหวัดชายแดนใต้
เราขอขอบคุณเครือข่ายอาสาสมัครอนุรักษ์ฐานทรัพยากรชายแดนใต้
เราขอขอบคุณอาสาสมัครอนุรักษืประมงพื้นบ้านและประมงชายฝั่ง
เราขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ อบต.ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ตชด. อส. อพปร. ชรบ. และทุกท่านในพื้นที่ ที่ร่วมกันทำงาน เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน
เราขอขอบคุณเครือข่ายหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าชายแดนใต้
และขอกราบขอบพระคุณหลายๆท่านที่ทำงานร่วมกับเรา ช่วยเหลือเรา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมดุสิตธานี กระปุก มูลนิธิโอเพ่นแคร์ สายการบินนกแอร์ แอร์เอเซีย การบินไทย วันทูโก ไปรษณีย์ไทย กองทัพอากาศ กองทัพบก กองทัพเรือ รวมทั้งนักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง ๒ วิทยาเขต โดยเฉพาะวิทยาเขตปัตตานี ที่โดนภัยพิบัติอ่วมไม่แพ้ชาวบ้าน แต่ก็ยังมาร่วมด้วยช่วยกันตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน จนถึงวันนี้ และวันข้างหน้า และขอกราบขอบพระคุณ สสส. ที่เห็นความตั้งใจริงของเราและสนับสนุนเรา
เราจะทำดีที่สุดเพื่อไม่ให้ทุกท่านผิดหวัง เพื่อไม่ให้ชาวบ้านพี่น้องมุสลิมผิดหวัง ให้สุดความสามารถของอาสาสมัครดุสิต เยาวชนคนหนุ่มสาวชาวเฟสบุ๊ค ชาวทวิตเตอร์ และชายไซเบอร์ ที่ลงมือดำเนินการเป็นรูปธรรมนอกจอ เพื่อทำให้ “ประเทศไทย กลับมาสดใสดีกว่าเดิม”
มีการจ้างงานในท้องถิ่นเืพื่อช่วยให้เค้ามีงานทำบ้างมั้ยคะ เช่นการจ้างให้ช่วยซ่อมถนน ซ่อมบ้านโดยงบจากอปท.หรือจากงบบริจาคต่างๆ คือไม่ใช่แค่เอาของไปช่วย แต่ตั้งเป็นงบจ้างงานเพื่อให้เขามีรายได้ในการช่วยซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด และแบ่งปันอุปกรณ์ทำกิน
เช่นอวน แหพัง ถ้าต่างคนต่างหา ต่างซ่อมมันก็หนัก แต่ถ้าในนั้นมีคนชำนาญด้านนี้รวมกลุ่มกันสักกลุ่มหนึ่งมีงบให้ผลิตแล้วราคาต่ำกว่าตลาดเพื่อเป็นทุนต่อในด้านอื่นๆ จะพอช่วยให้ขับเคลื่อนได้บ้างหรือเปล่าคะ