แง่คิดทางโลก ทางธรรม วันไปเยี่ยมท่านอาจารย์จรูญ

3 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 31 สิงหาคม 2010 เวลา 6:27 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1225

พระอาจารย์จรูญจากสวนโมกขพลารามสนิทสนม คุ้นเคยกับผมมาตั้งแต่สมัยผมยังเรียนชั้นประถมปลาย เป็นพระที่เก่งมากในเชิงช่างโดยเฉพาะด้านไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

    ท่านเป็ครูช่างคนแรกที่รักเมตตาผม ทำหัวแร้งอันเล็กๆอันแรกให้ผม จำได้ว่าท่านตีแผ่นเหล็กแบนให้เป็นฉากรูปตัว L เจาะรู 2 รู ด้วยสว่านมือเพื่อยึดหัวแร้งที่ทำด้วยโลหะทองแดงด้วยสกรู 2 ตัว และกว่าจะเรียบร้อย ดอกสว่านหักไปถึงสองดอก  มันเป็นแบบเผาถ่าน และผมได้ใช้ฝึกบัดกรี จนทำวิทยุขายได้หลายเครื่องตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้น

    ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดดอกไม้ในกทม.และผมเคยไปเยี่ยมท่านเพียงครั้งเดียว  แล้วก็ห่างหายกันไป ไม่ได้พบเจอร่วม 30 ปี เพิ่งทราบข่าวเมื่อไม่กี่วันนี้ว่าท่านออกจาก กทม.มาจำพรรษาเดี่ยวอยู่บนยอดเขาน้ำผุด จึงรีบรุดไปกราบ และคุยอะไรกันยืดยาวหลายเรื่อง

         แง่คิดสองเรื่องสำคัญที่ได้มา และต้องนำไปคิดสานต่อและขยายผล

ทุกย่างก้าวของคนเรา มีพลังงานที่เกิดจากการเดินการวิ่ง น่าจะได้พลังงานไฟฟ้าออกมาใช้ได้ทุกครั้งที่เราเดินหรือวิ่ง

ที่จริงยุคพระศรีอาริย์ มาถึงแล้ว คือปัจจุบันนี้เอง แต่เสียอย่างเดียวเท่านั้น คือมนุษย์มันโง่ “ไม่รู้จักรักกัน”

                          

              อาหารเช้าง่ายๆไปถวายท่าน .. อยากอวดผักปลอดสารพิษที่ปลูกเองเลยให้เห็นรูปใหญ่ๆหน่อย .. อิ อิ

 

                               

         ท่านอาจารย์จรูญ .. พ่อไก่แจ้ตาบอดเพราะลูกทำร้าย .. ไก่แจ้คู่ที่มอบให้ผมไปเลี้ยง และ กล้าจำปาดะที่ฝากให้ผมไปปลูก


ของฝากจากไชยา

ไม่มีความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 26 สิงหาคม 2010 เวลา 8:01 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1586

   ร้านไชยาการแว่น เป็นร้านเก่าดั้งเดิม เจ้าของร้านเป็นมุสลิม อัธยาศัยดีมาก ในร้านมีข้อคิดมากมายเขียน-พิมพ์แปะไว้หลายๆที่ อ่านดูดีๆ หลายอย่างคือหลักที่เป็นสากลและเป็นคำสอนในพุทธศาสนาครับ หลายอันน่าคิด น่าตรึกตรองตามและนำไปใช้

ตัวอย่างเช่น …

 


ลูกเม่า ผลไม้ประทังหิวที่ มรภ.สุราษฎร์ธานีเมื่อวานนี้

5 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 15 สิงหาคม 2010 เวลา 4:15 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2228

      เมื่อวานผมขับรถออกจากบ้านตั้งแต่ 5.20 น. บึ่งมาด้วยความเร็วพอประมาณ ระยะทาง 70 กม. จากบ้านทีไชยา  ถึงประตูทางเข้ามรภ.สุราษฎร์ธานีตอนหกโมงตรงพอดีครับ จากนั้นก็นั่งรถตู้ของมหาวิทยาลัยเดินทางต่อเพื่อไปสอนที่กระบี่เป็นวันแรก

       เสร็จภารกิจก็นั่งหลับๆตื่นๆมาในรถ เพราะคืนก่อนตื่นตั้งแต่ตีสองกว่าๆ  มาถึงมรภ.ประมาณ 17.30 น. สหายสุดซี้ “อ.ชัยรัตน์ กันตะวงษ์” รออยู่แล้วที่ใกล้ๆตึกบัณฑิตวิทยาลัย กำลังตั้งหน้าตั้งตาเก็บลูกยางพาราที่หล่นกระจายอยู่ทั่วบริเวณแถวนั้น ผมจอดรถลงไปหา  ช่วยเก็บลูกยางให้สองสามเม็ด ขณะนั้นรู้สึกหิวค่อนข้างมาก เพื่อนก็ถามตรงใจพอดีเลยว่า “หิวมั้ย” เราก็ตอบสวนทันทีว่า “หิวมาก เพราะกลางวันที่กระบี่ทานข้าวมานิดเดียว” แต่แทนที่เขาจะพูดต่อว่าไปกินอะไรที่ไหนกันดี กลับบอกว่า “งั้นกินนี่ไปก่อนก็แล้วกัน” พลางชี้ไปที่ไม้พุ่มที่อยู่เบื้องหน้าเราสองคน

       แทบไม่เชื่อตาตัวเองครับ ต้นเม่า หรือหมากเม่าที่เราเคยเห็นในป่า และเพิ่งเสาะหามาปลูกไว้ 1 ต้นที่หน้าบ้านนั้น กลายมาเป็นไม้พุ่มที่เขาตัดแต่งเป็นทรงกลม สวยงาม ไม่คาดคิดเลยว่าจะเป็นต้นไม้ป่าดังกล่าว ที่สำคัญเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆปรากฏว่ามีลูกสุกอยู่เต็มต้น จึงเก็บมาลองกินเล่นเพื่อรำลึกความหลังเมื่อครั้งเป็นเด็กที่เคยกินผลไม้ชนิดนี้ ตอนเข้าป่าเพราะหาได้ง่าย พบเห็นอยู่ทั่วไป

     แรกๆก็กินเล่นสนุกๆครับ แต่พอลองมากๆเข้า รสชาติชักถูกปากถูกใจ มีหวานอมเปรี้ยว แถวยังเคี้ยวเม็ดกลืนได้อีก และทางเจ้าภาพยังช่วยเก็บเพิ่มมาเติมใส่ฝ่ามือผมเป็นระยะ ทำอยู่นานสองนาน ในที่สุด ที่ว่ากินเล่นๆก็กลายเป็นจริงจังมากขึ้นและทำให้ลดความหิวไปได้มากทีเดียว ไม่น่าเชื่อครับสำหรับผลไม้มื้อเย็นเมื่อวานนี้

      นี่ครับ หลักฐาน

                      

                                               ลูกเม่า ผลไม้ประทังหิวเมื่อวานนี้

 


เช้านี้สบายใจ ช่วยให้ญาติจากแดนไกล ได้รู้ข่าวคราวของกันและกัน

1 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 13 สิงหาคม 2010 เวลา 1:17 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1160

     จากบันทึกที่แล้วของผมเรื่อง คุ้มค่าหรือไม่ ขาดทุนหรือกำไร .. อยู่ที่ใจจะมอง ได้มีผู้เข้ามาอ่าน ทักทาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่จำนวนหนึ่ง  แต่ที่ทำให้ผมตื่นเต้นเป็นพิเศษเห็นจะได้แก่ความเห็นจากท่าน สนิท  ไกรสินธุ์ ซึ่งกำลังใช้ชีวิต มีครอบครัวอยู่ต่างแดน ห่างไกลไปคนละซีกโลกถึงสหรัฐอเมริกาโน่น  คุณสนิทกับผมไม่เคยเจอกัน เพียงแค่สื่อสารทางอินเตอร์เน็ตกันสักครั้งสองครั้ง ในการแสดงความเห็นต่อเรื่องราวบางอย่างที่สนใจตรงกัน

    ที่ทำให้ผมตื่นเต้นมากก็เพราะคำถามที่ท่านฝากมานั้นมีคำตอบอยู่เบื้องหน้าผม  ห่างออกไปราว 20-30 เมตรเท่านั้น  จึงสามารถเดินออกไปเล่าเรื่องราว การถามไถ่จากแดนไกล และถ่ายภาพบุคคลที่เป็นตัวคำตอบได้ภายในสองสามนาที และนำคำตอบ Online ให้ผู้ถามได้รับรู้ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง 

   นี่ไงครับร่องรอย หลักฐานที่ขอนำมาแสดงให้เห็นอีกครั้ง

สวัสดีครับ คุณพินิจ

       ตั้งแต่คุณกลับมาอยู่ตำบลที่คุณเกิด ผมได้ติดตามอ่านข่าวคราวมาตลอดเพราะมันคล้ายๆกับผมเองได้ไปเที่ยวแถวนั้น

       นับว่าดีมากครับที่ไปอยู่ได้กลมกลืนและมีความสุขหลังจากไปอยู่เมืองอื่นๆเสียหลายสิบปี ผมเองก็เคยคิดแต่ทำไม่ได้ 

       ขอถามว่าพี่เยิ้ม ลูกป้าทรัพย์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่? และขอฝากความคิดถึงไปยังครูมงคล นิลรัตน์ ด้วยครับ

สวัสดีครับท่าน สนิท ไกรสินธุ์

     ดีใจครับที่เข้ามาทักทาย  เป็นจังหวะที่ผมมาเปิดเครื่องที่ศาลาไม้ไผ่ข้างบ้าน ติดๆกับบ้านพี่หลวงเยิ้มพอดีครับ  บ้านเราหลังคาแทบชนกัน สนิทสนมกันมายาวนาน หลวงเยิ้มมีศักดิ์เป็นพี่เขยผมครับ  เป็นเพื่อนคู่ใจพ่อมาโดยตลอด ไปไหนไปกัน ทำอะไรทำกัน  อ่านจบผมก็เดินไปหา เล่าเรื่องให้ฟังว่ามีญาติทักทาย ถามข่าวมาจากอเมริกา ตื่นเต้นกันทั้งพี่เนียบและพี่หลวงเยิ้มครับ  นี่ไงครับรูปที่เพิ่งไปถ่ายมา

      จากภาพ …

    มุมบนซ้าย .. บ้านผม มองมาจากบ้านพี่หลวงเยิ้ม

    มุมบนขวา .. บ้านพี่หลวงเยิ้ม มองจากบ้านผม ผ่านศาลาไม้ไผ่ออกไป

    มุมล่างขวา .. ศาลาไม้ไผ่  ที่ผมใช้นั่งขีดเขียนบันทึกนี้

    มุมล่างซ้าย .. หลวงเยิ้ม พี่ชายอารมณ์ดี (ที่ ดร.แสวงเคยไปนั่งคุยด้วย และได้คันไถเก่าไปอันหนึ่ง)


คุ้มค่าหรือไม่ ขาดทุนหรือกำไร .. อยู่ที่ใจจะมอง

5 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 11 สิงหาคม 2010 เวลา 8:43 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1524

    ตั้งแต่ย้ายมาอยู่บ้านเกิดที่ไชยาใหม่ๆ ต้นเมษาฯที่ผ่านมา  มะพร้าว 4-5 ต้นที่บ้านสร้างปัญหาพอประมาณ นั่นคือเขาลูกดกมาก สุก แห้งและหล่นมาทุกวัน เก็บใส่ยุ้งข้าวเหนียวเก่าๆจนเต็มและล้นออกมาข้างนอก จึงต้องออกแรง เสียเหงื่อ เสียเวลาไปเยอะทีเดียว

   ที่ว่าออกแรงและเสียเหงื่อนั้นก็ตรงที่ใช้ขวานผ่าทีละลูกให้แยกเป็นสองซีก ทำไปจนได้ราว 20 ลูก ก็ได้เหงื่อท่วมตัว  จากนั้นก็ต้องนำไปหงายตากแดดบนลานปูน ของโรงเก็บข้าวเก่าที่รื้อกันไปแล้ว เหลือแต่พื้นปูนให้เราใช้ทำคอกเป็ดชั่วคราว และที่เหลือไว้ตากมะพร้าวดังกล่าวมาแล้ว

   ที่ว่าเสียเวลาก็คือ ต้องทำอย่างนั้นหลายๆรอบ กว่าได้มะพร้าวแห้งเป็น 2-3 กระสอบปุ๋ย  และต้องหมั่นตากแดด และเก็บทุกวัน  ระยะหลังที่เริ่มมีฝนตกลงมาก็ต้องแก้ปัญหา เพราะหากลืมไว้ก็จะโดนน้ำฝนและขึ้นรา ทำท่าจะเน่าเสีย  จะออกจากบ้านแต่ละทีถ้าเห็นท่าไม่ค่อยดี ฝนฟ้าอาจตก ก็ต้องไปหาผ้าพลาสติกมาคลุมและหาของหนักมาปิดทับกันลมพัดปลิว ฯลฯ

   ผมวนเวียนอยู่กับกิจกรรมเหล่านี้และเสียเหงื่อ เสียเวลาไปไม่น้อยเลย  บางครั้งก็เริ่มนึกท้อใจ ว่ามีอะไรอีกตั้งเยอะที่รอให้เราทำ และเลือกได้ดีกว่านี้  แต่ก็ยังไม่ล้มเลิกกิจกรรมดังกล่าว

   อยู่มาวันหนึ่ง เห็นว่าปริมาณมะพร้าวแห้งที่ทำสะสมมามากพอประมาณแล้ว จึงจัดการเทบรรจุลงลังพลาสติก 3 ใบเต็มๆ ยกใส่ท้ายรถขับรถจากบ้านไปราว 12 กม. เพื่อนำไปขายที่ตลาดไชยา

   ผลปรากฏว่าชั่งได้ 30 กิโล หักค่าน้ำหนักกล่องแล้ว ได้เงินสดมา 320 บาทครับ .. โอ้โฮ ! อะไรจะปานนั้น .. ผมคิดถึงหยาดเหงื่อ แรงงาน และเวลาที่เสียไปกับเงินที่ได้มา ก็เกิดความรู้สึกว่า รอบเดียวก็น่าจะเกินพอ  มันช่างไม่คุ้มค่ากันเลยกับสิ่งที่สูญเสียไป

   แต่แล้วในอึดใจเดียวความคิดใหม่ก็เข้ามาแทน เพียงแค่คิดต่างมุมไปอีกเล็กน้อยก็ได้คำตอบใหม่ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง  คือผมลองเทียบกับตอนที่ไปนั่งบรรยาย เป็นวิทยากรในห้องแอร์ บางทีว่าไปตั้งสองสามวันและเขาจ่ายค่าเหนื่อยชั่วโมงละเกินหนึ่งพัน ก็เคยรับมาแล้วแบบสบายๆ  มันง่ายกว่า 320 บาทที่ว่ามากมายนัก  แต่ฝ่ายค้านในใจก็แย้งว่า “แล้วเคยได้เหงื่อบ้างมั้ย” อีกฝ่ายหนึ่งในใจก็รีบตอบ “เออ ! จริงว่ะ นั่งๆ ยืนๆ บรรยายหรือสอนอยู่แต่ในห้องแอร์ น่าจะตายเร็วกว่า เพราะร่างกายไม่ได้ออกกำลังและได้เหงื่อเช่นที่เราได้รับจากกระบวนการผลิตมะพร้าวแห้ง 30 กิโล “ 

    คำตอบใหม่ที่ว่าก็คือ กำไรมาก และคุ้มเกินคุ้ม .. สุขภาพดีที่ได้มาคงตีราคาไม่ได้  แถมได้ยังฝึกการมีสติ มีสมาธิ และการอดกลั้น อดทน ตลอดกระบวนการของการทำงานอีกด้วย

   ยัง .. ยัง  แค่นั้นยังไม่พอครับวันที่ไปขายเกือบเรียกได้ว่า “เจอคนบ้า” ที่ร้านรับซื้อมะพร้าวแห้งด้วย เธอเป็สาวใหญ่วัยน่าจะใกล้ 50 และคงเป็นลูกจ้างคอยจัดการอยู่หน้าร้าน เธอปฏิบัติ และกล่าววาจาหยาบกับผมหลายครั้ง ดุมากทุกขั้นตอน เช่นพอเริ่มถามว่า ที่นี่รับซื้อมะพร้าวแห้งใช่มั้ย คำตอบคือ “แล้วเติ้นจะขายหรือเปล่าล่ะ?“ ผมจอดรถห่างไปหลายสิบเมตร จึงบอกว่าเดี๋ยวจะไปเลื่อนรถมา เธอก็สำทับว่า “ก็ไปเอามาสิ” ทีนี้พอถามว่าจะให้ทำไงต่อ มีกระสอบใส่มั้ยเธอบอกห้วนๆว่า “ไม่มี” ผมทำท่าจะไปซื้อหากระสอบปุ๋ยมาใส่มะพร้าวแบบที่เห็นวางเรียงๆกันอยู่หน้าร้าน  เธอก็ดุว่า “ทำไมไม่เอาลงมาล่ะ  เขาทำถูกน่ะ ไม่ต้องกลัวหรอก  ไม่มีใครเอาลังของเติ้นหรอก” ว่าเข้านั่น  ชั่งน้ำหนักเสร็จ เธอบอกว่าหักน้ำหนักลัง 4 โล ผมชักงง เพราะลังพลาสติกนั้นเบามาก จึงถามว่าถึง 4 โลหรือ เธอกล่าวตอบเสียงแข็งว่า “จะให้บอกกี่ครั้งกัน พูดไม่รู้เรื่อง“ แล้วซัดต่อว่า “มัวยืนทำไมอยู่ล่ะ ทำไมไม่ไปรับเงิน” ผมก็มองเข้าไปในร้านจึงเห็นเถ้าแก่เนี้ยนั่งอยู่ในตู้กระจก ถือโพยที่คนรับซื้อเขียนให้ เดินไปรับเงิน 320 บาททางช่องกระจก  จากโพยก็รู้ว่า น้ำหนักรวมของลังคือ 4 ขีด แต่เธอบอกผมว่า 4 โลครับ

    งานนี้นอกจากได้ออกกำลังกาย ได้เหงื่อ  ได้ฝึกสติ สมาธิ และความอดทนจากการทำงาน “ผลิตมะพร้าวแห้ง” 30 กิโลแล้ว .. ผมยังโชคดี ได้ฝึกการมีสติ และความอดกลั้นอดทนตอนนำมะพร้าวไปขายอีกด้วย เป็นกำไรอีกต่อหนึ่งที่ได้มาแบบไม่คาดฝัน .. ถ้าผมเกิดน้อตหลุด ไปด่าโต้ตอบกับเธอเข้า .. งานนี้ผมคงขาดทุนยับเยิน จริงมั้ยครับ ท่านผู้ชม

    คิดดูแล้ว จะคุ้มค่าหรือไม่ ขาดทุนหรือกำไร .. อยู่ที่”ใจ“จะมอง  งานนี้ ตาเนื้อ หรือตานอกช่วยอะไรไม่ได้จริงๆครับ


เดี๋ยวจะหาว่า “ยุ่งไม่จริง”

2 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 7 สิงหาคม 2010 เวลา 9:03 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1207

     เมื่อวานเป็นอีกวันหนึ่งที่ 24 ชั่วโมงดูจะน้อยไป ไม่พอใช้ เหตุเพราะมีงานที่ต้องทำหลายอย่าง  และแต่ละอย่างค่อนข้างต้องใช้เวลา และความละเอียดรอบคอบ ใช้ความคิดความอ่าน เชื่อมโยงประสบการณ์เดิมๆเข้ามาปรับใช้

    ตื่นเช้ามาก็จัดการกับต้นไม้ใหม่ 3 ต้นที่ซื้อมาจากงาน “ของดีเมืองไชยา” ที่แวะไปมาเมื่อค่ำวันก่อน ได้แก่ต้นธัมมัง  ต้นกระท้อนปุยฝ้าย และต้นสะตอ อย่างละ 1 ต้น ต้นสะตอนั้นเป็นกล้าที่ติดตามา  คนขายยืนยันว่า 3 ปีออกฝัก ก็จะลองพิสูจน์ดู ต้นธัมมังปลูกไว้ด้านหน้าบ้าน ข้างๆดงมะขามที่ปลูกไว้เป็นแนวรั้ว หลายสิบต้น  ส่วนต้นกระท้อน และสะตอ นำไปลงไว้หลังบ้านใกล้ๆต้นขนุนปลูกใหม่ และต้นส้มโอเก่า

    สายมาก็ขนกล่องเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ออกมาวางใกล้โต๊ะ “ซ่อม-สร้าง” ที่แสนรก เริ่มบรรเลงจัดการกับเครื่องใช้ทั้งของตัวเอง และที่เขาฝากมาให้ช่วยทำดังนี้

  1. เครื่องขยายเสียง Integrated Amp. ตัวเล็ก ที่เงียบสนิท ไฟติดแต่ไม่มีเสียง พบว่าไฟเลี้ยง IC ภาค Tone Control หายไป ขณะที่ตัว R 150 โอห์มที่ Drop ไฟมายังจุดดังกล่าวร้อนผิดปกติ สาเหตุอยู่ที่ ตัว Cappacitor ค่า 220 uF. ที่ใช้ทำหน้าที่ Filter เกิดการ “ชอร์ต” หรือลัดวงจรภายในตัวมัน เปลี่ยนใหม่ ทดสอบเสียงทั้งซีกซ้ายและขวา .. ผ่านไป 1 เครื่อง
  2. เครื่อง DVD Player ที่ถาดใส่แผ่นยื่นออกมา กลับเข้าที่ไม่ได้  งานนี้พบว่ามีคนดันแผ่น DVD เข้าไปติดค้างอยู่ภายในเครื่อง 1 แผ่น  เอาออกแล้วเครื่องก็ยังไม่ทำงาน จึงต้องแกะส่วนกลไกออกมา สังเกตความสัมพันธ์ของชิ้นส่วนที่ขับเคลื่อนแผ่นเข้าออก .. ประกอบเข้าไปใหม่ก็ใช้ได้ … ผ่านอีก 1 เครื่อง
  3. เครื่องเล่นเพลง MP3 ประเภท Music Box ที่ไม่ยอมอ่าน Memory Card .. งานนี้ไม่ยาก เพราะพบว่ามีเศษวัสดุเข้าไปอยู่ใน Slot ที่เสียบการ์ด แค่เอาออกเสียทุกอย่างก็เรียบร้อย แต่ทำแล้วก็อดไม่ได้ที่จะทำขาเสริมกล่องลำโพงให้ เพราะเม็ดยาง 4 ตัวใต้ตู้ลำโพงเหลืออยู่เพียง 1 ตัว ใช้ลูกยางกลมๆ แบนๆ หนาราว 3 มม. ติดลงไปบนเทปกาวสองหน้า แล้วใช้ตัว “ตุ๊ดตู่” ตอกออกมาเป็นเม็ดกลมๆ ลอกกระดาษปิดกาวออกก็นำไปติดได้แน่นหนาเรียบร้อย ทดสอบระบบชาร์จแบตเตอรี่ก็เห็นยังทำงานได้ปกติดี .. ผ่านไปอีก 1 เครื่อง
  4. เครื่อง Mini i-Phone ของก๊อปจากเมืองจีน .. หลานตุ๊ก หลานสะไภ้คนเก่งซื้อมาจากคลองถมเมื่อคราวไปทำธุระด้วยกันเมื่อเดือนที่แล้ว .. เครื่องทำงานดี แต่ไม่มี Wall Charger ใช้ไปจนแบตฯหมดก็เอามาทิ้งไว้หลายวันแล้ว  งานนี้เริ่มจากการแกะเครื่องออกมาเพื่อป้อนไฟชาร์จแบตฯโดยต่อตรงเข้ากับขั้วแบตฯที่บัดกรีติดอยู่กับแผ่นวงจร คุมกระแสให้อยู่ในระดับ 100-200 mA. ชาร์จจนเต็ม ทดลองใช้เครื่องก็ปกติทุก Function แต่ศึกหนักกลับมาอยู่ที่การสร้าง Wall Charger เนื่องจากเครื่องนี้ใช้ Socket แบบ 12 ขา ตัวแบนเล็ก ต้องมาเสียเวลาทดลองหาขั้วที่จะบัดกรีเอาไฟ บวก-ลบ เข้า “ปล้ำ”อยู่พักหนึ่งก็พบว่า ขา 2 เป็นไฟบวก และขา 9 เป็นไฟลบ หรือ Ground ไปค้นหา Wall Charger ของมือสองสภาพดีที่ตุนเอาไว้เยอะมาตัวหนึ่ง ทดสอบแล้วผ่าน จึงนำมาตัดสาย บัดกรีเข้ากับตัวปลั๊กชาร์จ ทำยากเพราะขา 12 ขามีขนาดเล็กและอยู่ใกล้กันมาก บัดกรีเสร็จยังมีปัญหากับฝาครอบและลูกยางรองสายอีก ทำไม่ดีจะแตกหักได้ง่าย แต่ก็ผ่านไปได้เรียบร้อยด้วย “ฝีมือ” .. ว่าจะไม่โม้แล้วนะ แต่ก็อดไม่ได้
  5. เครื่องมือถือ NOKIA รุ่น 1650 ที่มาด้วยอาการ ชาร์จไฟไม่เข้า .. งานนี้พบว่ามีการดัดแปลงแก้ไขมาหลายครั้งแล้ว  ร่องรอยคือเข็มแหลมๆ 3 อันที่ติดอยู่กับ Socket ต่อไฟชาร์จ รุ่นนี้ทั้ง แจ๊ค Small Talk ขั้วต่อ Data แบบ Micro USB และที่ต่อไฟชาร์จ เป็นชุดเดียว ชิ้นเดียวกันและเชื่อมต่อด้วยการบัดกรีลงแผ่นวงจร มีขั้วต่อเยอะและเล็กมาก การรื้อทำยากมาก ทำไม่ดีพังง่ายๆ ต้องใช้เครื่องเป่าลมร้อนช่วย และต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง .. โชคดีไม่มีอะไหล่ จึงไม่ต้องรื้อ  แต่มาเสียเวลา ทดลอง และดัดแปลงอยู่นานมากกว่าจะ “เสริมเข็ม” คือแกนขั่วบวกให้กับช่องเสียบไฟชาร์จได้ .. แต่แล้วก็ผ่านเรียบร้อย ด้วยความมานะ พยายามและ อดทน
  6. เครื่องดักยุง เครื่องนี้ซื้อของเก่ามาเพียง 200 บาท (ของใหม่เห็นประกาศขายอยู่ 2000 กว่าบาท) มาดัดแปลงถุงดักยุงเอง และซื้อหลอด Fuorescent สีม่วง ขนาด 5 วัตต์มาจากคลองถม 25 บาทเท่านั้น แก้ไขจนใช้ได้มานานเกือบปี อยู่ๆไฟสีม่วงดับ แต่พัดลมยังทำงานดี  เป็นมา 2 วันแล้ว วันนี้ก็ถึงคิว “ชำแหละ” .. เปิดฝาครอบด้านบน ตรวจดูปรากฏว่าไฟไม่ผ่าน บัลลาสต์ ถอดมาวัดค่า โอห์มก็ขึ้นเป็น Infinity สรุปว่าน่าจะขาด .. มืดค่ำแล้วจะไปซื้อมาเปลี่ยนก็ขี้เกียจ แต่ก็อดไม่ได้ งัดแงะจนถึงลวดตัวนำสองเส้น ขูดๆและวัดดูกลับไม่ขาด  เหตุที่แท้จริงอยู่ที่ ขั้ว Connector แบบ “ลูกเต๋า” ครับ ต่อแน่นหนาดีแต่ กาลเวลา+ ฝุ่น+ ความชื้น ทำให้ออกอาการเหมือนขาด สรุปว่าดัดแปลงแก้ไขจนหลอดไฟติดโดยไม่ต้องเสียเงินครับ .. เมื่อคืนก็ใช้ดักยุงได้ตามปกติแล้ว
  7. ไม้ตียุง “อิเล็กทรอนิกส์” อันนี้ใช้มาเองนับเดือน เพราะยุงที่บ้านชุมมาก .. ความจริงก็ไม่อยากเบียดเบียนเขา  แต่เขามาเบียดเบียนเราแบบ รุมกันเบียดเบียน เลยต้องจัดการไปตามที่เห็นสมควรด้วยเครื่องมือดังกล่าว  ตอนหลังมามันไม่ยอมทำงานครับ  แกะด้วยการถอดสกรู 2 ตัวกับที่ซ่อนอยู่ใต้สติ๊กเกอร์อีก 4 ตัวออก พบว่าวงจรปกติแต่สายต่อไฟแรงสูงมายังลวดตาข่ายขาดไป 1 เส้น ต่อสายให้ยาวขึ้น บัดกรีกลับเข้าไปก็ทำงานได้เรียบร้อยเหมือนใหม่ .. ก็ผ่านไปอีก 1 รายการ
  8. เครื่องสูบลมไฟฟ้า ที่กำลังจะทำให้เสร็จและส่งไปให้ “ลุงแหวง” ที่ขอนแก่น .. งานนี้ทดสอบต่อ Power 12 V. แต่ Amp. สูง ที่ได้มาจากแผ่นบอร์ด Power Supply ของคอมพิวเตอร์ เครื่องปั๊มทำงานได้ดี  หาทางวางทุกอย่างลงกล่อง .. เจาะรู ใส่กกรูเกลียวปล่อย 4 ตัว ยึดตัวเครื่องปั๊มเสร็จแล้ว แต่เพราะค่ำมากแล้ว ร่วม 2 ทุ่ม จึงยอมเชื่อฟังคำใครบางคนที่บอกว่าพอได้แล้ว .. วันนี้ก็จะจัดการต่อให้เสร็จครับ .. คอยหน่อยนะลุงแหวง !

         นอกจากที่เล่ามา ยังมีงานย่อยๆอีก  อีกทั้งยังมีงานค้างที่คนตามมาทวง แต่ก็ไม่ได้ไปหรอก  นั่นคือชุด ” Solar Energy” ที่ทำไฟฟ้าจากแสงแดดให้คนงานในสวนยางใช้ .. ชิ้นส่วนยังอยู่ในลังกระดาษเลยครับ ภายใน 2 วันนี้ น่าจะทำเสร็จ .. สั่งไว้ 2-3 รายครับ

                             เห็นหรือยังล่ะครับ  ว่ายุ่ง … ไม่ได้โม้

                                                    อิ อิ อิ


ชื่อนั้น .. สำคัญฉะนี้

4 ความคิดเห็น โดย handyman เมื่อ 2 สิงหาคม 2010 เวลา 7:06 (เช้า) ในหมวดหมู่ ภาษา #
อ่าน: 1130

    ผมคิดถึงเรื่องนี้มานานและคิดถึงทุกครั้งที่ผ่านสถานที่ต่างๆที่ชื่อมันผิดเพี้ยนไปอย่างไม่น่าให้อภัย คิดว่าคงเป็นกันมากทุกภูมิภาคของประเทศนี้  แต่ที่ผมเจอตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ทางภาคใต้บ้านผมนั่นแหละครับ

    เรื่องมันมีอยู่ว่า ชื่อตำบล หมู่บ้าน หรือสถานที่หลายแห่งมันผิดเพี้ยนไปจากที่เรียกขานกันมาแต่เดิมมากบ้าง น้อยบ้าง มีผลให้ความหมายเปลี่ยนไปเลยก็มาก และถึงกับทำให้ความหมายเดิมหายไป ได้คำใหม่ที่ “ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง” ก็มี

    ผมเคยเปรยๆเรื่องนี้กับนักศึกษาที่ไปสอนว่า ชื่อสถานที่บ้านเรามันเพี้ยนไปมาก อย่างไม่น่าให้อภัย หลายแห่ง หลายที่ น่าจะหาทางเอาชื่อเดิมกลับมา นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า “ทำไม่ได้หรอกอาจารย์”  ผมก็ยืนยันว่าที่กรุงเทพฯเห็นทำกันได้นี่  เมื่อก่อนเรียก “แคลาย” ทั้งชื่อไทยชื่ออังกฤษ  พอพบว่า ต้นแคลายมันไม่มี แต่ต้นแคเรียงรายอยู่ทั่วไปนั้น “ใช่” เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนใหม่เป็น “แคราย” เรียบร้อยแล้ว

   เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ยาวเกินไป เพราะเขียนด้วยความแค้น หรือขุ่นเคืองใจที่เก็บไว้ยาวนาน  จึงขอบังคับตัวเองว่าจะยกตัวอย่างใกล้ๆตัวมา ปุจฉา-วิสัชนาสักครึ่งโหลก่อน หากจังหวะเหมาะ หรือมีผู้สนใจมาก จะนำมาฝากอีกเป็นระยะๆต่อไป

  1. โมถ่าย … ชื่อตำบลอันเป็นบ้านเกิดของผมเอง ดัดเสียงให้เพราะเป็นภาษากรุงเทพ จนไม่รู้ว่ามาจากอะไรกันแน่ จะสืบสาวไปจากชื่อปัจจุบันก็คงยาก เพราะมันเพี้ยนไปมาก  ที่จริงคนท้องถิ่นเขาไม่ได้เรียกอย่างนั้น หากพูดภาษาสำเนียงไทยกลาง ท่านจะออกเสียงได้ใกล้เคียงกับสำเนียงท้องถิ่นมากที่สุดก็น่าจะต้องเขียนว่า “โหม่ไท้” ชื่อนี้ถ้าจะให้เพี้ยนน้อยลงอีกนิดน่าจะเป็น “โมถาย” โดยตัดไม้เอกออกไปเสีย จะได้ไม่ต่องมาเสียเวลาถามว่า “ถ่ายอะไร” กันอีก เพราะของเดิมไม่มี “ถ่าย”
  2. เสวียด … นี่ก็ตำบลติดกันแต่อยู่ในอำเภอท่าฉาง ตอนเด็กๆเป็นที่ที่ผมเดินไปเยี่ยมญาติกับแม่บ่อยมาก ระยะห่างจากบ้านเรา 6-7 กม.  ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่มีคนท้องถิ่นคนไหน ดจร. พูดว่า “ไปเสวียด” แม้แต่คนเดียว มีแต่ “ไปเวี้ยด” กันทั้งนั้น ชื่อตำบลนี้ถ้าจะให้เพี้ยนน้อยลงอีกนิดก็น่าจะเป็น “เหวียด” ไม่ใช่ “เสวียด” ซึ่งหาความหมายอะไรไม่ได้
  3. บ้านชะอุ่ม … อันนี้อยู่ติดกับ “บ้านกลาง” บ้านผมเอง  อยู่ในหมู่ที่ 2 เหมือนกัน ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร  เดินไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน บ้านญาติมาแต่ตอนเป็นเด็กเช่นกัน  จำได้ว่าที่นั่นเต็มไปด้วยต้น ชะอม  คนท้องถิ่นเขาจึงเรียกของเขาถูกต้องมาแต่เดิมว่า “บ้านอุม” เพราะแถวไชยาบ้านผมเขาเรียกชะอมว่า “อุม” เช่นบอกว่า “ช่วยไปเก็บยอดอุมให้หน่อย” แต่ลองไปดูป้ายปากทางเข้าหมู่บ้านได้เลย เขาเขียนชัดเจนว่า “บ้านชะอุ่ม” เพราะดีครับ  แต่ทิ้งความหมายเก่าไปหมดสิ้น ไม่รู้คนกรุงเทพฯมาทำให้เพี้ยน หรือชาวบ้านอยากได้ชื่อเพราะๆกันเอง ยังหาคำตอบไม่ได้ครับ
  4. บ้านลุ่มกระท่อม … นี่ก็เป็นชื่อใหม่ที่ทำให้ตีความไปได้ 2 แนว คือเป็นที่ลุ่มที่มีกระท่อม (ขนำ) หรือเป็นที่ลุ่มที่มี ต้นกระท่อมเยอะๆ กันแน่  ความจริงไม่ต้องมาปวดหัวตีความกันให้เมื่อยเลยถ้ายังคงชื่อเดิมเอาไว้ เพราะคนแถวนั้นเขาเรียกที่ตรงนั้นว่า “ลุ่มท่ม” ครับ “ท่ม” ก็คือชื่อต้นไม้  และผมก็จำได้ว่าไปแถวนั้นสมัยเด็กๆ มีต้นกระท่อมอยู่ทั่วไป  ผมว่าลดความเพี้ยนเสียหน่อยก็น่าจะดี  ถ้าไม่เอา “ลุ่มท่ม” เอา “ลุ่มท่อม” ก็ยังพอไหว จะไม่ต้องคิดไปไกลว่ามาจากอะไรกันแน่
  5. บ้านสะพาน … หมู่บ้านนี้อยู่ในตำบล “เวี้ยด” ครับ นี่ก็เพี้ยนไปอีกแบบหนึ่ง คือชื่อเดิมสามารถตีความได้ 2 แนว พอมาเป็นชื่อใหม่ มันปิดประตูความหมายที่สองเสียสนิทเลย คนท้องถิ่นเขาจะพูดว่า “ไปบ้านพาน” ไม่มีใครเรียก “บ้านสะพาน”   คำว่าพานนั้น ตามภาษาถิ่นมีสองความหมาย คือภาชนะชนิดหนึ่ง หรือไม่ก็ สะพานที่ใช้ข้ามถนน ข้ามคลอง เพราะคนใต้เขาเรียกเหมือนกันทั้งสองอย่าง .. ขับรถผ่านไปทีไรผมจึงอยากไปลบคำ “สะ” บนป้ายชื่อหมู่บ้านทิ้งทุกทีไป ให้เหลือแต่ “บ้านพาน” ตามที่มันเป็นมาแต่เดิม
  6. เขาพนมแบก … ตัวอย่างสุดท้ายนี่มันมากครับ .. เขาพนมแบก คือที่แรกที่แม่พาผมขึ้นรถไฟเป็นครั้งแรกในชีวิตเพื่อเดินทางไปทำธุระที่นั่น เป็นสถานีถัดไปจากไชยา ก่อนถึงท่าชนะครับ ผมตะหงิดๆมานานแล้วว่า พนมแบก แปลว่าอะไรกันแน่ นายพนมเป็นใคร และมาแบกอะไรอยู่แถวนั้น คิดไม่ออก บอกไม่ถูก จนกระทั่งเดือนก่อนไปได้ความรู้จากคุณลุง(บิดาของคุณภูผาตาปี) ว่า ชื่อเดิมมันมาจากความจริงที่ว่า เมื่อชาวประมงแถวตำบลตะกรบ อ.ไชยา จะเข้าฝั่ง เขามองมาทางตะวันตกจะเห็นภูเขาสองลูกเป็นที่หมาย  ภูเขาดังกล่าวดูเป็นเนินสูงสวยอยู่คู่กัน แต่ห่างกันมากไปหน่อย จึงเรียกกันว่า “เขานมแบะ” แล้วอยู่มาวันหนึ่ง วันไหนก็ไม่ทราบได้ โดยใครก็ไม่รู้ ได้กระทำความเพี้ยนที่ยิ่งใหญ่ให้กับชื่อสถานที่แห่งนั้น โดยเรียกมันว่า “เขาพนมแบก” ซึ่งฟังเพราะดี แต่ไร้สิ้นซึ่งความหมาย .. ขอได้มั้ยครับ ขอชื่อเก่าคืนมา  ชื่อเดิมออกจะน่ารัก และไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก  แต่ถ้ากลัวไม่สุภาพ ไม่ไพเราะ จะ ดจร.เปลี่ยนเป็น “เขาถันแบะ” ก็ยังน่าจะดีกว่า “เขาพนมแบก” เป็นไหนๆ .. จริงมั้ยครับท่านผู้ชม

         จบข่าว !



Main: 0.33488297462463 sec
Sidebar: 0.019262075424194 sec