บรรจงพิมพ์

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 30 มิถุนายน 2010 เวลา 9:48 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2335

1234
นึกถึงตอนทำงานใหม่ ๆ

พิมพ์งานยังไม่คล่อง ต้องจิ้มทีละนิ้ว ค่อย ๆ จิ้มสองนิ้ว สามนิ้ว สี่นิ้ว … ต่างจากปัจจุบันที่ทุกคนต้องพิมพ์งานเอง ร่างงานในเครื่องคอมพิวเตอร์เอง One stop service ว่างั้นเถอะ


ที่ทำงานในขณะนั้น มีพนักงานพิมพ์ดีดอาวุโสคนหนึ่ง (ตอนนี้เกษียณไปแล้ว) พี่คนนี้เป็นคนใจดี พูดจาอ่อนหวาน อารมณ์ดี ทุกคนในสำนัก ฯ จะชอบให้พี่พิมพ์งานเพราะรวดเร็ว ผิดพลาดน้อย และไม่ค่อยปฏิเสธงาน (ที่ใครต่อใครยกมาให้พิมพ์ และขอเร็ว ๆ ขอด่วน ๆ)

นักวิชาการชอบนั่งเขียนงานตอนช่วงเช้า พอบ่าย ๆ ก็จะต้องรีบส่งงานให้หัวหน้าพิจารณา เพื่อรอส่งไปยังผู้ใหญ่อีกระดับหนึ่งพิจารณา ลงนาม อนุมัติ ไปตามขั้นตอนอันยาวเหยียด… (ของงานราชการไทย)


งานที่รอพิมพ์ มักจะประเดประดังกันในช่วงบ่าย ในขณะที่พนักงานพิมพ์มีเพียง 2 คน พี่คนพิมพ์ก็มักจะเกรงใจ เลือกพิมพ์งานให้พี่ ๆ อาวุโสกว่าเรา ทั้ง ๆ ที่เราส่งต้นฉบับไว้ให้ก่อน เลือกปฏิบัติอย่างนี้ได้ไง… ชักยั๊วะแล้วนะ…

น้อง พี่จ๋า ๆ หนูส่งก่อนนะ ทำไมไม่พิมพ์ให้ก่อนล่ะคะ

พี่ พิมพ์อยู่จ้า น้องจ๋า … หันมายิ้มเอาใจ มือก็พิมพ์ไป

น้อง พิมพ์อยู่อะไรล่ะ มันไม่ใช่ของหนูนี่นา หนูส่งคนแรกเลย
ทำไมไม่พิมพ์ให้ก่อนล่ะ …งอนละนะ…

พี่ โอ๋ ๆ พิมพ์จ้ะ ของน้องน่ะ เป็นคนน่ารัก ต้องพิมพ์ให้แบบสวย ๆ

น้อง พิมพ์สวย ๆ ยังไงอ่ะ … งง ๆ นิดหน่อย มามุขไหนนี่

พี่ ก็ต้องพิมพ์ช้า ๆ ตั้งใจ “พิมพ์แบบบรรจง” ผลงานก็จะได้น่ารัก
และสวย ๆ เหมือนเจ้าของต้นฉบับไงจ้ะ .. เสียงหวานเอาอกเอาใจ

น้อง “พิมพ์แบบบรรจง”…. ฮ่า ๆ ๆ โห พี่เข้าใจคิดจังแฮะ

พี่ จริงจ้ะ ของบางคนพี่ก็ “พิมพ์หวัด ๆ” ไม่ “พิมพ์บรรจง”แบบของน้องนะ

น้อง ได้เลยพี่ แหมปลื้มจริง ๆ รอต่อไปอย่างมีความสุข… หน้าบานหายงอนไปเลย


นี่เองสินะ วิธีการทำงานการจัดการกับปัญหาอย่างมีอารมณ์ขันและมองโลกในแง่ดี แค่เลือกคำพูดดี ๆ หยอดอารมณ์ขำ ๆ บรรยากาศตึงเครียดก็ผ่อนคลายลงได้แล้ว

12345

ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ อารมณ์ดี…
อย่างนี้เรียกการจัดการกับปัญหาแบบ “บรรจง ๆ”
ไม่ใช่ แบบ “หวัด ๆ” ไงล่ะ!!!

1234

แล้วพิมพ์ “แบบบรรจง” กับ พิมพ์ “แบบหวัด ๆ” นี่ คงคล้ายก้บการเขียนแบบบรรจง กับ เขียนแบบหวัด ๆ ล่ะสินะ…


อยากเห็น…

5 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 29 มิถุนายน 2010 เวลา 10:38 (เย็น) ในหมวดหมู่ ภาษา ร้อยกรอง ความคิด, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1417

อยากเห็น…

12345

ยามใด  อยากเห็น  เห็นยาก

ยิ่งเพ่ง  ยิ่งย้ำ  ยากหนอ

ยึดมั่น ถือมั่น พะนอ

รีรอ  ยากยิ่ง  เห็นธรรม

ปล่อยวาง  ว่างเปล่า  พลันพบ

ประสบ  ข้อธรรม  สุกใส

ละวาง  ลดละ  สละไป

วางใจ  จึ่งเห็น  โลกธรรม

29 มิย.53


ไม่รัก ไม่ชอบ ไม่ทำ

8 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 28 มิถุนายน 2010 เวลา 11:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 2500

ช่วงเช้าได้คุยกับ…

ครูขวัญดิน สิงห์คำ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ที่ชุมชนศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ  หลังการนัดหมายตารางเวลาการพูดคุยสัมภาษณ์แล้ว   ก็ชวนคุยถามไถ่เรื่องทั่ว ๆ ไป ครูขวัญดินเล่าว่ากำลังเขียนวิทยานิพนธ์ บทที่ 4  หัวข้อเกี่ยวกับการบูรณาการการเรียนรู้ ฯ  ซึ่งลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมาตั้งแต่ปี 2550  เล่ากันไปปรับทุกข์ปรับสุขกันตามประสาคนที่เรียนในระบบเหมือนกัน


ติดใจกับบทสนทนาที่ครูขวัญดินบอกว่า การเรียนปริญญาโท ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากเรียนนี้ ให้ประโยชน์มากเกินกว่าที่คาดคิดไว้ ได้รู้ว่าคนเราสามารถเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุดและยังมีอะไรอีกมหาศาลที่เรายังไม่รู้ (จากที่เคยคิดว่า… รู้แล้ว ๆ )

ครูเคยต่อต้านการเรียนในระบบ เพราะคิดว่าค่าเล่าเรียนแพง ความรู้ที่ตัวเองมีก็เยอะแยะ ซ้ำย้งเป็นความรู้จากการทำงานและปฏิบัติจริงอยู่แล้วไม่ใช่ความรู้แห้ง ๆ ไร้มิติจากทฤษฎีในหนังสือ  ใบปริญญาบัตรก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ลาภ ยศ สรรเสริญ เงินทอง ก็ไม่ใช่สาระของชีวิตของครูอยู่แล้ว จะไปเรียนเพื่ออะไร ไม่อยากเรียน  แต่…ขัดใจผู้ใหญ่ไม่ได้ เรียนก็เรียน (แล้วกัน)

จากที่ ม่รัก ไม่ชอบ ไม่ทำ ส่งผลให้เรียนไปก็ทุกข์ไป ขัดใจไป คอมพิวเตอร์ก็ใช้ไม่เป็น อะไรกันค่าเรียนแพง ๆ แต่ครูสอนว่าให้หาความรู้เอง อ่านเอง ต้องดูว่าคนอื่นคิดอย่างไร ว่าอย่างไร จากนั้นจึงมาบอกว่าแล้วเราคิดอย่างไร ทำไมต้องอ้างคนโน้นคนนี้ด้วย ว่ากันด้วยของจริง ๆ ไม่ดีกว่าหรือไง…


วันหนึ่งครูก็คิดขึ้นมาว่า สู้อุตส่าห์ทำงานในชุมชนมานาน ปฏิบัติธรรมมาก็มาก แค่นี้ยังขัดใจยังทุกข์อยู่ได้อย่างไรกัน ตัดสินใจเลิกทุกข์ ตั้งใจทำ ๆ ๆ ชอบก็ทำ ไม่ชอบก็ทำ ทำไปเรื่อย แล้วครูก็พบว่า แม้ไม่รักไม่ชอบ หากทำไปเรื่อย ๆ ตามกำลังสติปัญญา ก็สนุกดี เป็นอีกโลกหนึ่งที่น่าทึ่งไม่น้อย  ข้อสำคัญคราวนี้ครูรู้แล้วว่าจะสอนเด็กที่ไม่อยากเรียนให้อยากเรียนได้อย่างไร


ฟังครูขวัญดินเล่าแล้ว สะดุ้งเฮือก…

รามักจะ “เลือกทำ” เฉพาะในสิ่งที่รักที่ชอบ และไม่ยอมทำสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ ก็เพราะเราได้รับรู้มาว่า ให้เลือกทำเลือกเรียนสิ่งที่เรารัก เราจะมีความสุขและทำได้ดีน่ะสิ


อืม…จากนี้ไป ต้องลองเคล็ดสุดยอดวิชาของครูเสียหน่อย…


...หัดขัดอกขัดใจ ทำให้สิ่งที่เรา “ไม่รักไม่ชอบ” ให้ได้ ไม่ต้องดีที่สุดหรอก เพราะดีที่สุดไม่มี เวลาผ่าน บริบทที่แตกต่าง ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่เราทำงานของเราตรงหน้าทั้งที่รักที่ชอบและไม่รักไม่ชอบอย่างเต็มที่ก็แล้วกัน


ขอบคุณสุดยอดเคล็ดวิชาจากครูค่ะ

;)


วัชพืช

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 27 มิถุนายน 2010 เวลา 2:10 (เย็น) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้นไม้, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3902

เช้าวันหยุด

มีโอกาสชักชวนหลานตัวน้อย ๆ  ร่วมกันรดน้ำต้นไม้  เก็บกวาดใบไม้ใบหญ้า และช่วยกันทำความสะอาดบ้าน (ถือโอกาสสอนวิชาประสบการณ์ชีวิตให้เด็ก ๆ ด้วยเลย)


สังเกตเห็นว่าส่วนที่เด็ก 3 คน ชอบมาก คือการรดน้ำต้นไม้ การได้เห็นต้นไม้แปลก ๆ  เสียงถามเซ็งแซร่ไม่มีใครฟังคำตอบ นอกจากยิงคำถามเป็นชุด ๆ

นี่ต้นอาไรค้า ไม่เคยเห็น…

นี่สวย ๆ มีลูกเล็ก ๆ ด้วย…

นี่อาม่าบอกว่าเป็นยาต้มแก้ร้อนใน…

ดอกสวยมากคร้าบบบบบ พี่น้องงงงง…


เจ้าคนโต ยื่นหน้ามาถามและให้มาดูว่า นี่เรียกว่าต้นอะไร (ตั้งค่าหัว รางวัลไว้สำหรับคนที่สามารถจดรายชื่อพืชพันธุ์ไม้บนดาดฟ้าทั้งด้านหน้าด้านหลังได้มากที่สุด) ในขณะที่ก้มหน้าก้มตาจดในกระดาษยู่ยี่อย่างตั้งอกตั้งใจ


ต้นที่ชี้ให้ดูเป็นพืชล้มลุก มีดอกเล็ก ๆ สีม่วงสวย มีทั้งที่ยังไม่บานและบานเต็มที่แล้ว… อ้อ ไม่รู้ชื่อหรอก แต่เป็นวัชพืชประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ปลูกแต่ขึ้นเอง

โดนถามต่อว่า วัชพืชคืออะไร? ก็เลยให้การบ้านว่าไปหาในพจนานุกรมแล้วกัน ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จะเลี้ยงพิซซ่าตอนเที่ยงนี้ เด็ก ๆ ขมีขมัน สนุกสนาน แม้จะหน้าแดงเหงื่อเต็มตัว


นั่งอ่านผลงานเด็ก ๆ …

วัชพืช

[วัดชะพืด] น. พืชที่ไม่ต้องการ เช่นหญ้าคาในแปลงข้าว.(ป. วชฺช + พีช).

(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

วัชพืช [n.] weed


เคยฟังอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเล่าว่าวัชพืชนี้ บางทีเรียกว่า “unloved plant”  คือเป็นพืชที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ต้องการ เพราะไม่ได้ปลูกแต่ขึ้นเองแม้จะหากินเก่ง ทนทาน ไม่ต้องการการประคบประหงมดูแล แต่ที่คนปลูกต้นไม้ไม่ชอบก็เพราะมักทำให้พืชชนิดอื่นตายหรือไม่เติบโตเท่าที่ควร  ลองค้นรากศัพท์ต่อ

วัชชะ

[วัดชะ] น. สิ่งที่ควรละทิ้ง; โทษ, ความผิด. (ป. วชฺช; ส. วรฺชฺย, วรฺชฺช).


คำว่า “วัชพืช“  มาจาก วัช หรือ วัชชะ แปลว่า “สิ่งที่ควรละทิ้ง” ซึ่งเมื่อรวมกับคำว่า พืช เป็น “วัชพืช” จึงมีความหมายว่า “พืชที่ควรละทิ้ง

เด็ก ๆ ร้อง อ้าวงั้นต้องถอนทิ้งหรือเปล่าคะ คุณครูสอนว่าปลูกพืชต้องหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ตัดหญ้า ถอนวัชพืช พืชที่เราปลูกจะได้โตเร็ว ๆ


อาล่ะสิ จะตอบเด็ก ๆ ว่าไงดีนะ….

ความจริงพืชพันธุ์ไม้นั้น เขาก็อยู่ของเขา พึ่งพิงอิงอาศัยกันอย่างสงบสุข แต่มนุษย์ต่างหากยกเอาความต้องการของตนไปให้คุณค่าว่า สิ่งนี้เป็นพืชมีค่า เป็นพืชเศรษฐกิจ ชนิดนี้ปลูกแล้วขายได้ราคาดี ส่วนชนิดนี้ไม่มีค่า เพราะตีเป็น “มูลค่า” ไม่ได้ พาลเรียกว่าเป็น “วัชพืช” ไปเสียเลย


พืชก็คือพืชนั่นแหละ… แม้ต่างพันธุ์ต่างเชื้อสายกัน…


คิดเลยไปถึง ข้อสอบที่ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ สอบไล่ก่อนจบออกมาคือ “พืชอะไรที่ทำยาไม่ได้?” คำตอบที่ท่านตอบคือ ไม่มีพืชอะไรที่เป็นยาไม่ได้…


ความจริงวัชพืชก็มีประโยชน์เหมือนกัน เช่น “หญ้าขนมเทียน” ที่มักขึ้นตามไร่พริก เพราะหญ้าชนิดนี้ เขานำมาตำ คั้นเอาน้ำผสมแป้งทำขนมเทียน ทำให้ขนมไม่ติดใบตอง หรือ “หญ้าขจรจบ“  ซึ่งเป็นวัชพืชในไร่ข้าวโพด ตอนที่หญ้าขจรจบยังไม่มีดอกใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เมื่อต้นแก่แห้งก็นำไปทำเยื่อกระดาษได้อีก

แม้แต่วัชพืชบางชนิดที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย ก็ยังช่วยปกคลุมดินให้คงความชุ่มชื้น ป้องกันการเสียน้ำหน้าผิวดินได้ไม่มากก็น้อยด้วย รวมความว่าถึงอย่างไรก็ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ของดิน-น้ำได้นั่นไง


บอกเด็ก ๆ ที่กำลังเคี้ยวตุ้ย ๆ ต่อว่า เห็นไหม … ทุกสรรพสิ่งล้วนมี “คุณค่า” อยู่ในตน และ  ”คุณค่า” ที่ว่านี้ก็ระวังด้วย อย่าด่วนตัดสิน เพราะคุณค่า บางครั้งก็เป็นคนละส่วนกับ “มูลค่า” คนบางคน เรื่องบางเรื่อง ของบางสิ่งตีราคาค่างวดเป็น “ตัวเงิน” ไม่ได้ แต่มีมูลค่ามหาศาลที่ไม่อาจเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้เลย


เว้นวรรค

10 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 24 มิถุนายน 2010 เวลา 10:26 (เช้า) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 3267

วันนี้…

       คิดถึงคำว่า “เว้นวรรค”  โดนบ่นจากหัวหน้างาน เมื่อครั้งเข้าทำงานใหม่ ๆ ว่า  เขียนหนังสือติดเป็นพรืด อ่านยาก เว้นวรรคบ้างสิ

          เขียนหนังสือยังไงนี่ ไม่มีวรรค ไม่มีเว้น…

         ที่ควรเว้นก็ไม่เว้น ส่วนที่ไม่ควรเว้น ก็เว้นเสียจัง…

 

         ตอนหัดจัดอาร์ตเวิร์คหนังสือที่จะพิมพ์เผยแพร่เล่มแรก ๆ ก็ใส่ตัวหนังสือจนเต็มหน้า คิดแบบไม่รู้สีสาว่า ใส่ ๆ ไว้ให้เต็มหน้า จะได้ไม่เปลืองหน้ากระดาษ หนังสือไม่หนาเกินไป ประหยัดทรัพยากรโลกด้วยการไม่ใช้กระดาษมากไปด้วย

        หัวหน้าเรียกเข้าไปคุย สอนไปหัวเราะไป … คนเรานี่ทำอะไรต่างคนก็ต่างเหตุผล คิดเห็นว่าดีแล้วสิ จึงพูดจึงทำเช่นนั้น หารู้ไม่ว่าที่แท้อหังการ ตัวตนใหญ่โต

เหตุผลที่เราคิดเองเออเองว่าดีว่าถูก ใช่แน่แล้ว บางทีมันไม่ใช่ … พอมีคนแย้งเห็นต่าง เราก็ เอ๊ะ นายเป็นใครมาจากไหน(วะ)เนี่ย กวนอารมณ์เสียจริง ไปเลย ไปให้พ้น ๆ ฉันไม่สนใจแกเลย (เอาเข้าไป)

 

        หัวหน้าบอกว่า มานี่ ๆ … ปู่จะบอกให้… คนเราพูดน่ะยังต้องหยุดหายใจ ทำอะไรก็ต้องมีทิ้งช่วงมีพัก ตัวหนังสือในหนังสือก็เหมือนกัน เบียดเสียดยัดเยียดขนาดนั้น จะมีช่องพักสายตาที่ตรงไหน แล้วยังสอนต่อว่า รู้ไหมสิ่งที่ยากมากในการเขียนหนังสือก็คือ การรู้ว่าเราควรที่จะเว้นวรรคตรงไหน ขึ้นย่อหน้าใหม่เมื่อไหร่  ถือเป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

 

ท่องไว้ ท่องไว้ … Space Space ….Space is peaceful

 

        มาคิดถึงตอนนี้ได้ยิ้มละมุนละไม อ้อ… เว้นวรรค/ช่องว่าง นี่ อย่าดูแคลนว่าไม่สำคัญ ในการเขียนหนังสือหากไม่มีการเว้นวรรค ก็จะอ่านยาก ลายตาและหากเว้นวรรคผิดที่  ความหมายก็อาจไปคนละเรื่องละราวกับที่อยากจะสื่อ

 

คิดต่อไปว่า…

       การใช้ชีวิตก็คงเป็นเฉกเช่นเดียวกัน หากอยากมีความสุข สนุก ไม่เคร่งเครียดและอยู่ได้กับบางสิ่งบางอย่างนาน ๆ อาจต้องเรียนรู้ศิลปะในการ “เว้นวรรค” เสียบ้าง

 

       ว่าแล้ววันนี้ “เว้นวรรค” เสียทีก็ดีเหมือนกัน 

 

       เมื่ออ่านหนังสือจบแล้ว ก็ควรปิดหน้งสือเล่มนั้นลง จะเปิดค้างเติ่งไว้ทำไม อ่านจบได้สาระข้อคิด ได้ความรู้แล้ว ก็ย่อยเสียให้ดี ส่งไปเป็นสารอาหารให้สมองและจิตใจ แล้วก็…

 

ขึ้นบรรทัดใหม่หรือย่อหน้าใหม่ไปเลย…

;)


ทางยัง…ไกล

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 23 มิถุนายน 2010 เวลา 11:20 (เช้า) ในหมวดหมู่ ภาษา ร้อยกรอง ความคิด #
อ่าน: 2357

 

เหนื่อยนัก พักก่อน ผ่อนใจ

วุ่นวาย ทำไม นักหนา

โศกเศร้า หวานรัก มักมายา

เธอจ๋า  อย่าหลง ทาง…ยังไกล

ผ่อนผ่าน ย่านย่าง ทางชีวิต

มมังการ  อหังการ  ฤๅหนไหน

กลับสู่ โลกหล้า ภายใน

สุดจิต  กลางใจ  คือ…ปัญญา

                                 23 มิย.53

 P80202911


ยิ้ม

11 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 21 มิถุนายน 2010 เวลา 10:30 (เช้า) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2068

 

        ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจิตร บุญยะโหตระ กล่าวไว้ในหนังสือ “พิชิตความเครียด” ว่า…

       “คนที่มีอารมณ์ขันจะไม่อวดเบ่งอวดหยิ่ง และจะไม่เป็นพิษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  คนที่ไม่มีอารมณ์ขันจะไม่ทราบเลยว่าบุคลิกของตนเองเป็นที่ขบขันล้อเลียนของผู้อื่นและไม่ค่อยจะไวต่อความรู้สึกของผู้อื่นมากนัก เพราะมัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่กับตัวเอง การมีอารมณ์ขันหมายความว่าบุคคลนั้นสามารถตรวจตรา ปรับปรุงแก้ไขบุคลิกของตนเองได้ตลอดเวลา อะไรต่อมิอะไรจะได้ไม่สายจนเกินแก้”

  M148463  

     

      อารมณ์ขันสำคัญมากถึงเพียงนี้ คงต้องหันมาสร้างอารมณ์ขันกันให้มาก ๆ โลกจะได้ไม่ขึ้งเครียดจนเกินไป

 

      เอ… แล้วจะสร้างอารมณ์ขันยังไงล่ะ บางสถานการณ์มันขำไม่ค่อยออกนี่ แล้วหากมัวแต่ขำ ๆ ขัน ๆ ไม่เลือกที่ ก็จะดูแปลกประหลาดไปเสียอีกด้วยนา

      

      เอ้า… ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ยิ้ม ๆ ๆ ๆ ไว้ก็แล้วกัน ยิ้มไว้แล้วโลกจะยิ้มกับเราเองล่ะน่า

 

 

วันนี้คุณได้ยิ้มกว้าง ๆ หัวเราะจนพุงกระเพื่อมบ้างหรือยัง?

;)


เรื่องสั้น

10 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 17 มิถุนายน 2010 เวลา 11:18 (เช้า) ในหมวดหมู่ ภาษา ร้อยกรอง ความคิด #
อ่าน: 2355

 

ถาม         เรื่องสั้น คืออะไร

ตอบ         เรื่องที่ไม่ยาวไง….. (ถูกต้องแล้วคร้าบบบบบบบ) ใช้เม้าท์ลากผ่านจะเห็นค่ะ

 

                มีเรื่องเล่าในวงการอบรมสัมมนาการเขียนเรื่องสั้น วิทยากรบอกว่า มีปัจจัย 4 อย่างที่จะนำความสำเร็จมาสู่การสร้างสรรค์วรรณกรรม ได้แก่เรื่องที่เกี่ยวกับ สาวกผู้สืบทอดศาสนา  ราชวงศ์  ความรัก และเรื่องลึกลับ  จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงเวลาของขั้นตอนการฝึกปฏิบัติจริง  ทุกคนต้องเขียนเรื่องสั้นหนึ่งเรื่อง ภายใน 2 ชั่วโมง

                เวลาผ่านไปไม่ถึง 10 นาที  ก็มีผู้เข้ารับการอบรม เดินถือกระดาษหนึ่งแผ่นเข้ามาส่งให้วิทยากร  เรื่องสั้นของเขามีใจความว่า…

                “คุณพระคุณเจ้าช่วย… เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์อุทาน ตกลงว่านี่ฉันท้องกับใครนะ”

 

 (อูย…เรื่องสั้นและสร้างสรรค์จริง ๆ)

 

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า เรื่องขัน ๆ  การหัวเราะ อารมณ์เบิกบาน

จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา

ทำให้เรามีสุนทรียภาพและมีความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

;)


คนมั่งคั่งสอนลูก

8 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 16 มิถุนายน 2010 เวลา 10:40 (เช้า) ในหมวดหมู่ สังคม ความคิด #
อ่าน: 2821

 

 

           ”…ความไม่ดีของคนอย่าไปพูด ความดีเหมือนผ้าขาวดูง่าย  แต่ความไม่ดีเหมือนสีดำ และถ้าเราไม่รู้จริงและไปว่าคน  เท่าเป็นการทำร้ายเขา คือความไม่ดี ไม่ต้องพูด ให้รู้เพื่อระวัง และสอนไม่ให้อคติ คือท่านบอกว่ามนุษย์ทุกคนมีความไม่ดี อย่าไปโกรธ อย่าไปอคติ แต่ให้เราทำดีเป็นหลัก…

                                                                คุณทิพาภรณ์ เจียรวนนท์  
                                                                ลูกสาวเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

  

สนใจอ่านต่อได้จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (ออนไลน์) บล็อกของคุณMonchai  http://www.oknation.net/blog/monchai83/2010/06/16/entry-1

 

  อ่านความคิดของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผ่านการสอนลูกสาวแล้ว  นึกนิยม “คนมั่งคั่ง

        “คนมั่งคั่ง” ต่างจาก “คนรวย”  เพราะ คนมั่งคั่ง ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การมีเงินทองทรัพย์สินบริวารมากกว่าระดับปกติทั่วไป แต่หมายถึงเป็นคนที่มีความบริบูรณเปี่ยมเต็มทั้งด้านวัตถุเงินทองทรัพย์สิน ความคิด ความรู้สึก ความเป็นมนุษย์ การเข้าใจคน การให้โอกาส และการแบ่งปันเกื้อกูลสิ่งที่ตนมีแก่ผู้คนและสังคมรอบตัว

      ที่เรียกว่า “คนรวย” บางคน มีจิตใจและชีวิตที่อาจเข้าขั้นเรียกได้ว่า “ยากจน” เพราะมีความกริ่งเกรงและกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าจะยากจน ขาดทุน หรือขัดสน จึงมีความตระหนี่ ไม่ยอมเสียเปรียบ เสียสละใด ๆ   คนมีเงินมากบางคนจึงกลายเป็น “คนยากจน” ไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว  ในทางกลับกัน “คนพออยู่พอกิน” หรือคนที่ไม่ได้มีทรัพย์สินมากมาย แต่มีพอใช้พออยู่พอกินตามอัตภาพและรู้จักพอ เขาย่อมมีความสุข และรู้สึกถึง “ความมั่งคั่ง” ในตัวเอง (ไม่รวมถึงคนที่มีหนี้สินล้นพ้น ซึ่งต้องเรียนรู้และอาจต้องมีระบบจัดการเรื่องการเงินในชีวิตที่ดีกว่านี้)

      แน่ล่ะว่า การเป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากนั้นดีแน่ ๆ ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ หากไม่หลงใช้ทรัพย์สินนั้นทำลายความมั่งคั่งของตน และยิ่งจะได้เปรียบในการต่อยอดให้เกิดความมั่งคั่งทั้งทางโลกทางธรรมยิ่ง ๆ ขึ้น ด้วยทรัพย์สินที่ตนมีมากกว่าอีกด้วย 

 

เรามาสร้าง “ความมั่งคั่ง” กันดีกว่านะคะ

 


วารวัน-ความฝัน

5 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 11:32 (เช้า) ในหมวดหมู่ ภาษา ร้อยกรอง ความคิด, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2083

 

 

วันพรุ่งยังอยู่ไกลอาจไม่เกิด

ปล่อยมันเถิดอย่าร้อนไปก่อนไข้

วันวานผ่านผันแล้วให้แล้วไป

อย่าผูกใจไปข้องทั้งสองวัน

แม้วันนี้อิ่มใจระรื่นจิต

 ขอหยุดคิดวันหน้า-หลังอย่าคลั่งฝัน

เรื่องที่แล้วไปแล้วก็แล้วกัน

 เรื่องที่ฝันยังไม่มา…อย่าอาวรณ์”

                              14 มิย.53

P11600411 



Main: 0.095319032669067 sec
Sidebar: 0.040325880050659 sec