ความหมาย

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 1 สิงหาคม 2010 เวลา 11:47 (เช้า) ในหมวดหมู่ สังคม ความคิด #
อ่าน: 2422

:-D

เราทุกคนคือคนพิเศษ

เราเกิดมาด้วยภารกิจหนึ่งที่ได้กำหนดไว้แล้ว

ไม่มีใครที่เกิดมาโดยไร้ความหมาย

เพียงเราค้นพบ ความหมาย นั้นก็พอ

คาริล ยิบราล

P20801788

////

คุยกับเจ้าหลานสาวตัวน้อย

เธอเป็นสาวน้อยวัย 9 ปีเศษ เป็นลูกคนกลางในบรรดาสามใบเถา ธรรมชาตินิสัยของเด็กแต่ละคนย่อมแตกต่างไม่ซ้ำกันเลย เธอเป็นสาวเดียวในสามคนที่ถูกผู้ใหญ่ให้สมญานามว่า เจ้าหนูจาไม เพราะตั้งคำถามกับทุกเรื่องราวที่ประสบ จนบางครั้งคนรอบตัวเธอเกิดปัญหากับการตั้งคำถามของเธอ

เมื่อวานนี้…

เธอวิวาทะกับพี่สาวซึ่งกำลังเข้าสู่วัยรุ่น มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ต้องการให้น้องสาวมาวุ่นวายด้วย เธอพาลโกรธน้องสาวของเธอที่มาเซ้าซี้ให้เล่นด้วย ไม่พูดไม่จา ไม่ยอมทานข้าวกลางวัน คุณตาคุณยาย พ่อแม่ เดือดเนื้อร้อนใจ จึงส่งคุณยายน้อย(น้องสาวคุณยาย)ไปคุยกับเธอ เลยตกที่นั่งทูตสันถวไมตรี

เข้าไปหาที่ มุมส่วนตัว ซึ่งเธอประกาศเป็นอาณาจักรส่วนตัว ห้ามใครเข้าไปใกล้ นั่งหน้ามุ่ยอยู่คนเดียว เลยยกพิซซ่าชิ้นโต (ของโปรดของเธอแหละ) ใส่จานเข้าไปขอนั่งคุยด้วย

คุณยายน้อย: ขอนั่งด้วยได้ไหมจ้ะ

สาวน้อย: ไม่ได้…นี่ที่ของหนู ห้ามใครเข้า… เสียงเขียวเชียว

คุณยายน้อย: อ้าวเหรอ งั้นนั่งข้าง ๆ ก็ได้ ขอนั่งหน่อยนะ กำลังหิวเลย พิซซ่า นี่อร่อย ๆ กินไหมแบ่งให้

สาวน้อย: ไม่กิน…หนูไม่หิวสักหน่อย

คุณยายน้อย: ไม่หิวเหรอ ตามใจ หิวเมื่อไหร่บอกนะ มีอีกเยอะ

สาวน้อย: หน้าบึ้ง แอบกลืนน้ำลายด้วย…ฮา ๆ (จะบ่ายสองโมงแล้วนี่ ไม่หิวได้ไงกัน)

คุณยายน้อย: เออ…ไอ้นี่เขาเรียกอะไรน่ะ ชี้ให้ดูส่วนประกอบบางอย่างของพิซซ่าที่กินอยู่

สาวน้อย: พริกหยวกไง… ปลายเสียงยังสะบัด ๆ

คุณยายน้อย: อ้อ พริกหยวกเหรอ ไม่กินละ เดี๋ยวเผ็ด ๆ

สาวน้อย: เฮ้อ…พริกหยวกน่ะ ไม่เผ็ดสักหน่อย เสียงลอยมารำคาญ ๆ คุณยายน้อยนี่ช่างไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย

คุณยายน้อย: อ้าวไม่เผ็ดเหรอ แหมเพิ่งรู้นะนี่ … ทำทีเป็นกินต่อไป คอยชายตามองปฏิกิริยาของสาวน้อยไปด้วย บ่นลอย ๆ อีกว่า กินไม่ไหวแล้ว อิ่มจัง วันนี้พิซซ่าไม่อร่อยเลย แกล้งบ่น ๆ

สาวน้อย: อิ่มแล้วก็บอกว่าไม่อร่อยน่ะสิ เสียงค่อน

คุณยายน้อย: งั้นมั้ง… เหลือเยอะเลย กินไหม … ไม่บอกใครหรอก…ยื่นเข้าไปให้ทั้งจาน

หลังจากทำทีท่าลังเลสักครู่ แต่ทนการคะยั้นคะยอไม่ไหว สาวน้อยก็รับจานพิซซ่าไปอย่างเสียไม่ได้ คุณยายน้อยก็นั่งอยู่ข้าง ๆ ทำทีไม่สนใจกับการทานอย่างหิวโหยนั้น พอท้องอิ่มอารมณ์เริ่มดีขึ้น หันมายิ้มหวานให้…เลยคุยต่อ ถามว่าเพราะอะไรจึงไม่ยอมทานข้าวเที่ยงกับคนอื่น ๆ เธอพรั่งพรูความรู้สึก แม่สนใจแต่น้องเล็ก พ่อเอาใจใส่แต่พี่สาว คนอื่น ๆ ในครอบครัวก็ตื่นเต้นกับพี่สาวและน้องสาวเธอ ไม่ค่อยมีใครสนใจเธอ …..ฯลฯ

เข้าตำรา เด็กมีปัญหา ลูกคนกลาง เลยแฮะ…เสียงในหัวพิพากษาทันที แต่ช้าก่อน… รอสักหน่อย ฟังสาวน้อยไปเรื่อย ๆ ก่อน… เธอพูดยาวเกินกว่าที่คิดว่าเด็กขนาดนี้จะพูดได้ ท้าย ๆ เธอเริ่มมีน้ำตาด้วยความคับข้องใจ สังเกตดูก็ไม่มีใครในบ้านที่ยกพี่สาวและน้องสาวมาเปรียบเทียบกับเธอแต่เธอรู้สึกเอง ด้วยความเป็นเด็กที่มีความรู้สึกไวกว่าเด็กในวัยเดียวกัน พยักหน้าฟังไปเรื่อย ๆ ไม่พูดไม่ขัดใจ ยิ้มบ้าง จับหัวเธอบ้างเพื่อให้กำลังใจเธอ…

ท้ายที่สุด…ทั้งคนพูดและคนฟังก็หลับเค้เก้อยู่ในอาณาจักรส่วนตัวของสาวน้อยนั่นเอง

เรื่องมาจบลงที่ว่า… กินอิ่มมากตอนบ่าย ๆ ก็เริ่มง่วง คุยไปคุยมาเลยเคลิ้มหลับไป แต่ต้องตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจจากเสียงร้องว่า… ดูสิ หลับกันทั้งคู่เลย ทำอะไรกันน่ะ เออนะให้มาคุยกับหลาน แต่ดันมาชวนกันนอนหลับอุตุ…ยังไงนี่…

โธ่เอ้ย…เรื่องแค่นี้เอง ไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องโตอะไรสักหน่อย ผู้ใหญ่มักโวยวายบ่นว่าตัดสินพฤติกรรมของเด็ก ๆ ว่ามีปัญหา ต้องแก้ไข  … บางเรื่องบางราวอาจเป็นแค่กระบวนการหนึ่งที่เด็ก ๆ กำลังปรับตัว กำลังค้นหาความหมายในชีวิตของเขาก็เป็นได้  เวลาผ่านไป…ก็แค่นั้น ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ไปได้นี่นา

////

หันไปพยักเพยิดแล้วชวนสาวน้อยว่า ไปเล่นโยคะกันดีกว่าเนอะ กินพิซซ่าเข้าไปซะพุงกางเลย เดี๋ยวอ้วนแย่…แล้วค่อยกลับมาช่วยกันวาดรูปประกอบข้อความที่ยื่นให้เธอช่วยอ่านให้ฟัง ของคาริล ยิบราลที่ว่า

เราทุกคนคือคนพิเศษ

เราเกิดมาด้วยภารกิจหนึ่งที่ได้กำหนดไว้แล้ว

ไม่มีใครที่เกิดมาโดยไร้ความหมาย

เพียงเราค้นพบ ความหมาย นั้นก็พอ

////

สาวน้อยยิ้มแป้นตอบรับอย่างกระตือรือร้น เพราะเป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการวาดภาพและระบายสีอยู่แล้ว แต่ไม่วายหันมาถามว่า…

…แล้วเราจะค้นพบ ความหมาย ได้ไงคะ…

////

คุณยายน้อยยิ้มตอบ ชักเข้าเค้าแล้วแฮะ…

ตอบเธอไปว่าไม่รู้เหมือนกัน…แต่เรามาช่วยกันค้นหาก็แล้วกันนะจ้ะ

////

อย่างน้อยเธอก็คงอบอุ่นใจที่มีคนเคียงข้างเธอบ้างล่ะน่า

;)


โครงการฟื้นฟูสุขภาพของศีรษะอโศก

9 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 31 กรกฏาคม 2010 เวลา 12:00 (เช้า) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 10776

:-P

สืบเนื่องจากบันทึก สัมผัส “อโศก” ได้เล่าไว้ถึง โครงการฟื้นฟูสุขภาพ ที่จัดโดยครูขวัญดิน สิงห์คำและครูแก่นฟ้า แสนเมือง หลังจากรวบรวมและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม (จนมั่นใจ)แล้ว พิจารณาเห็นว่ามีหลักการอ้างอิงทางวิชาการจริง จึงนำมาบันทึกไว้ เพื่อเผยแพร่ให้กับผู้สนใจและอาจเป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไป

P20500644

โครงการฟื้นฟูสุขภาพ

ความเป็นมาของโครงการนี้ เนื่องจากมีชาวอโศกที่ป่วยและมีสุขภาพไม่ดี ได้ไปเข้าคอร์สการดูแลสุขภาพที่ประเทศมาเลเซีย จึงนำความรู้ดังกล่าวมาปรับประยุกต์และค้นคว้าเพิ่มเติม จนกลายเป็นโครงการดูแลสุขภาพด้วยวิถีธรรมชาติ (ไม่ใช่ยาซึ่งเป็นสารเคมีทุกชนิด) โดยก่อนที่จะเผยแพร่วิธีการนี้ ได้ทดลองกับชาวอโศกด้วยกันเอง ลองผิดลองถูก พัฒนา ปรับปรุงกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ สมุนไพรที่ใช้ถึง 3 ปี ก่อนจะเปิดให้บริการกับบุคคลที่สนใจทั่วไป เมื่อปี 2552 เป็นครั้งแรก

หลักการสำคัญของกิจกรรมในโครงการนี้คือ การส่งเสริมและช่วยฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิม (Promotion/Rehabilitation) ซึ่งไม่ใช่การรักษา(Cure) บนพื้นฐานของการดูแลสุขภาพด้วยวิถีธรรมชาติแบบองค์รวม (Holistic Health Care) ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่า ร่างกายมีกลไกในการดูแล ปรับสภาพต่าง ๆ ให้อยู่ในภาวะสมดุลได้ด้วยตัวเอง การที่เกิดความเจ็บป่วย เนื่องมาจากการเสียสมดุลของร่างกาย ดังนั้นวิธีการคือ ต้องดูแล ช่วยเหลือให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ เยียวยารักษาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น

P20701488

ครูขวัญดิน สิงห์คำ

คราวนี้ลองมาดูตารางกิจกรรมกัน

ก่อนเริ่มโครงการ

- แนะนำสถานที่,วิทยากร/ทีมผู้ช่วยเหลือดูแล/กิจกรรมที่ต้องทำ

- ลงทะเบียน กรอกข้อมูลด้านสุขภาพ

- ตรวจสุขภาพ วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจธาตุ

เจ้าเรือน วัดความเป็นกรด-ด่างน้ำลาย ฯลฯ

วันที่ 1-2-3

ในระหว่างวันควรดื่มน้ำข้าวกล้องงอก น้ำสมุนไพร น้ำด่างบ่อย ๆ เมื่อรู้สึกหิว อ่อนเพลีย หรือผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งทีมวิทยากร/ผู้ดูแล

รายละเอียดในระหว่างวัน

04.30-05.30

ตื่นนอน,ภารกิจส่วนตัว

05.30-06.00

ออกกำลังกายเดินอย่างน้อย 20 รอบพร้อม

อมน้ำมันมะพร้าวกลั้วในปาก

06.00-06.30

ดื่มน้ำข้าวกล้องงอก/น้ำสมุนไพร 5 แก้ว ดื่มไปเรื่อย ๆ

06.30-09.00

แช่เท้า 30 นาที,พอกหน้าด้วยสมุนไพร

ทำดีท็อกซ์ สวนล้างลำไส้

09.00-09.15

ดื่มน้ำขับพิษ 1 แก้ว

09.15-12.00

เช็คสุขภาพ นวด จัดกระดูก ฝังเม็ดผักกาด

(ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและสภาพของแต่ละคน)

12.00-12.15

ดื่มน้ำสมุนไพรขับพิษ 1 แก้ว

12.15-15.00

ชมวีดีทัศน์/ภาพยนตร์/ฟังบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพ

15.00-15.15

ดื่มน้ำสมุนไพรขับพิษ 1 แก้ว

15.15-17.00

ชมวีดีทัศน์/ภาพยนตร์/ฟังบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพ

17.00-18.00

พักผ่อนตามอัธยาศัย (ชมสวนสมุนไพร,สวนครัว)

ทำดีท็อกซ์ สวนล้างลำไส้

18.00-20.00

สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ/ฟังธรรม/นั่งสมาธิ

20.00-21.00

พักผ่อนตามอัธยาศัย

21.00-

เข้านอน

วันที่ 4

ช่วงเช้าจนเที่ยง เหมือนวันที่ 1-3

12.00-12.15

ดื่มน้ำมะละกอดิบ 1 แก้ว ช่วยให้ขับนิ่วในไตและถุงน้ำดี

13.00-13.15

ดื่มน้ำมะพร้าว ช่วยลดความปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

16.40-18.00

ทำดีท็อกซ์จนลำไส้สะอาด(อาจมากกว่า1ครั้ง)

18.00-18.15

รับประทานดีเกลือครั้งที่ 1

18.15-20.00

พักผ่อนตามอัธยาศัย

20.00-20.15

รับประทานดีเกลือครั้งที่ 2

20.15-22.00

ชมวีดีทัศน์/ฟังบรรยายเกี่ยวกับสุขภาพ/พักผ่อน

22.00-22.15

ดื่มน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาว 300 cc

22.15-

พักผ่อนตามอัธยาศัย หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรนอนตะแคงขวาหรือนอนหงายยกศีรษะสูง

หลัง 02.00

หากมีการขับถ่ายให้เริ่มเก็บสิ่งขับถ่ายไว้ในถังที่เตรียมไว้ เพื่อให้ทีมวิทยากร/ผู้ดูแลได้วินิจฉัยต่อไป

วันที่ 5

ช่วงเช้าจนถึง 10.30 น. ภารกิจเหมือนวันอื่น ๆ

10.30-11.00

ทำดีท็อกซ์ สวนล้างลำไส้ และเก็บสิ่งขับถ่ายไว้เพื่อการวินิจฉัยดูแล

11.00-

รับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ผักลวก ผลไม้ อาหาร ทานครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ

12.00-13.00

สรุปการเข้าร่วมโครงการ ฯ แนะแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อปรับสมดุล การใช้ชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี

13.00

ปิดโครงการ ฯ

P20801822

สวนสมุนไพร และสวนสำหรับเดินออกกำลังกาย

รายละเอียดในแต่ละวัน มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ตารางประจำของโครงการ ฯ คือ เริ่มโครงการในทุกวันที่ 5, 15 และ 25 ของเดือน (ยกเว้นมีงานเร่งด่วนของชุมชนและทีมวิทยากร)

///

หากพิจารณากิจกรรมต่าง ๆ จะเห็นว่าเน้นการสวนล้างลำไส้หรือที่เรียกกันว่า การดีท็อกซ์ เช้า-เย็น การอดอาหารเพื่อสุขภาพ (Fasting) การใช้สมุนไพร (13 ชนิด) ในการทำความสะอาดและกระตุ้นการทำงานของตับและถุงน้ำดีให้ทำงานได้เต็มที่ การแช่เท้าล้างพิษ การออกกำลังกาย การดูแลด้านจิตใจด้วยการฟังธรรม/นั่งสมาธิ

ลองมาดูกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

การทำดีท็อกซ์ (Detoxification) หรือการสวนล้างลำไส้ มีผลให้ทางเดินอาหารและลำไส้สะอาด ผลก็คือเมื่อทางเดินอาหารและลำไส้สะอาด ก็จะดูดซึมสารอาหาร วิตะมิน เกลือแร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สารพิษที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายไม่สมบูรณ์และคั่งค้างในระบบทางเดินอาหารถูกขับออกไป

///

การอดอาหารเพื่อสุขภาพ (Fasting) ศาสตร์ของFasting นี้ เน้นหลักการที่ว่าให้ร่างกายได้หยุดการรับสารพิษต่าง ๆ จากอาหารและจากกระบวนการสันดาปอาหาร (Metabolism) เป็นที่รู้กันดีว่า พลังงานร้อยละ 80 ที่เราใช้ในแต่ละวันนั้น เราใช้ไปกับกระบวนการย่อยอาหาร การกำจัดของเสียต่าง ๆ ที่เกิดจากกระบวนการย่อยอาหาร ดังนั้นเมื่อไม่ได้กินอาหาร ไม่มีกระบวนการสันดาปอาหาร ร่างกายก็มีเวลาและใช้พลังงานไปในการดูแล ฟื้นฟู เยียวยาร่างกายตัวเอง

เปรียบเทียบง่าย ๆ ให้เห็นชัดคือการอดอาหารนั้น เหมือนคนที่ทำงานประจำได้หยุดงานอยู่บ้าน เมื่อไม่ต้องทำงานประจำที่ทำทุกวัน (การกิน,กระบวนการย่อยสลาย,กำจัดของเสีย) จึงมีเวลาในการมาเก็บกวาดบ้าน นั่นคือ ร่างกายจะเยียวยาความสึกหรอ/ป่วยไข้ที่แฝงเร้นอยู่ได้

///

การทำความสะอาดและกระตุ้นการทำงานของตับและถุงน้ำดีด้วยน้ำยาสมุนไพร(13 ชนิด)ที่ดื่มวันละ 3 ครั้ง และน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาว ซึ่งถูกดูดซึมตรงเข้าไปยังตับและถุงน้ำดี ทำการเก็บกวาดไขมันและสารพิษ รวมทั้งนิ่วในถุงน้ำดีที่ถูกสมุนไพรกัดเซาะไว้ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา ให้ออกมาสู่ลำไส้ใหญ่และขับถ่ายออกมาในวันรุ่งขึ้น

หลักการนี้ใช้แนวคิดเรื่อง นาฬิกาชีวิตซึ่งเผยแพร่โดยอาจารย์สุทธิวัสส์ คำภา ที่กล่าวไว้ว่าถุงน้ำดีจะเปิดตอนห้าทุ่ม-ตีหนึ่ง การดื่มน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาวจะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับและถุงน้ำดีโดยตรง ส่งผลให้เก็บกวาดและทำความสะอาดตับและถุงน้ำดี ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

////

จากประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งเป็นคนติดกาแฟ ดื่มกาแฟวันละ 2-3 แก้ว(เป็นอย่างน้อย)ทุกวัน หากไม่ดื่มจะปวดศีรษะ คิดอะไรไม่ออก หงุดหงิดโดยไม่มีเหตุอันสมควร แถมจากที่เคยทานอาหารวันละหลายมื้อ กลับไม่ได้ทานอะไรเลย ดื่มได้แต่น้ำสมุนไพรผสมน้ำผึ้งและน้ำด่างที่เตรียมให้เท่านั้น จึงเกิดอาการหิวมากจนตาลาย ปวดศีรษะ (เพราะไม่ได้ดื่มกาแฟ) ที่ตั้งใจจะไปเก็บข้อมูลงานวิจัยของตัวเองนั้น เป็นอันว่าพับไปอย่างสิ้นเชิง ยังดีที่ในวันต่อมาอาการหิวและอาการขาดกาแฟลดน้อยหายไป เริ่มคิดออก ทำงานได้ และจนวันที่ 3 จนถึงจบโครงการก็ไม่รู้สึกหิวหรือปวดศีรษะอีกเลย

ต้องบันทึกเพิ่มเติมไว้อีกประเด็นหนึ่งคือ รู้ได้อย่างไรว่าตับและถุงน้ำดีได้รับการกระตุ้นและทำความสะอาด นั่นคือ หลังจากการอดอาหารติดต่อกัน 4 วัน และได้มีการสวนล้างลำไส้เช้า-เย็น กากอาหารต่าง ๆ ที่คั่งค้างมาตลอดชีวิต (ที่ไม่เคยปัดกวาดล้างออกเลย) ย่อมมีน้อยหรือเหลือน้อยที่สุด ดังนั้นเมื่อวันที่ 4 ซึ่งทานดีเกลือ (มีคุณสมบัติเป็นยาถ่าย) และน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาวเข้าไป จึงตรงไปเก็บกวาดไขมันที่พอกตามเซลล์ตับ (อาการ “ไขมันพอกตับ”) รวมทั้งไปจัดการกวาดล้างนิ่วเม็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในถุงน้ำดีออกมาด้วย  ประจักษ์พยานคือ สิ่งขับถ่ายที่เก็บไว้จากการสวนล้างลำไส้ในตอนเช้าของวันสุดท้าย…

หากไม่ได้เห็นด้วยตาตนเองก็คงยากที่จะเชื่อแน่นอนก็คือ ไขมันย่อมลอยตัว สิ่งที่ออกมาเป็นหลักฐานของแต่ละคนจะบอกถึงพยาธิสภาพที่เป็นอยู่ ไขมันที่ออกมาจากตับจะมีเป็นก้อน ๆ เล็ก-ใหญ่ต่างขนาดกันไปลอยฟ่องอยู่ในถังที่เก็บสิ่งขับถ่าย มีไขมันเม็ดเล็ก ๆ ลอยเป็นแพอยู่ด้านบน ส่วนนิ่วในถุงน้ำดีนั้นมีลักษณะเป็นเม็ดขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยจนถึงเท่านิ้วหัวแม่มือ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ จะมีเซลล์สีขาวคล้าย ๆ แมงกะพรุนลอยอยู่ระหว่างน้ำและไขมันด้วย

สำหรับ ตัวเองนั้นสิ่งที่ออกมาจากลำไส้ทำให้ตกใจตัวเอง…เพราะเต็มไปด้วยก้อนไขมันจากตับก้่อนเล็กก้อนน้อยหลายขนาด มีเม็ดนิ่วสีเขียวเข้มเล็ก ๆ ติดมาด้วย (ซึ่งจากการตรวจร่างกายประจำปี ผลเลือดต่าง ๆ ไม่มีอาการผิดปกติหรือปัญหาใด ๆ เลย) และที่มีค่อนข้างมากก็คือ ไขมันเม็ดเล็ก ๆ ละเอียด ๆ ที่ลอยฟ่องอยู่จำนวนมาก ซึ่งไขมันเม็ดเล็ก ๆ นี้ครูขวัญดินบอกว่าบ่งบอกว่า หูมีปัญหา” อาจจะหูอื้อ หูตึง หรือการได้ยินไม่สมบูรณ์…ทึ่งเลย เพราะส่วนตัวมีปัญหาเรื่อง “การได้ยิน” จริงดังที่ครูว่า…

พี่ป้าน้าอาและวิทยากรหลายท่านบ่นว่า … อะไรกัน ดูสุขภาพก็ดีออก ตัวเล็กแค่นี้ ชอบกินแต่ผักผลไม้ แล้วทำไมไขมันมากมายขนาดนี้ล่ะนี่!!! ... ฮา ๆ ขำ ๆ บอกไปว่า…อย่าเชื่อสิ่งที่เห็นเชียวนะ… ^_^

////

หลังจากจบโครงการและเดินทางกลับบ้าน สิ่งที่ทำให้แปลกใจก็คือ ไม่นึกอยากดื่มกาแฟอีก ดื่มก็ได้ ไม่ดื่มก็ไม่เป็นไร ช่วงบ่าย ๆ จากที่มักจะง่วง ๆ ซึม ๆ หลังอาหารกลางวัน จนต้องดื่มกาแฟให้สดชื่น ก็ไม่ต้องดื่มอีกต่อไป ทำงานได้จนเย็นอย่างสบาย ปัญหาเรื่องหูอื้อ ปวดหูก็ทุเลาไปมาก และรู้สึกว่าร่างกายสดชื่นขึ้นกว่าเดิมจริง ๆ

///

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง…

ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ค่ะ

;)

///

หากสนใจเข้าร่วมโครงการ ต้องโทรไปแจ้งกับคุณเล็ก เบอร์โทร 085 0240 582 ก่อนเนื่องจากรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนจำกัดในแต่ละรุ่น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ค่ะ (ยกเว้นค่าใช้จ่ายส่วนตัว ของใช้อุปกรณ์ส่วนตัวบางรายการ ซึ่งต้องจัดหาซื้อเอง)


ตัวสับไก

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 30 กรกฏาคม 2010 เวลา 12:15 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 1407

:-?

คุยกับเพื่อนเก่าที่คบหากันมาตั้งแต่เรียนมัธยม คุยมากมายหลายเรื่อง สมัยเรียนด้วยกันเพื่อนคนนี้เรียนเก่งระดับต้น ๆ ของห้อง เข้าเรียนคณะที่มีชื่อเสียงในมหาวิทยาลัยจบด้วย เกียรตินิยมอันดับ 2 หลังแต่งงานมีครอบครัวไม่ได้ทำงาน แต่ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ดูแลครอบครัวและลูกเล็ก ๆ อีก 2 คน อยู่ในวัยกำลังซน

เพื่อนเล่าถึงความรู้สึกของการเป็น แม่บ้านที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องทำหน้าที่นี้เลย และยังบอกว่าความรู้ในห้องเรียน จากตำราที่หามาอ่านและศึกษาใช้เกือบไม่ได้เลยกับการรับบทบาทเป็น แม่บ้าน ยิ่งฟังยิ่งทึ่ง ชีวิตของการเป็นแม่บ้านที่เพื่อนเล่านี้ เป็นงานหนักและสำคัญราวกับ แม่ทัพในการศึกทีเดียว

หลังคุยกันกลับมาคิดต่อว่า ความจริงการที่เรามี ความรู้ ในเรื่องใด ๆ ก็ตาม ต่อให้รู้มากเพียงใด เราต้องเข้าใจด้วยว่า ความรู้นั้นจะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร และยังต้องรู้ไปให้ลึกกว่าการใช้ความรู้นั้นอีกว่า เมื่อนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริงแล้ว … จะเกิด ผล อย่างไรในการใช้ความรู้นั้น

คิดเลยเถิด…ไปถึงบางเรื่องราว เรามีความรู้มากมาย ใช้ความรู้นั้น แต่คนเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะสามารถคาดได้ถึง ผลที่จะเกิดตามมาอย่างแม่นยำ…

มันเป็นเพราะอะไรนะ?

เรื่องของเพื่อนทำให้คิดต่อว่า เราใช้สิทธิ (Right/Authority) ของการมีความรู้และใช้ความรู้นั้น แต่เราไม่ค่อยเคยคำนึงถึง ภาระหน้าที่ (Duty/Mission) นัก เราจึงมักจะเอะอะ บ่นว่ายามที่เราเห็นคนอื่นไม่ได้อย่างใจของเรา การมองเพียงแง่มุมของตัวเองและมุมที่ตนเองคิดว่าดีว่าใช่ โดยไม่ได้มองว่า จริง ๆ แล้วจากสิทธิที่เรามีและใช้นั้น เราต้องเคารพ ภาระหน้าที่ ซึ่งเป็นของคู่กันกับ สิทธิ นั้นด้วย…

การที่เราตระหนักในภาระหน้าที่ของเรา ทั้งต่อตนเองและคนอื่น สังคมและโลก ช่วยส่งเสริมให้เรามองเห็น “ผล” ที่จะตามมาได้ชัดได้ง่ายขึ้นมากเลย

เอาล่ะ…พอจะเข้าใจบ้างแล้วว่า ตัวสับไก ของการมีความรู้ ใช้ความรู้เป็น และสามารถมองเห็นผลที่จะเกิดได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพคือ การตระหนักและให้ความสำคัญกับ ภาระหน้าที่ ของเราควบคู่ไปด้วยกันนี่เอง

:-D

คิดได้แล้วยิ้มเลย…ลองทำดูสักทีน่าจะดีนะ


โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ

4 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 29 กรกฏาคม 2010 เวลา 7:43 (เช้า) ในหมวดหมู่ เรื่องเรื่อยเปี่อยตามอารมณ์ #
อ่าน: 3287

<

โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่เคยสมบูรณ์เลย

มนุษย์ คือโรงงานผลิตความบกพร่อง

เก็บมาจากศีรษะอโศก.

+

เพราะ ไม่รู้จักพอ

…ใจจึง ขาดพร่อง

ความขาดพร่องในใจทำให้ทุรนทุราย อยากได้อยากมีอยากเป็น อยาก อยาก อยาก …..ไม่รู้จบ

โลกจึงคล้ายกับ พร่องอยู่เป็นนิจ…ไม่เคยสมบูรณ์เลย

1

แล้วควรทำอย่างไร?

ไม่ต้องทำอะไรเลย นิ่งมอง เฝ้าดู รู้ เห็น ยอมรับให้ได้

แล้ว…ช่องว่างที่ขาดพร่อง นั้น ก็จะค่อย ๆ เต็มตื้นขึ้นอย่างช้า ๆ

1

เท่านั้นเองหรือ?

โลกภายใน ที่เต็มเปี่ยม จะไปช่วยเติมเต็ม

โลกภายนอก ที่ขาดพร่องนั้นเอง…

1

ทำไมล่ะ?

เพราะในความเป็นจริง โลกนี้งดงามสมบูรณ์แบบ สอดคล้องกลมกลืนอยู่แล้วเป็นธรรมดา

1

เพียงเราอย่าบิดเบือนความจริงนั้นเสียก็แล้วกัน

1

หน้าที่เราก็เพียงตามรู้ ตามดู ให้เห็นให้เข้าใจ … และช่วยกันเติมเต็มความขาดพร่องนั้น ทั้งภายในใจตนเองและผู้อื่นอย่างเมตตาและปรารถนาดีต่อกัน…

123

ก็ฟังดูไม่ยากนะ

เพียงจะทำได้แค่ไหนเท่านั้นเอง…

;-)


โลก-ปรองดอง

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 28 กรกฏาคม 2010 เวลา 9:31 (เช้า) ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ #
อ่าน: 2799

โลก …. อังคาร กัลยาณพงศ์

โลกนี้มิอยู่ด้วย

มณี เดียวนา

ทรายและสิ่งอื่นมี

ส่วนสร้าง

ปวงธาตุต่ำกลางดี

ดุลยภาพ

ภาคจักรพาลมิร้าง

เพราะน้ำ แรงไหน ฯ

ภพนี้มิใช่หล้า

หงส์ทอง เดียวเลย

กาก็เจ้าของครอง

ชีพด้วย

เมาสมมุติจองหอง

หินชาติ

น้ำมิตรแล้งโลกม้วย

หมดสิ้น สุขศานต์ ฯ

โคลงบทนี้ โดนใจจริง ๆ …

อันเนื่องมาจากการไปพักอาศัยในศีรษะอโศก ชุมชนพึ่งตนเอง เป็นชุมชนของคนกินอาหารมังสวิรัติ กินทุกอย่างที่ตนเองปลูก ปลูกทุกอย่างที่ตนเองกิน ชาวอโศกยึดมั่นในคำของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า

อาหารเป็นหนึ่งในโลก

ดังนั้นอาหารหลักของชาวอโศกคือ พืช ผัก ผลไม้ และเขาเหล่านั้น คิดว่าต้องสร้างอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคเอง

ชาวอโศกปลูกพืชผักผลไม้ โดยไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีทุกประเภท แต่ผลิตปุ๋ยชีวภาพขึ้นใช้เอง มีการพัฒนาปรับปรุงสูตรปุ๋ยต่าง ๆ ที่ปลอดภัยและใช้ได้ผลดี เมื่อเหลือจากการใช้ภายในชุมชนแล้ว จึงจะแจกจ่าย และขายในราคาต่ำเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยชีวภาพ

ครูแก่นฟ้า แสนเมืองเล่าว่า แรก ๆ มุ่งพัฒนาปรับปรุงปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพก็เพื่อนำมาใช้กับพืชผักผลไม้ที่ต้องกินต้องใช้ ต่อมาคนเข้ามาเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ต่าง ๆ สนใจจึงแบ่งปันไปให้ใช้ หลัง ๆ มีกลุ่มเกษตรกรสนใจมากขึ้น จึงสอนและเผยแพร่ความรู้ด้านกสิกรรมไร้สารพิษ เน้นให้ลดการใช้สารเคมี เพื่อคุณภาพของผักผลไม้และสุขภาพของเกษตรกรเอง รวมทั้งยังช่วยลดรายจ่ายจากการต้องซื้อปุ๋ยเคมีจากบรรษัทยักษ์ใหญ่อีกด้วย

แต่…สิ่งซึ่งคนต่างถิ่น เช่นตัวเองต้องเผชิญและสู้รบตบมือด้วยก็คือ แมลงต่าง ๆ ทั้งแมลงวัน แมลงหวี่ แมลงหางแข็ง มด ยุงที่อุดมสมบูรณ์มากมาย เพราะเป็นชุมชนที่ไม่ได้ใช้สารเคมีใด ๆ เลยนี่เอง

วันแรกที่ไปเกือบแย่…เพราะโดนแมลงตอมเสียจนนั่งไม่ติด (สงสัยผิดกลิ่น) พอย่ำเย็นยุงก็ออกมาเป็นกองทัพ ปวารณาตัวรับศีลห้า มีข้อปาณาติบาต ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อูย…ตบยุงก็ไม่ได้ จะไหวมั๊ยนี่เรา…

จัดการหายากันยุงและแมลงสูตรตะไคร้ทาตัว ค่อยทุเลาไปบ้าง สังเกตดูแมลงต่าง ๆ ไปตอมกลุ่มคนที่มาใหม่ … ฮา ๆ (คงเริ่มชินกับกลิ่นเรา คนมาใหม่ก็ผิดกลิ่นอีก)

ลองคุย(แกมบ่นเล็ก ๆ) กับครูภูมิปัญญาไทย ครูขวัญดิน สิงห์คำ ว่าทำไมมด แมลงต่าง ๆ มากมายจัง อ่านหนังสือไม่ได้เลย…

ครูขวัญดิน หัวเราะท่องโคลงท่อนหนึ่งให้ฟังว่า…

ภพนี้มิใช่หล้า

หงส์ทอง เดียวเลย

กาก็เจ้าของครอง

ชีพด้วย

ฟังแล้วอึ้งไปนิดหนึ่ง ครูบอกต่อว่า นกหนู มดแมลงก็เป็นเจ้าของโลกนี้เช่นเดียวกับเรา เพียงแต่เราอยู่ได้นานกว่าเขา เขาอยู่เพียงไม่กี่เดือนกี่วัน เราเองก็ควรปรับตัวให้เข้ากับเขา ยอมรับเขาด้วย ต้องปรองดองอยู่ร่วมกันอย่างไม่เบียดเบียนกัน จะได้มีความสุขกันถ้วนหน้า

จริงด้วยสินะ…โลกนี้เป็นสมบัติของสรรพสิ่ง เรามิใช่เจ้าของโลกแต่เผ่าพันธุ์เดียวเสียหน่อยเลย ทั้งพืชพันธุ์ไม้ สัตว์เล็กสัตว์น้อย และมนุษย์ ก็ล้วนเป็นเจ้าของและเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายกับเราด้วยกันทั้งนั้น

1234

ดีใจที่วันต่อ ๆ มา แมลงและยุงเริ่มเป็นมิตรกับเรา…

ไม่ค่อยมาไต่ตอมรบกวนอีกแล้ว ค่อยยังชั่วหน่อย

:-D

1234


สัมผัส “อโศก”

3 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 26 กรกฏาคม 2010 เวลา 11:21 (เย็น) ในหมวดหมู่ วิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ทำ #
อ่าน: 3746

1234

มีโอกาสได้สัมผัสกับ ชาวอโศก เป็นเวลา 5 วันเต็ม (16-20 กค.53)

ที่ชุมชนศีรษะอโศก อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นการลงไปสำรวจพื้นที่ซึ่งจะใช้เก็บข้อมูลในงานดุษฎีนิพนธ์ของตัวเอง ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้เดินทางไปชุมชนนี้ เคยได้ไปเยี่ยม (แบบผ่าน ๆ ไม่ได้ค้างคืน) 3 ครั้ง เป็นการไปในฐานะกรรมการและเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการ ฯ ทำหน้าที่ประเมินผู้สมควรได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทยจากสำนักงาน ฯ และลงไปติดตามประเมินผลการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำนักงาน ฯ สนับสนุนงบประมาณให้ครูภูมิปัญญาไทย (จำนวนหนึ่ง)

ครูภูมิปัญญาไทยท่านหนึ่งในลานปัญญา คือ พ่อครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 ด้านเกษตรกรรม ค่ะ

ความรู้สึกครั้งนี้ไม่แตกต่างกับครั้งก่อน ๆ นัก เนื่องจากคุ้นเคยและมีความชื่นชมในตัวครูภูมิปัญญาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม…

1234

จะว่าไปแล้วโดยส่วนตัวมีความชื่นชมและเคารพยกย่อง ปราชญ์ชาวบ้าน ทุกท่าน แต่ละท่านที่ได้สัมผัส มีคุณสมบัติ ทั้งความดี ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเสียสละ และความชำนาญในภูมิปัญญาไทยด้านต่าง ๆ มากน้อยหลากหลายแตกต่างกันไป แม้ปราชญ์หลายท่านจะไม่ได้รับการยกย่องให้เป็น ครูภูมิปัญญาไทย ก็ตามที

สำหรับชุมชนศีรษะอโศก มีผู้นำเสนอข้อมูลไว้แล้วจำนวนมาก (จึงไม่กล่าวถึงในบันทึกนี้) และมีครูภูมิปัญญาไทย 2 ท่านคือ ครูแก่นฟ้า แสนเมือง และครูขวัญดิน สิงห์คำ ผู้นำฝ่ายฆราวาสของชุมชนศีรษะอโศก ซึ่งทั้งสองท่านเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3

การไปสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ มีผลพลอยได้คือ ได้เข้าไปร่วมใน โครงการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่ครู ฯ ทั้งสองท่านจัดให้เป็นบริการสังคม โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ยกเว้นอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวบางชนิดที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องจัดการหาซื้อเอง

ครั้งแรกเพียงตั้งใจไปสำรวจและทำความคุ้นเคย(Rapport) กับพื้นที่/กรณีศึกษา และใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participant observation) ซึ่งเป็นวิธีการในการเก็บข้อมูลบางส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพ แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ประกอบกับมีความสนใจเป็นส่วนตัวด้านการดูแลสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งได้ศึกษาด้วยตนเองมาระยะหนึ่งแล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฟื้นฟูสุขภาพด้งกล่าว (จะบันทึกถึงโครงการฟื้นฟู ฯ ภายหลัง) ซึ่งหากไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ฯ นี้ คงน่าเสียดายมาก ๆ

บันทึกนี้เกิดขึ้น เนื่องจากความประทับใจในวิถีของ ชาวอโศก หลาย ๆ คนที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกัน ชาวอโศกเป็นผู้ที่กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก และใช้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง แม้สมณะชาวอโศกจะเคยมีประวัติของการแตกแยกด้านแนวคิด ความเชื่อและวัตรปฏิบัติ จนแยกตัวออกมาจากมหาเถรสมาคม อันเป็นสถาบันหลักทางศาสนาของชาติ

ความแตกต่าง คงไม่ใช่สาเหตุหลักของ การแยกตัว (ประเด็นนี้จะไม่กล่าวถึงในบันทึกนี้) สำหรับสิ่งที่ได้สัมผัสสัมพันธ์ด้วยตนเองนั้น ต้องยอมรับว่าชื่นชมและประทับใจจนเกรงว่าจะเกิด อคติ ในการเก็บข้อมูล ส่งผลต่อคุณภาพของผลการวิจัย ซึ่งต้องระวังอย่างยิ่งในเรื่องของการตีความ/แปลความข้อมูลที่ได้มา…

1234

ปิดท้ายบันทึกนี้  ด้วยข้อความใน Field note (บันทึกภาคสนาม) ของตัวเองที่ว่า

…แม้เสื้อผ้าที่สวมใส่จะเป็นสีน้ำเงินหม่นมัวไม่สดใส เก่าๆ ปอนๆ แต่…ความสุกใสสะอาดจาก ภายในใจ ของชาวอโศกเหล่านี้ เปล่งประกายงดงามกระจ่างตากระจ่างใจจริง ๆ…”

1345

รอยยิ้มจากใจของพี่ ๆ ชาวราชธานีอโศกที่อายุกว่า 50 ปีแล้ว

///

น้อมคารวะคุณครูภูมิปัญญาไทยทุกท่านค่ะ

1234


มาเพิ่ม “กำลังใจ” กันเถอะ

3 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 26 กรกฏาคม 2010 เวลา 1:58 (เย็น) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต #
อ่าน: 2513

1234

สวัสดีวันอาสาฬหบูชาค่ะ

วันนี้เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา บางท่านเรียกว่า วันธรรมจักร หรือ วันพระสงฆ์ (มีพระสงฆ์รูปแรกเกิดขึ้น) ซึ่งทำให้เกิดพระรัตนตรัยครบองค์สามเป็นครั้งแรก คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประวัติและความสำคัญคงไม่ต้องเขียนซ้ำนะคะ

วันสำคัญทางศาสนา เป็นวันหยุด หลายคนได้พักจากการทำงานประจำ บางคนยังต้องไปทำงาน บางคนอยู่บ้านพร้อมกับงาน…

ส่วนตัวขณะนี้เป็น คนว่างงาน(ประจำ) แต่ทำงานส่วนตัว ซึ่งก็มีทั้งงานที่อยากทำ ชอบทำ และงานที่ต้องทำทั้งที่ไม่อยากทำ ไม่ชอบทำ

ดู ๆ ไป มนุษย์นี่ช่างวุ่นวายจริงหนอ สร้างสรรค์เรื่องราว ระบบ และสมมุติบัญญัติมากมาย จนบางทีก็ลืมไปกลายเป็น ทาสของสิ่งสมมุติที่ตัวเองสร้างขึ้นมานั้นเอง… (พอดีกว่า ฟุ้งกระจายเกินไปแล้ว…) เมื่ออยู่ในวังวนของสมมุติบัญญัติต่าง ๆ มากเข้า กายก็เหนื่อย ใจก็ล้า…

สำหรับร่างกายนั้น ข้อแนะนำก็คือต้องมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับอายุ เพศ สรีระ ให้สม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งหลายท่าน ต่างมีวิธีที่เหมาะสมสำหรับตัวเองอยู่แล้ว แถมยังหาข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายทั่วไป


แล้ว…ทางใจหรือทางจิตใจเล่า… จะดูแลอย่างไร?

หลายคนบ่นเหนื่อย ท้อแท้ เพราะถูกกระทบกระแทกด้วยโลกธรรม จากเพื่อนร่วมงานที่มีศรัทธา มีศีล มีกรรมไม่เสมอกัน ดังนั้นกำลังใจจึงนับว่าสำคัญอย่างยิ่ง

แล้วกำลังใจนี่ จะได้มาจากไหนกัน

จากเพื่อน จากกัลยาณมิตร ฯลฯ แต่ที่สำคัญคนอื่นหรือสิ่งอื่นภายนอกนั้น แม้ให้กำลังใจกันเท่าไรก็คงไม่ยั่งยืน ให้ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว สักพักก็ห่อเหี่ยวทดท้อเหมือนเดิม …

ได้คุยกับครูภูมิปัญญาไทย

ครูแก่นฟ้า แสนเมือง (http://province.m-culture.go.th/sisaket/gasad.htm) ท่านให้ข้อคิดเกี่ยวกับ อินทรีย์พละ 5 ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เปี่ยมคุณค่า จึงลองค้นหาและนำมาบันทึกไว้เพื่อเป็นของขวัญชิ้นเล็ก ๆ แด่กัลยาณมิตรในวันอาสาฬหบูชานี้ค่ะ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านได้อรรถาธิบายไว้ว่า พละ 5 หรือ อินทรีย์พละ 5 (http://www.kanlayanatam.com/sara/sara72.htm)  คือ หมวดข้อธรรมที่เป็นเครื่องมือสำหรับ บำรุงใจ ให้มีกำลัง ประกอบด้วย ศรัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ กำลังทั้ง 5 นี้เป็นข้อที่ควรได้ศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ เราจะได้มีพละกำลังทั้งทางกายและทางใจในการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งเราต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา

1234

รายละเอียดของอินทรีย์พละ 5 คือ

ศรัทธาพละ : พลังแห่งความเชื่อแน่วแน่ในคุณงามความดี เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำเช่นไรได้เช่นนั้น ตนทำตนต้องได้รับผลนั้น

วิริยพละ : กำลังแห่งความเพียรพยายาม ไม่ลดละ ไม่ละทิ้งกิจการใด ๆ กลางคัน ทั้งการประกอบการงาน การใช้ชีวิต และการรักษาศีล

สติพละ : กำลังแห่งสติจดจ่อตั้งมั่นอยู่ในเรื่องใด ๆ ความระลึกได้ เมื่อมีศรัทธา วิริยะแล้วต้องมีสติควบคุมไว้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ผิดหรือถูก ถูกต้องตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่

สมาธิพละ : กำลังแห่งความตั้งจิตมั่น เป็นหลักใหญ่สำคัญ เพราะเมื่อมีศรัทธา วิริยะ สติ แล้ว ต้องรวมมาเป็นสมาธิให้ได้ ถ้าไม่รวมเป็นสมาธิจะทำให้คิดผิดเห็นผิดไปได้

ปัญญาพละ : กำลังแห่งความรู้ทั่ว รู้ชัดแจ้งแทงตลอด มีปัญญาพิจารณาเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง

อินทรีย์พละ 5 นี้ ครูบาอาจารย์ท่านสรรเสริญว่านอกจากเป็นธรรมที่ช่วยบำรุงให้ใจมีกำลังเข้มแข็งแล้ว ยังช่วยให้เกิด สมาธิอันนำไปสู่ ปัญญาเข้าใจและมีกุศโลบายที่จะทำให้ลุล่วงมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด

1234

ขอให้กัลยาณมิตรทุกท่านมีกำลังใจที่เข้มแข็งบริบูรณ์ ไม่ทุกข์ ไม่ท้อและเปี่ยมล้นปัญญา อันเกิดจาก อินทรีย์พละ 5 ค่


มิตรคนที่ 7

6 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 25 กรกฏาคม 2010 เวลา 1:44 (เย็น) ในหมวดหมู่ สังคม ความคิด #
อ่าน: 2534

1234

จากบันทึก มิตร 6 คน

ทำให้ต้องมานั่งขมีขมันทำ Check list ก็พบว่าตัวเองมีมิตรทั้ง 6 ประเภท มากน้อยต่างกันไป ที่น่าแปลกใจก็คือ มีประเภทที่ 1 (คอยห่วงใยถามไถ่ตักเตือน) และประเภทที่ 6 (มีประสบการณ์และอายุมากกว่า) มากที่สุด …สงสัยเราจะเป็นพวกแก่แดดแก่ลมแน่เลย...ฮา ๆ ๆ ๆ

1234

นั่งคิดไปคิดมา ยังมีมิตรอีกประเภทหนึ่งที่จะหลงลืมไม่ได้ เพราะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามิตรทั้ง 6 ประเภทที่ว่า นั่นคือ มิตรที่คอยขัดคอขัดใจ

ไม่ทราบใครเคยพบบ้างหรือไม่ สำหรับคนบางคนนั้น เราตระหนักชัดอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นคนดี คนเก่ง มีความรู้ และเปี่ยมประสบการณ์ แต่พอคุยด้วยทีไร เป็นอันต้องเกิดอาการ จิตตก (ยกไม่ทัน) เหมือนถูกตำหนิอยู่เรื่อย เราพูดเราคิดอะไรไม่เคยดี ไม่เคยถูก ไม่เห็นจะเข้าท่า คุยด้วยแล้วเสียอารมณ์(ดี ๆ)… (คิดปลงในใจว่า คนอะไรพูดจาไม่มีเสน่ห์เอาซะเลย)

จะว่าไปก็ไม่ใช่เป็นเฉพาะกับเราคนเดียว เธอก็เป็นอย่างนี้กับทุกคนรอบข้าง เป็น ปกติธรรมดา ของเธอ

หากพิจารณาจากรากศัพท์ คำว่า มิตร

มิตร, มิตร-

ความหมาย
[มิด, มิดตฺระ-] น. เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร. (ส.; ป. มิตฺต).

สรุปรวมความว่า มิตร ก็คือเพื่อนที่รักใคร่ เพื่อนที่คุ้นเคยกัน

แล้วกรณีคนที่ชอบขัดคอขัดใจ ได้สังสรรค์เสวนาด้วยแล้ว จิตตก นี่ ทำไมจึงนับเป็นมิตร…

มีเหตุผลส่วนตัว 3 ประการ (คิดออกตอนนี้)ที่นับคนเช่นนี้เป็น มิตร

1. เพราะเธอเป็นคนคุ้นเคยกัน หากไม่คุ้นเคยหรือไม่ต้องมีกิจกรรมที่สัมพันธ์กัน ก็คงจะไม่ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนกันเป็นแน่ ดังนั้นแม้ไม่อาจทำใจให้รักใคร่เธอได้ แต่ก็ต้องนับว่าเป็นมิตรเพราะมีความคุ้นเคย มีกรรมสัมพันธ์กันมา

2. เพราะเธอช่วยให้ได้ มองต่างมุม หลายครั้งที่แม้จะไม่ชอบคำพูดคำจา ภาษาที่เธอใช้ แต่ลึก ๆ ก็รับรู้ได้ว่ามีความจริงจัง จริงใจ และมุมที่เธอชี้ให้เห็นก็เป็นมุมที่เราไม่เคยมอง ไม่เคยตระหนักถึงมาก่อน

3. เธอได้ช่วยสะท้อนให้เห็นตัว กิเลส ด้วยการตีกระทบตัวตนของเรา ช่วยขัดเกลาอัตตา ทำให้เห็นว่า เรานี่ขี้หงุดหงิด ขี้โกรธ ติดคำหวานหู (แม้รู้ว่าไม่จริงใจก็ยังชอบ) และทำให้คอยระวังด้วยว่า เราเองก็เคยทำตัวเป็นมิตรประเภทขัดคอขัดใจ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจกับคนอื่นมาแล้ว ถ้าให้ดีก็อย่าทำตัวเป็นมิตรประเภทที่ 7 ขัดคอขัดใจ ใครให้บ่อยนัก (เลือกเป็นมิตรประเภทอื่นจะดีกว่า)

นี่แค่ 3 ข้อที่คิดได้ ก็เห็นคุณูปการของมิตรคนที่ 7 ขนาดนี้แล้ว ดังที่ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญกล่าวไว้ ในหนังสือ ฉลาดได้อีก ของท่านว่า ใครที่มาทำให้เราไม่สบายใจ เจ็บใจ หากเราข่มกลับ(ยูเทิร์น)ไปที่ฐานกายได้ คิดได้ รู้ทันว่าอ้อ…นี่ที่เราโกรธ เกลียด ก็เพราะมันมากระทบกิเลสของเรานั่นเอง นอกจากเราจะได้บุญแล้ว คนที่ทำให้เราไม่สบายใจก็จะได้บุญจากการระลึกรู้ของเราไปด้วย เพราะเป็นครูบาอาจารย์ที่เมตตามาสอนกรรมฐานให้แก่เรา

1234

เอ๊ะ…ได้สองต่อ ดีสองชั้นแบบนี้…ดีจริงดีจัง!!!

ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับมิตรคนที่ 7 ค่ะ


ปัจจุบันอันงดงาม

2 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 25 กรกฏาคม 2010 เวลา 8:51 (เช้า) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต #
อ่าน: 2228

1234

Old friends pass away, new friends appear

It is just like the days.

An old day passes, a new day arrives.

The important thing is to make it meaningful,

a meaningful friend  or a meaningful day

Dalai Lama

1234

อ่านแล้ว ไม่อยากแปล (จะเสียอรรถรส) แต่สรุปเอาตามใจตัวเองว่า…

มนุษย์เรามักหวนหาอดีต…สิ่งที่ผ่านเลยไปแล้ว

เพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ ผู้คนล้วนผลัดเปลี่ยนเวียนผันไป-มา

พบ จาก ร้างลา

เสมือนวันเวลาที่เริ่มใหม่ ผันผ่าน วัฏฏะเวียนวนไม่เคยหยุด

เราหมกมุ่นอยู่กับอดีต

วิ่งวุ่นเพื่ออนาคต …

เราเกือบไม่ได้อยู่กับ “ปัจจุบัน” เลย

ผ่านมา-จากจร ควรหรือจะยึดติดอยู่ (หยุดเถอะ)

1234

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือสิ่งที่มี ที่เป็นอยู่ใปัจจุบันขณะ เท่านั้น

1234

การได้พบ ได้รู้จัก ได้สัมผัสสัมพันธ์กันในจังหวะเวลาและท่วงทำนองที่เหมาะสม จึงนับเป็น ความงดงามของชีวิต

เราควรที่จะชื่นชม อิ่มเอม ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้าเราในห้วงเวลาที่ปัจจุบันขณะ… เพราะไม่แน่ว่าวินาทีอันงดงามนี้จะคงอยู่ หรือเกิดขึ้นอีกหรือไม่

1234

อืม…ยิ้มน้อย ๆ อย่างเบิกบานใจ บอกตัวเองพลางฮัมเพลงเบา ๆ

“…make a day with…

a meaningful friend and a meaningful day”


มิตร 6 คน

9 ความคิดเห็น โดย freemind เมื่อ 24 กรกฏาคม 2010 เวลา 12:19 (เย็น) ในหมวดหมู่ ปรัชญา แนวคิด ชีวิต #
อ่าน: 2811

1234คุยกับพี่ ๆ มากเรื่องหลายราว ในประเด็นและความรู้สึกที่ได้ประสบอยู่ในระยะนี้ พี่เตือนว่าการคบหาทำความรู้จักและคุ้นเคยกับคนอื่น ๆ เป็นสิ่งดี แต่ต้องมี ตัวกรอง ไว้บ้าง และตบท้ายด้วยข้อคิดปรัชญาของจีน ว่าด้วยเรื่องของ มิตร

มิตร 6 ประเภทที่ควรคบหาและทะนุถนอมไว้ตลอดชีวิต

  1. มิตรที่รู้ใจและห่วงใยเรา
  2. มิตรที่ใช้ลีลาชีวิตกคล้ายกันกับเรา
  3. มิตรที่มีความคิดแยบคาย เป็นผู้นำทางความคิด
  4. มิตรที่คอยฉุดดึงและช่วยเหลือในชีวิตการทำงาน
  5. มิตรที่มีลูกเล่นร้อยแปดพันเก้า
  6. มิตรที่มากประสบการณ์และแก่กว่าเรา 10 ปีขึ้นไป

ต้องหันมาทบทวนตัวเองเสียแล้วว่า เรามีมิตร 6 ประเภทนี้หรือเปล่า มีกี่คน และได้ทะนุถนอมมิตร 6 ประเภทนี้หรือยัง ตัวกรอง 6 ข้อนี้น่าจะพอใช้ได้ในระดับหนึ่ง

คิดเล่น ๆ ต่อท้ายเองว่า มิตรที่ว่านี้ยังต้องมีคุณสมบัติในการที่จะเปิดใจและยอมรับเราเป็น มิตร ด้วย ไม่งั้นก็ไม่มีทางจะคบหาหรือทะนุถนอมมิตรนั้นไว้ได้…

อ้อ…ข้อสำคัญอีกข้อก็คือ ตัวเราเองก็ต้องพยายามที่จะเปิดใจและยอมรับคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะปรบมือก็ต้องใช้สองมือ ปรบมือข้างเดียวก็ไม่ดังหรอก…จริงไหม?

1234

งั้นวันหยุดยาวนี้ เรามาค้นหา มิตร” และมีความสุขกับ มิตรภาพ ดี ๆ     กันนะคะ



Main: 0.19685006141663 sec
Sidebar: 0.078628063201904 sec